สำโรงอายุ7ปี ปลูกเล่นๆ โตจริงๆ
ช่วงที่ผ่านมาน้ำมันมีราคาแพงขึ้น พวกนักวิจัยส่องสอดมองหาพืชพลังงานใหม่ๆ ปาล์มน้ำมัน สบู่ดำ มันสำปะหลัง อ้อย เป็นโจทย์เก่าที่เอามาปัดฝุ่นใหม่ ตั้งต้นตีปี๊บการปลูก ราคา อนาคต มาคุยฟุ้งด้านเศรษฐกิจว่าดีครอบจักรวาล แค่ชิมลางราคาน้ำมันพืชในตลาดก็พุ่งพรวด ป่าไม้ธรรมชาติจะย่อยยับไปเท่าไหร่?
ป้าจุ๋มเป็นนักวิชาการที่สนใจงานชาวบ้าน ลงพื้นที่ชนบททุกเดือน เอาโจทย์จากชาวบ้านไปประสานต่อกับนักวิจัยในส่วนกลาง ค้นพบเรื่องดีๆด้านสมุนไพรหลายตัว บังเอิญสังขารผมเหมาะสมที่จะทดลองยาสมุนไพรตัวใหม่ๆ ที่ผลิตจากสถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ และนักวิจัยมืออาชีพ ตอนนี้เจี๊ยะ บอระเพ็ดพุงช้าง ฟ้าทลายโจร ขมิ้นชัน น้ำมะพร้าว น้ำทับทิม ใบกระวานฮ๊อก ใบย่านาง เป็นว่าเล่น เมื่อวานนี้สรุปเรื่องสมุนไพรชุมชน ชาวบ้านที่ขายสมุนไพรเล่าว่า ถ้าลองกินกระชายดำจะดีอย่างนั้นอย่างนี้ โฆษณาเกินความจริง ข้อเท็จจริงคือ..
โด่รู้ล้ม นะขอรับ
ไม่ใช่หมดลมหายไปใจแล้วยังตั้งเด่ อันนั้นก็เกินไป
เท็จจริงประการใด ต้องแอบถามคนชอบวิ่ง
เห็นออกกำลังดี แข็งแรงดีโดยธรรมชาติ
จำเป็นต้องหาสมุนไพรมาค้ำให้โด่รึเปล่า
สำโรงเป็นไม้พื้นถิ่นอีสาน เป็นไม้เนื้ออ่อนโตเร็วขนาดใหญ่ระดับไม้ยางนา หรือนางดำ ถือเป็นไม้เรือนยอดระดับสูง คำว่าสำโรง ไปพ้องเสียงคำว่า”โลง” คนสมัยก่อนจะคะลำ คือมีข้อยกเว้น จะไม่ตัดเอาไม้ชนิดนี้มาใช้สอย ประกอบกับเป็นไม้เนื้ออ่อน จึงเป็นตัวเลือกรั้งท้ายที่ชาวบ้านจะตัด แต่สมัยนี้อะไรก็ไม่เหลือ สำโรงก็พลอยล้มหายตายตามไม้ชนิดอื่นๆไปด้วย
ในเม็ดสำโรงมีน้ำมันจำนวนมาก สมัยก่อนหนุ่มๆเอาไม้ไผ่เสียบเมล็ดเรียงกัน แล้วจุดไฟให้แสงสว่างพอได้อาศัยไปจีบสาวยามค่ำคืน ไม่เดินไปสะดุดพะพดว่าที่พ่อตาเสียก่อน
ป้าจุ๋มเล่าว่า บีบน้ำมันออกมาได้ถึง25% เปลือกเม็ด ฝักแห้ง เอาไปทำเชื้อเพลิงอบไก่ย่างปลาจะมีรสชาติกลิ่นหอมดี มะโรงช่วงออกฝักจวนแก่จะมีสีชมพูแดงเรื่อๆสวยมาก ฝักก็แปลกกว่าไม้ชนิดอื่น กลมๆเท่ากำปั้น เกาะกลุ่มกันเป็นแฉกๆ เพาะเมล็ดง่ายเกิดง่าย หว่านไว้ผิวดินยังงอก เราจะเห็นต้นอ่อนขึ้นรอบๆต้นแม่ในป่าธรรมชาติ
แนวคิดเรื่องสำโรงพืชพลังงานทดแทน ผมคิดว่าถ้าเป็นไม้ยืนต้นลักษณะนี้ ชาวบ้านสามารถปลูกแทรกลงไปในพื้นที่เรือกสวนไร่นาได้ จึงวางแผนที่จะทำการวิจัยแบบไทบ้าน นั่นคือปลูกต้นสำโรงแทรกไม้อื่นทั่วไป และจับต้นไม้มาเข้าแถวอย่างที่เขาปลูกพืชเชิงเดี่ยว เมื่อต้นเอายุ2ปี เราก็ไปเอายอดต้นแก่มาเสียบ จะช่วยร่นระยะการให้ผลผลิตจาก 10 ปี ลงมาเหลือ3ปี จะมีผลผลิตให้ทยอยเก็บมากขึ้นๆ ส่วนตัวเลขข้อมูลชัดๆ คงต้องรออีก2ปีข้างหน้า ให้เราทดลองด้วยตนเองแล้วจึงจะนำมาบอกเล่าอีกทีดีไหมครับ
จุดที่น่าพิจารณาพืชพลังงานที่ชื่อว่าสำโรง
1. ปลูกง่าย ไม่ต้องไปเสียงบประมาณแผ่นดินเป็นพันเป็นหมื่นล้าน
2. พื้นที่ปลูก ไม่ต้องบุกรุกทำลายป่าธรรมชาติ แบบได้ไม่คุ้มเสีย
3. ความเหมาะสม ชาวบ้านมีประสบการณ์ในระดับที่จะดำเนินการเบื้องต้นได้
4. เมล็ดพันธุ์ หาง่ายไม่ต้องซื้อ สวนใครมีก็ไปขอมาปลูก
5. ใช้เทคโนโลยีบีบอัดน้ำมันแบบง่ายๆที่ชาวบ้านทำเอง ไม่ต้องพึ่งพาโรงงาน
6. ต้นสำโรงที่ปลูก ไปช่วยเสริมปริมาณต้นไม้ ที่ชาวบ้านมีส่วนร่วมด้วยช่วยกัน
7. มีหน่วยงานไหน สนใจที่จะให้ทุนผู้น้อย ทำวิจัยเรื่องนี้ไหมครับ?
ข้อมูลเพิ่มเติม:
http://www.suanlukchan.com/discussion.php?suan_chanruean_id=35
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย ครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์ ใน KM ในมหาชีวาลัยอีสาน
ต้นสำโรงนี่แถวทางใต้เรียกว่าอะไรสักอย่างแล้วนะครับ.... นึกไม่ออกครับ