การจัดการเชิงพุทธศาสนา ตอน หลักกาลามสูตร กับ การจัดการองค์ความรู้


หลักกาลามสูตร กับ การจัดการองค์ความรู้

KM เชิง พุทธศาสนา

ตอน หลักกาลามสูตร กับ การจัดการองค์ความรู้
บทความโดย ฉสุภ  ตั้งเลิศลอย
บทความนี้ข้าพเจ้าได้เขียนขึ้นเองด้วยแนวทางพุทธศาสนา
ได้ใช้การอ้างอิงเท่านั้นมิได้คัดลอกมาจากที่ไดทั้งสิ้น  
 

	    
ถ้าขี้เกียจอ่านเยอะก็สรุปให้ฟังเลยว่า หลักนี้บอกให้อย่าพึ่งเชื่อตามสิ่งต่างๆที่อาจจะไม่จริงก็ได้ แต่ให้เชื่อตามสภาวะเป็นหลัก เขียนแล้วอาจจะดูงงๆ ที่สำคัญอีกประการนึงคือใช้คำว่า "อย่าพึ่งเชื่อ" นะครับ ไม่ใช่ "อย่าเชื่อ" เติม "พึ่ง" เข้าไปเพื่อให้พิจารณาก่อน
จากคราวที่แล้วนี้ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงหลักการจัดการความรู้เชิงพุทธไปแล้วนั้น และได้ทิ้งประเด็นเรื่อง "หลักกาลามสูตร" ไว้ ในวันนี้จะได้มาทำการกล่าวถึงหลัก "กาลามสูตร" นี้ว่ามีความวเกี่ยวเนื่องกันอย่างไร กับการจัดการองค์ความรู้ โดยในเบื้องแรกนี้เราจะต้องมารู้ก่อนว่าหลักกาลามสูตรนี้คืออะไร หลักแห่งกาลามสูตร 10 อย่างนั้นประกอบด้วย 1.อย่าพึ่งเชื่อตามที่ฟัง ๆ กันมา 2.อย่าพึ่งเชื่อตามที่ทำต่อ ๆ กันมา 3.อย่าพึ่งเชื่อตามคำเล่าลือ 4.อย่าพึ่งเชื่อโดยอ้างตำรา 5.อย่าพึ่งเชื่อโดยนึกเดา 6.อย่าพึ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา 7.อย่าพึ่งเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล 8.อย่าพึ่งเชื่อเพราะตรงกับทฤษฏีของตน 9.อย่าพึ่งเชื่อเพราะรูปลักษณ์ที่ควรเชื่อได้ 10.อย่าพึ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูอาจารย์ของตน เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ท่านก็คงนึกค้านอยู่ในใจว่า เล่นบอกมาอย่างนี้แล้วจะเชื่อใครได้เล่า ก็ต้องขอบอกว่าคำถามดังกล่าวพุทธศาสนาได้เตรียมไว้ให้แล้วโดยมีข้อความเพิ่มเติมว่า "ต่อเมื่อใดพิจารณาเห็นด้วยปัญญาว่าธรรมเหล่านั้นเป็นอกุศล เป็นกุศล มีโทษ ไม่มีโทษเป็นต้นแล้วจึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น เรียกว่า กาลามสูตร" ตรงนี้จะสามารถตอบได้ทันทีเลยว่า สิ่งที่เราควรรู้นั้นมีเพียงง่าย ๆ นิดเดียวคือ เชื่อแต่สิ่งที่เมื่อรู้แล้วไม่ทำให้เราเดือดร้อน รวมถึงไม่ทำให้คนอื่นเดือดร้อน "ไม่มีโทษ" และจรรโลงสังคม ทำให้คนอื่นเป็นสุข "เป็นกุศล" และปฏิบัติ หรือสัมผัสด้วยตนแล้วเป็นจริง เห็นจริงนั่นแหละเราจึงเชื่อได้อย่างสนิทใจ ดังนี้แล้วก็ขึ้นอยู่กับว่าถึงมันอาจทำให้เราเดือดร้อนคือมีโทษแล้วแต่เราพร้อมเสี่ยงพร้อมรับผลนั้น นั่นมันก็ต้องยกกาลามสูตรไปเก็บไว้ที่อื่นก่อน เข้าทำนองที่ว่าได้เตือนไว้แล้วนะจะไม่ฟังนั่นก็เรื่องของเราเอง ทีนี้เมื่อลองนำมาประยุกต์นั้น ข้าพเจ้าก็ต้องขอยกตัวอย่างใกล้ตัว มาซักหนึ่งตัวอย่างเพื่อประกอบการพิจารณาว่าเช่นหากเราได้ทราบว่าถ้าเราทำการปลูกข้าวในเวลานี้ในอณาคต 3-4 เดือนหลังจากนี้ข้าวจะราคาแพงเป็นเท่าตัว ด้วยข่าวสารอย่างนี้แล้วนั้นหากนำหลัก "กาลามสูตร" มาพิจารณาแล้วเราก็จะพบว่ามันไปถูกข้อที่ "6.อย่าพึ่งเชื่อโดยคาดคะเนเอา" คุมอยู่ อันนี้ก็ตรงตัวอยู่แล้วว่าในอณาคตข้าวอาจจะลงก็ได้ใครจะไปรู้ทีนี้ก็มีคนที่เรานับถือเป็นอาจารย์มาบอกเราอีกว่า เอาเถอะเขาคิดไคร่ครวญแล้ว ว่าอีก 3-4 เดือนข้าวจะขึ้นแล้วเราจะเชื่อได้อย่างสนิทใจหรือ อันนี้มันก็เข้าข้อ "10.อย่าพึ่งเชื่อเพราะผู้พูดเป็นครูอาจารย์ของตน" ตรงนี้ไม่ได้บอกว่าเขาเชื่อไม่ได้เพียงแต่พยายามชี้ว่าอย่าเชื่อโดยสนิทใจก็แค่นั้น เพราะมันไม่มีอะไรรับประกันได้เลยทีนี้เมื่อพิจารณาตามเหตุผลแล้วว่า อ้าวเนาะ! ตอนนี้ตลาดโลกกำลังต้องการข้าวเป็นอย่างมาก เวียตนามก็ผลิตเพื่อส่งออกไม่ได้แล้ว อินเดียเองก็ประสบปัญหาสภาพดินฟ้าอากาศ อันนี้มันก็น่าจะผลิตได้ปลูกได้ ใช่หรือไม่ แต่ถ้าเรานำหลักกาลามสูตรมากำกับเราจะพบว่ามันเข้าหลัก "7.อย่าพึ่งเชื่อโดยนึกคิดตามแนวเหตุผล" และ "8.อย่าพึ่งเชื่อเพราะตรงกับทฤษฏีของตน" ท่าานคงสงสัยว่าจะบ้ากันไปแล้วหรือไร ขนาดเหตุผลยังไม่ให้เชื่อแล้วก็ไม่ต้องผลิตกันพอดี ก็ต้องอธิบายว่าที่ไม่ให้เชื่อนั้นเพราะว่า ตามเหตุผลกับความเป็นจริงบางครั้งอาจไม่ตรงกันก็ได้ เช่นกรณีนี้หากอินเดียดันกลับมาปลูกข้าวได้ล่ะ แล้วประเทศเราดันมีแมลงกัดกินข้าวลงละลอกใหญ่ในปีนี้ล่ะจะทำอย่างไร ตรงนี้ล่ะครับที่บอกว่าจะถูกข้อ 7-8 กรองไว้ คราวนี้หากพบว่าจะหลุดจากทุก ๆ ข้อได้นั้นมันก็จะเป็นประมาณว่าปกติเราก็เป็นชาวนาอยู่แล้ว ปลูกข้าวเป็นประจำอยู่การปลูกข้าวนี้ไม่ได้ปลูกเพราะเชื่อด้วย 10 ข้อแห่ง "กาลามสูตร" แต่เราทำอยู่เป็นประจำ องค์ความรู้ของเราคือ ปลูกข้าวอย่างไร ซึ่งเราปฏิบัติจริงมาแล้ว มันถูกต้อง อีก 3-4 เดือนข้าวจะขึ้นหรือลง แมลงจะมีหรือไม่เราก็ต้องปลูกข้าวอยู่ เป็นธรรมดาอยู่ อย่างนี้แล้วเมื่อเราสังเคราะห์ตามหลัก "กาลามสูตร" องค์ความรู้จริง ๆ นั้น ก็คือเรื่องวิธีของการปลูกข้าวซึ่งปฏิบัติได้จริง เห็นผล ถ้าใครอยากรู้ก็มาลองปลูกดูได้ อันนี้ถือเป็นองค์ความรู้ได้แต่การที่เรารู้ว่าอีก 3-4 เดือนข้าวจะแพงนั้นไม่ถือเป็นความรู้เพียงเป็นข่าวสารก็เท่านั้น ก็เลยต้องขอฝากไว้เพื่อเป็นข้อคัดกรองว่าสิ่งที่เรารู้มานั้นเป็นองค์ความรู้จริง ๆ แล้วหรือไม่ ถ้าจะให้อิงหลักอีกนิดคือ เป็นสันทิฏฐิโก อกาลิโกหรือไม่ คือปฏิบัติได้มั้ย ไม่ขึ้นอยู่กับกาลเวลามั้ย ถ้าใช่ก็ถือว่าผ่านหลักกาลามสูตรได้และเก็บเป็นองค์ความรู้ที่เราควรจัดเก็บ เราควรรวบรวม ไว้เพื่อตัวเราเอง เพื่อส่วนรวมให้ได้รับทราบสืบ ๆ ต่อกันไป...
หมายเลขบันทึก: 173579เขียนเมื่อ 28 มีนาคม 2008 00:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2013 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท