การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย


การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย

สุพัฒน์  สมจิตรสกุล

APN การพยาบาลชุมชน

 

การพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย แนวคิดนี้ผู้เสนอเห็นว่า เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ผู้ปฏิบัติงานมองเห็นภาพของการปฏิบัติงานอย่างเป็นระบบ จากเดิมหน่วยงานมักจะถูกปฏิบัติโดยการนำแนวคิดจากนอกหน่วยงานมาใช้โดยไม่ได้ปรับให้สอดคล้องกับบริบทของหน่วยงาน ทำให้เกิดผลกระทบต่อการปฏิบัติงาน เพิ่มภาระงานให้แก่เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติและผู้รับบริการ ในการดำเนินงานโครงการวิจัยในหน่วยงานของผู้เสนอได้มีประสบการณ์ในการทำวิจัยจากงานประจำ เช่น การพัฒนาระบบบริการคลินิกเบาหวาน (สุพัฒน์ สมจิตรสกุล และคณะ,2542) การส่งเสริมสุขภาพในชุมชน (นิตย์  ทัศนิยม และคณะ.2545) และการพัฒนากระบวนการให้ความรู้ในผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายทีฟอกเลือดด้วยเครื่องไตทียม (สุพัฒน์ สมจิตรสกุล.2549) ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ(Action Research)หรือ กระบวนการประเมินผลแบบรวดเร็ว (RAP; Rapid Assessment Process) ซึ่งเป็นรูปแบบการวิจัยเชิงคุณภาพ(James Beebe.1995.)  ที่เน้นการเรียนรู้จากผู้ที่เกี่ยวข้อง ขั้นตอนของการดำเนินงานมีขั้นตอนดังนี้ คือ

1.     ) การค้นหาปัญหาจากการปฏิบัติงาน ในการกระบวนการวิจัยจากงานประจำผู้ปฏิบัติจำเป็นต้องเรียนรู้ว่า บริบทของหน่วยงานเป็นอย่างไร เช่น เป้าหมายของหน่วยงานคืออะไร  มีโครงสร้างของหน่วยงานอย่างไร กระบวนการปฏิบัติงาน  เกิดผลลัพธ์ของหน่วยงานอย่างไรบ้าง ทั้งหมดนี้จะเป็นข้อมูลตั้งต้นในการนำมากำหนดประเด็นของการวิจัย  หากผู้ปฏิบัติกำหนดปัญหาการวิจัยด้วยความอยากทำแต่ไม่เห็นความเป็นทั้งหมดของปัญหาจะทำไปสู่การล้มเหลวในการทำวิจัย เนื่องจากการมองเห็นความเป็นทั้งหมดของปัญหาหรือบริบทโจทย์วิจัยจะทำให้เห็นภาพความเชื่อมโยงของปัญหา จากนั้นผู้วิจัยจึงค่อยหยิบประเด็นใดประเด็นหนึ่งจากบริบทของโจทย์วิจัย ตัวอย่างเช่น กรณีผู้วิจัยปฏิบัติงานในหน่วยอบัติเหตุฉุกเฉินในโรงพยาบาลพบปรากฏการณ์ว่า หน่วยAdvance Life Support ของโรงพยาบาลไปรับผู้ป่วยที่เกิดเหตุมักจะไปถึงไม่ทันเวลา หรือพยาบาลที่ไปช่วยผู้ป่วยมักช่วยเหลือผู้ป่วยไม่ทัน ดังนั้นก่อนที่จะกำหนดโจทย์วิจัยผู้วิจัยต้องทราบข้อมูลของระบบการแพทย์ฉุกเฉิน(Emergency Medical Service) ว่า มีโครงสร้างอย่างไร ตั้งแต่ ในระบบมีโครงสร้างอย่างไรบ้าง กี่ระดับ ประกอบด้วยบุคลากรด้านใด วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ การเตรียมทักษะบุคลากร ระบบสนับสนุน กระบวนการทำงานเป็นอย่างไร สื่อสารอย่างไร เข้าไปยังจุดเกิดเหตุอย่างไร และผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นอย่างไร มีความเกี่ยวข้องกับหน่วยใดบ้าง ดังนั้นปัญหาในการวิจัยจะกระชับ ชัดเจนในประเด็น นำไปสู่การออกแบบการวิจัยได้ดี

2.     ) การนำปัญหาสู่การวิจัย  เมื่อผู้วิจัยได้ประเด็นปัญหาที่ชัดเจน จำเป็นต้องนำประเด็นปัญหาไปสู่ทีมผู้ปฏิบัติเพื่อรับรู้ ตรวจสอบความชัดเจน วางโครงร่างในการวิจัย ดังนั้นผู้วิจัยต้องเตรียมข้อมูลเพื่อนำเสนอให้แก่ทีม และเสนอทีมให้มีส่วนร่วมในการทำงานประจำสู่งานวิจัย ต้องสร้างทีมวิจัยจากภายในหน่วยงานเพื่อสร้างกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันและสร้างพลังอำนาจภายในทีม ในขั้นตอนนี้ผู้เสนอเห็นว่า ควรมีการถ่ายทอดหรือฝึกทักษะในการทำวิจัย เช่น การฝึกทักษะการเก็บข้อมูล ตัวอย่างโครงการวิจัยของผู้เสนอได้ฝึกทักษะผู้ช่วยให้จัดเก็บข้อมูลเชิงคุณภาพ ในการสัมภาษณ์เชิงลึก การสนทนากลุ่ม การสังเกต การบันทึกข้อมูล ทำให้เกิดทีมในการจัดเก็บข้อมูล เมื่อเสร็จสิ้นการเก็บข้อมูล จึงฝึกการจัดการข้อมูลเชิงคุณภาพเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น ซึ่งผลทำให้เกิดการขยายวงในการทำวิจัย เมื่อเตรียมการทีมแล้ว จึงเป็นขั้นตอนของการออกแบบการดำเนินการวิจัยซึ่ง ต้องเตรียมผู้เกี่ยวข้อง โดยการเสนอโครงการแก่ผู้บริหารเพื่อขออนุมัติและรับการสนับสนุน  จากนั้นจึงลงมือทำการวิจัยโดยระหว่างทางการทำวิจัยควรมีที่ปรึกษาในการตรวจสอบการดำเนินการการวิจัย ตามประสบการณ์ของผู้เสนอเห็นว่า คณะอาจารย์ตามสถาบันการศึกษาที่อยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงจะสามารถช่วยตรวจสอบและสามารถสร้างความมั่นใจแก่ทีมวิจัย ( ตัวอย่างในการวิจัยของผู้เสนอได้ขอความช่วยเหลือจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.อีสาน) เมื่อเตรียมการเก็บข้อมูลเสร็จเรียบร้อยแล้วก็จะเป็นขั้นตอนของการวิเคราะห์ตามการออกแบบการวิจัย ซึ่งความยุ่งยากของการวิเคราะห์ขึ้นกับการออกแบบการวิจัยในเบื้องต้น ซึ่งการวิเคราะห์นั้นต้องคำนึงถึงวัตถุประสงค์ของการวิจัยที่วางไว้

3.     ) การนำผลการวิจัยคืนแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง จากเดิมงานวิจัยเสร็จก็เข้าเล่มเก็บหรือส่งรายงานให้หน่วยงานอื่น แต่ผู้เกี่ยวข้องขาดโอกาสเข้ามารับรู้แต่ในกระบวนการทำงานประจำสู่งานวิจัยเมื่อวิเคราะห์ข้อมูลจาการวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว ต้องนำเสนอผลการวิจัยให้ผู้เกี่ยวข้องทราบเพื่อตรวจสอบ วิพากษ์ ให้ข้อคิดเห็นต่อผลการวิจัย และที่สำคัญคือ การร่วมวางแผนเพื่อพัฒนาระบบงานหรือแก้ปัญหานั้นๆโดยบทบาทของผู้เกี่ยวข้องเอง จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในผู้ที่เกี่ยวข้องในการพัฒนางานเพื่อแก้ไขปัญหา ตัวอย่างเช่น การศึกษาของ มัลลิกา ลุนจักร และคณะ (2547) ได้ศึกษาพฤติกรรมการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ พบว่า เหตุส่วนหนึ่งของการไม่เข้าร่วมออกกำลังกายของกลุ่มผู้สูงอายุ คือ รูปแบบการออกกำลังกายที่หน่วยงานจัดข้นไม่สอดคล้องกับวัยและวิถีชีวิตและ ภาระของผู้สูงอายุในการทำงานดูแลครอบครัว ในกระบวนการคืนข้อมูล ผู้วิจัยได้เชิญผู้เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพในชุมชนมารับทราบผลการวิจัย ในจำนวนนี้คือ ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้นำชุมชน ผลการคืนข้อมูล ทำให้เกิดแผนการดูแลสุขภาพผู้สูงอายุโดยองค์การบริหารส่วนตำบล และ การสนับสนุนเบี้ยยังชีพแก่ผู้สูงอายุในชุมชน หรือ ในการวิจัยพัฒนาระบบบริการคลินิกเบาหวาน (สุพัฒน์ สมจิตรสกุล และคณะ .2542) เมื่อคืนข้อมูลให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง เกิดการปรับระบบบริการต่างๆ เช่น การบริการของห้องบัตร การบริการเจาะเลือดเพื่อวัดระดับน้ำตาลของแผนกชันสูตรสาธารณสุข เป็นต้น ทั้งหมดนี้เกิดจากการนำผลการวิจัยไปให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ และได้ทำแผนปรับเปลี่ยนระบบงานเพื่อแก้ไขปัญหาจากการวิจัย

4.     ) การติดตาม ประเมินผล และปรับเปลี่ยนเพื่อพัฒนา จากการวางแผนร่วมกันจากขั้นตอนของการคืนข้อมูล ผู้วิจัยต้องติดตามการดำเนินงานว่า ดำเนินงานได้เป็นอย่างไร แผนการดำเนินงานที่วางไว้สอดคล้องกับความเป็นจริงในการดำเนินงานหรือไม่ จากผลการวิจัยของผู้นำเสนอในการพัฒนากระบวนการให้ความรู้ จะเห็นได้ว่า นอกจากการพัฒนาการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยแล้ว ยังมีผลจากการคืนข้อมูลถึง ระบบการจัดรอบการบริการฟอกเลือด และจะเห็นว่า การปรับเปลี่ยนมิได้เกิดผลครั้งเดียวแล้สำเร็จ ดังนั้นแผนพัฒนาจัดทำไว้อาจต้องปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ของผู้รับบริการ ผู้ให้บริการ และหน่วยงาน

ตัวอย่าง การดำเนินงานประจำสู่งานวิจัย  เรื่อง การพัฒนาระบบบริการคลินิกเบาหวานในโรงพยาบาล ( สุพัฒน์ สมจิตรสกุล และคณะ.2542)

การวิจัยครั้งนี้เป็นการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action research) มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาระบบบริการ คลินิกเบาหวาน ในโรงพยาบาลปลาปากให้บริการได้สอดคล้องกับปัญหาของผู้ป่วย และความต้องการของผู้ป่วย

ระบบเดิมเป็นการให้บริการรวมกับผู้ป่วยนอกทั่วไป ให้บริการทุกวันพุธ เวลา 08.00-12.00 น. ผู้ป่วยได้รับการชั่งน้ำหนัก ตรวจวัดความดันโลหิต เจาะเลือดเพื่อตรวจระดับน้ำตาล และรอพบแพทย์ ในระหว่างที่รอพบแพทย์ ผู้ป่วยจะได้รับการสอนสุขศึกษาตามหัวข้อที่เจ้าหน้าที่กำหนดไว้

 ขั้นตอนการวิจัยเริ่มด้วยการวิเคราะห์การให้บริการระบบเดิม และพบว่า ข้อเสียของระบบบริการเดิมคือการให้บริการมีหลายขั้นตอน และยุ่งยาก ผู้ป่วยที่อดอาหารเช้ามา อาจทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำได้ ถ้าต้องรอพบแพทย์นาน และผู้ป่วยได้รับคำแนะนำไม่ตรงกับปัญหาและความต้องการ และไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถนำความรู้ที่ได้รับไปใช้ในการดูแลตนเองได้

 ขั้นตอนที่ 2 เป็นการวางแผน ผู้วิจัยมีความเชื่อว่า กระบวนการกลุ่มจะช่วยให้ทราบปัญหาที่แท้จริงของผู้ป่วย และช่วยสร้างความตระหนักให้ผู้ป่วยเห็นความสำคัญในการปฏิบัติตนเพื่อควบคุมอาการของโรค จึงวางแผนใช้กระบวนการกลุ่มมาเป็นกลยุทธ์ในการให้บริการในคลินิกเบาหวาน  ผลของการใช้กระบวนการกลุ่ม ผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ผู้ป่วยได้เสนอแนวคิดต่อระบบบริการของโงพยาบาล พร้อมกับแลกเปลี่ยนวิธีการดูแลตนเองระหว่างผู้ป่วย เจ้าหน้าที่ได้ร่วมเสนอแนะและให้ข้อมูลในการดูแลตนเองของผู้ป่วย

ขั้นตอนที่ 3 ลงมือทำโดยร่วมมือกับผู้ป่วย ในการที่จะหาวิธีจะจัดระบบบริการที่สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วย และแก้ปัญหาที่พบจากการให้บริการระบบเดิม ในขั้นตอนนี้ ผู้ป่วยได้นำข้อมูลการดูแลตนเองที่ได้จากการแลกเปลี่ยนระหว่างผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ไปปรับใช้ พร้อมกันนี้เจ้าหน้าที่ได้นำข้อเสนอแนะในการปรับระบบบริการไปเสนอให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับเปลี่ยน เช่น การเพิ่มวันบริการ การจัดเวลาเจาะเลือดตรวจระดับน้ำตาล การปรับวิธีการห้ความรู้ เป็นต้น

ขั้นตอนที่ 4 ร่วมประเมินผล หลังจากนั้นก็จะประเมินผลว่าระบบการให้บริการแบบใหม่นี้สอดคล้องกับความต้องการของผู้ป่วยหรือไม่ ผู้ป่วยมีความเห็นต่อระบบใหม่อย่างไร และประเมินผลจากการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือด และการปฏิบัติตนเปรียบเทียบก่อนและหลังการให้บริการระบบใหม่

 ผลการพัฒนาระบบบริการ มีการแยกหน่วยบริการผู้ป่วยเบาหวานออกจากการให้บริการผู้ป่วยทั่วไป   มีการเพิ่มวันในการให้บริการเป็น 2 วันคือ วันพุธ และวันศุกร์       วิธีการให้สุขศึกษาเปลี่ยนแปลงจากการให้สุขศึกษาตามแผนเป็นการจัดทำกลุ่มผู้ป่วยเบาหวานแทน โดยให้ผู้ป่วยมีส่วนร่วมในการให้ความรู้ในการปฏิบัติตัว

 ผลการวิจัยต่อการพัฒนาระบบบริการต่อผู้รับบริการ จากการศึกษาพบว่า มี

          ผลต่อผู้ป่วยที่มารับบริการอยู่ 2 ด้าน คือ

1.) ด้านการควบคุมโรค ผู้ป่วยที่เข้าร่วมกิจกรรมมีการควบคุมโรคดีขึ้น ดังเห็นได้จาก ระดับน้ำตาลในเลือดของผู้ป่วยก่อนและหลังดำเนินโครงการมีค่าเฉลี่ยแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ และที่สำคัญหากมีระดับน้ำตาลที่สูงผิดปกติ ผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการจะสามารถบอกถึงสาเหตุของการควบคุมโรคแก่เจ้าหน้าที่ผู้ดูแลได้ ส่วนการปฏิบัติตัวเพื่อดูแลสุขภาพ ผลการสัมภาษณ์แบบเจาะลึกพบว่า ผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการมีการปฏิบัติตัวที่เหมาะสม ได้แก่ การควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การใช้ยา การดูแลสุขวิทยา และจากการทำกลุ่มพบว่า การควบคุมความเครียดของผู้ป่วย จะมีผลต่อการควบคุมโรคได้เช่นกัน ในการศึกษานี้พบว่า การจัดโปรแกรมการเรียนรู้และให้ผู้ป่วยนำไปปฏิบัติ จะมีผลในระยะสั้น เพราะในการสัมภาษณ์เชิงลึกและการจัดทำกลุ่ม ผู้ป่วยส่วนใหญ่กล่าวว่า “การป่วยเป็นโรคเบาหวานนั้น ไม่มีใครรู้เท่าผู้ป่วยเบาหวาน ดังนั้นการปฏิบัติใดๆผู้ป่วยย่อมรู้ดีแก่ใจว่า สิ่งนั้นทำให้เกิดอันตรายแก่ตัว หรือมีคุณแก่ตัว” ดังนั้นในการให้ข้อมูลผู้ให้บริการทางด้านสุขภาพต้องคำนึงถึงสิทธิของผู้ป่วยในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่จะดูแลตนเอง ผู้ป่วยเบาหวานกล่าวว่า “ คุณหมอมักจะบอกวิธีตายตัว ในการควบคุมโรค เช่น ให้งดกินของหวาน ของมัน ให้ออกกำลังกาย วันละ 15-30 นาที แต่ไม่ได้เสนอทางเลือกให้แก่ผู้ป่วย แท้ที่จริง การควบคุมอาหารผู้ป่วยเบาหวานสามารถกินได้ทุกอย่าง  แต่ต้องสังเกตว่า สิ่งใดกินแล้วมันส่งผลให้อาการไม่ดีก็ให้ทานให้น้อยหรืองด เพราะการบอกให้งดหรือห้าม จะทำให้ผู้ป่วยเบาหวานเป็นผู้ป่วยตลอดเวลา ไม่สามารถมีชีวิตอย่างคนอื่นได้” จากการศึกษาครั้งนี้ทำให้เห็นว่า การใช้กระบวนการกลุ่มในผู้ป่วยเบาหวานกับเจ้าหน้าที่สุขภาพร่วมกัน จะทำให้มีความเท่าเทียมทางด้านความคิด มีการเคารพในความคิดเห็นและการปฏิบัติของกันและกัน นอกจากนี้ในการศึกษาครั้งนี้ยังพบว่า ในกระบวนการกลุ่มยังช่วยให้ระหว่างผู้ป่วยมีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการดูแลตนเองนำไปปรับใช้กับตนเองอย่างได้ผล ทั้งในด้านการควบคุมอาหาร การออกกำลังกาย การใช้ยา การดูแลสุขวิทยา และการควบคุมความเครียด เพราะผู้ป่วยกล่าวว่า ไม่มีใครเข้าอกเข้าใจผู้ป่วยเบาหวาน เท่ากับผู้ป่วยเบาหวานเอง  

 2.) สัมพันธภาพของผู้ป่วยกับผู้ให้บริการ จากเดิม จากขั้นตอนในการรักษายุ่งยาก ผู้ให้บริการต้องให้ผู้ป่วยเบาหวานรวมกับผู้ป่วยกลุ่มอื่น ทำให้การดูแลไม่ตรงกับความต้องการทำให้สัมพันธภาพระหว่างผู้ป่วยเบาหวานที่มารับบริการกับผู้ให้บริการไม่ดี มีการกระทบกระทั่งในการให้บริการ เมื่อปรับให้มีการให้บริการแยกออกมาเป็นกลุ่ม พบว่า เจ้าหน้าที่และผู้ป่วยเบาหวานมีสัมพันธภาพที่ดีต่อกัน ผู้ป่วยสามารถบอกความต้องการแก่เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ เช่น การบอกถึงสาเหตุของการควบคุมโรคได้ไม่ดี เช่น “ต้องช่วยงานแต่งงานญาติ ทำให้อดข้าวเช้าในวันที่มาตรวจไม่ได้” ทำให้แพทย์ผู้รักษา สามารถวางแผนการรักษาหรือสามารถบอกถึงความจำเป็นในการปฏิบัติแก่ผู้ป่วยได้ ทั้งสองฝ่ายสามารถบอกเหตุผลของการปฏิบัติซึ่งกันและกันได้ ทำให้สัมพันธภาพระหว่างทั้งสองฝ่ายเป็นไปได้ด้วยดี

 ผลต่อพฤติกรรมการให้บริการ จากผลการศึกษา ครั้งนี้พบว่า ทีมที่ให้บริการผู้ป่วยมีการปรับเปลี่ยนในการให้บริการ ดังในการประชุมผู้ที่เกี่ยวข้องในการบริการผู้ป่วยเบาหวานเพื่อปรับปรุงระบบบริการ มีการนำความคิดเห็นของผู้ป่วยที่เข้าร่วมโครงการ หรือผู้ป่วยที่มารับบริการในคลินิกเบาหวาน เช่น การปรับสถานที่ รูปแบบการให้ข้อมูลในการดูแลสุขภาพตนเอง เป็นต้น มาปรับระบบบริการให้เหมาะสม แม้ว่า ข้อเสนอบางอย่างไม่สามารถปรับปรุงได้ เช่น การสาธิตอาหาร เป็นต้น แต่เจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการสามารถนำข้อมูลไปบอกกล่าวแก่กลุ่มผู้ป่วยได้ ทำให้ผู้ให้บริการมีพฤติกรรมการให้บริการที่รับฟังความคิดเห็นของผู้รับบริการ และวิธีการทำงานมีการเปลี่ยนแปลงกล่าวคือ มีการประชุมปรึกษาหารือในทีมที่เกี่ยวข้องอยู่เป็นระยะ สามารถลดความขัดแย้งในทีมบริการสุขภาพได้เป็นอย่างดี เนื่องจากทุกฝ่ายมีโอกาสได้รับฟังข้อจำกัดของกันและกัน  ทำให้แต่ละฝ่ายปรับระบบการทำงานให้เหมาะสมกับศักยภาพของทีมที่มีอยู่ไดผลจากการศึกษาครั้งนี้ทำให้ทราบว่า  

1.    การพัฒนาระบบบริการผู้ป่วยเบาหวานในโรงพยาบาล ต้องมีการร่วมมือกันระหว่างผู้ป่วยเบาหวานที่มารับบริการ และผู้ให้บริการคือบุคลากรทางด้านสุขภาพทั้งหมด ได้แก่ แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ห้องบัตร เจ้าหน้าที่ห้องชันสูตรสาธารณสุขสูตรสาธารณสุข และห้องยา ในการกำหนดรูปแบบที่สอดคล้องตามความต้องการของผู้ป่วยที่มารับบริการ ภายใต้ความเป็นไปได้ของศักยภาพของหน่วยบริการ โดยกระบวนกลุ่มของทั้งสองฝ่ายมีความจำเป็นในการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อพัฒนาระบบบริการ ทำให้สัมพันธภาพระหว่างผู้ป่วยและผู้เจ้าหน้าที่อยู่บนพื้นฐานที่เท่าเทียมกัน ส่งผลต่อระบบบริการที่เอื้อต่อการบริการที่เหมาะสมกับผู้ป่วย และผู้ให้บริการมีความสุขที่จะให้บริการผู้ป่วย

2.  การปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติต่อผู้ป่วยของเจ้าหน้าที่ผู้ให้บริการ มีการปรับท่าที่ในการให้บริการ เป็นการรับฟังข้อคิดเห็นของผู้รับบริการ และนำข้อเสนอมาปรับระบบบริการ และชี้แจงข้อจำกัดในการบริการแก่ผู้ป่วย

3.         ส่งผลต่อการปรับเปลี่ยนระบบบริการอื่น เช่น การจัดระบบบริการในระดับสถานีอนามัย การดูแลผู้ป่วยในชุมชน การจัดกิจกรรมสุขภาพในชุมชน

จะเห็นได้ว่า กระบวนการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัยจะเป็นวงจรที่ไม่รู้จบ ต้องทำอย่างต่อเนื่อง โดยมีขั้นตอนของการพัฒนาดังนี้คือ การหาปัญหา ปรากฏการณ์ หรือโอกาสพัฒนาที่เกิดขึ้นในหน่วยงานโดยผู้บริหารและทีมต้องร่วมกันเรียนรู้และวิเคราะห์ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นเพื่อให้ทราบถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดปรากฏการณ์นั้น ซึ่งวิธีการในการค้นหาถึงเหตุและปัจจัยนั้นอาจใช้กระบวนการค้นหาโดยการวิเคราะห์ระบบ ในที่นี้อาจใช้การวิจัยมาช่วยดังผลงานที่ได้นำเสนอนั้น แต่เมื่อวิเคราะห์เห็นความเป็นทั้งหมดของปรากฏการณ์นั้นๆแล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ การร่วมวางแผนโดยผู้ที่เกี่ยวข้อง ในขั้นตอนนี้ต้องมีการนำข้อมูลที่ทีมค้นพบเกี่ยวกับปรากฏการณ์นั้นๆมาเสนอให้ผู้เกี่ยวข้องรับรู้ ตรวจสอบและร่วมในการวางแผนเพื่อปรับระบบบริการ ขั้นตอนนี้มีความสำคัญมากแต่มักจะถูกละเลยในการนำผู้ที่เกี่ยวข้องมาตรวจสอบและรับรู้ทำให้ระดับการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องมีน้อยมีส่วนร่วมเพียงการร่วมทำ ซึ่งในระหว่างการทำแผน ทีมอาจมีข้อมูลนำเข้าเพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในการจัดทำแผนปรับปรุง โดยข้อมูลที่นำเข้าได้แก่ ผลการวิจัย รูปแบบการดำเนินการของหน่วยงานที่มีบริบทใกล้เคียงกัน เนื้อหาวิชาการ ซึ่งเมื่อมีข้อมูลที่เพียงพอผู้ที่เกี่ยวข้องจะสามารถจัดทำแผนได้สอดคล้องกับสภาพบริบทของระบบบริการและความต้องการของผู้รับบริการ แผนที่เกิดในขั้นตอนนี้ต้องเป็นแผนที่มุ่งจะทำหน้าที่ของผู้ที่เกี่ยวข้องว่าบทบาทของตนจะปฏิบัติอย่างไรเพื่อให้เกิดผลต่อปัญหานั้นๆ เช่น ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายวางแผนในการดูแลตนเองอย่างไร ญาติผู้ป่วยจะวางแผนการดูแลผู้ป่วยอย่างไร ผู้ให้บริการจะวางแผนการดูแลผู้ป่วยอย่างไร จะจัดระบบดูแลอย่างไร และผู้บริหารจะจัดระบบสนับสนุนหรือหาแหล่งประโยชน์อย่างไร ซึ่งจะนำไปสู่ขั้นตอน การลงมือทำ ผู้ที่เกี่ยวข้องลงมือปฏิบัติตามแผนที่วางไว้ และจดจำหรือบันทึกสิ่งที่ตนได้ลงมือทำมันเกิดผล เกิดการปรับเปลี่ยนอย่างไร เว้นระยะเวลาให้เกิดการเรียนรู้จากการปฏิบัติ และขั้นตอนประเมินผลคือ การนำสิ่งที่ได้เรียนรู้เหล่านั้นมาแลกเปลี่ยนเพื่อร่วมเรียนรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติของแต่ละคน ว่า มีข้อดี ข้อด้อย อย่างไร นำไปสู่การวิเคราะห์หาสาเหตุ และเข้าสู่วงจรของการ การหาปัญหาอีกครั้ง เมื่อเป็นเช่นนี้จึงเกิดวงจรของการการพัฒนาระบบบริการที่ต่อเนื่องไม่สิ้นสุด เกิดความเท่าเทียมกันระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ (ผู้ป่วย ญาติ ครอบครัว และชุมชน) เกิดระบบบริการที่สอดคล้องกับบริบทของหน่วยงานและความต้องการของผู้รับบริการ ดังตัวอย่างของการพัฒนาระบบบริการหน่วยไตเทียม โรงพยาบาลปลาปาก ที่ได้กระบวนการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยการใช้ข้อมูลจากการวิจัย และนำไปสู่การมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดผลมากกว่าวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ เช่น การปรับรอบบริการ การจัดกลุ่มผู้ป่วยสำหรับดูแล การหาแหล่งประโยชน์สำหรับการฟอกเลือด เป็นต้น

จาก 4 ขั้นตอนที่กล่าวมาข้างต้น เมื่อเปรียบเทียบกับ กระบวนการสร้างพลังอำนาจ อธิบายโดยใช้ KKU Model of Empowerment (นิตย์  ทัศนิยม และคณะ.2549) โดยใช้กระบวนการวิจัยปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม (PAR)การพัฒนาบริการส่งเสริมสุขภาพในโรงพยาบาลชุมชน ซึ่งเชื่อว่า กระบวนการสร้างพลังอำนาจ เป็นกระบวนการที่เกิดจากการมีประสบการณ์ตรง (Learning by doing) เมื่อคนได้พัฒนาทักษะในการแก้ปัญหา ตั้งแต่ขั้นวิเคราะห์ปัญหา วิเคราะห์สาเหตุแห่งปัญหา วิเคราะห์ความเชื่อมโยงในสาเหตุแห่งปัญหา มองหาทางแก้ไข ตามความหลากหลายแห่งเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง จะทำให้คนมองเห็นทางเลือกในการแก้ปัญหา เมื่อต้องตัดสินใจเลือกก็สามารถตัดสินใจโดยใช้เหตุผล บนพื้นฐานของข้อมูลหรือหลักฐานที่เชื่อถือได้ นอกจากนี้การได้ลงมือปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา และมีการประเมินผลการแก้ปัญหาของตนเองก็จะทำให้คนได้คิดวิเคราะห์ ประสบการณ์ตรงนี้ ประกอบการกับการมีเวทีเสวนา(Dialogue) เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ รับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย ได้สะท้อนคิด (Reflection) จะทำให้คนที่เข้ามามีส่วนร่วมได้พัฒนาทักษะการคิด วิเคราะห์ และรู้จักรับฟังผู้อื่น  โดยกระบวนการนี้จะช่วยพัฒนาทักษะการคิด วิเคราะห์ และทักษะในการแก้ปัญหา ที่สำคัญที่สุดการเข้าร่วมในกระบวนการนี้แม้ว่าจะไม่สามารถแก้ปัญหาได้ แต่ก็จะทำให้คนได้วิเคราะห์ตนเอง ได้รู้จักข้อดีข้อด้อยของตน ในที่สุดจะยอมรับตนเองทั้งในจุดดีและจุดด้อย นำไปสู่การรู้จักตนเอง และการยอมรับตนเอง(Self-determination) ซึ่งจะนำไปสู่การยอมรับผู้อื่น ในทางตรงกันข้ามถ้าประสบความสำเร็จ สามารถแก้ปัญหาได้ ก็จะทำให้เกิดความรู้สึกภาคภูมิใจ และได้พัฒนาทักษะในการแก้ปัญหา จะทำให้คนรู้สึกว่ามีความสามารถที่จะควบคุม หรือแก้ปัญหาได้ นั่นคือ การมีพลังอำนาจ

ดังนั้นในการพัฒนาระบบบริการ จำเป็นต้องเน้นกระบวนการเรียนรู้ร่วมกันระหว่างทีมผู้ให้บริการ และกลุ่มผู้รับบริการในการในทุกขั้นตอนของกระบวนการพัฒนา ซึ่งในข้อเสนอนี้ได้เน้นไปที่การใช้กระบวนการพัฒนางานประจำสู่งานวิจัย เนื่องจากเป็นกระบวนการที่เป็นเหตุเป็นผล และเป็นที่ยอมรับของวงวิชาการ ทุกหน่วยงานสามารถปฏิบัติได้ตามขั้นตอนที่ได้เสนอมาข้างต้น และสามารถใช้แหล่งประโยชน์ต่างๆมาช่วยเหลือเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ทีมและผู้ที่เกี่ยวข้อง หากหน่วยงานได้ดำเนินงานโดยครบทุกขั้นตอน ผลที่จะเกิดต่อทีมของหน่วยงานคือพลังอำนาจในการจัดการปัญหา  หน่วยงานเกิดระบบบริการที่ดีและสอดคล้องกับบริบทของหน่วยงาน และที่สำคัญที่สุดคือ ผู้รับบริการจะได้รับบริการที่ดี ได้มาตรฐาน และหากผู้รับบริการเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมจะเกิดการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหา พร้อมกับเกิดพลังอำนาจในผู้รับบริการในการดูแลระบบบริการร่วมกับหน่วยบริการ

บรรณานุกรม

 

ทวีศักดิ์  นพเกษร. 2548 . วิธีการวิจัยเชิงคุณภาพ เล่ม 2 . นครราชสีมา : โชคเจริญมาร์เก็ตติ้ง

นิตย์  ทัศนิยม และคณะ.2549. รายงานการวิจัย การพัฒนาบริการส่งเสริมสุขภาพในโรงพยาบาลชุมชน กระบวนการและปัญหาอุปสรรค . ขอนแก่น : มหาวิทยาลัยขอนแก่น

บุญใจ  ศรีสถิตนรากูร.2550. ภาวะผู้นำและกลยุทธ์การจัดการองค์กรพยาบาล ในศตวรรษที่ 21 . กรุงเทพมหานคร ; โรงพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

มัลลิกา  ลุนจักร์ และคณะ.2547. รายงานการวิจัย การศึกษาพฤติกรรมการออกกำลังกายของผู้สูงอายุ. มปก. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

สุพัฒน์  สมจิตรสกุล และคณะ.2542  รายงานการวิจัย การพัฒนาระบบบริการคลินิกเบาหวาน โรงพยาบาลปลาปาก. มปก. สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข

สุพัฒน์  สมจิตรสกุล. 2549 . รายงานการวิจัยการพัฒนาแนวทางการให้ความรู้แก่ผู้ป่วยไตวายระยะสุดท้ายที่ได้รับการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมที่มารับบริการในหน่วยไตเทียม โรงพยาบาลปลาปาก. มปก. สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ

สำนักการพยาบาล กรมการแพทย์ . 2546. รูปแบบการพยาบาลเพื่อเสริมสร้างพลังอำนาจในผู้ป่วยเรื้อรัง .กรุงเทพมหานคร : สามเจริญพาณิชย์ (กรุงเทพ)

หมายเลขบันทึก: 179381เขียนเมื่อ 29 เมษายน 2008 10:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ธันวาคม 2012 13:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท