เข้าใจคำว่า "การสื่อสาร" ไม๊??


     วารสารดีดี อย่าง "วารสารโรงพยาบาลชุมชน" ต้องยอมเสียเงินสมัครเป็นสมาชิกนะคะ

          แค่ปีละ 300 บาท ต่อ 6 เล่ม หรือ เล่มละ 50 บาท เท่านั้น

          โฆษณาให้ฟรีๆ เลยค่ะ

          มีเรื่องดีดี มีสาระ ทุกหน้า

          ชาวบ้านอ่านได้  ชาวเมืองอ่านดี  ชาวชนบท (อย่างดิฉัน) ยิ่งสมควรอ่านทุกๆ ที

          ดิฉันจะฉายหนังตัวอย่างให้ได้อ่านกันเรื่องนึง

          เรื่อง การสื่อสารอย่างพอเพียง (Sufficient Communication) เขียนโดย นพ.พณพัฒณ์  โตเจริญวาณิช : กลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลหาดใหญ่

          พาดหัวข่าวของดิฉัน เรียกร้องความสนใจนิดหน่อยค่ะ แต่รับรองได้ว่าไม่ได้เบี่ยงเบนประเด็น ถ้าอ่านแล้ว get ก็สามารถประยุกต์ใช้กับการสื่อสารได้ทุกบริบทค่ะ ไม่ว่าจะเป็นพ่อ-แม่กับลูก  ครูอาจารย์กับศิษย์  หรือเจ้านายกับลูกน้อง 

 


กรณีศึกษา  การซักประวัติคนไข้ :
คุณลัดดา อายุ 20 ปี มาพบแพทย์ด้วยอาการเจ็บคอ

 

การซักประวัติแนวเดิม

คุณหมอ : สวัสดีครับ วันนี้ไม่สบายเป็นอะไรมาครับ
ผู้ป่วย : มีอาการเจ็บคอค่ะ (เอามือชี้เข้าไปในปาก) คุณหมอช่วยดูให้หน่อยนะคะ
คุณหมอ : เดี๋ยวดูให้นะครับ  แล้วเจ็บคอมานานเท่าไหร่แล้วครับ(ไม่ตอบสนองผู้ป่วยเพราะอยากซักประวัติให้หมดก่อน)
ผู้ป่วย : ราวๆ สองสัปดาห์ได้ค่ะ (ทำท่าจะเล่าต่อ....)
คุณหมอ : เป็นไข้ มีน้ำมูก ไอ หรือมีเสมหะด้วยหรือเปล่าครับ (ขัดจังหวะผู้ป่วย และถามคำถามปลายปิด แบบรวบทุกอาการเพื่อประหยัดเวลา)
ผู้ป่วย : ไม่มีค่ะ
คุณหมอ : กินยาอะไรมาก่อนจะมาพบหมอไหมครับ
ผู้ป่วย : ก่อนหน้านี้หนูก็ไปหาหมอมาก่อนแล้วค่ะ คุณหมอบอกว่าคออักเสบติดเชื้อ แล้วจัดยานี้มาให้หนูทานค่ะ (ผู้ป่วยหยิบแผงยา amoxycillin ให้ดู)
คุณหมอ : ทานแล้วดีขึ้นไหมครับ
ผู้ป่วย : เอ่อ....(ทำท่าลังเล) ก็ดีขึ้นนิดหน่อยค่ะ แต่ไม่รู้ว่าที่มันติดเชื้อนี่หายแล้วยังนะคะ  (เริ่มมีสีหน้ากังวลเล็กๆ)
คุณหมอ : (หันไปหยิบไฟฉาย ไม้กดลิ้น แล้วหันมาทางผู้ป่วย) อ้าปากหน่อยนะครับ
ผู้ป่วย : (กลืนน้ำลายหนึ่งที  พร้อมอ้าปากโดยดี)
คุณหมอ : (ดู ดู คอไม่แดง ไม่มีทอลซิลโต)
ผู้ป่วย : (รอคุณหมอ หน้าตาอยากรู้)
คุณหมอ : ตกลงนี่เจ็บคอนี่ตรงไหนล่ะครับ (เริ่มแปลกใจ เพราะหาโรคไม่พบตามที่คาด) เจ็บในคอข้างใน หรือข้างนอก (เอามือลูบลำคอตัวเอง)
ผู้ป่วย : ข้างในค่ะ  ตกลงหนูเป็นอะไรคะ  (ผู้ป่วยเริ่มเพิ่มความกังวล  เพราะคุณหมอดูคอแล้วไม่อธิบาย แต่กลับทำท่าทางไม่เข้าใจผู้ป่วย ยิ่งทำให้ผู้ป่วยแปลความว่าอาการตนเองร้ายแรง)
คุณหมอ : อ้อ....จากอาการของคุณคงเป็นคออักเสบติดเชื้อน่ะครับ (ไม่รู้จะบอกว่าเป็นอะไร เพราะหาโรคไม่พบ) เดี๋ยวหมอเปลี่ยนยาฆ่าเชื้อให้แล้วกันนะครับ (augmentin น่าจะดี)
ผู้ป่วย : มันยังไม่หายหรือคะ  มันจะร้ายแรงมากหรือจะติดต่อได้ไหมคะ
คุณหมอ : ไม่อันตรายหรอกครับ ได้ทานยาชุดนี้น่าจะหายแล้ว โดยทั่วไปโรคนี้มันจะติดต่อทางการหายใจน่ะครับ  ช่วงนี้อย่าอยู่ใกล้คนใกล้ชิดมาก โดยเฉพาะหากไอ จาม ให้ปิดปากด้วยนะครับ)
ผู้ป่วย : ค่ะ (สีหน้าดูกังวลขึ้นชัดเจน)
คุณหมอ : มีอะไรสงสัยจะถามหมออีกไหมครับ
ผู้ป่วย : ไม่มีค่ะ (ถูกคุณหมอละเลยเงื่อนงำที่ให้ไปหลายครั้ง)
คุณหมอ : งั้นลองไปทานยาดูก่อนนะครับ เชิญไปเอายาได้เลยครับ ห้องเบอร์ 5 นะครับ
ผู้ป่วย : ขอบคุณค่ะคุณหมอ สวัสดีค่ะ (ยิ้มแหยๆ แววตากังวล แล้วค่อยๆ เดินออกจากห้องไป)

 

การซักประวัติโดยใช้ทักษะการสื่อสารแบบพอเพียง

คุณหมอ : สวัสดีครับ เชิญนั่งก่อนเลยครับ (เริ่มสบตาผู้ป่วยตั้งแต่เข้าห้องตรวจและยิ้มให้)
ผู้ป่วย : สวัสดีค่ะ คุณหมอ (ยกมือไหว้ แล้วนั่งลง)
คุณหมอ : คุณลัดดาใช่ไหมครับ (ป้องกันผู้ป่วยผิดคน)
ผู้ป่วย : ใช่ค่ะ (ยิ้ม...รู้สึกคุณหมอให้ความสำคัญ)
คุณหมอ : (ยิ้มตอบ) วันนี้ไม่สบายเป็นอะไรมาครับ
ผู้ป่วย : มีอาการเจ็บคอค่ะ (เอามือชี้เข้าไปในปาก) คุณหมอช่วยดูให้หน่อยนะคะ
คุณหมอ : ได้ครับ  เดี๋ยวหมอดูให้เลยนะครับ (ตอบสนองในสิ่งที่ผู้ป่วยกังวล  หันไปหยิบ ไฟฉาย ไม้กดลิ้น แล้วหันมาทางผู้ป่วย) ขอโทษนะครับ อ้าปากหน่อยนะครับ
ผู้ป่วย : (กลืนน้ำลายหนึ่งที พร้อมอ้าปากโดยดี แต่รู้สึกคุณหมอให้เกียรติ
คุณหมอ : (ตรวจอย่างระมัดระวังเพราะอาจทำให้ผู้ป่วยเจ็บ หรืออยากแหวะได้ คอไม่แดง ทอลซิลไม่โต
ผู้ป่วย : (รอคุณหมอ หน้าตาอยากรู้)
คุณหมอ : เท่าที่ตรวจดู ไม่เห็นความผิดปกติอะไรนะครับ (แจ้งผลผู้ป่วย) ไม่ทราบว่าที่เจ็บคอนี้มันเป็นยังไงนะครับ  ลองอธิบายให้หมอฟังหน่อยนะครับ (ถามคำถามปลายเปิด และพยายามทำความเข้าใจความเจ็บป่วยในมุมมองของผู้ป่วย)
ผู้ป่วย : มันก็เจ็บอยู่ข้างในน่ะค่ะ  เป็นมาสักสองสัปดาห์ได้แล้วค่ะ รู้สึกแสบๆ ค่ะ เอ่อ...แต่จริงๆ มันก็เจ็บไม่มากหรอกนะคะ (คุณหมอพยักหน้าช้าๆ เชื้อเชิญให้ผู้ป่วยเล่าต่อ) ความจริงก่อนหน้านี้หนูก็ไปหาหมอมาก่อนแล้วนะคะ คุณหมอบอกว่าคออักเสบติดเชื้อ แล้วจัดยานี้มาให้ทานค่ะ (ผู้ป่วยหยิบแผงยา amoxycillin ให้ดู)
คุณหมอ : ทานแล้วเป็นยังไงบ้างครับ
ผู้ป่วย : เอ่อ...(ทำท่าลังเล) ก็ดีขึ้นนิดหน่อยค่ะ  แต่ไม่รู้ว่าที่มันติดเชื้อนี่หายแล้วยังนะคะ (เริ่มมีสีหน้ากังวลเล็กๆ)
คุณหมอ : (จับสีหน้าได้) ติดเชื้อ ดูเหมือนคุณลัดดาจะกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้มากนะครับ (สะท้อนความรู้สึกของผู้ป่วย เพื่อให้แน่ใจว่าเราเข้าใจเขาถูก)
ผู้ป่วย : ค่ะ  หนูกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้มาก
คุณหมอ : เอ่อ.....เท่าที่หมอตรวจดูก็ไม่เห็นอาการคออักเสบติดเชื้อที่ว่าแล้วนะครับ  ไม่ทราบคุณลัดดามีความกังวลอะไร พอจะเล่าให้หมอฟังได้ไหม (ค้นหาเหตุในการมาพบแพทย์)
ผู้ป่วย : (เงียบ)
คุณหมอ : (attentive silence)
ผู้ป่วย : คือ....คือ....อย่างนี้ค่ะ  คุณหมอ  หนูกำลังจะแต่งงานค่ะ  แต่เมื่อสาม สี่ ปีก่อนหนูเคยมีแฟนมาก่อน  เขาบอกว่าเขารักหนูและอยากมีอะไรกับหนู  หนูไม่ยอม  เขาจึงโกรธ  หนูเลยต้องยอมใช้ปากทำให้เขาค่ะ  หลังจากนั้นหนูเจ็บคอจึงไปตรวจ  หมอบอกว่าหนูติดเชื้อเป็นหนองในคออะไรทำนองนี้แหละค่ะ  หมอบอกว่าหนูคงติดมาจากแฟนค่ะ  ได้ยามาทานก็หายไปแล้ว  แต่ช่วงสองสัปดาห์นี้มันกลับมาเริ่มเจ็บอีก  หนูกังวลมาก  กลัวมันจะกลับมาเป็นอีกครั้งค่ะ  กลัวมันจะไปติดแฟน  ถ้าเขารู้ว่าหนูไม่ดีมาก่อน  เขาต้องเสียใจมากแน่ๆ เลยค่ะ (น้ำเสียงเริ่มเครือ)
คุณหมอ : (attentive silence)
ผู้ป่วย : หนูมันโง่จริงๆเลยค่ะคุณหมอ  หนูไม่น่าทำอย่างนั้นเลย ตลอดสามสี่ปีมานี้ ทุกทีเวลาเจ็บคอทีไรหนูก็ต้องเป็นทุกข์ทุกที  แต่ก็ไม่เคยรวบรวมความกล้าไปปรึกษาคุณหมอสักที  ได้แต่เก็บเป็นทุกข์ไว้คนเดียว (ตาแดงๆ)
คุณหมอ : (ใช้มือแตะที่แขนผู้ป่วย เพื่อแสดงความเห็นใจ) ช่วงนี้คุณลัดดาคงรู้สึกเป็นทุกข์มาก
ผู้ป่วย : (น้ำตาไหล)
คุณหมอ : (ยื่นกระดาษทิชชูให้  พร้อมเงียบและอนุญาตให้ผู้ป่วยได้ร้องไห้ ระบายความรู้สึก)
ผู้ป่วย : ไม่เป็นไรแล้วค่ะ ตอนนี้หนูรู้สึกดีขึ้นมากแล้ว
คุณหมอ : ครับ แล้วตอนนี้คุณลัดดาพร้อมจะคุยกับหมอต่อหรือยังครับ
ผู้ป่วย : ค่ะ
คุณหมอ : ตอนนี้หมอคิดว่าหมอพอจะเข้าใจปัญหาของคุณแล้ว  สรุปว่าที่คุณลัดดากังวลอยู่ตอนนี้  คือกลัวว่าโรคติดเชื้อที่เคยเป็นมาเมื่อก่อนจะกลับมาเป็นอีก  และกลัวว่ามันจะติดไปที่แฟนคนปัจจุบัน  ใช่ไหมครับ (สรุปความ)
ผู้ป่วย : ค่ะ  ใช่ค่ะ
คุณหมอ : เท่าที่หมอทราบ  อาการเจ็บคอที่คุณลัดดาเป็นเมื่อสามสี่ปีก่อน เขาเรียกว่าโรคหนองใน พวกนี้เป็นโรคที่ติดต่อผ่านการมีเพศสัมพันธ์เมื่อได้รับการรักษาแล้วก็จะหายขาดครับ เหมือนเวลาเราเป็นหวัด เมื่อเป็นหวัดแล้วเราก็จะหายขาดใช่ไหมครับ แต่เราก็จะกลับเป็นหวัดใหม่ได้หากได้รับเชื้อเข้าไปอีก โรคหนองในก็เช่นเดียวกัน แต่ว่าโรคหนองในไม่ได้ติดต่อกันผ่านทางไอ จามเหมือนโรคหวัด ดังนั้น หากคุณลัดดาไม่ได้ไปรับเชื้อผ่านการมีเพศสัมพันธ์หลังจากครั้งนั้นอีก ก็จะไม่เป็นอีกแล้ว (อธิบายง่ายๆเปรียบเทียบกับโรคที่ผู้ป่วยคุ้นเคย)
ผู้ป่วย :  แสดงว่าหากหนูไม่เคยมีเพศสัมพันธ์หลังจากครั้งนั้นอีก หนูก็จะไม่เป็นอีกใช่ไหมคะ เพราะหนูเคยมีอะไรกับเขาก็แค่ครั้งนั้น ครั้งเดียวจริงๆค่ะคุณหมอ
คุณหมอ :  ใช่แล้วครับ แต่ว่าโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ไม่ได้มีแต่โรคหนองในอย่างเดียว อาจมีโรคอื่นๆอีก เช่น ซิฟิลิช ไวรัสตับอักเสบบี แล้วก็โรคเอดส์ ด้วยนะครับ ซึ่งโรคพวกนี้อาจไม่มีอาการอะไร หากจะทราบว่าเราเป็นหรือไม่ก็ต้อง ตรวจเลือดดูนะครับ
ผู้ป่วย :  หนูพอทราบเกี่ยวกับโรคไวรัสตับอักเสบบี แล้วก็โรคเอดส์แล้ว แต่ซิฟิลิสนี่เป็นยังไงคะ แล้วหนูมีโอกาสติดโรคพวกนี่ด้วยหรือคะ
คุณหมอ :  ซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในระยะแรกอาจทำให้เกิดแผลตามอวัยวะเพศหรือช่องปากได้ แต่เมื่อแผลหายแล้วก็อาจมีเชื้อหลงเหลือในตัวเราได้ และเมื่อมีเพศสัมพันธ์ก็จะถ่ายให้กับคู่ของเราได้ครับ จริงๆแล้วโอกาสที่คุณลัดดาจะติดโรคพวกนี้คงมีไม่มาก เพราะเป็นการใช้ปากทำให้ และก็แค่ครั้งเดียวจริงๆ แต่ยังไงก็ยังไม่ปลอดภัยซะทีเดียวครับ
ผู้ป่วย : ...ตกลงค่ะคุณหมอ หนูตัดสินใจแน่นอนแล้วค่ะว่าหนูอยากตรวจเลือด จะได้รู้ไปเลยว่ามีโรคพวกนี้หรือเปล่า ไม่อย่างนั้นต่อไปหนูคงไม่หายกลุ้มใจเพราะเรื่องพวกนี้สักที คุณหมอตรวจเลือดให้หนู้ได้ไหมคะ
คุณหมอ :  ได้สิครับ แต่ก่อนที่เราจะตรวจเลือดกัน หมออยากจะนัดให้เรามาคุยกันอีกทีในคราวหน้า เพราะคงมีรายละเอียดบางเรื่องที่เราคงต้องทำความเข้าใจกันเพิ่มเติมอีกหน่อย จะได้ไหมครับ
ผู้ป่วย :  ได้ค่ะคุณหมอ
คุณหมอ :  งั้นหมอจะขอนัดคุณลัดดามาอีกครั้งในวันพรุ่งนี้นะครับ ไม่ทราบคุณลัดดายังมีเรื่องกังวลอะไรที่ยังไม่เข้าใจหรืออยากจะถามหมอเพิ่มเติ่มไหม (เปิดโอกาสให้ซักถามและนัดหมาย)
ผู้ป่วย :  ไม่มีแล้วค่ะคุณหมอ ที่ได้คุยกับคุณหมอทำให้หนูเข้าใจและสบายใจขึ้นมาระดับหนึ่งแล้วค่ะ หากไม่พบคุณหมอหนูก็คงไม่รู้จะหาทางออกได้ยังไง แล้วก็คงต้องทุกข์กับเรื่องนี้ต่อไปอีก
คุณหมอ :  ไม่เป็นไรครับ หมอยินดีช่วย แล้วพรุ่งนี้อย่าลืมมาพบกันนะครับ
ผู้ป่วย   ค่ะ หนูกลับก่อนนะคะ สวัสดีค่ะ (มีรอยยิ้ม)

           โดยสรุปข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นทางการแพทย์ส่วนใหญ่ไม่ใช้เกิดจากแพทย์ขาดความรู้ แต่มักเกิดจากการที่แพทย์เป็นคนไม่ช่างสังเกต ไม่รับฟัง ไม่อธิบาย หรือไม่ใส่ใจผู้ป่วยต่างหาก ทัศนคติของแพทย์น่าจะมีส่วนสำคัญที่สุด เพราะหากแพทย์สนใจแต่ "ค้นหาและรักษาโรค" ก็มักจะถามแต่ในสิ่งที่ตนเองสนใจทางคลินิกเท่านั้น จนลืมว่าบางครั้งการใช้ยาหรือการผ่าตัด ก็ไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุด ดังเห็นได้จากกรณีศึกษาข้างต้น เคยเห็นไหมว่าการเล่านิทานดีๆสักเรื่องทำให้เด็กหลับฝันดีได้ (ดีกว่ายานอนหลับเพราะตื่นมาไม่งง) การให้กำลังใจก็ช่วยลดความโศกเศร้าเจ็บปวดในใจของการสูญเสียคนที่รักไปได้เช่นกัน การนำเทคนิคการสื่อสารนี้ไม่ใช้ในระยะแรกอาจเหนื่อยอยู่บ้าง แต่เชื่อว่าเมื่อใช้ไปสักระยะก็จะชำนาญขึ้นเอง เมื่อถึงตอนนั้นก็จะได้รับรู้ถึงความรู้สึกภูมิใจและเป็นสุขในตัวเราเอง เวลาที่เราได้ช่วยแก้ปัญหาของคนไข้อย่างตรงจุดหรือเวลาที่เราได้รับรอยยิ้ม และความรักจากคนไข้ตออบกลับมา

 

คำสำคัญ (Tags): #การสื่อสาร
หมายเลขบันทึก: 171075เขียนเมื่อ 16 มีนาคม 2008 01:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 9 พฤษภาคม 2012 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

สวัสดีค่ะอาจารย์Dhaharunที่เคารพรัก

  • อิๆๆอ่านแล้วสนุกดีค่ะ
  • แต่หนูคงไม่มีโอกาสเจ็บคอแบบนี้แน่ๆหมดกังวล..อิๆๆ
  • หมอ"คน"กับหมอ"ความ"คงคล้ายกันคือต้องซักถามให้ละเอียดขณะเดียวกันคนไข้หรือลูกความก็ต้องพยายามให้ข้อมูล อันจะเป็นประโยชน์ต่อการวินิจฉัยด้วย มิฉะนั้นอาจทำให้เกิดความผิดพลาด ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
  • ..แต่สำหรับคุณหมอคิดว่า..ปัญหาหนึ่งอาจเกิดจากต้องรีบตรวจ รีบถามเพราะคนไข้เยอะ..ทำให้โอกาสซักถามผู้ป่วย..คงมีไม่มากนัก..ความผิดพลาด..ก็เกิดขึ้นได้ค่ะ..อิๆๆ
  • ตอนนี้โชคดีค่ะ..คุณหมอจากรพ รามา มาเรียนปริญญาเอกที่คณะแพทย์U of Sheffield เป็นคนช่างซักถามมากๆ..คงไม่มีผิดพลาด..แบบนี้แน่ๆเลยค่ะ..อิๆๆ

ด้วยความเคารพรัก

หนูหมูอ้วนเองค่ะ

 

 

 

สวัสดีค่ะ อ.มาลินี

      ขอบคุณสำหรับข้อคิดดี ๆ ในเช้าวันหยุดแบบนี้ เรื่องเล่าเรื่องนี้ยังนำมาสะท้อนได้ถึงการบริหารงานของผู้บริหาร  เพราะหากผู้บริหารท่านใด ใส่ใจในผู้ใต้บังคับบัญชา เหมือนคุณหมอท่านที่สอง  รับรองว่า จะได้ใจลูกน้องเป็นอย่างมากค่ะ 

(จริง ๆ อยากเขียนว่า ใส่ใจผู้ใต้บังคับบัญชาเหมือน ท่านคณบดีที่น่ารักคนนี้ตะหาก)

ด้วยความเคารพค่ะ

 

  • เมื่อคืนก็ว่า เขียนจนดึกมากแล้วนะคะ  กว่าจะ post ขึ้น web
  • เช้าขึ้นมา เปิด Blog ดู  ต๊ายยยย....ใครหนอ? เข้ามาทักทายตั้งแต่ตี 3
  • ตาม...ตาม link เข้าไปดู
  • อ้าววว!  อ.หมู นี่เอง (ที่จริง...ต้องอุทานว่า  อ้าววว!  อ.หมู-อ.เกว นี่เอง  รู้สึกว่าต้องคู่กัน ไม่งั้นไม่ครบ)
  • แหม...ก็เป็นปลื้มมากเป็นพิเศษ
  • เพราะมีคนอยู่ตั้งไกล ถึงประเทศอังกฤษอุตส่าห์เขียนข้ามทวีปมาทักทาย
  • ดิฉันเปิดเข้าไปดู Blog ของอาจารย์ด้วยนะ
  • โห...อาจารย์เปิด Blog ไว้เพี๊ยบเลย
  • แล้วยังรวบรวม Blog ตัวเอง ไว้ใน Planet ตัวเอง อีก
  • เขียนเก่งจริงๆ เขียนสนุกด้วยค่ะ
  • ก็เลยอยากจะขอดูด Blog ของอาจารย์ เข้าสู่วงการ มน. (NUKM Blog : ศูนย์รวม Blog ของชาว มน.) เสียเลย
  • แต่ปัญหามันมีอยู่ว่า จำนวน Blog ของอาจารย์มันมากเกินไปค่ะ คือเท่ากับจำนวนบันทึกทีเดียว
  • หนึ่ง Blog เนี่ย  เขียนกี่บันทึกก็ได้นะคะ  เหมือนที่อาจารย์เปิด Planet ของอาจารย์รวบรวม Blog ของอาจารย์นั่นแหละค่ะ
  • แต่ Planet มีไว้ให้เราสามารถดูด Blog ของคนที่เราสนใจเข้าไปอยู่ด้วยกัน (รวมทั้ง Blog ของเราเองด้วย)
  • Blog ของเรา จึงมีไว้ให้เราเขียน  Planet มีไว้ให้เราอ่าน
  • อยากจะขอให้อาจารย์ เปิด Blog ใหม่อีกสักหนึ่ง Blog ใช้ชื่อตามใจปรารถนา ถ้ามันเป็น Blog สัพเพเหระ ก็ย้ายบันทึกใน Blog ที่เปิดไว้อยู่แล้วเข้าไปรวมอยู่ด้วยกัน
  • เสร็จแล้วก็ปิด Blog ที่ไม่มีบันทึกเสีย (โปรแกรมเขาจะถามว่าปิดชั่วคราวใช่ไหมคะ? ...ก็ตอบตกลงไปเลย)
  • ทีนี้ NUKM Blog : ศูนย์รวม Blog ของชาว มน. ก็ไม่ต้องกังวลใจอีกว่า จะพลาดบันทึกของอาจารย์อีกต่อไป (เพราะท่านอาจารย์วิบูลย์  โดยคุณโอ...ผู้จัดการตัวจริง จะ add Blog ของอาจารย์เข้าไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของชาว มน. เอง) 
  • ส่วน Planet ของอาจารย์ที่มีอยู่แล้ว  ก็สามารถเลือกเอา Blog ที่อาจารย์สนใจ ad เข้ามาร่วมวงได้  โดยใช้คำสั่งในเมนูว่า นำบล็อกนี้เข้าแพลนเน็ตของท่าน
  • อย่าง Blog ของ Dhanarun ไงคะ....หุ...หุ...หุ
  • ขอขอบคุณอาจารย์มากนะคะ  ที่ไม่เคยทิ้ง มน.    พิษณุโลก   และประเทศไทย  : )   : )

อ้อ!  ดิฉันว่า  "หมอความ"  น่าจะสื่อสารได้เก่งกว่า "หมอคน" นะคะ  เพราะส่วนใหญ่คนไข้เป็นคนที่ "เต็มใจอยากจะบอกหมอทุกเรื่องอยู่แล้ว  เพียงแต่หมอ (บางท่าน) ถอดรหัสไม่เก่งเอง  ไม่ดูภาษากายด้วย  อย่างนี้ให้อภัยไม่ได้

แต่....ลูกความเนี่ย....(ดิฉันคิดเองนะคะ) เอาแน่ไม่ได้  ถ้าคิดว่าพูดแล้วเดี๋ยวจะเป็นภัยแก่ตัวก็จะเก็บงำไว้ลึกทีเดียว ไม่พูด บางทีก็กลบภาษากายไว้อย่างแนบเนียนด้วย  หมอความจึงต้องใช้ความสามารถในการสื่อสารแบบเทพ (ใช้ภาษาวัยรุ่น) ที่จะเค้นความในใจที่แท้จริงของลูกความออกมาให้ได้.....อย่างนี้ถ้าเค้นไม่ออก  ก็พอให้อภัยได้

 

  • น้องรัก "รัตติยา เขียวแป้น"  ก็ตื่นแต่เช้าเชียวนะคะ
  • เมื่อวานดิฉันเพิ่งจะตะลุย รวม Blog เดิม 2 Blog เข้าด้วยกัน
  • คือ Blog :  QA_KM in NU กับ Office_KM
  • รวมเป็น Blog ใหม่ ชื่อว่า ธนารุณ บอก...Dhanarun's Blog อันนี้แหละค่ะ
  • เพราะเขียนไปเขียนมา ทำท่าว่าจะเป็น Blog สัพเพสัตตา เอ๊ย...สัพเพเหระ ไปทั้งคู่ แยกแยะลำบาก
  • นึกอยู่เหมือนกันว่า แควนๆ จะตามเจอไม๊น้อ ???
  • แต่...น้องรัก"รัตติยา เขียวแป้น" ก็ทำให้ใจดิฉันชื้นขึ้นมาเป็นกอง ว่า...ตามมาแล้ว.....
  • ไชโย.....  ; )   : )

เพื่อให้ไม่คลาดสายตา  ขออนุญาต นำเข้า planet เลยนะคะ อย่างงี้ไม่ว่าจะไปที่ไหน หาเจอแน่นอน

อาจารย์คะ กรณีศึกษานี้ เป็นตัวอย่างที่ดีมากเรื่องการสื่อสาร  เป็นเรื่องขำๆ ที่มักถูกยกตัวอย่างในการซักประวัติผู้ป่วย คุณหมอผู้เขียน เขียนได้ดีมากๆ นะคะ ขอบคุณอาจารย์ที่นำมาเผยแพร่ค่ะ   

  • มองลึกๆ ไปในวงการศึกษา สะท้อนให้เห็นว่า
  • คนที่จบมาเป็นแพทย์หลายคน ไม่ได้อยากมาเป็นแพทย์ด้วยใจ แต่เพราะผลการเรียนดี เลยเลือกเรียนในคณะยอดฮิต..
  • ผลตามมาก็อย่างที่เราเข้าใจกัน..ว่าแพทย์ส่วนหนึ่งสื่อสารกับคนไข้ไม่รู้เรื่อง
  • ตัวอย่างที่ท่านอ.มาลินี เล่ามานั้น เป็นตัวอย่างที่ดีของการสื่อสารทางการแพทย์..
  • หากเรามีหมอแบบนี้สักครึ่งหนึ่ง ผมว่าคนไข้ที่ปรกติเป็นทุกข์อยู่แล้ว คงมีความสุขขึ้นหลังจากได้คุยกับหมอ และคุณหมอก็คงมีความสุขที่ได้คลายทุกข์ให้กับคนไข้..

เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งต้องไปเป็นคนไข้ให้นิสิตแพทย์ตรวจ อาจารย์หมอ ให้โพยมาว่าคุณต้องเป็นโรคประมาณนี้อาการแบบนี้นะ ถ้านิสิตแพทย์ไม่ถาม ก็ไม่ต้องตอบ หรือไม่ต้องพูดนำ

อิอิ พอเอาเข้าจริงๆ นิสิตแพทย์บางคนก็ตื่นเต้น บางคนก็ลน บางคนก็ขู่คนไข้ บางคนถามไม่หมด ก็เลยต้องบอกนำๆ ผิดกฏไหมเนี่ย... พอตรวจหมดทุกคน ดูออกเลยว่าใครน่าจะเป็นหมอที่ดีได้ หุหุ  กว่าจะเป็นหมอได้ยากลำบากจริงๆเลย

เคยมีอยู่ครั้งหนึ่งต้องไปเป็นคนไข้ให้นิสิตแพทย์ตรวจ อาจารย์หมอ ให้โพยมาว่าคุณต้องเป็นโรคประมาณนี้อาการแบบนี้นะ ถ้านิสิตแพทย์ไม่ถาม ก็ไม่ต้องตอบ หรือไม่ต้องพูดนำ

อิอิ พอเอาเข้าจริงๆ นิสิตแพทย์บางคนก็ตื่นเต้น บางคนก็ลน บางคนก็ขู่คนไข้ บางคนถามไม่หมด ก็เลยต้องบอกนำๆ ผิดกฏไหมเนี่ย... พอตรวจหมดทุกคน ดูออกเลยว่าใครน่าจะเป็นหมอที่ดีได้ หุหุ  กว่าจะเป็นหมอได้ยากลำบากจริงๆเลย

สุขสันต์วันสงกรานต์ครับ ขอให้มีความสุขมากๆ สุขภาพแข็งแรง สดชื่นแจ่มใสครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท