inter law
วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บทที่ 8 กฎหมายระหว่างประเทศ

อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางฑูต (ข้อ 41-53)


อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางฑูต

ข้อ  ๔๑

๑.  โดยไม่กระทบกระเทือนต่อเอกสิทธิและความคุ้มกันของตนเป็นหน้าที่ของบุคคลทั้งมวล ซึ่งอุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันเช่นว่านี้ที่จะเคารพกฎหมายและข้อบังคับของรัฐผู้รับ บุคคลเหล่านี้มีหน้าที่ที่จะไม่แทรกสอดในกิจการภายในของรัฐนั้นด้วย

๒.  ธุรกิจในทางการทั้งมวลกับรัฐผู้รับ ซึ่งรัฐผู้ส่งได้มอบหมายแก่คณะผู้แทน จะกระทำกับหรือผ่าน กระทรวงการต่างประเทศของรัฐผู้รับ หรือกระทรวงอื่นเช่นที่อาจจะตกลงกัน

๓.  สถานที่ของคณะผู้แทนต้องไม่ใช่ในลักษณะซึ่งไม่ต้องด้วยกับการหน้าที่ของคณะผู้แทนดังที่ได้กำหนดลงไว้ในอนุสัญญานี้ หรือโดยกฎเกณฑ์อื่นของกฎหมายระหว่างประเทศทั่วไป หรือโดยความตกลงพิเศษใดที่ใช้บังคับอยู่ระหว่างรัฐผู้ส่งกับรัฐผู้รับ

ข้อ  ๔๒

ตัวแทนทางทูตจะต้องไม่ปฏิบัติกิจกรรมใดทางวิชาชีพหรือพาณิชย์เพื่อประโยชน์ส่วนตัวในรัฐผู้รับ

ข้อ  ๔๓

นอกจากประการอื่นแล้ว การหน้าที่ของตัวแทนทางทูตยุติลง

(ก)  เมื่อมีการบอกกล่าวโดยรัฐผู้ส่งไปยังรัฐผู้รับว่า การหน้าที่ของตัวแทนทางทูตได้ยุติลงแล้ว

(ข)  เมื่อมีการบอกกล่าวโดยรัฐผู้รับไปยังรัฐผู้ส่งตามวรรค ๒ ของข้อ ๙ ว่า รัฐผู้รับปฏิเสธที่จะยอมรับตัวแทนทางทูตในฐานะเป็นบุคคลในคณะผู้แทน

ข้อ  ๔๔

แม้ในกรณีการขัดกันด้วยอาวุธ รัฐผู้รับต้องอำนวยความสะดวกเพื่อให้บุคคลซึ่งอุปโภคเอกสิทธิและความคุ้มกันนอกจากคนชาติของรัฐผู้รับ และคนในครอบครัวของบุคคลเช่นว่านี้โดยไม่คำนึงถึงสัญชาติของบุคคลเหล่านั้นออกไปโดยเร็วที่สุดที่จะเป็นไปได้ รัฐผู้รับต้องจัดพาหนะในการขนส่งที่จำเป็นสำหรับตัวบุคคลเหล่านั้นและทรัพย์สินของบุคคลเหล่านั้นให้โดยเฉพาะในกรณีที่ต้องการ

ข้อ  ๔๕

ถ้าความสัมพันธ์ทางทูตระหว่างสองรัฐขาดลง หรือถ้าคณะผู้แทนถูกเรียกกลับเป็นการถาวรหรือชั่วคราว

(ก)  แม้ในกรณีการขัดกันด้วยอาวุธ รัฐผู้รับต้องเคารพและคุ้มครองสถานที่ของคณะผู้แทนรวมทั้งทรัพย์สินและบรรณสารของคณะผู้แทนด้วย

(ข)  รัฐผู้ส่งอาจมอบหมายการพิทักษ์สถานที่ของคณะผู้แทนรวมทั้งทรัพย์สินและบรรณสารของคณะผู้แทนแก่รัฐที่สามซึ่งเป็นที่ยอมรับได้แก่รัฐผู้รับก็ได้

(ค)  รัฐผู้ส่งอาจมอบหมายการอารักขาผลประโยชน์ของตนและของคนชาติของตนแก่รัฐที่สามซึ่งเป็นที่ยอมรับได้แก่รัฐผู้รับก็ได้

ข้อ  ๔๖

ด้วยความยินยอมล่วงหน้าของรัฐผู้รับและโดยคำขอร้องของรัฐที่สาม ซึ่งไม่มีผู้แทนอยู่ในรัฐผู้รับ รัฐผู้ส่งอาจรับให้การอารักขาชั่วคราวแก่ผลประโยชน์ของรัฐที่สาม และของคนชาติของรัฐที่สามก็ได้

ข้อ  ๔๗

๑.  ในการใช้บทบัญญัติของอนุสัญญานี้ รัฐผู้รับจะไม่เลือกปฏิบัติในระหว่างรัฐ

๒.  อย่างไรก็ดี จะไม่ถือว่าได้มีการเลือกปฏิบัติ

(ก)  เมื่อรัฐผู้รับใช้บทบัญญัติข้อใดข้อหนึ่งของอนุสัญญานี้อย่างกำกัด เพราะมีการใช้บทบัญญัติอย่างกำกัดแก่คณะผู้แทนของตนในรัฐผู้ส่ง

(ข)  เมื่อตามประเพณี หรือความตกลง รัฐทั้งหลายขยายให้แก่กันและกันซึ่งผลปฏิบัติที่เป็นการอนุเคราะห์มากกว่าที่จำต้องให้ตามบทบัญญัติของอนุสัญญานี้

ข้อ  ๔๘

อนุสัญญานี้จะเปิดให้มีการลงนามโดยรัฐสมาชิกทั้งปวงของสหประชาชาติหรือของทบวงการชำนัญพิเศษใด หรือโดยภาคีใดของธรรมนูญศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ และโดยรัฐอื่นใดที่สมัชชาสหประชาติเชิญให้เข้าเป็นภาคีแห่งอนุสัญญา ดังต่อไปนี้: จนถึงวันที่ ๓๑ ตุลาคม ค.ศ. ๑๙๖๑ (พ.ศ. ๒๕๐๔) ณ กระทรวงการต่างประเทศของสหพันธ์ออสเตเรีย และต่อไปจนถึงวันที่ ๓๑ มีนาคม ค.ศ. ๑๙๖๒ (พ.ศ. ๒๕๐๕) ณ สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก

ข้อ ๔๙

อนุสัญญานี้จะต้องได้รับการสัตยาบัน สัตยาบันสารจะมอบไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ

ข้อ ๕๐

อนุสัญญานี้จะยังคงเปิดให้มีการภาคยานุวัติโดยรัฐใดที่อยู่ในประเภทหนึ่งใดในสี่ประเภทที่ได้กล่าวไว้ในข้อ ๔๘ ภาคยานุวัติสารจะมอบไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ

ข้อ ๕๑

๑. อนุสัญญานี้จะเริ่มใช้บังคับในวันที่สามสิบต่อจากวันมอบสัตยาบันสาร หรือภาคยานุวัติสาร ฉบับที่ยี่สิบสอง ไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ

๒.สำหรับแต่ละรัฐที่ให้สัตยาบันหรือภาคยานุวัติแก่อนุสัญญานี้หลังจากการมอบสัตยาบันสาร หรือภาคยานุวัติสาร ฉบับที่ยี่สิบสองแล้ว อนุสัญญานี้จะเริ่มใช้บังคับในวันที่สามสิบหลังจากการมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสาร โดยรัฐเช่นว่านั้น

ข้อ ๕๒

เลขาธิการสหประชาชาติจะแจ้งให้รัฐทั้งมวลที่อยู่ในประเภทหนึ่งใดในสี่ประเภทที่ได้บ่งไว้ในข้อ ๔๘ ทราบถึง

(ก) การลงนามอนุสัญญานี้ และการมอบสัตยาบันสารหรือภาคยานุวัติสาร ตามข้อ ๔๘, ๔๙ และ ๕๐

(ข) วันที่อนุสัญญานี้จะเริ่มใช้บังคับ ตามข้อ ๕๑

ข้อ ๕๓

ต้นฉบับของอนุสัญญานี้ ซึ่งตัวบทภาษาจีน ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษารัสเซีย และภาษาสเปน เป็นหลักฐานเท่าเทียมกันนั้น จะมอบไว้กับเลขาธิการสหประชาชาติ ผู้ซึ่งจะส่งสำเนาอนุสัญญาดังกล่าวที่ได้รับรองแล้วไปให้รัฐทั้งมวลที่อยู่ในประเภทหนึ่งใดในสี่ประเภทที่ได้บ่งไว้ในข้อ ๔๘

เพื่อเป็นพยานแก่การนี้ ผู้มีอำนาจเต็มที่ลงนามข้างท้ายนี้ซึ่งได้รับมอบอำนาจโดยถูกต้องเพื่อการนี้จากรัฐบาลของตนแต่ละฝ่าย ได้ลงนามอนุสัญญานี้

ทำ ณ กรุงเวียนนา เมื่อวันที่สิบแปด เมษายน คริสตศักราชหนึ่งพันเก้าร้อยหกสิบเอ็ด (พ.ศ. ๒๕๐๔)

หมายเลขบันทึก: 179791เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2008 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 10:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อนุสนธิสัญญากรุงเวียนนา....อ่านแล้วเข้าใจยากจัง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท