BM.chaiwut
พระมหาชัยวุธ โภชนุกูล ฉายา ฐานุตฺตโม

ค้นหาความหมายของคำ่ว่า ดี (อภิจริยศาสตร์) ๒


อภิจริยศาสตร์

เพื่อเป็นการสะดวกต่อผู้ไม่คุ้นเคยในวิชาจริยศาสตร์ ผู้เขียนจะนำโครงสร้างของวิชาจริยศาสตร์มาตั้งไว้ก่อนเป็นอันดับแรก

จริยศาสตร์ (Ethics) คือ ปรัชญาแขนงหนึ่งที่ศึกษาเรื่องหลักการดำเนินชีวิต คุณค่าของการกระทำ และการตัดสินดีชั่วผิดถูกในการกระทำ เป็นต้น  โดยในปัจจุบันจำแนกออกได้ ๒ แขนง กล่าวคือ

จริยศาสตร์เชิงปทัฎฐาน (Normative Ethics)  ศึกษาเรื่องเกณฑ์ตัดสินการกระทำทางศีลธรรม  มี ๒ แขนง  กล่าวคือ

  • จริยศาสตร์ปทัฎฐานทั่วไป (General Normative Ethics) ศึกษาทฤษฎีทั่วไปที่ว่าด้วยเกณฑ์ตัดสิน เช่น ลัทธิคานต์ ประโยชน์นิยม อัตนิยม ฯลฯ และความขัดแ้ย้งของแต่ละแนวคิด เป็นต้น
  • จริยศาสตร์ประยุกต์ (Applied Ethics) นำแนวคิดทั่วไปมาศึกษาเฉพาะเรื่อง เช่น จริยศาาสตร์ตามวิชาชีพเรียกว่าจรรยาบรรณ ซึ่งอาจแยกวิชาีชีพไปเป็นของหมอหรือครูเป็นต้น... ตลอดถึงข้อถกเถียงในการทำแท้งหรือสิทธิในการตายเป็นต้น


จริยศาสตร์เชิงอปทัฎฐาน (Nonnormative Ethics) มิได้เน้นการศึกษาเพื่อวางเกณฑ์การตัดสินการกระทำดังเช่นจริยศาสตร์เชิงปทัฎฐานข้างต้น มี ๒ แขนง กล่าวคือ

  • จริยศาสตร์เชิงบรรยาย (Descriptive Ethics) ศึ่กษาปรากฎการณ์ทางศีลธรรมตามคำบอกเล่าในสังคม ตามช่วงเวลา หรือเฉพาะศาสนาเป็นต้น เช่น ชนเผ่าสปาตาร์โบราณของพวกกรีกยกย่องการลักขโมยว่าเป็นสิ่งที่ดี หรือชนชาวธิเบตนิยมครอบครัวแบบเมียเดียวหลายผัว เป็นต้น
  • อภิจริยศาสตร์ (Metaethics) ศึกษาถึงความหมายของคำศัพท์ทางจริยะ เช่น ดี ชั่ว ผิด ถูก เป็นต้น

 

แม้จะแยกประเด็นออกไปก็จริง แต่ในการนำเสนอแต่ละอย่างก็มักมีการเชื่อมโยงถึงกันเสมอ เช่น เมื่อศึกษาถึงหลักศีลธรรมของชาวเยอรมันก็จัดเป็นจริยศาสตร์เชิงบรรยาย ด้วยเหตุที่คานต์เป็นชาวเยอรมัน ก็อาจศึกษาว่าลัทธิคานต์เข้าไปมีอิทธิพลอย่างไรบ้าง....

หรือแม้จะศึกษาเฉพาะหลักศีลธรรมของพระพุทธศาสนา แต่เมื่อพิจารณาความดีในแง่พระพุทธศาสนา ก็อาจต้องมีประเด็นอภิจริยศาสตร์เข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นต้น

.............

อนึ่ง เฉพาะอภิจริยศาสตร์ซึ่งเป็นเรื่องราวในบันทึกชุดนี้ ในปัจจุบันอาจจำแนกออกเป็นกลุ่มความคิดเห็นได้ดังต่อไปนี้..

  • ปชานนิยม (Cognitivism) คือ แนวคิดที่เชื่อว่า คำศัพท์ทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่สามารถบ่งชี้้ความหมายได้ หรือเป็นไปได้ที่เราจะรู้ความหมาย... แนวคิดนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า สัจนิยม (Realism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่า ความหมายของคำทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง
  • อปชานนิยม (Noncognitivism) คือ แนวคิดที่เชื่อว่า คำศัพท์ทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่สามารถบ่งชี้ความหมายได้ หรือเป็นไปไม่ได้ที่เราจะรู้ความหมาย.... แนวคิดนี้เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า คัดค้านสัจนิยม (Antirealism) ซึ่งเป็นแนวคิดที่เชื่อว่า ความหมายของคำทางจริยะนั้นเป็นสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง

และแต่ละกลุ่มก็มีแนวคิดแยกแย่อยออกไปอีกหลายกลุ่ม...

หมายเลขบันทึก: 175190เขียนเมื่อ 4 เมษายน 2008 16:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 16:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

     เข้ามาจะขอแจม เหมือนโดนดีดออกไปเลยหลวงพี่...เหอ! <ชาติมันยากจังหู นิครับ>

P

ชายขอบ

 

แสดงว่าอาจารย์ฉลาด (.......) เพราะคำว่า เหมือนโดนดีดออก เป็นคำเปรียบเทียบในการประเมินค่าตนเอง ซึ่งผู้ที่สามารถประเมินค่าตนเองได้ กล่าวกันว่าเป็นผุ้ฉลาด (..............)

อนึ่ง อาจารย์ปรัชญาผู้ใหญ่ท่านหนึ่งให้ความเห็นว่า บรรดาปรัชญาทั้งหมด แขนงอื่นๆ ตัน แล้ว จึงไม่ค่อยสนุก ส่วน จริยศาสตร ์ไม่ตัน เพราะขึ้นอยู่กับคนในสังคม...

กล่าวคือ เมื่อคนยังอยู่ คำถามว่า " จะทำอย่างไร ? " ก็ยังคงอยู่ เช่น

  • น้ำมันแพง ข้าวสารแพง หมูแพง ค่าแรงถูก จะทำอย่างไร
  • จะทำอย่างไรกับกฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
  • จะจัดการอย่างไรกับปัญหาโลกร้อน
  • พระเล่นเน็ต ครูมีเพศสัมพันธ์กับศิษย์ เยาวชนไม่ชอบอ่านหนังสือ จะทำอย่างไร
  • ฯลฯ

เมื่อจำเป็นต้องตอบคำถามเหล่านี้ จริยศาสตร์ย่อมเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ...

บางคนจึงบอกว่า ในบรรดาวิชาปรัชญานั้น จริงๆ แล้ว จริยศาสตร์นี้แหละ คือสุดยอดของวิชาปรัชญา (แต่พวกแรกเรียนปรัชญา หรือคนทั่วไปมักมองข้าม)

เจริญพร

     หลวงพี่ครับ จริยศาสตร์ เป็นเครื่องมือประเมินคุณค่าของพฤติกรรมคนในสังคม ใช่ไหมครับ โดยมี Keywords ตามที่เน้นไว้

P

ชายขอบ

 

  • ประมาณนั้น...

อาจารย์ท่านหนึ่งเคยเปรียบเทียบระหว่างจิตวิทยากับจริยศาสตร์ว่าต่างก็ศึกษาเกี่ยวกับสิ่งที่คนแสดงออกมาที่เรียกว่า การกระทำ หรือ พฤติกรรม แต่ประเด็นที่ศึกษาแตกต่างกันกล่าวคือ...

  • จิตวิทยา ศึกษาพฤติกรรมของคนว่า เป็นอย่างไร ?
  • จริยศาสตร์ ศึกษาพฤติกรรมของคนว่า ควรจะเป็นอย่างไร ?

จากประเด็นนี้ จะเห็นได้ว่าจริยศาสตร์จะโยงไปถึงการประเมินค่าพฤติกรรมของคนโดยตรง...

เจริญพร

นมัสการพระอาจารย์ครับ

มาช้านิดนึงนะขอรับ เพิ่งโพสโคลงเกี่ยวกับ รวยจนโง่ฉลาดเลวดี เสร็จครับกระผม

P

กวินทรากร

 

  • เข้าไปมั่วไว้แล้ว (5 5 5....)

เจริญพร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท