เมื่อ PhD ต้องมาคุม Lab Anatomy


ผมอยากบันทึกเรื่องนี้เพราะคิดว่าระบบการศึกษาของเราน่าจะริเริ่มการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่าง มิใช่เพิ่มปริมาณอาจารย์ทั้งจำนวนและแรงงาน

ผมได้มีโอกาสคุยกับน้องอาจารย์กิจกรรมบำบัดและกายภาพบำบัด มีเพียงอาจารย์ 3 ท่านที่จบโทกายวิภาคศาสตร์ นอกนั้นจบโทอื่นๆ เช่น กิจกรรมบำบัด จิตวิทยาคลินิก จิตวิทยาการศึกษา

บรรยากาศของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ค่อนข้างดีครับ มีหลายประเด็นที่น่าบันทึกไว้ ได้แก่

  • ผมเล่าประสบการณ์ของการเป็นผู้ช่วยสอนกายวิภาคศาสตร์ที่ต่างประเทศ มีบทบาทเป็นผู้กระตุ้นเตือนให้นักศึกษาอ่านคู่มือและปฏิบัติแบบคิดเองทำเอง และเน้นถามโจทย์ให้นักศึกษาคิดตอบหรือแสดงความคิดเห็นเพื่อเชื่อมโยงกับการจัดการเรียนการสอนและปฏิบัติการ หากผู้ช่วยสอนตอบตามแนวทางที่เตรียมตัวกับผู้สอนก็จะมีรูปแบบที่มีทิศทางชัดเจนและบรรลุวัตถุประสงค์การเรียนการสอนครับ หากนอกเหนือจากแนวทางนั้นให้แนะนำนักศึกษาพูดคุยกับผู้สอนโดยตรง ผู้ช่วยสอนไม่ควรบอกในสิ่งที่ไม่รู้
  • การทำปฏิบัติการที่ต่างประเทศมีทั้งแบบเปียกและแห้ง ที่จัดไว้ตามโอกาสของเนื้อหาวิชาที่ผู้สอนอยากให้ผู้ช่วยสอนสาธิตสื่อแสดงชิ้นส่วนสำคัญของร่างกายที่ผ่านกรรมวิธีจากการชำแหละและเคลือบศพ และ/หรือฝึกนักศึกษาให้หัดชำแหละศพศึกษาชั้นกล้ามเนื้อ เส้นประสาท และหลอดเลือด ด้วยแรงกายและแรงสมองพอๆกัน (ไม่เหนื่อยมากจนไม่มีแรงคิดวิเคราะห์รายละเอียดของเนื้อหาวิชาจากปฏิบัติการ) และมีเจ้าหน้าที่เชี่ยวชาญการผ่าตัดและชำแหละศพอาจารย์ใหญ่ให้นักศึกษาในกรณีที่ต้องใช้แรงและทักษะมากๆ
  • การจัดกลุ่มนักศึกษาต่างประเทศโดยเรียงตามเลขที่ สร้างกระบวนการปรับตัวของนักศึกษาในการทำปฏิบัติการเป็นทีม ระดมความคิด และเรียนรู้กับผู้อื่น ในระยะยาวนักศึกษามีการพัฒนาทักษะทางจิตสังคมได้ดี ใช้ผู้สอนเพียงหนึ่งคนต่อนักศึกษาทั้งชั้นไม่เกิน 60 คน และผู้ช่วยสอนเพียงหนึ่งคนต่อนักศึกษาหนึ่งรอบของการทำปฏิบัติการไม่เกิน 15 คน มีการแบ่งรอบการทำปฏิบัติการพร้อมกับการทบทวนด้วยกลุ่มนักศึกษาเอง (ลงแรงน้อยกว่า 50% เมื่อต้องช่วยหลายกลุ่มนักศึกษา ทำให้นักศึกษามีโอกาสคิดเองทำเองมากกว่า 50%)
  • สำหรับการจัดการเรียนการสอนของคณะฯ นักศึกษาเลือกกลุ่มเองตามความสมัครใจ ใช้เวลามากในการทำปฏิบัติการด้วยการเชิญอาจารย์ไปช่วยชำแหละศพและสอนไปด้วย นักศึกษาที่เรียนรู้ไวจะเข้าใจและปฏิบัติการได้ดี ขณะที่นักศึกษาหลายคนไม่อ่านคู่มือแต่คอยให้อาจารย์ทำปฏิบัติให้เลย (ลงแรงมากกว่า 50% เมื่อต้องช่วยหลายกลุ่มนักศึกษา ทำให้นักศึกษามีโอกาสคิดเองทำเองน้อยกว่า 50%) ขณะนี้คณะฯขาดแคลนอาจารย์ที่จบโทกายวิภาคศาสตร์มาสอนนักศึกษา และมีการแก้ไขในระยะชั่วคราวด้วยการให้อาจารย์สาขาอื่นมาช่วยคุมปฏิบัติการ แต่ผมพยายามแนะนำให้มีการทำความเข้าใจถึงการลงแรงสอนและการเปิดโอกาสให้นักศึกษาคิดและลงมือปฏิบัตการอย่างแท้จริง รวมทั้งหากมีการลดจำนวนอาจารย์สาขาอื่นๆเพื่อไปสอนวิชาที่อาจารย์ต้องรับผิดชอบในหลักสูตรอื่นที่ตรงกับความเชี่ยวชาญของอาจารย์ ทางคณะฯควรมีการเตรียมการอะไรบางอย่าง เช่น การปรับเปลี่ยนสื่อหรือกระบวนการสอน การขอตำแหน่งอาจารย์กายวิภาคศาสตร์โดยตรงหรือผู้ช่วยสอนอื่นๆ ที่ต้องทำหน้าที่ผู้ช่วยสอนจริง เป็นต้น

สิ่งหนึ่งที่ผมอยากบันทึกไว้ คือ ก่อนไปเรียน PhD ผมได้เรียนรู้วิชากายวิภาคศาสตร์ทำให้เข้าใจกระบวนการฝึกสอนนักศึกษาและทบทวนความรู้ที่นอกเหนือจากวิชาเฉพาะทางที่เรียนมา แต่ปัจจุบันหลังจบ PhD ผมต้องไปคุม Lab นี้ด้วยความมุ่งมั่นที่อยากจะสร้าง Educational Research ทาง KM ว่านักศึกษากายภาพบำบัดและกิจกรรมบำบัดจะเข้าใจวิชากายวิภาคศาสตร์ด้วยกระบวนการคิดและเรียนรู้ด้วยตนเองอย่างไร ถึงจะนำความรู้ไปต่อยอดกับวิชาอื่นๆ ทางคลินิกในลำดับต่อไป และอาจารย์ผู้สอนสามารถปรับภาระงานให้มีความสมดุลย์ระหว่างการสอนและการทำภาระงานอื่นๆ อย่างมีความสุขและเหมาะสม

ในฐานะประธานสาขาวิชากิจกรรมบำบัด ผมยอมไปคุม Lab เพื่อสร้างกำลังใจให้น้องๆอาจารย์กิจกรรมบำบัดได้พัฒนาตนเองในมิติการสอนที่ตนเองไม่ได้เชี่ยวชาญและในมิติของการแสดงบทบาทที่ชัดเจนของ Facilitator หรือ Coach ในแบบ Teacher Assistant จะได้เข้าใจนักศึกษาว่าเมื่อผ่านวิชาปรีคลินิกนี้แล้วอาจารย์ต้องเปลี่ยนบทบาทมาสอนในตัววิชาชีพหรือคลินิกได้เชื่อมโยงกันอย่างไรบ้าง และผมกำลังคิดผลกระทบต่อการพัฒนาสาขาวิชาคือ เมื่อลงแรงและเวลาไปคุม Lab ผมขาดโอกาสและเวลาที่ต้องทุ่มเทในการใช้ความรู้ทาง PhD มาขยายงานของสาขาวิชาในรูปแบบการวิจัย การเตรียมกระบวนการสอน การจัดหาเครื่องมือการเรียนการสอน การเขียนตำราประกอบการสอน การพัฒนาอาจารย์เพื่อให้มีคุณภาพต่อการบริหารหลักสูตร การสร้างเครือข่ายศึกษาวิจัยกับหน่วยงานนอกคณะฯ (ซึ่งเป็นการปูทางขยายตำแหน่งงานให้รองรับนักศึกษาในอนาคต) และการบริการวิชาการแบบเชิงรุกให้สังคมรับรู้บทบาทวิชาชีพมากขึ้น

ผมยังคงคิดไม่ออกว่า ควรทำตัวอย่างไรเพื่อให้หน่วยงานรับทราบถึงกระบวนการจัดภาระงานให้เหมาะสมกับพื้นฐานความสามารถของอาจารย์มหาวิทยาลัย มิฉะนั้นผมเริ่มจะเห็นด้วยกับคำว่า "ภาวะถดถอยของอาจารย์ PhD ในระบบราชการ" หรือ "ภาวะเปลี่ยนงานหรือสมองไหลของอาจารย์ PhD จากระบบราชการไปสู่ระบบอื่นๆ หรืออาชีพอื่นๆ ที่ดีกว่า"  

หมายเลขบันทึก: 178315เขียนเมื่อ 23 เมษายน 2008 12:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 12:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นบทความที่ตรงใจมากเลยค่ะ

และเนื่องจากดิฉันจบ กิจกรรมบำบัด และกายวิภาคศาสตร์มาเหมือนกัน

พอมาเจอบทความดีดีและน่าสนใจจึงอยากจะเล่าประสบการณ์บางส่วนที่เคยได้รับจากรุ่นพี่ที่จบกายวิภาคศาสตร์มาเหมือนกันว่า

รู้จักกับรุ่นพี่บางคนที่จบโทกายวิภาคศาสตร์ด้วยกัน

พอไปทำงานจริงๆ แล้วปรากฏว่า

ไม่ได้ทำเพียงแต่การสอนในวิชาชีพที่ตนจบมา (กายวิภาคศาสตร์) เพียงอย่างเดียว

แต่ต้องไปการสอนวิชาอื่นๆ ที่ตนเองไม่มีประสบการณ์ และความรู้ที่เพียงพอ

(ประมาณว่าพอรับอาจารย์เพิ่มแล้วก็ให้ทำทุกอย่างแบบ over all เลยทีเดียว)

ฉะนั้นในวิชาที่ผู้สอนไม่มีความรู้และความเชียวชาญเพีิยงพอ

จะทำให้การเรียนการสอนต่างๆ ติดขัด ทั้งทางด้านการสอน และการเรียนรู้ของนักศึกษา

ที่จะได้รับความรู้ไม่เพียงพอ หรือไม่รู้จริงในหัวข้อ หรือวิชาที่อาจารย์ผู้สอนไม่มีความรู้ หรือไม่ได้จบทางด้านนั้นมาโดยเฉพาะ

แต่ทางมหาวิทยาลัยต้องการประหยัดงบประมาณในการจ้างอาจารย์ที่จบวิชาชีพเหล่านั้นมาโดยตรง จึงต้องให้คนที่จบวิชากายวิภาคศาสตร์ไปสอนทั้ง สรีระวิทยา พยาธิวิทยา เป็นต้น

ดังที่ได้กล่าวไปแล้วนั้นนี่คือประสบการณ์ของรุ่นพี่ที่จบแล้ว และออกไปทำงานจริง

ดังนั้นเมื่อเหตุการณ์เช่นนี้ก็จะทำให้ผู้ที่ทำงานไม่มีความสุขกับการทำงาน และเกิดภาวะสมองไหลอย่างที่อาจารย์ได้กล่าวไปแล้วค่ะ

สุดท้ายนี้ต้องขอขอบคุณบทความและ้ข้อคิดดีๆ เกี่ยวกับระบบการศึกษาไทยด้วยค่ะ

ขอบคุณสำหรับการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับคุณศิรินันท์

ขอให้อดทนและปรับชีวิตการทำหน้าที่อาจารย์อย่างมีความสุขครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท