เทคโนโลยีร้อนๆ


หากยังจะสนับสนุนเกษตรกรให้อยู่ในระบบตลาด ผู้กำหนดนโยบายตลาด นโยบายเทคโนโลยี ผู้ส่งเสริมการเกษตรควรเข้าใจกลไกการทำงานของตลาดมากกว่านี้ ต้อง "รอบรู้" และ "พอประมาณ" ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

สัปดาห์ที่แล้วน้องๆจากไบโอไทยมานั่งคุยกับเราเรื่องเศรษฐศาสตร์กับเทคโนโลยี

ที่จริงเศรษฐศาสตร์มีมุมมองต่อเทคโนโลยีหลายเรื่อง   เพราะการคิดค้นเทคโนโลยีเป็นกิจกรรมที่ต้องใช้เวลา ใช้คน ใช้ฐานความรู้เดิม ใช้วัสดุอุปกรณ์    แต่เรื่องที่เราคิดว่าสำคัญ ต้องสร้างความเข้าใจกันใหม่ต่อผู้กำหนดนโยบายเทคโนโลยี หรือต่อนักวิทยาศาสตร์คือ  ใครกันแน่ที่ได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี

เทคโนโลยีนี้ใครได้ประโยชน์

ฟันธงได้เลยว่า คนที่ได้ประโยชน์แน่ๆ  คือ ผู้บริโภค (ไม่นับเทคโนโลยีที่สร้างผลลบต่อสุขภาพ หรือเทคโนโลยีเพื่อการทำลาย)  ส่วนผู้ผลิตนั้น  ไม่แน่ว่าจะได้ประโยชน์เสมอไป

ลองมองภาคเกษตร ... เอาอย่างง่ายที่สุด  สมมติว่าเทคโนโลยี่ที่จะพูดถึงต่อไปนี้ เป็นเทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตได้จริงๆ  ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพและทรัพยากรธรรมชาติด้วย  (เทคโนโลยีที่เพิ่มผลผลิตแต่เพิ่มต้นทุนด้วยไม่ใช่เทคโนโลยีที่เหมาะสมในความหมายทางเศรษฐศาสตร์)

คนทั่วไป (รวมทั้งผู้กำหนดนโยบายเทคโนโลยีและนักวิทยาศาสตร์) มักมองเทคโนโลยีสมัยใหม่ในเชิง "บวกมากเกินไป"  คือ คิดว่า ถ้าเพิ่มผลผลิตได้ (เช่น ได้พันธุ์ทนแล้ง ทนโรค) ก็จะทำให้เกษตรกรดีขึ้น

เศรษฐศาสตร์บอกว่า  ...ตราบใดที่เกษตรกรอยู่ใน "ระบบตลาด"   อาจจะไม่จริงว่าเทคโนโลยีจะช่วยเกษตรกรเสมอไป

มีสามเงื่อนไขที่เกษตรกรจะได้ประโยชน์จากเทคโนโลยี"ที่สนับสนุนการผลิตเพื่อขายในระบบตลาด"

ประการแรก  เมื่อผลผลิตที่เพิ่มขึ้น  ไม่ได้มีผล "ลด" ราคาตลาดมากนัก  (เมื่อเกษตรกรส่วนใหญ่หันมาใช้เทคโนโลยีนี้  ผลผลิตในตลาดจะเพิ่มขึ้น  ราคาตลาดอาจจะตกลงมาในที่สุด...เกี่ยวข้องกับส่ิงที่เศรษฐศาสตร์เรียกว่า ความยืดหยุ่นของอุปสงค์  คือการเปลี่ยนแปลงของราคาสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงปริมาณ)

ประการที่สอง เมื่อเกษตรกรเป็นรายแรกๆที่ใช้เทคโนโลยีนั้นก่อนคนอื่นๆ   ก็จะได้ประโยชน์ในช่วงที่ผลผลิตในตลาดยังไม่ทันมาก  ราคายังไม่ตก  ในขณะที่ตัวเองได้ประโยชน์เพราะต้นทุนลดต่ำกว่าคนอื่นๆ

ประการที่สาม  เมื่อเป็นผู้ผูกขาดเทคโนโลยี   ตรงนี้ชัดเจน...

เทคโนโลยีจึงสามารถสร้างความได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างผู้ผลิต  ระหว่างสินค้าได้

หล้กการข้างต้น สามารถใช้วิเคราะห์ได้ทั้งในระดับตลาดท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับตลาดโลก

 

ความเข้าใจต่อ "ตลาด"กรณีมะละกอจีเอ็มโอ

ความเข้าใจต่อ "ตลาด" จึงเป็นเรื่องสำคัญในการวิเคราะห์ผลของเทคโนโลยี  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง  สินค้าเกษตรแต่ละตัวจะมีโครงสร้างตลาด  โครงสร้างอุปสงค์ อุปทานต่างกัน  นโยบายเทคโนโลยีการเกษตรจึง "generalize"  หรือ นโยบายเดียวใช้กับทุกสินค้าไม่ได้  หรือเลียนแบบประเทศอื่นไม่ได้

สิ่งแรกที่ต้องตรวจสอบคือ  ความสัมพันธ์ระหว่างปริมาณและราคาของสินค้าแต่ละชนิดเป็นอย่างไร  นโยบายการแทรกแซงตลาดของรัฐเป็นอย่างไร   ถ้าราคาในประเทศถูกกำหนดจากตลาดโลกอย่างแท้จริง  ในระยะยาวนั้น  ต่อให้ปริมาณเปลี่ยน เราก็ไม่สามารถไปเปลี่ยนราคาได้  ในกรณีเช่นนี้ เทคโนโลยีที่ช่วยลดต้นทุนจึงจะเกิดประโยชน์

ยกตัวอย่างมะละกอซึ่งสินค้าส่วนใหญ่ขายในประเทศ ราคามะละกอจึงถูกกำหนดจากตลาดในประเทศ ค่อนข้างจะชัดเจนว่า ถ้าป้องกันโรคได้ ผลผลิตมากขึ้น  ราคาตกแน่

มีข้ออ้างว่ามะละกอขาดแคลน  ราคาจะเพิ่มขึ้น จึงควรเเพิ่มผลผลิต   ต่อข้ออ้างนี้ มีบางประเด็นที่ต้องมอง   คือ  มะละกอเป็นผลไม้  ผลไม้มีหลากหลายจึงมี "สินค้าทดแทน" อยู่มาก  หากมะละกอแพง ผู้บริโภคในเมืองก็อาจหันไปทานผลไม้อื่นแทน (แม้แต่ส้มตำเดี๋ยวนี้ก็ยังมีหลายแบบ ไม่ใช่เฉพาะส้มตำมะละกอ)   ส่วนเกษตรกรที่ทานส้มตำ ก็ไม่ยากเพราะปลูกมะละกอท้ายสวนไว้กินเองก็ยังได้ 

นอกจากนี้ การมองว่ามะละกอขาดแคลน ก็เป็นมุมมองที่ "ห่วงผู้บริโภค" มากกว่าห่วงผู้ผลิต  มะละกอขาดแคลน ราคาเพิ่ม ก็น่าจะดีสำหรับเกษตรกรที่ปลูกมะละกออยู่แล้ว  ถึงที่สุด ถ้าปลุกมะละกอได้ราคาดี   เกษตรกรรายใหม่ๆก็เข้ามาแน่

ดังนั้น จึงไม่ควรมุ่งไปที่ทางออกเดียวคือ มะละกอจีเอ็มโอ ที่ยังมีปัญหาการตอบรับของผู้บริโภค และมีปัญหากระทบต่อภาพของภาคเกษตรโดยรวม  มีปัญหาความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมที่นักวิทยาศาสตร์เองก็ยังถกกันไม่จบ

ที่สำคัญคือ  หากไปเป็นจีเอ็มโอแล้ว  การย้อนกลับมาปลอดจีเอ็มโอ จะเป็นเรื่องยากยิ่ง  ยากยิ่งกว่าหาพื้นที่ปลูกป่าเพื่อทดแทนป่าธรรมชาติเดิมที่สูญเสียไปแล้วเสียอีก

ความเข้าใจต่อ "ตลาด"กรณีข้าวหอมปทุม

ยังมีตัวอย่างความผิดพลาดของนโยบายเทคโนโลยีของไทยอีกหลายเรื่องที่เกิดขึ้นเพราะ ผู้กำหนดนโยบาย "รู้เท่าไม่ถึงการณ์" ในเรื่อง กลไกตลาด

อย่างเช่น การคิดข้าวหอมปทุมออกมาให้คล้ายข้าวหอมมะลิ (เพราะอยากส่งออกมาก) ถึงที่สุดก็เกิดปัญหาการปลอมปนจนตลาดข้าวหอมมะลิป่วนไปหมดในปัจจุบัน  เพราะไม่เข้าใจเรื่อง "การทดแทน"  และปัญหาสินค้าคุณภาพต่ำไล่สินค้าคุณภาพดีเนื่องจากผู้บริโภคมีข้อมูลไม่เท่าผู้ผลิต.. ที่เศรษฐศาสตร์เรียกว่า "lemon market"

สรุป

หากยังจะสนับสนุนเกษตรกรให้อยู่ในระบบตลาด  ผู้กำหนดนโยบายตลาด นโยบายเทคโนโลยี ผู้ส่งเสริมการเกษตรควรเข้าใจกลไกการทำงานของตลาดมากกว่านี้   ต้อง "รอบรู้" และ "พอประมาณ" ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียง

 

 

หมายเลขบันทึก: 172454เขียนเมื่อ 23 มีนาคม 2008 08:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 22:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท