เหตุใดกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบล...ไม่ได้รับการตอบรับจากอบต.เท่าที่ควร


วันที่ 19 มีค. 51 มีโอกาสเข้าร่วมฟัง การอบรมพัฒนาศักยภาพคณะกรรมการกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบล/เทศบาลของจังหวัดนครศรีธรรมราช  ซึ่งแบ่งการอบรมตามโซน โซนละประมาณ 3-4 อบต/เทศบาล  

 

ตอนนี้จังหวัดนครศรีฯ  มีกองทุนหลักประกันสุขภาพระดับตำบลทั้งหมด 28 กองทุน(ตำบล/เทศบาล)  วันที่เข้าฟังนี้เป็นโซนที่ประกอบด้วย  ต. ดอนตะโก  ต.ทุ่งปรัง  ต.ท่าซัก  ต.ปากพูน 

 

มีเจ้าหน้าที่จากสาธารณสุขจังหวัดมาให้ความรู้เกี่ยวกับกองทุนฯ ทราบว่าการจัดตั้งกองทุนฯเป็นการส่งเงินกองทุนจาก สปสช. มาสบทบให้กับ อบต/เทศบาล ในอัตรา 37.50 บาท/คน(ประชากรในตำบล/เทศบาล) เพื่อสร้างเสริมสุขภาพ  สร้างเสริมพฤติกรรมสุขภาพของประชาชน  และอบต./เทศบาลต้องร่วมสบทบด้วยตามขนาดของอบต./เทศบาล แบ่งเป็นขนาดเล็ก กลาง ใหญ่  อัตรา 10%  20%  50%  ตามลำดับ  และสามารถสบทบจากแหล่งอื่นได้ด้วย เช่น เงินบริจาค  

 

เงินกองทุนนี้ไม่นับรวมเป็นรายได้ของอบต./เทศบาล  ดังนั้นการบริหารจัดการจึงคล่องตัวมาก  ทำงานผ่านคณะกรรมการบริหารกองทุนได้เลย

 

คณะกรรมการบริหารกองทุนมาจาก นายกอบต. (ประธานกองทุน)  ตัวแทนสมาชิกอบต. 2 คน   ตัวแทนหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ 1 คน    ตัวแทน อสม.  2 คน   ปลัดอบต. เป็นเลขาฯ 

พื้นที่นำร่องได้ถอดบทเรียนให้ฟังว่า นอกจากคณะกรรมการบริหารฯ แล้วได้ตั้งอนุกรรมการฯ ทำหน้าที่หลักในการสนับสนุนการทำงานแก่เลขาฯ  เพราะในช่วงแรกของกองทุนจำเป็นต้องมีฐานข้อมูล  การทำงานของคณะกรรมการอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอต่อการจัดทำฐานข้อมูล (-รวบรวมจากหน่วยงานต่าง ๆ   -ทำเวทีประชาคม)

 

การใช้จ่ายเงินต้องอยู่ภายใต้ 4  กรอบ คือ

 

1.      แผนจัดซื้อสุขภาพ ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับที่รัฐจัดให้ เช่น การซื้อบริการตรวจโรคหัวใจให้แก่ประชาชน

2.    สนับสนุนหน่วยบริการสาธารณะสุขในตำบล อันนี้ครอบคลุมถึงหมอพื้นบ้านในชุมชนด้วย  ตัวอย่างที่พื้นที่ต้นแบบทำ เช่น การให้ทุนการศึกษาเรียนแพทย์ พยาบาล แก่เด็กในพื้นที่  มีเงื่อนไขต้องกลับมาทำงานยังหน่วยบริการสาธารณะสุขในพื้นที่  เพื่อดูแลชุมชน

3.    การสร้างเสริมสุขภาพ  เป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มคน องค์กร ในพื้นที่เสนอโครงการมาขอเงินอุดหนุนทำกิจกรรม  รวมถึง *การอบรม รณรงค์ ป้องกันปัญหาด้านสุขภาพ  *การจัดทำฐานข้อมูลด้านสุขภาพ  *การประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้

4.      บริหารจัดการ  งบ 10% ของเงินกองทุน (คิดจากเงินของ สปสช. + อบต.)

 

การจัดตั้งกองทุนที่ตำบลต้องเริ่มมาจากตำบล/เทศบาลเองว่ามีความพร้อมหรือไม่ ตามเงื่อนไข ระเบียบที่กล่าวข้างต้น 

 

เมื่อเริ่มต้นตั้งกองทุนปี 2549 ทั่วประเทศวางเป้าหมายให้มีพื้นที่นำร่องทุกอำเภอ  ปรากฏว่ามีกองทุนตั้งขึ้นจำนวน 888 กองทุนทั่วประเทศ   มาถึงปี 2550  ไม่มีกองทุนเพิ่มขึ้นจากเดิม  ปีนี้ 2551 จึงมีการอบรมพัฒนาพื้นที่เดิม  และแผนสำหรับพื้นที่ขยาย ของจังหวัดนครศรีธรรมราชจะเปิดอบรมให้ความรู้เรื่องกองทุนและการจัดตั้ง  พร้อมเปิดรับสมัครพื้นที่ใหม่ในเดือนมิถุนายน

 

เท่าที่ สสจ. และ พื้นที่นำร่อง ร่วมกันถอดบทเรียนให้ฟังเหตุผลที่กองทุนยังเกิดช้า เหตุผลหนึ่งคือ อบต.ยังไม่เข้าใจถึงการบริหารกองทุน  หรืออาจจะด้านรายได้(ความเห็นส่วนตัว)

 

ซึ่งตนเองก็มีคำถามในใจเหมือนกันว่า นอกจากความไม่เข้าใจการบริหารกองทุนแล้ว    อาจจะต้องค่อยๆ ถ่ายทอดความเข้าใจถึงเป้าหมายของกองทุนให้ถ่องแท้ด้วย ! เพราะเจตนาของกองทุนต้องการให้เกิดถึงขั้นชุมชนเข้มแข็ง ที่อาจจะชี้วัดด้วย ความสุข ความร่วมมือ ความสามัคคี ของชุมชน  การได้มาซึ่งกิจกรรมต่าง ๆ ในกองทุนจึงต้องผ่านกระบวนการค้นหาปัญหาจากชุมชนโดยแท้จริง  และต้องครอบคลุมทุกอย่างที่เกี่ยวกับการสร้างหลักประกันสุขภาพ หรือสุขภาวะทั้งด้านกาย จิต สังคม

 

หมายเลขบันทึก: 171911เขียนเมื่อ 20 มีนาคม 2008 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 22:40 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะพี่รัช

ได้รับความรู้มากลเยค่ะ มาให้กำลังใจค่ะ สู้ๆ

สวัสดีเจ้า

พี่รัชเก่งจัง วันหลังสอนน้องด้วยเด้อ ขอให้พี่หาความรู้เพิ่มอีกนะ จะได้เป็นประโยชน์กับแอนและคนอื่นค่ะ

สวัสดีจ๊ะหนูรัช

ช่วงที่ผ่านมา อาจารย์เดินสายหลายเรื่องหลายพื้นที่ เลยไม่ได้เข้ามาใน G2know หลายเพลาแล้วจ๊ะ วันนี้พอมีเวลาบ้างนิดหน่อย เลยขอติดตามข่าวคราวการขับเคลื่อนงานชุมชนของภาคีภาคใต้จากบันทึกหนูรัชจ๊ะ(งานพื้นที่พัทลุงได้ฟังพี่ภีมและหนุ่มโตเล่าทางโทรศัพท์บ้างแล้ว) อ่านแล้วได้ความรู้หลายเรื่องทีเดียว... ขอชื่นชมกับข้อคิดข้อเขียนของหนูรัชนะจ๊ะ (ลูกศิษย์เราเก่งจัง)

เรื่องกองทุนสปสช.แม้จะมีความก้าวหน้าทั้งในเนื้องาน ทั้งการก่อรูปและการวางโครง แต่ก็ยังนับเป็นเรื่องใหม่ของผู้คนเช่นเดียวกับกองทุนสวัสดิการของพม.นะจ๊ะ อาจารย์คิดว่าเราคงต้องช่วยกันคิดรูปแบบ/วิธีการสร้างความรู้และความเข้าใจให้กับสังคมทุกภาคส่วนมากขึ้น แนวทางหนึ่งคือการเคลื่อนผ่านเครือข่ายอสม.ให้ได้รับรู้/รับทราบข้อมูลรายละเอียดของกองทุนนี้ สำหรับพื้นที่อปท.ใดที่มี "สภาผู้นำ" ซึ่งมีตัวแทนจากลุ่ม/องค์กรต่าง ๆ ของพื้นที่ ก็สามารถใช้พลังทั้งของท้องที่และท้องถิ่นเสริมหนุนกันในการจัดเวทีทำความเข้าใจและทำแผนขับเคลื่อนร่วมกันได้ ตั้งใจอยู่ว่าจะนัดหมายชวนทีมหนองสาหร่ายคุยเรื่องนี้ต่อจ๊ะ และประมาณปลายเมษายนอาจารย์มีเวทีสัมมนาของเครือข่ายอสม.ที่เพชรบูรณ์ จะลองโยนเรื่องกองทุนสปสช.และกองทุนสวัสดิการเข้าวงคุย หากมีผลตอบรับจากเวทีประการใด /อย่างไร คงมีโอกาสได้เล่าให้หนูรัชฟังนะจ๊ะ

เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา ที่กำแพงแสนมีวงคุยโครงการชุมชนเป็นสุข ๗ จังหวัดภาคตะวันตก (งบสนับสนุน สสส.)ซึ่งมีแกนนำของตำบลต้นแบบและตำบลขยายผลจาก ๗ จังหวัดเข้าร่วมประชุมด้วยจ๊ะ และเราได้พูดกันถึงการบูรณาการงานในพื้นที่ ซึ่งจะดูทั้ง "คน" ทั้ง "ข้อมูล" และ "แผนงาน" โดยใช้วิธีการประสานกับอปท.และนำแผนการทำงานในเรื่องต่าง ๆของอปท.มา "คลี่" ให้เห็นทั้งภาพรวมและภาพละเอียด จากนั้นจะเป็นการ "Matching" แผน/กิจกรรมของโครงการฯและของอปท.โดยทีมงานโครงการชุมชนเป็นสุขและทีมบริหารอปท.คงได้ร่วมด้วยช่วยกันแบ่งบทบาทหน้าที่ทั้งส่วน "เจ้าภาพ" และ "ตัวช่วย" ในกิจกรรมการทำงานด้านสุขสภาวะชุมชน ...น่าสนุกดีไหมจ๊ะ... หากหนูรัชมีเวลา จะขึ้นมาร่วมสังเกตการณ์ในเวทีภาคตะวันตกเมื่อใด ...บอกมาได้นะ

วันนี้เพิ่งสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ของยายหนูแอน... ผ่านเรียบร้อย (เหลือหนุ่มณัฐอีกคน)คงต้องฝากให้หนูรัชช่วยเป็นพี่เลี้ยงแนะนำหนูแอนช่วงลงเก็บข้อมูลพื้นที่และการเขียนงานด้วยนะ... เตรียมตัวเป็น "บักอึด" เอาไว้ให้ดี.. จะได้ไม่เกิดภาวะ "อุทกภัยท่วมใบหน้า" ในอนาคต

อาจารย์นัดหมายสอบโครงร่างพี่ผู้การ(ของหนูรัช) ช่วงวันที่ ๑๐/๑๑ เมษายนนี้ด้วยนะ จากนั้นคงได้นัดหมายลงพื้นที่ป่าชุมชนที่สุราษฎร์ คาดว่าจะได้ไปพื้นที่สัก ๓-๔ วันในช่วงก่อนเปิดภาคเรียนจ๊ะ ฝากหนูรัชช่วยดูวันที่จะมีประชุมของเครือข่ายกาญจนดิษฐ์ให้ด้วยนะ เผื่อจะได้ให้พี่ผู้การไปเรียนรู้ด้วยจ๊ะ

ขอเป็นกำลังใจ และขอให้หนูรัชทำงานเกาะติดสถานการณ์/บันทึกต่อไปเรื่อย ๆ นะ ...วันข้างหน้าจะได้เก่ง ๆ อย่างพี่ภีมจ๊ะ

คำถามที่น้องรัชตั้งไว้ เป็นคำถามที่น่าสนใจค่ะ

ในความเข้าใจของพี่ งานด้านสาธารณสุขเป็นงานที่มีพลวัตร สร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ได้สูง เป็นงาน "สวัสดิการ"ในพื้นที่ที่ประสบความสำเร็จมาตั้งแต่อดีต บุคคลากรด้านสาธารณสุขในพื้นที่ก็ได้รับการยอมรับมาก

คำถามคือ กองทุนและโครงการใหม่ที่เข้าไปภายใต้กองทุนใหม่นี้ ต่างจากของเดิมอย่างไร ช่วยอุดช่องว่าง หรือจุดอ่อนเดิมตรงไหน ถ้าไม่ได้เสริมสิ่งที่ขาดไป หรืออุดช่องว่างเดิมที่มีอยู่ ก็อาจจะดูเหมือนไม่ได้สร้างประโยชน์เพิ่มจากเดิม (แต่เท่าที่ได้รับข้อมูลอยู่ห่างๆ คิดว่าโครงการใหม่และกองทุนนี้มีประโยชน์ เช่น สนับสนุนให้ อปท.หันมาสนใจกิจกรรมด้านสุขภาวะมากขึ้น นอกเหนือจากการมองแค่กรอบงานเดิมๆเช่น สิ่งก่อสร้าง)

การไม่ได้รับการตอบรับ อาจมาจากการขาดความเข้าใจ อาจมาจากที่คิดว่า ของเดิมมีพอและดีพออยู่แล้ว อาจเข้าใจแต่ไม่ให้ลำดับความสำคัญ ด้วยเหตุที่งบประมาณจำกัด จึงหันไปจัดการด้านอื่นที่สำคัญกว่าก่อน หรือ อาจจะเป็นเพราะยังไม่พร้อม เป็นต้น

...เหล่านี้เป็นเพียงสมมติฐานค่ะ น้องรัชอยู่ในพื้นที่อาจหาคำตอบได้จากการสังเกต การพูดคุย การค้นคว้า..

พี่คิดว่า การตั้งโจทย์ที่ดี เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้งานวิจัยเกิดประโยชน์ และช่วยให้แก้ปัญหาถูกทาง ที่สำคัญคือ การทำงานอย่างมีเป้าหมายทำให้เราทำงานอย่างมีความสุขค่ะ

.. เขียนมาแลกเปลี่ยนค่ะ...

โชคดีและเป็นกำลังใจให้ค่ะ

จะติดตามอ่านต่อไปค่ะ เพราะพี่ได้เรียนรู้งานในพื้นที่จากงานเขียนของน้องรัชนี่แหละค่ะ ขอบคุณค่ะ

สวัสดีคะอาหงส์

ยินดีต้อนรับเป็นสมาชิกคะ ยังมีความรู้จากการลงพื้นที่อีกมากที่พี่พยายามถ่ายทอดให้เพื่อนร่วมทางรับทราบ อย่าลืมติดตามนะคะ

สวัสดีคะแอน

ยินดีด้วยที่โครงร่างผ่านแล้ว หลังจากนี้ต้องพยายามค้นหาคำตอบให้โจทย์วิจัยที่เราตั้งไว้ตามโครงร่างนะ ไม่ต้องกังวลจำไว้ว่าให้ใช้โครงร่างเป็นเข็มทิศเวลาเก็บข้อมูลนะ เป็นกำลังใจให้นะ สู้ สู้

สวัสดีคะอาจารย์ตุ้ม

ขอบคุณมากคะสำหรับข้อมูลที่อาจารย์มาแลกเปลี่ยนให้ฟัง น่ายินดีกับจังหวัดภาคตะวันตกมากนะคะ ที่มีโครงการชุมชนเป็นสุข สามารถทำให้ อปท มาร่วมบูรณาการงานในพื้นที่ได้ คิดว่าเวทีนี้น่าจะเป็นเวทีที่ให้ข้อมูลการถอดบทเรียนการทำงานร่วมกับ อปท ที่เป็นเนื้อเดียวกับชุมชนอย่างแท้จริง น่าสนุกคะ ขอติดตามงานนี้จากอาจารย์ต่อไปคะ

ขอบคุณคะ

สวัสดีคะอาจารย์ปัท

ยินดีเป็นแหล่งข้อมูลพื้นที่ให้อาจารย์เรียนรู้คะ

ขอบคุณอาจารย์สำหรับสมมติฐานของคำตอบ รัชจดไว้และจะนำไปเป็นข้อมูลประกอบการสังเกตุ ตั้งคำถาม กับเวทีต่อ ๆ ไปนะคะ

ขอบคุณมากคะ

คณะกรรมการกองทุนมีผู้แทนหมู่บ้านหรือชุมชนที่ประชาชนในหมู่บ้านหรือชุมชนคัดเลือกกันเองเป็นกรรมการหมู่บ้านหรือชุมชนละ1คนด้วยครับ

ทำไงดีกองทุนที่แม่กลอง ตำบลบางแก้ว นายก ไม่ดำเนินการ มา 2-3 ปีแล้วแล้วยังไม่เคยประชุม คกก.เลย คกก.แต่ละคนมาจากการลากตั้งนายกบอกจะไม่ดำเนินการอะไรทั้งสิ้นกับงบตัวนี้สถานีอนามัยดำเนินการด้านสุขภาพไม่ได้เลยวานช่วยคิดที่ (สงสัยมันคงจะเอาไว้หาเสียงมั้ง ดีซิมันจะได้เด้ง)..............วานบอกที

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท