มังสวิรัติ ปฏิบัติสมาธิ ในค่ายสื่อสารบทเรียนนักเขียน-วิจัยน้อย กับบทสะท้อนวิวาทะการพัฒนาเด็ก “ เก่ง ดี มีสุข???” (ตอนแรก)


จุดเปลี่ยนตรงนี้สำคัญมากครับ เพราะมันมีผลมหาศาลต่อการออกแบบกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมในการทำงานแบบเน้น “จิตอาสา” มากกว่าเน้น “วัตถุ”

ขึ้นชื่อว่าวัด เด็กๆสมัยนี้มักจะส่ายหน้าหนี แต่คนทำงานสร้างเด็กให้ดี เก่ง และมีความสุขได้ ต้องหากุศโลบายที่จะพาเด็กเข้าวัดอยู่เสมอ

เพราะงานพัฒนาเด็กจะเอาแต่เด็กเก่ง เด็กมีความรู้ แต่ไร้คุณธรรมไม่ได้ การพัฒนาเด็กจึงต้องมีความแยบคายในการผสานการฝึกฝนคุณธรรม เข้าไว้ในกิจกรรมต่างๆ

ตลอดสองปีที่ผ่านมากับกิจกรรมวิจัยและพัฒนาเด็กกลุ่มชาติพันธุ์ ผมสังเกตเห็นว่าแม้จะมีเด็กแกนนำเกิดขึ้นหลายคน เด็กๆมีความรู้และทักษะจากการลงพื้นที่ศึกษาวัฒนธรรมและวิถีชุมชน มีความอดทน อดกลั้น ในการเผชิญความยากลำบากในการทำงานเป็นหมู่คณะก็จริง แต่ผมกลับรู้สึกว่า ขาดอะไรบางอย่างไป 

 หลายเดือนก่อน ก็เลยมานั่งพิจารณาตัวเองตัวเอง ก็พบว่า ที่เหมือนขาดอะไรไปนั้น ก็คือ ขาดเรื่องการฝึกคุณธรรมแก่เด็กอย่างจริงจัง

 

คือไปให้ความสำคัญกับเด็กเก่ง กระบวนการวิจัยก็ดี กระบวนการสร้างสื่อก็ดีที่ผมออกแบบขึ้นมา ก็จะพุ่งไปที่ฝึกให้เด็กพัฒนาทักษะฝีมือ จากเด็กบ้านป่าที่ขี้อาย พูดจะตะกุกตะกัก ไม่มั่นใจในตัวเอง ก็ค่อยๆสามารถนำเสนอข้อมูล ความรู้ได้อย่างเป็นระบบ คือเป็นเด็กเก่ง 

 

 ส่วน “เด็กดี” นั้น เป็นเรื่องรองลงไป นัยว่า “เก่ง แล้วตามด้วย ดี แล้วก็จึงมีสุข” ตามสโลแกนที่นิยมใช้ในการพัฒนาเด็กยุคนี้

 

สโลแกน “เก่ง ดี มีสุข” นี่เป็นเสมือนเป้าหมายในการพัฒนาเด็กที่สะท้อนวิสัยทัศน์ยุคนี้เลยนะครับ ทีแรก ผมก็โอเคนะ เออ มันครอบคลุมทุกด้าน แต่ดูไปดูมา เอ่ มันให้ความสำคัญกับความเก่งมากกว่า เห็นเลยว่ายกคำว่า “เก่ง” นำหน้า เอา “ดี” และ “มีสุข” ไว้ตามมา

ผมมาคิดว่า ที่ถูกมันน่าจะเป็น “ดี เก่ง และมีความสุข” นะ คือเอาความดีขึ้นนำก่อน

พูดอย่างกว้างๆ กิจกรรมต่างๆในการพัฒนาเด็ก ควรต้องมุ่งไปที่การสร้างเด็กดี ปลูกฝังคุณธรรม ส่วนเรื่องการบรรลุผลการเรียนรู้ที่เป็นวิชาการนั้นเป็นเรื่องรองลงไป

 จุดเปลี่ยนตรงนี้สำคัญมากครับ เพราะมันมีผลมหาศาลต่อการออกแบบกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมในการทำงานแบบเน้น “จิตอาสา” มากกว่าเน้น “วัตถุ” 

 กว่าจะคิดได้นี่ ผมก็เกือบหลงทางไปไกล คือแม้จะให้เด็กทำงานวิจัยก็ดี ทำสื่อก็ดีแบบมีส่วนร่วมกับชุมชน แต่นั่นดูจะยังไม่พอ ตราบเท่าที่ยัง “ชกไม่เต็มหมัด” คือไม่ได้มีการหยิบยกเอาเรื่องการฝึกคุณธรรมขึ้นมาเป็น “จานเอก” วางบนโต๊ะประชุมให้เป็นเรื่องเป็นราว 

 

 จึงเป็นที่มาของ “ค่ายสื่อสารบทเรียน นักเขียน-วิจัยน้อย” ที่จัดขึ้น ณ วัดป่าถ้ำวัว อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อ 19 – 20 มีนาคม ที่ผ่านมา

(กำลังจะเข้าเรื่องแล้ว โปรดติดตาม ตอนต่อไปนะครับ)

หมายเลขบันทึก: 173582เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2008 01:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท