ความไว้วางใจ (Trust) สร้างพลังขับเคลื่อน KM


km

ความไว้วางใจ (Trust)

สร้างพลังขับเคลื่อน KM

 

สวัสดีสมาชิก KM ทุกท่านค่ะ จนถึงวันนี้ในหน่วยงานของทุกท่านคงมีความเข้าใจมากขึ้นแล้วเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องการจัดการองค์ความรู้ในองค์กร และเริ่มดำเนินตามแนวทางที่จะนำพาหน่วยงานของท่านไปสู่ความสำเร็จแล้วนะคะ

 

อย่างไรก็ดี การจะจัดการการเรียนรู้จนพบกับความสำเร็จไม่ใช่เรื่องง่าย และขึ้นกับปัจจัยหลักหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น

  • ความเชื่อมโยงระหว่างการบริหารองค์ความรู้ที่ต้องสอดคล้องกับทิศทาง เป้าหมายขององค์กร
  • ความพร้อมของเทคโนโลยี และช่องทางสื่อสารต่างๆ ที่ช่วยให้คนเข้าถึงองค์ความรู้
  • การวางโครงสร้างของระบบและกำหนดมาตรฐานการจัดการองค์ความรู้ ที่มีประสิทธิภาพและมีความยืดหยุ่น เช่น มีระบบจัดการองค์ความรู้ที่สะดวกต่อการจัดเก็บ ค้นหา และนำไปใช้งาน
  • การสนับสนุนจากผู้บริหารทั้งในด้านทรัพยากรและแนวทางการบริหารงานที่ชัดเจน  และ
  • สภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการสร้าง แลกเปลี่ยน และเผยแพร่ความรู้

 ซึ่งทุกปัจจัยล้วนต้องการความตระหนักไม่ยิ่งหย่อนกว่ากันนะคะ  เพียงแต่ลำดับการดำเนินการอาจแตกต่างกันไปตามความเหมาะสมขององค์กร ..ตัวผู้เขียนเองครั้งหนึ่งได้มีโอกาสไปศึกษาดูงานที่ ปตท. ซึ่งมีทีมงานดูแลเรื่อง KM ที่เข้มแข็งเพื่อสร้างองค์ความรู้ให้สอดคล้องกับเป้าหมายขององค์กรที่ต้องการเป็นบริษัทข้ามชาติที่ประสบความสำเร็จให้ได้ ระหว่างการดูงานผู้เขียนรู้สึกว่าเป็นประสบการณ์ที่ดีมาก เมื่อเราได้เห็นวิธีปฏิบัติของ ปตท. ที่เน้นให้คนทำงานได้มีโอกาสพบปะ แลกเปลี่ยนความรู้กันเสมอๆ เช่น ในส่วนโรงงานผลิต หลังจบโครงการทุกครั้งจะให้พนักงานที่มีส่วนร่วมเข้ามานั่งรวมกัน และทุกคนต้องร่วมแบ่งปันสิ่งที่ตนได้จากงานครั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จหรืออุปสรรคที่พบ รวมทั้งข้อเสนอแนะต่างๆ นอกจากนี้ในส่วนสายการผลิต ปตท. ก็มีเครื่องมือไว้คอยสนับสนุนการแลกเปลี่ยนความรู้ของพนักงาน โดยทุกครั้งที่ทำงานพนักงานจะมีการบันทึกรายละเอียด และปัญหาที่พบเจอรวมทั้งแนวทางการแก้ไขไว้ เพื่อให้คนอื่นๆสามารถมาค้นหาในอนาคตได้ พร้อมทั้งทราบว่าคนที่บันทึกข้อมูลนี้ไว้คือใคร ทำงานอยู่ตรงส่วนไหน

 

จากกรณีศึกษาที่กล่าวมา สังเกตไหมคะ ว่าสิ่งที่ ปตท.ปฏิบัติได้สร้างอะไรขึ้นมา? นอกเหนือจากความรู้ที่ได้จากกระบวนการที่กล่าวมาแล้ว สิ่งที่ ปตท. ได้สร้างเพิ่มขึ้นมาคือความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นของคนทำงาน อันเกิดจากการได้ได้มาพบปะ แลกเปลี่ยนปัญหาและประสบการณ์ร่วมกัน นอกจากนี้ความสามารถของคนแต่ละคนก็ถูกจดจำ ได้รับการยอมรับ และเผยแพร่แก้บุคคลอื่นอย่างชัดเจน ต่างๆเหล่านี้นำไปสู่ ความไว้วางใจ ที่เกิดขึ้นในองค์กรค่ะ

 

ความไว้วางใจกัน คือ การที่คนเรารู้สึกเชื่อถือในตัวผู้อื่น รวมทั้งกล้าที่จะแลกเปลี่ยน แบ่งปัน และประสานงานกันได้ ...ด้วยเพราะองค์กรของเราไม่ใช่องค์กรในอุดมคติ จึงเป็นเรื่องธรรมดามากค่ะที่ ผู้คนในหลายๆครั้ง แบ่งปันความรู้ เพราะอยากได้ชื่อเสียงและความยกย่องชื่นชมจากผู้มาขอรับความรู้ ดังนั้นในทางกลับกัน ถ้าผู้รับไม่เห็นความสำคัญตรงจุดนี้ สิ่งที่ตามมาก็คือ ชุมชนความรู้ไม่สามารถเติบโตได้ เพราะอคติ และความไม่ไว้วางใจเกิดขึ้นในตัวผู้ให้ซะแล้ว จริงไหมคะ?

 

ด้วยเหตุนี้เอง  เมื่อเราอยากให้ความไว้วางใจเกิดขึ้น และชุมชนความรู้ในองค์กรเราเติบโต  วิธีที่ได้ผลมากดังเช่นที่ ปตท.ปฏิบัติก็คือ การมุ่งเน้นที่จะสร้างความไว้วางใจ ด้วยการให้ความสำคัญกับการแสดงออกอย่างชัดเจน ถึงความชื่นชมและจดจำต่อการแบ่งปันของผู้ให้ความรู้ เช่น การให้เครดิต หรือ รางวัล ...ดูเป็นเรื่องที่ทุกท่านทราบกันอยู่แล้วนะคะ แต่ในความเป็นจริงบ่อยครั้ง เราก็เร่งรีบทำงานกันโดยละเลยเรื่องเหล่านี้ไป โดยเฉพาะเรื่องการให้เครดิตต่อความรู้ข้อมูลที่ได้รับจากผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นมาก เพราะหากไม่สนใจขึ้นมาเมื่อไร นอกเหนือจากความไม่ไว้วางใจที่จะเกิดมีขึ้นในชุมชนแล้ว สมรภูมิรบว่าด้วย ความรู้ของฉัน ข้อมูลของฉัน อำนาจของฉัน ที่ดุเดือดก็จะตามมา สร้างอุปสรรคอันยิ่งใหญ่ต่อความก้าวหน้าขององค์กรอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ทุกฝ่ายทำงานเหนื่อยไปตามๆกัน

 

อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญ คือ ความไว้วางใจที่จะช่วยขับเคลื่อนองค์กรแห่งความรู้ของเราได้นั้น จะมีพลังผลักดันได้จริง คงเกิดในกลุ่มคนจำนวนน้อยไม่ได้ แต่ต้องเกิดอยู่แพร่หลายทั่วทั้งองค์กร เช่นเดียวกับงานของกระทรวงทุกงานจะสำเร็จได้ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกฝ่ายอย่างเต็มใจและตั้งใจ ..แม้ว่าตามทฤษฎีที่ได้ฟังได้อ่านมา มักกล่าวว่า ความไว้วางใจจะเกิดทั่วทั้งองค์กรได้ ผู้บริหารต้องเริ่มต้นก่อน โดยการเป็นตัวอย่างที่ดีให้กับผู้ใต้บังคับบัญชาในการตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องที่ได้กล่าวมาก่อนหน้า อย่างไรก็ตามส่วนตัวผู้เขียนเองคิดว่า แม้ว่าเราจะไม่ได้เป็นผู้บริหาร แต่การมีความรู้สึกเชิงบวกต่อการเปลี่ยนแปลง และต่อผู้บริหาร รวมทั้งลดละอีโก้ที่มีมากมายแต่โบราณ ก็เป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องมีตั้งแต่เริ่มต้น ในการพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ เพราะหากไม่เปิดใจรับฟังความคิดและแนวทางปฏิบัติใหม่ๆ ที่เข้ามาสู่ตนแล้ว สิ่งดีใดๆที่ผู้บริหารอยากส่งต่อให้ คงโดนเพิกเฉยไปเสียหมด นอกจากนี้ฝั่งผู้บริหารเอง การเป็นแบบอย่างที่ดีอย่างเดียวในขั้นต้นคงไม่เพียงพอที่จะสร้างความไว้วางใจให้เกิดในองค์กรได้ หากแต่จำเป็นต้องเป็นผู้สนับสนุนที่ดีด้วย ในการช่วยกระตุ้นให้มีกิจกรรมที่เปิดโอกาส ให้คนในองค์กรสร้างสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ได้พบปะเผชิญหน้ากัน ชื่นชมขอบคุณกัน เพื่อส่งเสริมความไว้วางใจให้มีมากขึ้น

โดย นางสาวดลลัช  จงมหาศาลชัย

กลุ่มพัฒนาระบบสารสนเทศ

ศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สป. ศธ.

คำสำคัญ (Tags): #km
หมายเลขบันทึก: 179498เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2008 15:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 06:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท