ในสมัยรัฐบาลของไทยรักไทย เราจะได้ยินถึงคำๆหนึ่งที่ช่วยบ่งบอกความเจริญทางด้านธุรกิจและการเติบโตของระบบเศรษฐกิจของประเทศกันบ่อยๆไม่ว่าจะเป็นGNP(Gross national products)หรือ GDP(Gross Domestic product)ซึ่งรัฐบาลได้นำเสนอว่าสามารถพัฒนาให้จีดีพีโตได้มากน้อยเท่าไหร่เพราะเขาถือว่าเป็นตัวชี้วัดความเติบโตทางเศรษฐกิจ ในขณะที่ภาวะเศรษฐกิจเติบโตขึ้น แต่กลับพบว่าในหลายๆประเทศรวมทั้งประเทศไทยเราด้วยสภาพทางสังคม วัฒนธรรม สิ่งวแดล้อมกลับเสื่อมดทรมลงอย่างมาก ดูแล้วความทุกข์ของคนในสังคมน่าจะมากขึ้นด้วยซ้ำไป
ในเรื่องของเศรษฐกิจหรือความเจริญของประเทศนั้น การใช้GDPก็สามารถทำได้ แต่ไม่ใช่จะดูแค่การเติบโตอย่างเดียว แต่ต้องสรางสมดุลให้ได้ทั้ง 3 ประการจึงจะสรางความสุขได้จริงในสังคมหรือประเทศ นั่นคือ
1. การเติบโต (Growth)
2. เสถียรภาพ(Stability)
3. การกระจายทรัพยากร(Distribution)
แต่ในทางปฏิบัติกลับพบว่าสนใจแค่การเติบโต โตมากเท่าไหร่ยิ่งดี โดยไม่คำนึงถึงเสถียรภาพจนเกิดภาวะฟองสบู่แตกมาแล้วและที่ไม่ค่อยสนใจกันเลยคือการกระจายทรัพยากรหรือDistribution ทำให้เกิดภาวะที่เรียกกันว่า รวยกระจุก จนกระจาย คนส่วนใหญ่ตกอยู่ในกับดักสภาพหนี้ มีแต่ภาวะทุกข์เพราะการดูแต่การเติบโต จะเกิดได้จากการปั่นหุ้น หรือการสรางความร่ำรวยในคนส่วนน้อยบางหมู่บางกลุ่มเท่านั้น
กษัตริย์แห่งภูฐาน ได้เสนอแนวคิดทีเรียกว่าความสุขมวลรวมประชาชาติหรือGross National HappinessหรือGNH แล้วนำเอาแนวคิดนี้มาเป็นเป้าหมายในการพัฒนาประเทศเพราะทรงเห็นว่าการใช้ทั้งGDPหรือGNPนั้นไม่ได้ก่อให้เกิดความสุขที่แท้จริงแก่คนส่วนใหญ่ในประเทศ
GNH มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ คือ
1. การพึ่งพาตนเองทางเศรษฐกิจ
2. การคงสภาพหรือการรักษาสิ่งแวดล้อม
3. การยึดมั่นในวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีอันดีงาม
4. การบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีหรือธรรมาภิบาล(Good Governance)
จะเห็นได้ว่าแนวคิดนี้ก็เข้าได้กับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง ในโอกาสที่มีการยุบสภาและจะมีการเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 2 เมษายนนี้(ถ้ามีได้) จะมีพรรคการเมืองพรรคไหนบ้างหนอที่สนใจจะนำเอาแนวคิดความสุขมวลรวมประชาชติไปใช้จัดทำนโยบายสาธารณะของพรรค เพื่อที่จะได้นำความสุขมาสู่คนไทยทั้งมวล ให้หลุดพ้นไปจากลัทธิทุนนิยม บริโภคนิยมอันบ้าคลั่ง และหลุดพ้นไปจากการแบมือขอที่สะท้อนถุงวัฒนธรรมของระบบอุปถัมภ์ที่เห็นได้ง่ายจากการชื่นชมในนโยบายประชานิยมที่เห็นผลระยะสั้น แต่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาระยะยาวได้
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย Dr. Phichet Banyati ใน PracticalKM
กำลังหาข้อมูลเกี่ยวกับเรื่อง GNH ส่งอาจารย์อยู่พอดีเลยครับ...ขอบคุณมากครับสำหรับข้อมูลนี้ครับ