งานพัฒนาเด็กและครอบครัว


                ต้องขอบคุณ รศ. ดร. สายฤดี วรกิจโภคาทร ผอ. สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ที่เชิญให้เขียน คำนำหนังสือ “ทศวรรษเพื่อเด็กและภูมิปัญญาของครอบครัว”    โดยส่งหนังสือรายงานประจำปี ๒๕๔๘ – ๒๕๔๙ ของสถาบันฯ มาให้อ่านประกอบการเขียน    
               ทำให้ผมเกิดจินตนาการ หรือฝันใฝ่ไปต่างๆ นาๆ      ว่าสถาบันฯ มีโอกาสมากมาย ในการทำหน้าที่ด้านการพัฒนาเด็กและครอบครัว ภายใต้ปณิธานของสถาบัน    ที่กำหนดว่า “พัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ให้เต็มศักยภาพในทุกด้าน   เพื่อสร้างชีวิตที่เป็นประโยชน์ให้กับชุมชนและโลก”    และภายใต้วิสัยทัศน์ ของสถาบัน “สถาบันฯ เป็นหน่วยงานกลางทางวิชาการ การวิจัย การเรียนการสอน และการพัฒนาบุคลากรด้านการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัวของประเทศ    เพื่อสร้างองค์ความรู้ ขับเคลื่อนทางสังคม และเผยแพร่ความรู้แก่ครอบครัว และสถาบันการศึกษา ในการพัฒนาเด็กในทุกด้าน    ให้เป็นบุคคลของโลกที่มีความรู้/มีคุณภาพคู่คุณธรรม”
              ผมส่งข้อเขียนคำนำดังต่อไปนี้ให้แก่สถาบันฯ

คำนำ
หนังสือ “ทศวรรษเพื่อเด็กและภูมิปัญญาของครอบครัว”
สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว

          ชื่อ “ทศวรรษเพื่อเด็ก ...” ทำให้หวนคิดว่า      เวลานี้กระแสทุนนิยมบริโภคนิยมที่กำลังครอบครองโลกมองเด็กและเยาวชนอย่างไร     มองเป็นผู้กำลังพัฒนาศักยภาพสร้างสรรค์ ที่ควรได้รับการปกป้องอุ้มชูทนุถนอม และส่งเสริมการสร้างศักยภาพ จากสังคม    หรือมองเป็นเป้าของการขยายตลาด ขยายการบริโภค กระตุ้นการบริโภค เพื่อการทำกำไรสูงสุดของธุรกิจ     ธุรกิจกำลังทำเพื่อเด็ก หรือกำลังตักตวงลวงล่อจากเด็ก

          วงการ “พัฒนาเด็กและครอบครัว” ในทศวรรษหน้า     มีโอกาสสูงส่ง ในการทำงานในรูปแบบใหม่ๆ ที่พลิกกลับกระบวนทัศน์  และใช้เทคโนโลยีหรือวิธีการสมัยใหม่ ในการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว     การทำงานแนวนวัตกรรมดังกล่าวมีอย่างไร้ขอบเขตจำกัด    และผู้เขียนคำนำไม่สามารถหยั่งไว้ล่วงหน้าได้ว่าจะมีกิจกรรมริเริ่มสร้างสรรค์ในแนวใดได้บ้าง

          จึงขอให้ความเห็นไว้ด้วยความจำกัดของสติปัญญาและความรู้ความเข้าใจว่า     การพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว ในทศวรรษหน้า น่าจะได้พิจารณาประเด็นสำคัญอย่างน้อย ๕ ประการ คือ


1. จิตวิทยาเชิงบวก (Positive Psychology)    เกิดความสนุกสนาน ภาคภูมิใจ
2. ส่งเสริมให้เยาวชน และเด็ก ได้เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นผู้คิดเอง ทำเอง   เน้นการทำเพื่อผู้อื่น   ผู้ใหญ่และครอบครัวทำหน้าที่ empowerment เป็นหลัก
3. เน้นการลงมือทำ แล้วนำความสำเร็จมาชื่นชม และแลกเปลี่ยนเรียนรู้
4. ใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ เพื่อสื่อสารความสำเร็จในการริเริ่มสร้างสรรค์ของเยาวชน
5. ทำงานเป็นเครือข่าย  

          สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัวมีโอกาสเข้าถึงความรู้เชิงทฤษฎีและความรู้เชิงปฏิบัติจากทั่วโลก    และสามารถเข้าถึงกลุ่ม/สถาบัน ผู้ปฏิบัติในการส่งเสริมเด็ก เยาวชน และครอบครัว ภายในประเทศด้วย    สถาบันฯ จึงอยู่ในฐานะที่จะปิดช่องว่างทางปัญญาที่สำคัญที่สุดในเรื่องเด็ก เยาวชน และครอบครัว ในสังคมไทย คือช่องว่างระหว่างปัญญาเชิงทฤษฎี กับปัญญาเชิงปฏิบัติ     โดยจับสองส่วนที่ไม่เชื่อมโยงกันนี้ มาเสริมพลัง (synergy) กัน โดยกระบวนการจัดการความรู้     ที่เน้นกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ความสำเร็จที่เกิดจากการปฏิบัติ    เสริมด้วยความรู้เชิงทฤษฎี     เป็นโอกาสสูงยิ่งที่สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว จะกระทำภารกิจนี้เพื่อสังคมไทย

วิจารณ์ พานิช
 ๑๔ มีนาคม ๒๕๕๑

 

      
           
                           
                          

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 174157เขียนเมื่อ 30 มีนาคม 2008 09:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 พฤษภาคม 2012 22:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • อาจารย์ค่ะ
  • เห็นด้วยกับที่อาจารย์ว่าไว้
  • ส่งเสริมให้เยาวชน และเด็ก ได้เป็นผู้ริเริ่มสร้างสรรค์ เป็นผู้คิดเอง ทำเอง   เน้นการทำเพื่อผู้อื่น   ผู้ใหญ่และครอบครัวทำหน้าที่ empowerment เป็นหลัก
  • ขอบคุณค่ะ

สวัสดีครับ อาจารย์

  • ขอบคุณสำหรับบทความดีๆครับ
  • เด็กๆยังรอดอกาสนั้นอยู่ครับ
  • ขอบคุณครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท