จาก "สมิทโซเนียน" ถึง "เมืองโบราณ" ... (ผม ซัก ฟอก)


ผมได้อ่านบันทึกการท่องเที่ยวของอาจารย์ กมลวัลย์ จากบันทึกชื่อ ไปเที่ยวสมิธโซเนี่ยน..เสียที ปฐมบท - การเดินทาง  และ สมิธโซเนี่ยน แอร์แอนด์สเปซมีวเซียม ...

พอผมกลับมาที่บ้าน พลิกหนังสือเล่มหนึ่งไว้ ชื่อ "ผม ซัก ฟอก" ของ "วันชัย ตัน" ซึ่งมาจากห้องสมุดของมหาวิทยาลัย

พบข้อเขียน ชื่อ จาก "สมิทโซเนียน" ถึง "เมืองโบราณ" ...

พลิกอ่านเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์และขยายความรู้ต่อจากบันทึก ไปเที่ยวสมิธโซเนี่ยน..เสียที ปฐมบท - การเดินทาง  และ  สมิธโซเนี่ยน แอร์แอนด์สเปซมีวเซียม ... ของอาจารย์ กมลวัลย์ 

 

 

 

"... ชื่อของฉันจะอยู่ในความทรงจำของทุกคนตลอดนิรันดร์ ..."

เจมส์ สมิทสัน (พ.ศ.2308-2372)

 

เมื่อประมาณร้อยกว่าปีที่ผ่านมา นายเจมส์ สมิทสัน นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งในสมัยนั้นทางด้านเคมีและนักธรณีวิทยา ได้ทำพินัยกรรมระบุไว้ว่า เมื่อเขาสิ้นชีวิต มรดกของเขามอบให้หลานชาย และหากหลานชายของเขาตายโดยไม่มีทายาทสืบสกุล ให้ยกทรัพย์สมบัติของเขาทั้งหมดเพื่อก่อตั้งสถาบันแห่งหนึ่งเพื่อใช้เป็นที่ศึกษาเพิ่มพูนให้ความรู้แก่มวลมนุษยชาติขึ้นในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยใช้ชื่อสถาบันแห่งนี้ว่า "สมิทโซเนียน"

ตลอดชีวิตของนายสมิทสัน เขาไม่เคยมีโอกาสไปเหยียบแผ่นดินสหรัฐอเมริกาเลย แต่ในเวลาต่อมาอเมริกันชนทุกยุคทุกสมัยรู้จักชื่อนี้เป็นอย่างดี

 

ในปี พ.ศ.2381 ภายหลังการตายของนายสมิทสันเป็นเวลา 9 ปี ได้มีการมอบเงินมรดกจำนวน 5 แสนกว่าดอลล่าร์ (ในสมัยนั้น) ให้แก่รัฐบาลสหรัฐอเมริกา เพื่อก่อตั้งสถาบันสมิทโซเนียน ตามวัตถุประสงค์ของผู้ตาย

เงินทั้งหมดนี้นำไปฝากไว้ที่กระทรวงการคลังและได้รับดอกเบี้ยเงินฝากร้อยละ 6 ตลอดกาล เพื่อนำดอกผลมาเป็นค่าใช้จ่ายของสถาบันฯ โดยมีคณะกรรมการแห่งชาติชุดหนึ่ง ทำหน้าที่บริหาร มีประธานาธิบดี รองประธานาธิบดี และประธานศาลสูงสุดเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง

 

ปัจจุบัน สถาบันสมิทโซเนียนได้กลายเป็นความภาคภูมิใจของอเมริกันชนทุกคน เป็นสถานที่ที่ให้การศึกษาดีที่สุดกับคนทุกระดับ ไม่เฉพาะคนในประเทศ แต่จากทั่วทุกมุมโลกที่เดินทางมาชมสถาบันสมิทโซเนียน ซึ่งเป็น กลุ่มพิพิธภัณฑ์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ประกอบด้วย พิพิธภัณฑ์ 14 แห่ง สวนสัตว์ 1 แห่ง อาทิ พิพิธภัณฑ์ด้านธรรมชาติวิทยา พิพิธภัณฑ์ด้านอากาศและอวกาศ พิพิธภัณฑ์ด้านประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์ด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งให้ความรู้ทุกอย่างในโลก ตั้งแต่กำเนิดจักรวาล กำเนิดโลก วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ ฯลฯ มีสิ่งของจัดแสดงร่วมสองร้อยล้านชิ้น ตั้งแต่ฟอสซิลอายุเก่าแก่ที่สุด อายุ 3.5 พันล้านปี หินอุตกาบาตอายุขัยพอกับโลก คือ 4.6 พันล้านปี เพชรบลูไดมอนเม็ดใหญ่ที่สุดในโลก หินจากดวงจันทร์ เครื่องบินลำแรกของโลก ภาพศิลปะชั้นยอดของโมเน่ แวนก๊อก เครื่องบินลำแรกของโลก ไปจนถึงนวมชกมวยของอดีตแชมเปี้ยนโลก โมฮัมหมัด อาลี ฯลฯ

 

นอกจากส่วนที่จัดแสดง (Exhibition) ให้กับผู้ชมแล้ว สถาบันสมิทโซเนียน ยังมีฝ่ายวิจัย (Research) เพื่อค้นหาความรู้ต่าง ๆ ในทุกสาขา มีนักวิจัยที่ทำงานให้กับสถาบันแห่งนี้หลายพันคน และฝ่ายรวบรวมสะสมชิ้นตัวอย่าง (Collection) หลายล้านชิ้น เพื่อสนับสนุนงานวิจัยจากนักวิจัยทั่วทุกมุมโลกที่เข้ามาขอใช้บริการ จนกล่าวได้ว่า สถาบันแห่งนี้เป็นแหล่งสร้างความรู้ใหม่ ๆ ให้ปรากฎบนโลกใบเล็กนี้

 

ทุก ๆ วัน จะมีคนนับแสนคนมาเที่ยวชมสมิทโซเนียน โดยไม่เสียค่าใช้ผ่านประตูใด ๆ ทั้งสิ้น ใครอยากจะรู้อะไรก็มาดูได้ที่พิพิธภัณฑ์ซึ่งมีผู้เชี่ยวชาญสาขาต่าง ๆ ตั้งแต่วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ สังคมศาสตร์ ฯลฯ คอยอธิบายให้ฟังอย่างแจ่มชัด จนกล่าวได้ว่า สมิทโซเนียนเป็นแหล่งความรู้ที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลกในการสร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน สมดังเจตนารมณ์ของนายเจมส์ สมิทสัน

 

ห่างออกไปอีกมุมหนึ่งของโลก ในปี พ.ศ.2506 ภายหลังจากที่ คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ เจ้าของบริษัทตัวแทนจำหน่ายรถเบนซ์รายแรกในประเทศไทยได้ประสบความสำเร็จในธุรกิจอย่างสูง ท่านได้หันมาทุ่มเททั้งกายใจ เงินทองและทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อสร้างเมืองโบราณขึ้นที่จังหวัดสมุทรปราการ ท่านได้รวบรวมนักวิชาการสาขาต่าง ๆ ช่างมีฝีมือจากทั่วทุกภาคบรรจงสร้างโบราณสถานที่สำคัญต่าง ๆ ของไทยทั่วทุกภาคบนเนื้อที่เกือบพันไร่ ตลอดจนการจำลองบรรยากาศของสังคมไทยในอดีตโดยพยายามรักษาคุณค่า ความวิจิตร และความถูกต้องทางด้านสถาปัตยกรรม ประติมากรรม และจิตวิญญาณของคนรุ่นโบราณ ไว้อย่างครบถ้วน

คุณเล็ก วิริยะพันธุ์ ซึ่งเป็นผู้สนใจเรื่องการศึกษา และสนใจงานด้านศิลปวัฒนธรรมมาโดยตลอดชีวิต ได้มุ่งมั่นที่จะสร้างสรรค์งานศิลปะ มอบให้เป็นประโยชน์แก่แผ่นดินตามปณิธานที่ตั้งไว้ว่า

 

ตั้งจิตเพื่อฟ้าดิน
มีชีวิตเพื่อมนุษยชาติ
สืบต่อวิทยาการสุดยอดจากปราชญ์ในอดีต
สร้างสรรค์สันติสุขชั่วกาลนานแก่มนุษยชาติ
นี่คือเป้าหมายอันแท้จริง
ซึ่งเป็นศาสตร์อันยิ่งใหญ่ของมนุษย์ต้องการบรรลุ

 

 

กระทั่งในปี พ.ศ.2514 เมืองโบราณ ซึ่งได้รับการยกย่องว่า เป็นพิพิธภัณฑ์กลางแจ้งขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ก็เปิดโอกาสให้ผู้คนเข้าชมในอัตราค่าเข้าชมคนละ 50 บาท ซึ่งยังยืนราคาเดิมจนถึงปัจจุบันด้วยเจตนารมณ์ เพื่อให้ผู้ที่เข้าไปได้รู้จักประวัติศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม ชีวิตความเป็นอยู่ ศาสนาและความเชื่อต่าง ๆ ของผู้คนบนผืนแผ่นดินไทย ให้คนไทยได้รู้จักตัวเอง และให้คนต่างชาติได้รู้จักคนไทยอย่างถ่องแท้

 

คุณประไพ วิริยะพันธุ์ ภรรยาคู่ทุกข์คู่ยากของท่าน ซึ่งร่วมสร้างเมืองโบราณมาด้วยกัน เคยเขียนถึงความประสงค์ในการสร้างเมืองโบราณเอาไว้ว่า

"เมืองโบราณคือเมืองในอดีต อดีตคือช่วงเวลาที่ผ่านไป ช่วงเวลาที่ผ่านไป ย่อมต้องมีช่วงเวลาที่ติดตามมา ความแตกต่างอยู่ที่ถึงก่อนถึงหลังเท่านั้น เช่นเดียวกับพระอาทิตย์ พระจันทร์ ต่างผลัดกันให้แสงสว่างเกิดวัน เดือน ปี"

 


วันชัย ตัน (นามแฝง).  ผม ซัก ฟอก.  กรุงเทพฯ: Openbooks, 2547.

 

เว็บไซต์แหล่งเรียนรู้

สถาบันสมิทโซเนียน (Smithsonian Institution) : http://www.si.edu

เมืองโบราณ (Ancient City) : http://www.ancientcity.com

 

บันทึกอ้างอิง

บันทึก ชื่อ ไปเที่ยวสมิธโซเนี่ยน..เสียที ปฐมบท - การเดินทาง  เขียนโดย อาจารย์ กมลวัลย์ 

บันทึก ชื่อ สมิธโซเนี่ยน แอร์แอนด์สเปซมีวเซียม เขียนโดย อาจารย์ กมลวัลย์ 

 

 

ขอบคุณครับที่แวะมาเยี่ยมเยียน

บุญรักษา ทุกท่านครับ :)

หมายเลขบันทึก: 172494เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2008 11:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 13:47 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

สวัสดีครับอาจารย์

สวัสดีค่ะ อ. Wasawat

ดีใจที่ได้เข้ามารู้ประวัติสมิธโซเนี่ยนไปพร้อมๆกับเมืองโบราณ เคยได้อ่านประวัติคุณเล็กมาบ้างค่ะ ชอบความคิดที่สร้างเมืองโบราณมากๆค่ะ ขอบคุณค่ะ

ขอบคุณ คุณ ไม่แสดงตน ที่แวะมา "สวัสดี"

ขอบคุณ คุณพี่ a l i n l u x a n a =) ที่แวะมาเยี่ยมเยือนนะครับ :)

อยากเป็นคนรักการอ่าน เหมือนอาจารย์บ้างคะ แต่ไม้แก่คงดัดยาก

สวัสดีค่ะอาจารย์

ขอบคุณ คุณ กวินทรากร ที่แวะมาเยี่ยมครับ

ขอบคุณ คุณครู นฤมล hello_kitty .. ที่แอบแวะมาหนา

ถ้าเราแก่ ... ครูก็แย่แล้วล่ะ ... คนรักอ่านจะประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่ไม่เคยอ่านอะไรเลย ครับ ... เชื่อไหม ?

สวัสดีค่ะอ.วสวัตดีมาร

แปลกดีที่บังเอิญเขียนพร้อมๆ กันนะคะ ^ ^

ดีใจที่โลกยังมีคนอย่างนายสมิธสันหรือคุณเล็ก วิริยะพันธ์อยู่พอสมควรนะคะ คนเหล่านี้ได้ทำคุณให้กับสังคมอย่างล้นเหลือทีเดียว บางคนมีโอกาสแต่ไม่ได้ทำ บางคนอยากทำแต่ไม่มีโอกาส ดังนั้น..พอเรามีโอกาสเราก็ต้องพยายามให้ความรู้กันใช่ไหมคะ ^ ^ พร้อมๆ กับเรียนไปด้วย เพราะการเรียนก็ไม่เคยสิ้นสุดเหมือนกัน

ความรู้เป็นสิ่งสำคัญมากจริงๆ ยิ่งอยู่ในวงการศึกษาก็ยิ่งรู้สึกว่าความรู้เป็นเรื่องที่สำคัญมากๆ เพราะเราเห็นการเปลี่ยนแปลงของนักศึกษาที่ผ่านเข้ามาในช่วงที่ผ่านมา พร้อมกับเห็นทิศทางการพัฒนาของสังคมที่แย่ลงทางจิตใจ

ดีใจที่ยังมีคนดีๆ ที่ได้รู้จักผ่านโกทูโนว์ รวมถึงผู้ก่อตั้งโกทูโนว์ด้วย ที่ได้ช่วยสร้างพื้นที่สังคมแห่งความรู้นี้

ขอบคุณอาจารย์เ่ช่นกันนะคะ ^ ^

บันทึกแนวนี้ ไม่ค่อยเห็น ท่านWasawat Deemarn เขียนสักเท่าไหร่!!!

อ่านเพลิดเพลินได้ความรู้ดีมากครับ ขอตามมาเก็บความรู้ครับ

ขอบคุณพี่ตุ๋ยด้วยนะครับ

พรุ่งนี้ผมไปบรรยาย-แลกเปลี่ยนเรียนรู้เกี่ยวกับ BBL.ที่กำแพงเพชรให้กับคุณครูปฐมวัย ผมอยากให้อาจารย์เขียนบันทึกแนว สื่อ-เทคโนการศึกษา เพื่อการสร้างสื่อที่สัมพันธ์ต่อการสร้างสมองเด็ก

น่าสนใจครับ

สวัสดีข้ามโลกอีกแล้วครับ  อาจารย์ กมลวัลย์

  • มหัศจรรย์ครับ ... ความบังเอิญก็อาจใช่
  • "ความรู้" สำคัญกว่าคำว่า "การศึกษา" ...
  • ทำไมผมถึงพูดเช่นนี้
  • เวลาเขาว่ากัน "เจ้าคนไม่มีการศึกษา" .. การศึกษาวัดคนไม่ได้นะครับ เพราะไปมองว่า การศึกษา คือ ระดับการศึกษา
  • แต่ถ้าบอกว่า "เจ้าคนไม่มีความรู้" .. ความรู้นี่ ไม่จำกัดระดับการศึกษา ครับ เรียนสูงอาจจะไม่รู้เรื่องก็ได้

ขอบคุณไกด์กิตติมศักดิ์ ครับ :)

สวัสดีครับ คุณเอก :)

  • แนวสารคดีผมชอบอ่านมากกว่าชอบเขียนล่ะมั้งครับ .. อิ อิ
  • แต่จริง ๆ สารคดี ... ผมชอบนะ มันคือชีวิตดี
  • BBL เลยเหรอครับ หุ หุ ... แหม เร่งด่วนยังไงก็ไม่รู้แฮะ .. แวะไปพลิกตำราก่อนนะครับ

ขอบคุณครับ คุณเอก :)

สวัสดีค่ะอาจารย์ เป็นความบังเอิญที่ดีมากค่ะที่ได้ตามมาอ่านบันทึกนี้ เมื่อวานไปชมการซ้อมหุ่นกระบอกตะเลงพ่ายที่มูลนิธิจักรพันธุ์ โปษยกฤต ได้ทราบจากปากของอาจารย์จักรพันธุ์เอง ถึงเหตุที่จะทำให้อาจารย์ไม่สามารถทำงานได้ในเวลาข้างหน้า จากการที่มีนายทุนชาวสิงคโปร์มาซื้อที่ติดมูลนิธิซึ่งเป็นทั้งพิพิธภัณฑ์และบ้านของอาจารย์ด้วย

งานที่อาจารย์และคณะทำอยู่นี้เป็นงานระดับทำอย่างทุ่มเทสนองพระคุณแผ่นดิน แต่จะต้องเลิกไปเพราะการก่อสร้างคอนโด ๓๒ ชั้นจะมีทั้งฝุ่นและเสียงดัง เห็นตัวอย่างสิ่งดีๆจากประวัติการก่อตั้งสมิธโซเนียน และ เมืองโบราณ ของไทย แล้วนึกเห็นใจการต่อสู้ของอาจารย์ หวังว่าทั้งทางการและประชาชนคนไทยจะลุกขึ้นมาช่วยอาจารย์หาทางออกที่เหมาะสม (ขอโทษนะคะดูๆก็ไม่ค่อยจะเกี่ยวกันเท่าไหร่ แต่อยากเล่าให้ฟัง)

ยินดีครับ ท่านอาจารย์ คุณนายดอกเตอร์  ... เรื่องการวางผังเมืองในประเทศไทยโดยเฉพาะเมืองใหญ่ ๆ ยังไม่เคยทำอะไรสำเร็จสักอย่าง ... ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของนายทุน นายทุนข้ามชาติที่รัฐบาลไหนก็อยากได้กันจัง .. รวมถึงนักการเมืองที่ชอบขายบ้านขายเมืองให้คนอื่น แต่ไม่เคยขายตัวเอง

อิ อิ ผมบ่น ... อาจารย์ของเขียนบันทึกนี้นำเสนอใน Gotoknow สิครับ :)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท