inter law
วิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ บทที่ 8 กฎหมายระหว่างประเทศ

อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางฑูต (ข้อ 1-20)


อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางฑูต

อนุสัญญากรุงเวียนนา

ว่าด้วยความสัมพันธ์ทางทูต

--------------------

 รัฐภาคีแห่งอนุสัญญานี้

โดยระลึกว่า ประชาชนของชาติทั้งมวลตั้งแต่โบราณกาลมา ได้ยอมรับนับถือสถานภาพของตัวแทนทางทูต

โดยคำนึงถึง ความมุ่งประสงค์และหลักการของกฎบัตรสหประชาชาติ เกี่ยวกับความเสมอภาคทางอธิปไตยของรัฐ การธำรงสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ และการส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างชาติ

โดยเชื่อว่า อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยการติดต่อ เอกสิทธิและความคุ้มกันทางทูตจะมีส่วนช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างชาติ โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างกันในระบบแห่งธรรมนูญและระบบสังคมของชาติเหล่านั้น

โดยตระหนักว่า ความมุ่งประสงค์ของเอกสิทธิและความคุ้มกันเช่นว่านี้ มิใช่เพื่อที่จะให้เป็นคุณประโยชน์แก่ตัวบุคคล แต่เพื่อที่จะประกันการปฏิบัติการหน้าที่อย่างมีประสิทธิภาพของคณะผู้แทนทางทูตในฐานะที่เป็นผู้แทนของรัฐ

โดยยืนยันว่า กฎเกณฑ์แห่งกฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ควรใช้บังคับต่อไปแก่ปัญหาที่มิได้กำหนดไว้อย่างชัดแจ้งโดยบทของอนุสัญญานี้

ได้ตกลงกันดังต่อไปนี้

ข้อ ๑

เพื่อความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญานี้ ให้ถ้อยคำต่อไปนี้มีความหมายตามที่ได้กำหนดไว้ข้างท้ายนี้

(ก) หัวหน้าคณะผู้แทน” คือ บุคคลที่ได้รับมอบหมายจากรัฐผู้ส่งให้มีหน้าที่กระทำการในฐานะนั้น

(ข) บุคคลในคณะผู้แทน” คือ หัวหน้าคณะผู้แทนและบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ของคณะผู้แทน

(ค) บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ของคณะผู้แทน” คือ บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูต คณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการและฝ่ายวิชาการ และคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการ ของคณะผู้แทน

(ง) บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูต” คือ บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ของคณะผู้แทนซึ่งมีตำแหน่งทางทูต

(จ) ตัวแทนทางทูต” คือ หัวหน้าของคณะผู้แทน หรือบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูตของคณะผู้แทน

(ฉ) บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการ และฝ่ายวิชาการ” คือ บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ของคณะผู้แทน ซึ่งทำงานเกี่ยวกับบริการฝ่ายธุรการและฝ่ายวิชาการของคณะผู้แทน

(ช) บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริการ” คือ บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ของคณะผู้แทนในฝ่ายบริการรับใช้ของคณะผู้แทน

(ซ) คนรับใช้ส่วนตัว” คือ บุคคลซึ่งอยู่ในฝ่ายบริการรับใช้ของบุคคลในคณะผู้แทน และซึ่งมิได้เป็นลูกจ้างของรัฐผู้ส่ง

(ฌ) สถานที่ของคณะผู้แทน” คือ อาคารหรือส่วนของอาคาร และที่ดินซึ่งอาคารตั้งอยู่ ซึ่งใช้เพื่อความมุ่งประสงค์ของคณะผู้แทนโดยไม่คำนึงถึงกรรมสิทธิ์ รวมถึงที่อยู่ของหัวหน้าคณะผู้แทนด้วย

ข้อ ๒

การสถาปนาความสัมพันธ์ทางทูตระหว่างรัฐ และการส่งคณะผู้แทนถาวรทางทูตมีขึ้นได้ด้วยความยินยอมของกันและกัน

ข้อ ๓

๑. นอกจากประการอื่นแล้ว การหน้าที่ของคณะผู้แทนทางทูตประกอบด้วย

(ก) เป็นผู้แทนรัฐผู้ส่งในรัฐผู้รับ

(ข) คุ้มครองผลประโยชน์ของรัฐผู้ส่งและของคนชาติของรัฐผู้ส่งในรัฐผู้รับ ภายในขีดที่จำกัดที่กฎหมายระหว่างประเทศอนุญาตให้

(ค) เจรจากับรัฐบาลของรัฐผู้รับ

(ง) สืบเสาะให้แน่ด้วยวิถีทางทั้งมวลอันชอบด้วยกฎหมาย ถึงสภาวะและพัฒนาการในรัฐผู้รับ และรายงานไปยังรัฐบาลของรัฐผู้ส่ง

(จ) ส่งเสริมความสัมพันธ์ฉันมิตรระหว่างรัฐผู้ส่งกับรัฐผู้รับและพัฒนาความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และวิทยาศาสตร์ของรัฐผู้ส่งและรัฐผู้รับ

๒. ไม่มีข้อความในอนุสัญญานี้ที่จะแปลความได้ว่าเป็นการห้ามคณะผู้แทนทางทูตปฏิบัติการหน้าที่ทางกงสุล

ข้อ ๔

๑. รัฐผู้ส่งต้องทำให้เป็นที่แน่นอนว่า รัฐผู้รับได้ให้ความเห็นชอบแล้วสำหรับบุคคลที่รัฐผู้ส่งเสนอขอแต่งตั้งเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไปยังรัฐนั้น

๒. รัฐผู้รับไม่จำต้องให้เหตุผลแก่รัฐผู้ส่งในการปฏิเสธการให้ความเห็นชอบ

ข้อ ๕

๑. หลังจากที่ได้บอกกล่าวแก่รัฐผู้รับที่เกี่ยวข้องตามสมควรแล้ว รัฐผู้ส่งอาจแต่งตั้งหัวหน้าคณะผู้แทน หรือแต่งตั้งบุคคลใดในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูต แล้วแต่กรณี ไปยังมากกว่ารัฐหนึ่งก็ได้ นอกจากจะมีการคัดค้านอย่างชัดแจ้งโดยรัฐผู้รับรัฐใดรัฐหนึ่ง

๒. ถ้ารัฐผู้ส่งแต่งตั้งหัวหน้าคณะผู้แทนไปยังรัฐอื่นหนึ่งรัฐหรือมากกว่านั้น รัฐผู้ส่งอาจสถาปนาคณะผู้แทนทางทูตโดยมีอุปทูตชั่วคราวเป็นหัวหน้าในแต่ละรัฐที่หัวหน้าคณะผู้แทนไม่มีที่นั่งทำงานของตนเป็นประจำก็ได้

๓. หัวหน้าคณะผู้แทน หรือบุคคลหนึ่งใดในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูตของคณะผู้แทนอาจกระทำการในฐานะเป็นผู้แทนของรัฐผู้ส่งในองค์การระหว่างประเทศใด ก็ได้

ข้อ ๖

รัฐสองรัฐหรือมากกว่านั้น อาจแต่งตั้งให้บุคคลคนเดียวกัน เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไปยังรัฐอื่นก็ได้ เว้นแต่ว่ารัฐผู้รับจะแจ้งการคัดค้าน

ข้อ ๗

ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติของข้อ ๕, , , และ ๑๑ รัฐผู้ส่งอาจแต่งตั้งบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ของคณะผู้แทนได้โดยเสรี ในกรณีของผู้ช่วยทูตฝ่ายทหารบก ทหารเรือ หรือทหารอากาศ รัฐผู้รับอาจเรียกร้องให้เสนอนามล่วงหน้า เพื่อรับความเห็นชอบของตนก็ได้

ข้อ ๘

๑. บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูตของคณะผู้แทนนั้น ในหลักการควรมีสัญชาติของรัฐผู้ส่ง

๒. บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูตของคณะผู้แทนนั้น ไม่อาจแต่งตั้งจากบุคคลซึ่งมีสัญชาติของรัฐผู้รับได้ เว้นแต่ด้วยความยินยอมของรัฐผู้รับ ซึ่งอาจจะเพิกถอนเสียในเวลาใดก็ได้

๓. รัฐผู้รับอาจสงวนสิทธิเช่นเดียวกันนี้ ในเรื่องที่เกี่ยวกับคนชาติของรัฐที่สาม ซึ่งมิใช่เป็นคนชาติของรัฐผู้ส่งด้วยก็ได้

ข้อ ๙

๑. รัฐผู้รับอาจบอกกล่าวแก่รัฐผู้ส่งในเวลาใดก็ได้ และโดยมิต้องชี้แจงถึงการวินิจฉัยของตนว่า หัวหน้าคณะผู้แทนหรือบุคคลใดในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูตของคณะผู้แทนเป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนา หรือว่าบุคคลอื่นใดในคณะเจ้าหน้าที่ของคณะผู้แทนเป็นที่ไม่พึงยอมรับได้ ในกรณีใดเช่นว่านี้ ให้รัฐผู้ส่งเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นกลับ หรือเลิกการหน้าที่ของผู้นั้นกับคณะผู้แทนเสียก็ได้ตามที่เหมาะสม บุคคลอาจจะถูกประกาศให้เป็นผู้ไม่พึงปรารถนา หรือไม่พึงยอมรับได้ ก่อนที่จะมาถึงในอาณาเขตของรัฐผู้รับก็ได้

๒. ถ้ารัฐผู้ส่งปฏิเสธ หรือไม่ปฏิบัติตามข้อผูกพันของตนภายใต้วรรค ๑ ของข้อนี้ภายในระยะเวลาอันสมควร รัฐผู้รับอาจปฏิเสธที่จะยอมรับนับถือบุคคลที่เกี่ยวข้องนั้นว่าเป็นบุคคลในคณะผู้แทนก็ได้

ข้อ ๑๐

๑. กระทรวงการต่างประเทศของรัฐผู้รับ หรือกระทรวงอื่น เช่น ที่อาจจะตกลงกันจะได้รับการบอกกล่าวถึง

(ก) การแต่งตั้งบุคคลในคณะผู้แทน การมาถึงและการเดินทางออกไปท้ายที่สุด หรือการสิ้นสุดของการหน้าที่กับคณะผู้แทนของบุคคลนั้น

(ข) การมาถึงและการเดินทางออกไปท้ายที่สุดของคนในครอบครัวของบุคคลในคณะผู้แทน และเมื่อสมควร การที่บุคคลใดเป็นหรือพ้นจากเป็นคนในครอบครัวของบุคคลในคณะผู้แทน

(ค) การมาถึงและการเดินทางออกไปท้ายที่สุดของคนรับใช้ส่วนตัวของบุคคลที่ได้กล่าวไว้ในอนุวรรค (ก) ของวรรคนี้ และการที่บุคคลนั้นออกจากการเป็นลูกจ้างของบุคคลเช่นว่านั้น

(ง) การว่าจ้างและการปลดบุคคลที่มีถิ่นที่อยู่ในรัฐผู้รับ ในฐานะเป็นบุคคลในคณะผู้แทน หรือคนรับใช้ส่วนตัวซึ่งมีสิทธิที่จะได้รับเอกสิทธิและความคุ้มกัน

๒. เมื่อกระทำได้ ให้บอกกล่าวล่วงหน้าถึงการมาถึง และการเดินทางออกไปท้ายที่สุดด้วย

ข้อ ๑๑

๑. เมื่อไม่มีความตกลงจำเพาะในเรื่องขนาดของคณะผู้แทน รัฐผู้รับอาจเรียกร้องให้ขนาดของคณะผู้แทนอยู่ในขีดจำกัด ที่ตนเห็นว่าสมควรและปกติได้ ทั้งนี้ โดยคำนึงถึงพฤติการณ์และสภาวะในรัฐผู้รับและความจำต้องการของคณะผู้แทนเฉพาะราย

๒. ภายในขอบเขตที่คล้ายคลึงกันและบนมูลฐานที่ไม่เลือกปฏิบัติ รัฐผู้รับอาจปฏิเสธได้เช่นกันที่จะยอมรับพนักงานประเภทหนึ่งประเภทใดก็ได้

ข้อ ๑๒

รัฐผู้ส่งไม่อาจตั้งที่ทำการซึ่งประกอบเป็นส่วนของคณะผู้แทนขึ้นในท้องถิ่นอื่น นอกจากท้องถิ่นที่คณะผู้แทนนั้นเองตั้งอยู่ได้ โดยปราศจากความยินยอมล่วงหน้าอย่างชัดแจ้งของรัฐผู้รับ

ข้อ ๑๓

๑. หัวหน้าคณะผู้แทนพึงถือว่าได้เข้ารับการหน้าที่ของตนในรัฐผู้รับ เมื่อตนได้ยื่นสาสน์ตราตั้งหรือเมื่อตนได้บอกกล่าวการมาถึงของตน และได้เสนอสำเนาที่ถูกต้องของสาสน์ตราตั้งของตนต่อกระทรวงการต่างประเทศของรัฐผู้รับ หรือกระทรวงอื่นที่อาจจะตกลงกันตามทางปฏิบัติที่มีอยู่ในรัฐผู้รับซึ่งจะต้องปฏิบัติโดยเท่าเทียมกัน

๒. ลำดับของการยื่นสาสน์ตราตั้ง หรือสำเนาที่ถูกต้องของสาสน์ตราตั้ง จะได้พิจารณากำหนดตามวันและเวลาของการมาถึงของหัวหน้าคณะผู้แทน

ข้อ ๑๔

๑. หัวหน้าคณะผู้แทนแบ่งออกเป็น ๓ ชั้น กล่าวคือ

(ก) ชั้นเอกอัครราชทูต หรือเอกอัครสมณทูต ซึ่งแต่งตั้งไปยังประมุขของรัฐและหัวหน้าคณะผู้แทนอื่นที่มีชั้นเท่ากัน

(ข) ชั้นรัฐทูต อัครราชทูต และอัครสมณทูต ซึ่งแต่งตั้งไปยังประมุขของรัฐ

(ค) ชั้นอุปทูต ซึ่งแต่งตั้งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ

๒. เว้นแต่ที่เกี่ยวกับลำดับอาวุโสและมารยาทแล้ว ไม่ให้มีความแตกต่างกันระหว่างหัวหน้าคณะผู้แทน โดยถือเหตุผลของชั้นของหัวหน้าคณะผู้แทน

ข้อ ๑๕

ชั้นที่จะกำหนดให้แก่หัวหน้าคณะผู้แทนนั้น ให้ทำความตกลงกันระหว่างรัฐ

ข้อ ๑๖

๑. ให้หัวหน้าคณะผู้แทนมีลำดับอาวุโสในแต่ละชั้นของตนตามลำดับวันและเวลาที่เข้ารับหน้าที่ตามข้อ ๑๓

๒. การเปลี่ยนแปลงในสาสน์ตราตั้งของหัวหน้าคณะผู้แทนซึ่งไม่เกี่ยวพันกับการเปลี่ยนชั้นอย่างใด จะไม่กระทบกระเทือนลำดับอาวุโสของหัวหน้าคณะผู้แทน

๓. ข้อนี้ไม่กระทบกระเทือนต่อทางปฏิบัติใดซึ่งมีอยู่ในรัฐผู้รับในเรื่องลำดับอาวุโสของผู้แทนของรัฐสันตะปาปา

ข้อ ๑๗

ลำดับอาวุโสของสมาชิกของคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูตของคณะผู้แทนนั้น ให้หัวหน้าคณะผู้แทนเป็นผู้บอกกล่าวแก่กระทรวงการต่างประเทศหรือกระทรวงอื่นเช่นที่อาจจะตกลงกัน

ข้อ ๑๘

วิธีดำเนินการที่จะต้องปฏิบัติในแต่ละรัฐ สำหรับการรับหัวหน้าคณะผู้แทน จะต้องเป็นเอกรูปในแต่ละชั้น

ข้อ ๑๙

๑. ถ้าตำแหน่งของหัวหน้าคณะผู้แทนว่างลง หรือถ้าหัวหน้าคณะผู้แทนไม่สามารถปฏิบัติการหน้าที่ของตนได้ อุปทูตชั่วคราวจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะหัวหน้าคณะผู้แทนเป็นการชั่วคราวได้ หัวหน้าคณะผู้แทนหรือ ในกรณีที่หัวหน้าคณะผู้แทนไม่สามารถจะกระทำได้ กระทรวงการต่างประเทศของรัฐผู้ส่งจะแจ้งนามอุปทูตชั่วคราวไปยังกระทรวงการต่างประเทศของรัฐผู้รับ หรือกระทรวงอื่น เช่นที่อาจจะตกลงกัน

๒. ในกรณีที่ไม่มีบุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายทูตของคณะผู้แทนอยู่ในรัฐผู้รับ ด้วยความยินยอมของรัฐผู้รับ บุคคลในคณะเจ้าหน้าที่ฝ่ายธุรการและฝ่ายวิชาการ อาจจะได้รับแต่งตั้งโดยรัฐผู้ส่งให้รักษาการในกิจการด้านบริหารโดยปกติของคณะผู้แทนก็ได้

ข้อ ๒๐

คณะผู้แทนและหัวหน้าคณะผู้แทนมีสิทธิใช้ธงและเครื่องหมายของรัฐผู้ส่ง ณ สถานที่ของคณะผู้แทน รวมถึงที่อยู่ของหัวหน้าคณะผู้แทนและที่พาหนะในการขนส่งของหัวหน้าคณะผู้แทนด้วย

หมายเลขบันทึก: 179785เขียนเมื่อ 30 เมษายน 2008 16:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 14:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณจ้า กำลังหาแนวข้อสอบอยู่พอดี สาธุ ๆ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท