dararat
ดร. ดารารัตน์ อุทัยพยัคฆ์

สมองกับเด็กปฐมวัย


สมอง : เด็กปฐมวัย

 

 

                         

                                             

 

                           

การนำความรู้เรื่องสมองไปใช้

ในการพัฒนาเด็กปฐมวัย (ตอนที่ 1)

                                                                                                                                                                                                                                           

                   ขณะนี้ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องการพัฒนาเด็กปฐมวัยของไทยเรา   โดยที่ว่าบุคลากรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเด็กนั้นต้องมีความเชื่อมั่นในการนำหลักการศึกษาปฐมวัย หลักจิตวิทยาพัฒนาการ  ตลอดจนทฤษฏีและแนวคิดที่เมืองไทยนำมาเป็นหลักในการพัฒนา   หลักการดังกล่าวไม่เปลี่ยนแปลงแต่วิธีการอาจปรับเปลี่ยนตามสภาพเหตุการณ์   ปัจจัยแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง

                   การพัฒนาเด็กปฐมวัยตามหลักสูตรการศึกษาปฐมวัย  พุทธศักราช  2546  ยึดหลักพัฒนาการเด็ก   โดยพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม  ทั้งด้านร่างกาย  อารมณ์ จิตใจ  สังคม  และสติปัญญา   คำนึงถึงลักษณะตามวัย  โดยมีปรัชญาการศึกษาปฐมวัย  คือ

                   การศึกษาปฐมวัยเป็นการพัฒนาเด็กตั้งแต่แรกเกิดถึง  5  ปี  บนพื้นฐานการอบรมเลี้ยงดูและการส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ที่สนองต่อธรรมชาติและพัฒนาการของเด็กแต่ละคน  ตามศักยภาพ  ภายใต้บริบทสังคม  วัฒนธรรมที่เด็กอาศัยอยู่ด้วยความรัก   ความเอื้ออาทร  และความเข้าใจของทุกคนเพื่อสร้างรากฐานคุณภาพชีวิตให้เด็กพัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์เกิดคุณค่าต่อตนเองและสังคม

                   จึงเห็นว่าสิ่งที่เรานำมาเป็นหลักในการพัฒนาอยู่บนหลักวิชาและการวิจัยต่าง ๆ  ที่รองรับไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของความรู้สึกหรือการคิดขึ้นมาเอง   ถ้าบุคคลที่เกี่ยวข้องนำหลักที่กล่าวข้างต้น   มาปฏิบัติ  เด็กไทยคงจะพัฒนาทั้งด้าน  I.Q  และ  E.Q  อย่างต่อเนื่องและเพิ่มขึ้น  แต่เราก็พบว่า จากงานวิจัยหลายชิ้นที่ไม่เป็นไปตามนั้น  ผลการวิจัยในปัจจุบันพบว่าเด็กไทยมี  IQ.  และ  E.Q  ลดลง  ผู้เขียนจะไม่พูดถึงประเด็นนั้น  แต่จะขอพูดถึงหลักที่เรานำมาใช้ในการพัฒนาเด็กปฐมวัยต่อ  คือ  แต่เดิมเราก็นำเรื่องสมองมาเป็นหลักในการพัฒนาเด็กปฐมวัย  สำหรับในปัจจุบันนี้มีการศึกษาทางด้านปราสาทวิทยา  โดยเฉพาะการศึกษาสมองที่มีการค้นพบใหม่ ๆ  ซึ่งลึกและเปลี่ยนแปลงความเข้าใจเรื่องการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนอย่างมีนัยสำคัญ  ฉะนั้นความรู้เดิมเกี่ยวกับเรื่องสมองยังไม่ได้ทิ้งไป  แต่เราจะเอาความรู้ที่พัฒนาขึ้นนั้นไปพัฒนาการจัดประสบการณ์ให้กับเด็กปฐมวัยให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร   ครูปฐมวัยบางคนอาจเข้าใจว่า  ที่เราจัดประสบการณ์ตามตารางกิจกรรมประจำวันนั้นควรจะเลิกไปใช่ไหม  เพราะตอนนี้เราจะพัฒนาสมองอย่างเต็มที่   คำตอบคงจะไม่ใช่  เมื่อเรามีความรู้เพิ่มเติมอย่างมหัศจรรย์เกี่ยวกับสมองแล้ว  ครูปฐมวัย  พ่อแม่  ผู้ปกครอง   ผู้บริหาร  จะนำความรู้เรื่องสมองหรือจัดความรู้เรื่องสมองไปใช้อย่างไรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด  จึงเป็นหน้าที่ของพวกเรา  ประเด็นแรกคือ  ต้องมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องหลักการนำความรู้เรื่องสมองมาใช้  และที่จะขาดไม่ได้คือมีความตระหนักในความสำคัญของเรื่องสมอง  สุดท้ายคือนำความรู้เรื่องสมองไปใช้ได้อย่างไร ที่แน่ ๆ ไม่ได้ทิ้งความรู้เดิม แต่จะนำความรู้ใหม่ไปผสมผสานกับความรู้เดิมให้เกิดผลที่ตัวเด็กปฐมวัยอย่างเหมาะเจาะเป็นเด็กไทยที่มีคุณธรรม  จริยธรรม  มีความสามารถในด้านต่าง ๆ  มีความเอื้ออาทรซึ่งกันและกัน  ผสมผสานความเป็นไทยเข้ากับความเจริญก้าวหน้าของโลก  ความทันสมัยของเทคโนโลยีอย่างลงตัว  เป็นโจทย์ที่พวกเราจะต้องร่วมกันทำต่อไป  สิ่งที่ควรเข้าใจและนำไปปฏิบัติ  สามารถกล่าวได้ดังนี้

สมองของมนุษย์

                                              

 

 

                สมองของเด็กพัฒนาตั้งแต่อยู่ในครรภ์และมีการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วมากในช่วง  2 3ปีแรกหลังคลอด  สมองของเด็กแรกคลอดจะหนักประมาณ  350  ถึง  500  กรัม  มีเซลล์สมองอยู่ประมาณกว่า  1  แสนล้านเซลล์ซึ่งจะไม่มีการสร้างเพิ่มเติมอีกหลังคลอด  สมองของเด็กจะเติบโตขึ้นจนมีขนาดเกือบเท่ากับสมองของผู้ใหญ่  ในวัยเพียง  3  ขวบ  โดยมีน้ำหนักสมองประมาณ  1,100  กรัม  หรือราวร้อยละ  80  ของสมองผู้ใหญ่  (สมองผู้ใหญ่จะหนักประมาณ  1.3  ถึง  1.5  กิโลกรัม)

                เด็กวัยทารกจนถึงสามขวบเป็นช่วงวัยที่มีความสำคัญมากในการพัฒนาศักยภาพทางสมอง  เพราะเป็นช่วงเวลาแห่งการเปิดรับข้อมูลการเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ   ที่เกิดขึ้นในโลกอย่างรวดเร็ว        กล่าวกันว่าสมองของเด็กทารกมีการเรียนรู้มากกว่าการเรียนรู้ของผู้ใหญ่เป็นพัน ๆ เท่า  เด็กเรียนรู้  ทุกอย่างที่เข้ามาปะทะล้วนเป็นข้อมูลเข้าไปกระตุ้นสมองเด็กทำให้เกิดเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่าง ๆ อย่างมากมายซึ่งจะทำให้เด็กเข้าใจและเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้น  นักวิทยาศาสตร์  เชื่อว่ายิ่งสมองเด็กมีเส้นใยสมองและจุดเชื่อมต่อมากเท่าไร  เด็กจะยิ่งฉลาดมากขึ้นเท่านั้น  สมองจะทำหน้าที่นี้ต่อไปจนถึงอายุ  10  ปี  จากนั้นสมองจะเริ่มกำจัดเครือข่ายเส้นใยสมองที่ไม่ได้ใช้ทิ้งไป  เพื่อให้ส่วนที่เหลือมีความสามารถและมีประสิทธิภาพการทำงานสูงสุด

                การทำงานของสมองที่มีประสิทธิภาพส่วนหนึ่งมาจากการฝึกฝน  เช่นเดียวกับการป้อนข้อมูลต่าง ๆ  ให้สมองก็เป็นการช่วยให้สมองเก็บข้อมูลได้มากขึ้น  มีข้อมูลมากขึ้น  แต่การฝึกสมองให้สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดไม่ใช่เรื่องของการจำอย่างเดียว  เพราะถึงแม้การจำจะเป็นสิ่งที่จำเป็น  เป็นสิ่งสำคัญและมีประโยชน์  แต่ก็เป็นเพียงขั้นพื้นฐานของสมองที่จะต้องมีการจำความรู้เพื่อนำไปใช้ในขั้นตอนต่อไป  บางครั้งการจำไม่ได้ทำให้เกิดการเรียนรู้  แต่อาจไปสกัดกั้นการทำความเข้าใจเนื้อหาของความรู้  ความจริงแล้วการฝึกให้สมองสามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นเรื่องของการคิด  เพราะถ้าหากสมองคิดเป็นก็เรียกได้ว่าคน ๆ นั้นเป็นคนที่มีศักยภาพมีประสิทธิภาพ  การคิดเป็นการทำงานของสมองที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ  เพียงแต่ว่าเราจะต้องจัดการเรียนรู้หรือจัดสิ่งกระตุ้นให้มากพอที่สมองจะได้คิด  การคิดสามารถพัฒนาและฝึกฝนได้

                สมองแบ่งเป็น  2  ส่วน  แต่ละส่วนจะทำหน้าที่เฉพาะ   สำหรับคนส่วนมากแล้ว  สมอง ซีกขวาจะเป็นด้านที่รับรู้เรื่องที่ไม่เกี่ยวกับคำพูด  โดยควบคุมการมองเห็นภาพและกะระยะความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ  ที่มองเห็น  รวมทั้งเป็นส่วนที่มีความสามารถเกี่ยวกับดนตรี

                การรับรู้ภาพ  หมายถึง  การที่คนเราสามารถมองเห็นสิ่งต่าง ๆ ได้ในขณะที่เดินอยู่พร้อมกันนั้นก็จะคะเนและตัดสินใจจากข้อมูลที่ผ่านสายตาเข้ามาว่าตัวเราควรอยู่ตรงไหนในสภาพแวดล้อมที่มีคนหรือวัตถุอื่นเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย

                สมองซีกซ้ายเป็นส่วนที่รับรู้ด้านภาษา  และคำพูด  สมองซีกนี้เองที่เป็นด้านซึ่งเกี่ยวข้องกับการอ่านหรือการเขียนของเด็ก

                ดังที่กล่าวมาแล้วว่าคนส่วนมากลักษณะสมองจะเป็นเช่นนี้  แต่จะไม่ทุกคนคือประมาณร้อยละ  80  ของประชากรในโลกนี้  ส่วนประชากรอีกร้อยละ  13 14  สมองจะทำงานตรงกันข้าม

                เมื่อเราพูดว่าคนไหนอยู่ในกลุ่มสมองซีกซ้ายหรือสมองซีกขวาไม่ได้หมายถึงว่าสมองด้านนั้นจะครอบคลุมการทำงานทั้งหมด  เดิมเราเคยเชื่อว่าสมองทั้ง  2  ด้าน  ทำงานเหมือนกัน  จึงอาจเป็นได้ที่สมองซีกใดซีกหนึ่งจะครอบงำสมองอีกซีกหนึ่ง  แต่ปัจจุบันเชื่อว่าสมองแต่ละด้านมีหน้าที่เฉพาะและถนัดในหน้าที่นั้น

                สมองทั้งสองด้านต้องทำงานร่วมกัน  กระบวนการทำงานจะเกิดขึ้นทั้ง  2  ด้านในเวลาเดียวกัน  เด็กที่มีปัญหาเรื่องการเรียนรู้อาจจะมีความผิดปกติที่สมองด้านใดด้านหนึ่ง  ยกตัวอย่างเช่น  เด็กที่อ่านเขียนหนังสือไม่ได้หากมีการทำงานของสมองด้านขวาผิดปกติจะไม่สามารถรับรู้เรื่องคำเป็นคำเต็มได้  เขาจะเห็นคำที่แยกกัน  เช่น  แจ  และ  กัน  แต่เขาไม่สามารถนำคำมารวมกันและอ่านเป็นคำเต็ม  เช่น  แจกันได้

                ในทางกลับกันถ้าสมองด้านซ้ายของเด็กทำงานผิดปกติ  เด็กจะมองเห็นคำเป็นภาพรวม  เวลาเรียนในชั้นประถมศึกษาปีที่หนึ่งและสองเขายังคงอ่านจากความจำได้  แต่เมื่อเด็กขึ้นไปเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่สาม  สี่และห้า  และต้องเรียนรู้คำซับซ้อนขึ้น  เด็กจะไม่สามารถแยกคำเพื่อจะสะกดและประสมคำได้

                ดังนั้น  จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่สมองทั้งสองด้านทำหน้าที่ประสานสอดคล้องกันอย่างเหมาะสม

                การพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต้องเริ่มต้นพัฒนาสมองของประชากรตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา  เด็กปฐมวัยควรได้รับการกระตุ้นสมองให้เกิดเครือข่ายเส้นใยสมองและจุดเชื่อมโยงต่าง ๆ  เพื่อส่งผลให้เด็กเกิดการเรียนรู้และเข้าใจสิ่งต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้น  กระบวนการทำงานของสมองเกิดขึ้นมากเท่าไรจะทำให้เด็กยิ่งฉลาดมากขึ้นเท่านั้น  การพัฒนาสมองจะมีการกำจัดเครือข่ายเส้นใยสมองที่ไม่ได้ใช้ทิ้งไป  เพื่อให้ส่วนที่เหลือมีความสามารถและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด  การฝึกให้สมองทำงานอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดเป็นเรื่องของการคิด  การคิดเป็นกระบวนการทำงานของสมองที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ  การคิดสามารถพัฒนาและฝึกฝนได้  ประเทศใดมีประชากรที่มีความสามารถทางการคิด  จะสามารถสร้างพลังการเปลี่ยนแปลงประเทศนั้นให้เจริญก้าวหน้าไม่มีที่สิ้นสุด  ฉะนั้นเราจึงควรเริ่มในเด็กปฐมวัยไทยเราตั้งแต่บัดนี้

                                                                                                           

                                                                                                                                      

                                                                                                                                        

 

หมายเลขบันทึก: 180009เขียนเมื่อ 1 พฤษภาคม 2008 15:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ดีจังเลยครับ
  • ที่เอามาให้อ่าน
  • มีกิจกรรมพัฒนาเด็กๆๆได้ดี
  • ขอบคุณครับ
  • เขียนมาอีกนะครับ
บุญทิวา โรจนพานิช

ดิฉันเป็นครูบ้านนอกคนหนึ่ง สมัครใจที่จะสอนนักเรียนชั้นอนุบาล เพราะต้องการที่จะสร้างความแข็งแกร่งให้กับเด็กไทยซึ่งเป็นอนาคตของชาติ แม้สิ่งที่ได้ทำเป็นหนึ่งในล้านก็ยังคิดที่จะทำต่อไป โดยศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาสมองควบคู่ไปกับการลงมือปฏิบัติ ขอบคุณสำหรับความรู้ที่ยอดเยี่ยมที่ได้เข้ามาอ่านเจอในวันนี้

สมองเป็นสิ่งที่สำคัญมากในร่างกายของมนุษย์เป็นอย่างมากที่สุด ยิ่งในเด็กปฐมวัยแล้วการพัฒนาสมองไปในทางที่ดี เป็นเรื่องที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก การพัฒนาสมองของเด็กหากเริ่มพัฒนาตอนที่โตแล้วจะเป็นการพัฒนาที่ช้าไป และจะไม่มีผลต่อความคิดสร้างสรรค์ของเด็กเท่าไรนัก ดังนั้นจากบทความข้างต้นจึงเป็นสิ่งดีและเป็นสิ่งที่ควรส่งเสริมให้กับทุกสถาบันได้ร่วมกันพัฒนา

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท