วิถีวัฒนธรรมใหม่ที่ทรงพลัง (๑)


เดือนมีนาคมของทุกปี เป็นเดือนของการสิ้นสุดรอบปีการศึกษา การประมวลความรู้ของนักเรียน ประมวลผลการทำงานของบุคลากร การสำรวจความพึงพอใจของผู้ปกครอง และอื่นๆอีกมากมายล้วนเกิดขึ้นในช่วงเวลานี้ทั้งสิ้น

 

การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนเพลินพัฒนาและภาคีก็มาถึงจุดเข้มข้นในจังหวะนี้ด้วยเช่นกัน

 

รายการแรกของเดือนมีนาคม ประเดิมด้วยการถ่ายทำรายการโทรทัศน์ของ สคส. เพื่อถ่ายทอดแนวคิด และวิถีปฏิบัติในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของทั้งเด็กและครูในโรงเรียนเพลินพัฒนาสู่สาธารณะ ในการมาเยือนครั้งนี้ นอกจากจะมีคณะของ สคส. แล้วยังมีมีคุณเรวัตร ใหญ่แก้ว เพื่อนเรียนรู้จากปูนซิเมนต์ไทย (แก่งคอย) มาช่วยตีความปรากฏการณ์ที่ได้พบเห็นด้วย คุณเรวัตรกล่าวปิดท้ายรายการในวันที่ ๑๑ มี.ค. ๕๑ ไว้อย่างน่าสนใจว่า ได้เห็นการใช้กระบวนการเรียนรู้ไปส่องความไม่รู้ให้สว่างขึ้น

 

ความพิเศษอีกประการหนึ่งคือ รายการจะได้รับเกียรติจาก อ.ประพนธ์ มาช่วยตีความเรื่องราวทั้งหมดด้วย

 

ชาวเพลินฯถือเอาเทปรายการชุดนี้เป็นภาคสองของวีดิทัศน์ชุด เปลี่ยนกระบวนทัศน์ พัฒนาวัฒนธรรมการเรียนรู้ ที่มีการขยายรายละเอียดของตัวอย่างให้เห็นว่า ทุกคนร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ในองค์กรอย่างไร ด้วยการนำกรณีศึกษาเรื่อง ขยะ มาแสดงให้เห็นการยกระดับของเกลียวความรู้ที่สอดประสานกันไปมาระหว่างเด็กและครู ที่อยู่ในช่วงชั้นอนุบาลและช่วงชั้นมัธยมต้น โดยมีจุดเริ่มต้นมาจากกิจกรรมการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในหมู่ครู ดังที่ได้บันทึกเอาไว้ในบันทึกที่ชื่อ "เพลินกับตลาดนัดนวัตกรรมเล็กๆ" ในหลายตอนด้วยกัน (http://gotoknow.org/blog/krumaimai/158166)

 

เทปรายการชุดนี้เป็นการมาถ่ายทำโครงงาน ชื่นใจ...ได้เรียนรู้ ในระดับชั้นอนุบาล ๑ และมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ที่ต่างก็เกิดกระบวนการเรียนรู้ไปบนเรื่องราวของขยะ ซึ่งแตกต่างกันไปตามศักยภาพแห่งวัย นับเป็น KA ชิ้นสำคัญอีกชิ้นหนึ่งที่แสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าของงานจัดการความรู้ที่เกิดขึ้นในปีการศึกษานี้

 

ในวันที่ ๑๒ มี.ค. ๕๑ คณะจากสถาบันส่งเสริมอัจฉริยภาพและนวัตกรรมการเรียนรู้ (สสอน.) จากสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้ (องค์การมหาชน) (สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี) นำโดย ดร.ยุวดี ศันสนียรัตน์ ได้มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่โรงเรียนเพลินพัฒนา เพื่อเก็บข้อมูลไปดำเนินการวิจัยเชิงปฏิบัติการ การพัฒนาระบบการจัดการเรียนรู้ตามแนวคิด Brain-based Learning เพื่อหาต้นแบบที่เหมาะสมกับบริบทไทย ซึ่งขณะนี้กำลังจะดำเนินการวิจัยต่อเนื่องในช่วงชั้นที่ ๒

 

คณะจาก สสอน.ได้มาชมการนำเสนอการประมวลความรู้ความเข้าใจจากการเรียนประวัติศาสตร์ไทย ของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ที่สะท้อนให้เห็นทักษะความคิดแบบเชื่อมโยง คิดวิเคราะห์ ไปจนถึงสังเคราะห์ แล้วสร้างสรรค์ออกมาเป็นบทเพลงที่สร้างขึ้นจากทักษะทางภาษา และทางดนตรีของผู้เรียน ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งเลือกที่จะนำเสนอโดยใช้ทักษะนาฏศิลป์และการเคลื่อนไหวร่างกายประกอบเป็นต้น 

 

 

ผู้วิจัยซึ่งมาเก็บข้อมูลทางด้าน BBL ได้ตั้งข้อสังเกตว่า กระบวนการที่เห็นได้อย่างเด่นชัดในเพลินพัฒนาคือเรื่องของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (KM)  

หมายเลขบันทึก: 172536เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2008 16:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 23:14 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท