โค้ชส้ม Citrus
Miss. ปรีดิ์ฤทัย โค้ชส้ม ตั้งจิตญาณพัฒน์

งัดวิชาที่ร่ำเรียนมาเป็นพี่เลี้ยงงานค่ายพนักงานใหม่


หายหน้าไปเป็นเดือน เพื่อเตรียมตัวเป็นพี่เลี้ยงพนักงานใหม่ วิชาต่างๆ ที่ได้เรียนมาหนึ่งปี ได้นำมาใช้ให้เป็นประโยชน์กับคนร่วมร้อย

        และแล้วก็ได้เวลาที่เหล่า Inno Facilitator ที่ได้รับการฝึกฝนวิทยายุทธ์ แม้จะยังไม่เก่งกล้าถึงขนาดเป็นจอมยุทธ์ แต่ด้วยใจเกินร้อยและพร้อมที่จะเป็นผู้ให้ ผู้ถ่ายทอดเรื่องราว และเปลือยตัวตนให้น้องๆ ได้เห็นเอกลักษณ์ของ ชาวช้างขาว อย่างพวกพี่ๆ 12 คนที่มีความแตกต่างในเรื่องของอายุ แต่ไม่ต่างเรื่องความมุ่งมั่นและตั้งใจ แม้จะต้องจากบ้านมาเตรียมการตั้งแต่วันอาทิตย์และรอรับน้องๆ ที่จะมาถึงในวันจันทร์ พวกพี่ก็ยินดีสละเวลาในวันหยุดเพื่อให้งานนี้ เป็นเหมือนการสร้างประติมากรรมชิ้นเอก ที่จะเป็นคนรุ่นต่อไปและเป็นกำลังสำคัญให้กับบริษัทในภายภาคหน้า

        พวกพี่ๆ เองต้องผ่านกระบวนการฝึกมาอย่างหนัก เพื่อให้มีความแข็งแรงพอที่จะสร้างภูมิคุ้มกันให้กับน้องๆ ได้  ใน 2 วันแรกที่เราจะได้พบกับน้องๆ กว่า 120 คน เป็นกระบวนการสร้างทีมงาน  กิจกรรมส่วนใหญ่จึงเป็นเกมที่จะให้น้องๆ ได้คิด ได้ออกแรง ได้ร่วมเล่นกันอย่างสนุกสนาน (ตามความคิดของพี่ๆ )  คำหลัก หรือเรื่องสำคัญใน 2 วันแรกนี้ ก็คือการออกมาจากพื่นที่ comfort zone หรือ ไข่แดง ต้องให้มาพบ มาเจอ และเปิดใจยอมรับ กล้าทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ  ต้องสร้างพื่นที่ให้น้องๆ มีโอกาสเกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยงถึงกัน (connection) และร่วมมือกันทำงาน (collaboration)

        การทำงานครั้งนี้ แม้พี่ๆ จะเหน็ดเหนื่อย เพราะพี่ๆ ก็ไม่เคยทำงานแบบนี้มาก่อน ต้องมาดูแล ชวนน้องในกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ คุยกันอยู่บ่อยๆ  ต้องคอยใส่ใจความคิด ความรู้สึก ปฏิกิริยาของน้องๆ และแก้ไขปรับกิจกรรมกันอยู่ตลอดเวลา  เป็นการทำงานร่วมกันเป็นทีมของพวกพี่ๆ กับทีมวิทยากรจากขวัญเมืองจนเหมือนเป็นคนที่รู้จักกันมานาน ขอชื่นชมทีมกระบวนกรทุกท่าน ที่นำโดย อ.ณัฐ จากใจจริง ทำให้เราคลายความกังวลไปได้ในนาทีสุดท้ายอย่างไม่น่าเชื่อ

        ช่วงบ่ายวันแรกมีการนำน้องๆ เล่นเกม กลุ่มละประมาณ 30 คน สำหรับตัวเองแล้วไม่มีประสบการณ์มาก่อน และไม่ใช่คนที่สนุก หรือคิดพลิกแพลงเกม ด้วยความเป็นคนไม่ชอบเล่นเกม มาแต่ไหน แต่ไร  นี่เป็นอีกฉากหนึ่งที่พี่อย่างเรา และอีกหลายคนก็ต้องออกจาก comfort zone ของตัวเองเหมือนกัน

        ตอนกลางคืน น้องๆ รวมทั้งพี่อย่างเรา ก็ได้ร่วมกิจกรรม เรื่องเล่าวัยเด็ก โดยใช้จินตนาการถึงภาพที่เราประทับใจ   สำหรับตัวเองไม่ได้ย้อนกลับไปถึงวัยเด็กมาก ๆเพราะไม่ค่อยมีภาพถ่ายมากนัก  ก็เลยเล่าให้น้องฟังถึงภาพวันรับปริญญาโท  ตอนที่ให้น้องเล่ากลับ น้องจำเรื่องของพี่ไม่ค่อยได้ เพราะน้องยังไม่ได้เรียนรู้เรื่องของ deep listening  เราจึงถือโอกาสนี้ให้คำแนะนำน้องที่จับคู่กับเราไปด้วย  ต่อจากนั้นตัวเองต้องสอนเครื่องมือช่วยคิดให้กับน้องๆ ทั้งห้องใหญ่ และให้น้องทำแบบฝึกหัด โดยการเขียนเป้าหมายชีวิตของตัวเอง  ด้วยสภาพบรรยากาศ ขณะนั้น เวลาสองทุ่มกว่า น้องก็เริ่มอ่อนเพลีย แต่ยังต้องทำกิจกรรมที่พี่ๆ อยากให้ เป็นห่วงเหมือนกัน ด้วยเวลาที่จำกัด จะเกิดประโยชน์หรือเปล่า ช่วงเลิกกิจกรรม พี่เลี้ยงทั้งหลายนั่งคุยกันต่ออีกชั่วโมงกว่าๆ หลายคนรวมทั้งเรา พกพาเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นไปปรึกษาหมอน บางคนนอนไม่หลับ โชคดีที่เราคิดขึ้นได้ จดสิ่งที่ติดค้างในใจ ในสมองออกมาไว้ในสมุด จะได้หลับได้อย่างเป็นสุข

        วันรุ่งขึ้น ตัวเองยังพกพาความเครียดติดมา ทั้งที่ตอนเช้า เมื่อเจอน้องในกลุ่ม ยังรู้สึกสดชื่นอยู่เลย เพราะเริ่มจำน้องได้ทุกคน และคุ้นกันมากขึ้นจากที่ได้ดูน้องแสดงละครกันเมื่อบ่ายของวันก่อน น้องๆ เองก็สนิทกันมากขึ้นจากการได้ร่วมกิจกรรมกันหลายอย่าง  แต่พอหลังจากกิจกรรม body move และการเล่นเกม เกมหนึ่ง เรารู้สึกว่าน้องในกลุ่มดูจะซึมๆ กันไป ไม่รู้เหมือนกันว่าพี่คิดเองหรือเปล่า  แต่ลึกๆ ของตัวเองสัมผัสได้ว่า เกมที่เล่นทำให้น้องเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะคำตอบที่ได้เป็นคำตอบที่ไม่ถูก  ทั้งที่การเล่นเกมนั้น พี่ที่นำเกมเน้นว่า เราต้องการให้น้องๆ สังเกตกระบวนการทำงานเป็นทีม ไม่ได้มุ่งที่การหาคำตอบที่ถูกเลย แล้วพี่ๆ ก็ไม่มีใครกล่าวชมกลุ่มที่หาคำตอบที่ถูกต้องได้ เพราะไม่ใช่วัตถุประสงค์ที่ต้องการ  ช่วงถอดบทเรียน น้องๆ ทุกกลุ่มนำ เครื่องมือที่พี่สอนให้เมื่อคืน เอามาใช้ด้วย   เมื่อเห็นผลงานของน้องๆ รู้สึกปลื้มใจ และภูมิใจในตัวน้องๆ มาก (รวมทั้งตัวเองด้วย)

 

        ช่วงบ่ายมีการเล่นเกมเป็นทีมอีก  น้องๆ แสดงศักยภาพของตัวเองออกมา  ความเป็นผู้นำของหลายคนผุดพรายขึ้นมาปรากฏอย่างเห็นได้ชัด ไม่จำกัดว่า ชายหรือหญิง  บางที ผู้ชายยังต้องฟังผู้หญิงเลย   จากนั้นช่วงให้น้องเขียนภาพชีวิตที่ผ่านมาตั้งแต่เด็กถึงปัจจุบัน สายธารชีวิต ของแต่ละคนเป็นอย่างไรกันบ้าง  พี่เองนั้นพยายามเขียนแต่เขียนไม่ได้  อารมณ์ยังขึ้นไม่พอที่จะพาไปถึง  เลยไปแอบฟังตอนน้องๆ เล่าให้เพื่อนฟัง ชอบมากๆ เลย น้องบางคนเขียนภาพสวย  บางคนไม่ได้วาดเป็นภาพ มีแต่เส้นๆ แต่ก็เล่าได้อย่างเป็นเรื่องเป็นราว  กิจกรรมนี้แหละที่พี่เองก็ไม่เคยทำแต่เรียนรู้ร่วมกับน้องด้วย  ค้นพบว่า การเรียนรู้นั้นไม่มีข้อจำกัดใดๆ เลย อยู่ที่ใจของเราต่างหาก

ที่พร้อมจะเปิดหรือไม่

        หลังจากปล่อยน้องไปพักช่วงเย็น พี่ๆ ก็จับกลุ่มกับทีมกระบวนกร คุยกันอีกแล้ว เพื่อปรึกษากันว่าคืนนี้จะจบอย่างไรจึงจะทำให้ภาพออกมาสวย และยังฝากใจติดตามไปกับน้องๆ  จนกว่าพี่กลุ่มเราจะกลับมาพบกับน้องอีก ใน 4 วันสุดท้ายของค่ายหนึ่งเดือนนี้   กิจกรรมช่วงกลางคืนที่ปล่อยให้น้องไปเขียนแบบไม่หยุดเกี่ยวกับเรื่องราวที่เขามาพบใน 2 วันนี้ และความประทับใจ พร้อมคำขอบคุณ เมื่อกลับเข้ามาในวง สำหรับเราแล้วคิดว่า เป็นเวลาที่มีคุณค่ามาก ได้รู้จักน้องมากขึ้น เวลาฟังน้องอ่านสิ่งที่เขียน หรือบอกเล่า ช่างเป็นเวลาที่มีความประทับใจในความใสซื่อ จริงใจของน้องๆ  ฟังเรื่องที่น้องบางคนเขียนแล้ว เราเองก็น้ำตาซึมด้วยความปลื้มใจ โชคดีที่อยู่ไกลแสงเทียน

 

         จากการมาช่วยงานครั้งนี้ ถือว่าเป็นประสบการณ์ที่ทำให้พี่ก็ได้ออกจากพื้นที่คุ้นชินของตัวเอง (comfort zone) และร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับทีมกระบวนกรของขวัญเมือง  และกับน้องๆ ด้วยเช่นกัน แม้จะเหนื่อยแค่ไหน แต่ก็ดีใจที่มีโอกาสมาร่วมงานนี้ทั้งที่อายุ อานาม ก็พอจะเป็นแม่น้องๆ พวกนี้ มากกว่าจะเป็นพี่ได้แล้วค่ะ  

 

หมายเลขบันทึก: 178724เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2008 18:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณ อ.พรรณี ที่ยังเข้ามาติดตามอ่านเรื่องราวของ citrus แล้วยังพาไปดูรูปสัตว์ประหลาด ทำให้ได้เห็นความจริง และความเป็นคนมากขึ้นค่ะ

เข้ามาอ่าน ได้ความรู้มากนะคะ ชอบค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท