ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ


อำนาจของชาติ 2

ในปัจจุบันนี้ (ยุคสารสนเทศ) ในเรื่องพลังอำนาจของชาติ นั้น จะมีลักษณะและมีองค์ประกอบ อยู่หลายลักษณะ ดังต่อไปนี้

1. การเมือง : ปัจจัยในเรื่องพลังอำนาจของชาติทางด้านการเมือง จะเป็นเรื่องของการดำเนินนโยบายทางการเมืองของผู้บริหารประเทศว่ามีทิศทางอย่างไร ดำเนินการต่อปัญหาภายในอย่างไร นโยบายต่างประเทศ การฑูต จะมีทิศทางอย่างไร โดยทั้งหมดนี้ ต้องขึ้นอยู่กับเสถียรภาพของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลไม่มีเสถียรภาพที่มั่นคงแล้ว ย่อมจะส่งผลให้พลังอำนาจของชาติทางด้านการเมือง มีความอ่อนแอตามไปด้วย เพราะว่ารัฐจะขาดทิศทางที่แน่นอน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายภายในประเทศ และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ วิสัยทัศน์ นโยบายระสั้น ระยกลาง และระยะยาว ต่างมีความสำคัญอย่างมาก ที่จะส่งผลให้พลังอำนาจของชาติทางด้านการเมืองมีความเข้มแข็ง

2. เศรษฐกิจ: พลังอำนาจของชาติทางด้านเศรษฐกิจ นั้นถือว่ามีความสำคัญต่อพลังอำนาจของชาติ เพราะความเป็นอยู่ของคนในชาติ ถ้ามีความมั่งคั่งแล้ว จะสามามารถเปลี่ยนความมั่งคั่งเหล่านี้ กลายไปเป็นกำลังอำนาจ และมีอิทธิพลต่างๆ ต่อประเทศอื่นได้ เช่น อาจจะมีเงินเพื่อใช้ในการจัดการทางด้านการทหาร (อาวุธยุทโธปกรณ์) หรือ อาจจะใช้การดำเนินการทางเศรษฐกิจอย่างเดียว เพื่อก่อให้เกิดความได้เปรียบต่อประเทศอื่นด้วยการแทรกแซงเศรษฐกิจประเทศอื่น อย่างในกรณีที่ประเทศเราประสบปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา

3. สังคมจิตวิทยา: เรื่องของสังคมจิตวิทยาของคนในชาติมีผลต่อพลังอำนาจของชาติ และเป็นสิ่งที่ผลักดันให้ชาติมีทิศทางไปตาม ค่านิยมและความคิดของคนในชาติ เช่น แนวความคิดในการสร้างอาณาจักรไรซ์ที่ 3 ของ ฮิตเลอร์ ที่นำพรรคนาซีขึ้นปกครองประเทศ และทำให้คนในชาติ เดินตามความคิด ความเชื่อที่ได้สร้างขึ้น หรือจะแนวความคิดทำนองเดียวกันของญี่ปุ่นในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง หรือตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในประเทศเราก็คือ อิทธิพลจากภาพยนต์เรื่องบางระจัน และสุริโยทัย ที่ส่งผลให้จิตใจของคนในชาติมีจิตใจรุกรบ และรักประเทศชาติของตนมากขึ้น เรื่องเหล่านี้ ถือเป็นพลังอำนาจของชาติที่สามารถผลักดันชาติไปในทิศทางที่ตามที่คนในชาติเชื่อมั่นและยึดถือได้

4. การทหาร: ในเรื่องของการทหารนั้น เป็นเรื่องที่มีผลต่อพลังอำนาจของชาติมาตั้งแต่ประวัติศาสตร์ เราจะเห็นได้ว่า ถ้าประเทศใดมีกำลังทหารที่แข็งแรงแล้วก็จะมีอำนาจต่อรอง และสร้างอิทธิพลต่อประเทศที่มีกำลังทหารอ่อนแอกว่าได้ และบางครั้ง ก็จะใช้ความเหนือกว่าทางการทหารเข้ารุกรานประเทศอื่นๆ เช่น การใช้กำลังทหารที่มีอาวุธที่ทันสมัยเป็นเครื่องต่อรอง และล่าอาณานิคม ของประเทศในยุโรป ใน 2-3 ศตวรรษก่อนหน้านี้

5. วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี: เรื่องของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในปัจจุบันก็ถือว่าเป็นองค์ประกอบของพลังอำนาจของชาติ ที่ส่งผลต่อโดยตรงต่อพลังอำนาจของชาติ การที่ประเทศมีโครงสร้างพื้นฐานทางด้านวิทยาศาสตร์ - เทคโนโลยี ที่ดี สามารถดำเนินการในด้านวิทยาการขั้นสูงต่างๆ ได้ ก็ย่อมที่จะมีพลังอำนาจของชาติที่แข็งแกร่งตามไปด้วย เราสามารถเห็นภาพชัดได้จาก ขีดความสามารถในพัฒนาอาวุธต่างๆ ที่มีประสิทธิภาพของกองทัพเยอรมันในช่วงสงครามโลกครั้ง 2 อย่างเช่น รถถัง Panzer จรวด V-2 เครื่องบิน JET ของกองทัพเยอรมัน หรือ จะเป็นการคิดค้นทางนิวเคลียร์-ชีวเคมี และการพัฒนาเทคโนโลยีทางอวกาศ ของรัสเซีย และสหรัฐฯ สิ่งเหล่านี้ล้วน แต่ส่งผลให้พลังอำนาจของชาติมีความแข็งแกร่งมากขึ้น

 

6. ภูมิศาสตร์ : ภูมิศาสตร์มีความสำคัญต่อพลังอำนาจเป็นอย่างยิ่ง เช่น ประเทศที่ไม่มีทางออกสู่ทะเลอาจจะเสียเปรียบต่อประเทศที่ทางออกสู่ทะเล เพราะเส้นทางการคมนาคม และเส้นทางการขนส่งทางทะเล ก็จะมีความสำคัญยิ่งต่อการทำการค้า หรือประเทศที่มีแต่ภูเขาจะเสียเปรียบต่อประเทศที่มีพื้นที่ราบ เพราะประเทศที่มีพื้นที่ราบจะสามารถทำการเกษตรกรรมได้ดีกว่า สำหรับภูมิศาสตร์นั้น ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เยอรมันได้ทำการศึกษาทางด้าน ภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical) กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งแนวความคิดนี้นักภูมิศาสตร์การเมือง ชาวสวีเดน ชื่อ Rudolf Kjellen เป็นผู้นำเสนอ แต่ปัจจุบันไม่ได้รับนิยมเท่าไหร่ แต่ลักษณะทางกายภาพชองภูมิศาสตร์ของรัฐ หรือประเทศ ยังคงเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของพลังอำนาจของชาติ อยู่เสมอ

7. ประชากร : ประชากรของรัฐ หรือประเทศมีผลต่อพลังอำนาจของชาติ ไม่ว่าจะเป็นจำนวน หรือ คุณภาพ เพราะประชากร นั้นเปรียบเสมือนองค์ประกอบของรัฐ หรือประเทศ มีการพัฒนา หรือตกต่ำ สำหรับตัวอย่างของประชากรที่ผลต่อพลังอำนาจของชาติก็มีดังต่อไปนี้ ประเทศมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล แต่มีจำนวนประชากรน้อย อาจจะทำให้ไม่สามารถรักษาอาณาเขตทั้งหมดไว้ได้ ถ้าถูกรุกราน หรือประเทศที่เล็ก ๆ อย่างอิสราเอล ที่มีจำนวนประชากรน้อยกว่าประเทศกลุ่มประเทศอาหรับ หลายเท่า แต่สามารถดำรงอยู่รอดจากการรุกรานจากกลุ่มประเทศอาหรับได้หลายครั้งหลายครา เพราะว่ามีระบบกำลังสำรองที่ดี พลเมืองทุกคนสามารถทำการรบอย่างทหารประจำการได้เมื่อถึงคราวจำเป็น

8. ทรัพยากรธรรมชาติ : ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ของชาตินั้นๆ ถือเป็นพลังอำนาจของชาติด้านหนึ่งที่มีอำนาจต่อรองกับประเทศอื่นๆ เช่น ประเทศที่อุดมไปด้วยน้ำมัน จะสามารถต่อรอง และกำหนดราคาน้ำมัน ที่จะขายให้กับประเทศที่ต้องการซื้อ หรือประเทศหรือประเทศที่มีสินแร่มากย่อมจะได้เปรียบต่อประเทศที่มีมีอุตสาหกรรมที่ต้องใช้แร่เหล่านั้น

9. สารสนเทศ : สารสนเทศถูกกำหนดเพิ่มเติมให้เป็นองค์ประกอบของพลังอำนาจของชาติ ที่สำคัญในทศวรรษนี้ ความสำคัญของสารสนเทศนั้น จะเป็นปัจจัยที่ช่วยส่งเสริมให้ รัฐหรือประเทศนั้นมีความได้เปรียบในการตกลงใจต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีส่วนที่จะช่วยส่งเสริมและเป็นเครื่องมือให้ประชากรของรัฐนั้น ๆ รับทราบข้อมูลต่าง ๆ อันจะส่งผลให้ การดำเนินการทุกอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การสร้างความเหนือกว่าทางสารสนเทศนั้นจะส่งผลให้รัฐ หรือประเทศมีความได้เปรียบรัฐ หรือประเทศอื่น ๆ

ตัวอย่าง เช่น การใช้สื่อมวลชนโจมตี ซัดดัม ฮุดเซน จนกลาย เป็นผู้ร้ายระดับโลก ของสหรัฐฯ ที่ส่งผลให้ สหรัฐฯ มีความได้เปรียบในการปฏิบัติการทางทหาร ต่อกองกำลังของอิรัก เพราะภาพลักษณ์ที่ออกมาคือ สหรัฐฯ ทำเพื่อสันติภาพของโลก เพราะเข้าไปปราบผู้ร้ายอย่าง ซัดดัม ฯ

ตัวอย่าง ของประเทศที่มุ่งพัฒนาพลังอำนาจทางด้านใดด้านหนึ่งโดยเฉพาะนั้นก็จะส่งผลให้ประเทศเหล่านั้น ไม่มีขีดความสามารถที่จะรักษาผลประโยชน์ของประเทศตนไว้ได้ และ ย่อมจะส่งผลกระทบกลับมายังประชากรของรัฐนั้นในที่สุด เช่น ประเทศคูเวตที่มีพลังอำนาจทางด้านเศรษฐกิจที่แข็งแรง แต่ไม่ได้มีพลังอำนาจของชาติทางด้านการทหารที่แข็งแรง ถูกอิรักทำการยึดครอง ได้อย่างง่ายดาย หรือ อิรักที่นำประเทศเข้าสู่ภาวะสงคราม กับอิหร่าน เป็นระยะเวลา 8 ปี งบประมาณต่าง ๆ ถูกทุ่มให้กับกิจการทหาร ในที่สุดประเทศต้องประสบปัญหาในเรื่องของงบประมาณ และ เป็นสาเหตุที่ทำให้ต้องบุกคูเวต เป็นต้น                   /ในเรื่องความสัมพันธ์ ...

-4-

 

ในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศนั้น ชาติต่างๆ พยายามใช้วิธีการต่างๆ เพื่อให้ชาติอื่นปฏิบัติตามที่ตนมุ่งหมาย เพื่อชาติของตนจะได้รับประโยชน์สูงสุด ดังนั้น ทำให้ชาติต่างๆ จะต้องทำให้ชาติของตนเองมีอำนาจเหนือกว่าชาติอื่น อำนาจของชาติ มีการใช้ในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คือ การจูงใจ  การให้สิ่งตอบแทน  การบีบบังคับ  การใช้กำลัง  ซึ่งรัฐจะเลือกวิธีการต่างๆ โดยคำนึงถึงกำลัง ความสามารถ ประสิทธิภาพของการใช้อำนาจของตน ขึ้นอยู่กับการเลือกวิธีที่ถูกต้อง เหมาะสมกับกรณี กาลเวลาและสถานการณ์

สำหรับประเทศไทยนั้น  พลังอำนาจของชาติ ในด้านต่าง จะต้องถูกพัฒนาไปในระดับที่เท่าเทียมกัน หรือพูดง่าย ๆ คือต้องสมดุลย์กันทุกด้าน และมีเป้าหมายที่ชัดเจนและแน่นอน ถ้าเรามุ่งพัฒนาด้านใดด้านหนึ่ง โดยเฉพาะเราคงจะไม่สามารถรักษาผลประโยชน์ของชาติของเราไว้ได้

ณ วันนี้ถึงแม้ประเทศไทยเราอาจจะเคยบอบช้ำมาจากการปัญหาทางด้านเศรษฐกิจมามากพอสมควรในอดีต แต่ประเทศไทยยังคงมีศักยภาพพอที่จะเดินต่อไปข้างหน้าได้ การกำหนดทิศทางของผู้บริหารประเทศมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ต่อการที่จะนำพาประเทศไทยไปข้างหน้าได้อย่างตลอดรอดฝั่ง การรักษาสมดุลย์ของพลังอำนาจของชาติทางด้านต่างๆ นั้นมีความสำคัญยิ่ง นอกจากนี้ความสามัคคีของคนในชาติเองมีส่วนที่จะทำให้ประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมีทิศทาง วันนี้เราต้องการการร่วมมือของคนทุกอาชีพทุกระดับทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายตุลาการ ประชาชน ภาคเอกชน เราคงต้องร่วมด้วยช่วยกันสามัคคี คือ พลัง

 

*********************

คำสำคัญ (Tags): #อำนาจของชาติ 2
หมายเลขบันทึก: 180178เขียนเมื่อ 2 พฤษภาคม 2008 11:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 20:13 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท