สอนให้ฟัง


สอนการฟัง…ให้เป็นพลังสู่การคิด…เป็นมิตรกับการพูด ( 1 )

สอนการฟังให้เป็นพลังสู่การคิดเป็นมิตรกับการพูด ( 1 )

 

            การฟังให้เป็นเรื่อง   หรือฟังเอาเรื่อง เป็นการฟังที่ตั้งใจอย่างที่สุด  เพราะ ในระหว่างที่ฟัง ผู้ฟังต้องคิดติดตามเรื่องราวให้ต่อเนื่องกันไป จึงจะสามารถฟังได้รู้เรื่องโดยตลอด การฟังเอาเรื่องจะได้ผลสมบูรณ์ ผู้ฟังจะต้องเข้าใจ รู้เรื่อง และต้องจำเรื่องให้ได้ด้วย ซึ่งต้องอาศัยความสามารถเฉพาะตัว และความพยายาม ถ้าหากเราฟังอะไรด้วยความตั้งใจ มีสมาธิ ก็จะรู้เรื่องและเข้าใจเรื่องได้ดี   อาจกล่าวได้ว่า การแอบฟัง   เป็นการฟังเอาเรื่องที่ดีที่สุดวิธีหนึ่ง เพราะเป็นการฟังอย่างใจจดใจจ่อ  เป็นการฟังที่ต้องใช้สมาธิในการฟังมากๆ   พอ ๆกับคนที่ทะเลาะกัน  ต่างฝ่ายต่างที่มีความสามารถในการฟังเอาเรื่องอย่างที่สุด การทะเลาะวิวาทเกิดขึ้นได้  เพราะต่างฝ่ายต่างฟังอย่างเอาเรื่องนั่นเอง

            สมัยที่เรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา  ครูเคยสอนให้อ่านเอาเรื่อง  แต่ไม่เคยเรียนการฟังเอาเรื่อง  พูดเอาเรื่อง  เขียนเอาเรื่องเลย  วันนี้จะเขียนถึงการฟังเอาเรื่องเริ่มตั้งแต่ความสำคัญของการฟัง  เพื่อหาแนวร่วม ช่วยแสดงความคิดเห็น  เพื่อสอนการฟังให้ได้ผลบ้าง   

            สังคมไทยเป็นสังคมของการพูดคุย     ไม่เป็นสังคมแห่งการฟังเหมือนคนญี่ปุ่น และไม่เป็นสังคมแห่งการฟังเหมือนคนอเมริกัน       อาจเป็นเพราะคนไทยมีจิตใจที่เอื้ออาทร   เป็นสังคมที่ช่วยเหลือเจือจานกันเป็นส่วนใหญ่     การพูดคุยทักทายแม้จะไม่ใช่คนที่รู้จักคุ้นเคยเป็นวัฒนธรรมที่มีให้เห็นทุกภาค    สภาพภูมิอากาศของประเทศก็น่าจะส่งผลให้คนไทยเป็นสังคมแห่งการพูดเช่นกัน      เพราะอากาศที่ร้อนจัดทำให้ผู้คนออกนอกบ้าน    มานั่งรับลมเย็น   แล้วก็พูดคุยกันไป     ตรงกันข้ามกับผู้คนที่อยู่ในเขตอากาศเย็นจัด  ต่างคนต่างหาไออุ่นภายในผ้าห่ม       ภายในห้องส่วนตัวที่อบอุ่น           จึงหาวิธีแก้หนาว  ด้วยการอ่าน

            สังคมแห่งการพูด    จึงเป็นสังคมที่สู้สังคมแห่งการฟังและสังคมแห่งการอ่านไม่ได้    เพราะสังคมแห่งการพูด   ถ้าผู้พูดและผู้ฟังรู้มาเหมือนๆกัน    ก็ไม่เกิดการพัฒนาเท่ากับการอ่านซึ่งสร้างจินตนาการได้หลากหลายกว่า    การฟังก็ได้ประโยชน์มากกว่าการพูด ... สังคมแห่งการฟังเป็นสังคมที่ได้เปรียบสังคมแห่งการพูด    เพราะการฟังรับข้อมูลได้เร็วกว่าและมากกว่า     คนที่ต้องการให้ความรู้คนอื่นจะต้องพูดเก่ง     

            ในวงสนทนา  ผู้ที่ผูกขาดการฟังจะได้เปรียบคนที่ผูกขาดการพูด     ถ้าเราฝึกฝนจน    มีความสามารถพิเศษในการฟัง เราจะเป็น   นักคิดและนักพูดที่มีประสิทธิภาพ  ด้วย

                การฟังทำให้เกิดปัญญา     เกิดความรอบรู้และฉลาดก้าวทันโลก    ผู้ฟังที่ดีต้องจับใจความของเรื่องที่ได้ฟัง    เข้าใจเนื้อเรื่อง     ตีความ     วิเคราะห์     ตัดสินประเมินค่าเรื่องราวที่ฟังดั้อย่างมีประสิทธิภาพ 

                นายแพทย์เมืองทอง   แขมมณี  ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการฟังว่า

ฟังอะไร  ฟังให้ชัด  ถนัดหู                              ฟังให้รู้  ฟังให้ป็น  เห็นความหมาย

ฟังให้ถูก  ฟังก่อนตอบ  โดยแยบคาย              ฟังด้วยกาย  ใจถึงกัน  นั้นฟังดี

ฟังอะไร  ใคร่ครวญคิด  ด้วยจิตสว่าง              ฟังทุกอย่าง   ทุกคน  จนถ้วนถี่

ฟังแล้วท้วง  ติชมเพื่อ  เกื้อวจี                          ฟังเช่นนี้  ล้วนเลอเลิศ  เกิดปัญญา

 

                เมื่อการฟังสำคัญเช่นนี้         เราจึงต้องสอนให้เยาวชนไทยให้  ฟังเป็น ลองสังเกตดูว่า ...เจ้าตัวน้อย ๆ  ที่อยู่รอบ ๆ ตัวเรา    ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน         ฟังคำสั่งครั้งเดียวรู้เรื่องไหม   หรือว่าต้องสั่งซ้ำ ๆ         (   เพราะไม่เคยถูกสอนให้ฟัง  )........  ศาสตร์แห่งการฟัง....   จะถูกค้นพบจากทุกคน....และจะเป็นมรดกสู่ลูกหลาน   ถ้าเรานำมาเก็บไว้ในแหล่งเรียนรู้เดียวกัน   ช่วย ๆ กันนะคะ.

หมายเลขบันทึก: 177544เขียนเมื่อ 19 เมษายน 2008 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 มิถุนายน 2012 01:45 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีครับอาจารย์กิติยา

  • ได้ความรู้มากขึ้น ขอบคุณครับ
  • ต่อไปนี้ ครูสุจะลองเป็นผู้ฟังที่ดีร่วมด้วย
  • บทความมีสาระประโยชน์มากครับ

ขอบคุณค่ะครูสุ

ติดตามงานของครูสุเสมอค่ะ

ขอชื่นชมในความทุ่มเทกับวิชาชีพ...ที่ถูกกำหนดให้เป็น

สร้างสรรค์ผลงานให้เป็นพลังสังคมต่อไปนะคะ

คุณกิตติยา ครับ ไม่ได้คิดมาก่อนเลย ว่าจะมาพบกับคุณครูจากจ่านกร้องในบล็อคแห่งนี้ โรงเรียนจ่านกร้องเป็นโรงเรียนขวัญใจชาวเหนือ โรงเรียนที่ค้นพบ Best practices มากมาย โดยเฉพาะ JR แบนด์ และโรงเรียนในโครงการระบบดีโรงเรียนมีคุณภาพ ที่มีคุณภาพเกรด A ถ้าอาจารย์กิตติยาอยู่ในทีมพัฒนาคุณภาพ เราก็คงพบกันแล้วหลายครั้งที่โรงแรมไพลิน ดังนั้น จึงขอสวัสดีอาจารย์อีกครั้งหนึ่งครับในนามวิทยากรเครือข่ายภาคเหนือของโครงการระบบดีโรงเรียนมีคุณภาพ (ประเสริฐ ประดิษฐ์ วิทยากรเครือข่ายNode จังหวัดแม่ฮ่องสอนครับอาจารย์) อาจารย์พูดถูกครับ การเรียนรู้ทางภาษาจะต้องเริ่มต้นจากการฟังก่อนเสมอ เด็กเล็กก็เรียนรู้จากการฟัง นกแก้วนกขุนทองก็เรียนรู้จากการฟัง เรามักพบเด็กที่พูดเก่งเป็นต่อยหอย จีบปากจีบคำเก่ง บางครั้งก็ด่าเก่งด้วย นั่นแสดงว่าเขาเรียนรู้จากการฟังมาจากคนรอบข้าง เช่น แม่ พี่ น้า เพื่อน หรือเลียนแบบจากการฟังมาจากละครนำเน่าทั้งหลาย สภาพแวดล้อมทางกายภาพของเด็กในวัย 1 ถึง 6 ขวบ การฟังมีผลต่อพฤติกรรมของเด็กมากเลยครับ เด็กบางคนเป็นคนไม่พูด พูดน้อย เพราะที่บ้านของเด็กก็เป็นเช่นนั้นไม่ค่อยพูดจากันเท่าไร ไม่ได้พูดสอนลูกในทางที่ถูกต้อง ผมไม่ได้พูดตามทฤษฏี หากแต่พูดตามประสบการณ์ที่ได้สอนเด็กชั้นเล็กๆมาหลายปี ผมจึงเชื่อศาสตร์แห่งการฟังของอาจารย์ทุกอย่างครับ อาจารย์เก (นายประเสริฐ ประดิษฐ์)

ขอบคุณค่ะอาจาย์เก

***หวั่งว่าจะได้ข้อมูลและทรรศนะเกี่ยวกับการฟังจากอาจารย์อีกในโอกาสต่อไปนะคะ

***ขอบคุณแทนผู้อำนวยการและวง JR BAND ด้วยค่ะ ช่วงปลาย เม.ย.51นี้กำลังเข้าแข่งขันวงดนตรีลูกทุ่งเป็นปีที่ 4 รอบแรกฤดูร้อนนี้ JR BAND มีลีลาการนำเสนอของแดนเซอร์กับการตีกลองทัดด้วยศิลปะที่ผสมผสานกลมกลืน อย่าลืมติดตามชมและเป็นกำลังใจนะคะ

***เสียดายที่ไม่มีโอกาสได้รับความรู้จากอาจารย์ เพื่อนสนิทของดิฉันคุณมนิดา เคยทำงานที่สพท.แม่ฮ่องสอน ว่าจะไปเที่ยวหาที่แม่ฮ่องสอนก็ยังไม่มีโอกาสได้ไป จนเพื่อนย้ายกลับ ...ยินดีอย่างยิ่งค่ะที่ได้รู้จักอาจารย์ คิดว่าสักวันจะชวนเพื่อนไปเยือนแม่ฮ่องสอนค่ะ

สวัสดีจ้ะ

ขยันจังเลย

ตัวเล็กโกงจัง จะอ่านสอนให้ฟังซักหน่อย ไม่มีสมาธิเลย

แด่ ...กิติยาเพื่อนรัก

ผลัดกันฟัง ผลัดกันพูด ช่วยผูกจิต

เสริมสร้างมิตร พิชิตใจ ใครถ้วนหน้า

ฟังเอาเรื่อง เปรื่องปราชญ์ ฉลาดปัญญา

เพิ่มคุณค่า คารม คมวาที

จาก เนืองนิจ เพื่อนรักเช่นกัน.....

สวัสดีคะ

บันทึกนี้สอนเกี่ยวกับเรนื่องการฟังได้ดีทีเดียว บางทีทำงานเยอะ สติไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว ระหว่างฟังก็ดันคิดแต่เรื่องงาน ทำให้บางครั้ง จับประเด็นไม่ได้ เพราะไม่ได้ใจจดใจจ่อกับการฟังให้ได้เรื่องราว

ดิฉันก็เคยคิดว่า ขาดสติไปหน่อย คงต้องปรับตัวเอง พยายามให้สติอยู่กับตัว รู้ตัวเองว่ากำลังทำอะไร อยู่กับสิ่งที่ทำ จะทำให้การฟังให้ได้เรื่อง น่าจะดียิ่งขึ้นคะ

สวัสดีค่ะ...มะปรางหวาน

ทักษะการฟัง เป็นสิ่งที่ต้องฝึกบ่อยๆ คนฟังเก่งมักได้เปรียบ ลองสังเกตนักการเมืองเวลาถูกนักข่าวสัมภาษณ์ เราจะทราบได้ว่านักการเมืองแต่ละคนมีความแตกต่าง..ใครบกพร่องเรื่องการฟังก็จะโต้ตอบแบบหลงทาง...กลายเป็นประเด็นที่สร้างปัญหาต่อไปได้...ดิฉันกำลังพยายามจัดกิจกรรมเกี่ยวกับการฝึกทักษะการฟังให้กับเด็กๆ ซึ่งถ้าได้ผล ทักษะนี้จะใช้เอื้อกับการทำงานเกือบทุกวิชาซีพ ... ลองแก้ไขการฟังให้ฟังอย่างมีสมาธิให้ได้แล้วจะพบการเปลี่ยนแปลง ขอบคุณค่ะ

เนือง...ช่วยแต่งกลอน....ที่สร้างความตระหนักให้เยาวชนเห็นความสำคัญของการฟังอีกนะ ที่ส่งมาก็ใช้คำได้ดี ไพเราะและสื่อความหมายเข้าใจง่าย ขอบคุณ สักวันจะไปขอผลงานมาเผยแพร่

ขอบคุณครับ อาจารย์ กำลังเกิดปัญหาอยู่พอดีกับนักเรียนที่โรงเรียน

บทความนี้มีประโยชน์กับผมมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท