ฦๅ การศึกษาไทยจะถึงทางตัน


ความพยายามทั้งหลายทั้งปวงของ สมศ. กลับกลายเป็นกระสุนด้าน หรือยิงเข้าสู่กองทราย แรงแค่ไหนก็หยุดอยู่กลางกองนั่นแหล่ะครับ ไม่มีโอกาสทะลุไปอีกฟากหนึ่งเลย

 

ในระยะ ๒-๓ ปีที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสทบทวนถึงทางเลือกและทางออกในการพัฒนาการศึกษาไทย ที่ดูเหมือนแทบจะไม่พัฒนา หรือพัฒนาแบบพายเรืออยู่ในโอ่ง

 

ที่กล่าวเช่นนี้ เพราะว่า มีความพยายามที่จะแก้ปัญหาโดยสำนักงานมาตรฐานการศึกษา (สมศ.) ได้พยายามค้นหาวิธีที่จะพัฒนาการศึกษาไทยในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดมาตรฐานการศึกษา มาตรฐานกำหนดตำแหน่ง มาตรฐานสถานศึกษา รวมทั้ง การของบประมาณเพื่อมาตอบแทนกับคนที่ตั้งใจพัฒนาตัวเอง อย่างเป็นกอบเป็นกำ ทำให้บุคลากรทางการศึกษาได้มีโอกาสทำผลงานขอตำแหน่งเพื่อขอรับผลตอบแทนกันเป็นการใหญ่

 

แต่....ปรากฏว่า ความพยายามทั้งหลายทั้งปวงของ สมศ. กลับกลายเป็นกระสุนด้าน หรือยิงเข้าสู่กองทราย แรงแค่ไหนก็หยุดอยู่กลางกองนั่นแหล่ะครับ ไม่มีโอกาสทะลุไปอีกฟากหนึ่งเลย

 

นี่คือความรู้สึกจริงๆ ต่อกระบวนการพยายามของ สมศ.ที่ผมมี

 

ทั้งนี้ เพราะว่า มาตรฐานต่างๆ ที่กำหนดขึ้นมานั้นดูดีมาก แต่ไม่มีใครทำตาม อย่างมากก็เขียนไว้ในเอกสารที่ไม่มีการปฏิบัติ หรือปฏิบัติก็น้อยมาก ไม่จริงจังอย่างที่น่าจะเป็น

 

ทั้งนี้มาจากหลายเหตุผล อาทิ

  • บุคลากรส่วนใหญ่ที่มีอายุมาก ไม่พร้อมที่จะปรับตัว จะให้เขียนอะไรก็เขียนไปตามนั้น เพื่อให้ผ่านเกณฑ์ แต่การกระทำนั้นอีกอย่างหนึ่ง
  • บุคลากรที่อายุอย่างน้อย ก็เลียนแบบผู้อาวุโส ทำเพื่อผ่านเกณฑ์เช่นเดียวกัน
  • บุคลากรที่พอจะทำอะไรเป็นบ้าง ก็มักจะถูกไหว้วานจากผู้บริหารของสถานศึกษาให้ช่วยงานส่วนรวม หรือแม้กระทั่งช่วยงานส่วนตัวของผู้บริหาร จนไม่มีเวลาที่จะทำงานพัฒนาการเรียนการสอนของตนเอง
  • บุคลากรส่วนใหญ่ทำตัวเป็น Dead wood ไม่สนใจว่า ใครจะสั่งว่าอย่างไร ยังคงทำทุกอย่างแบบเดิมๆ ทำให้ภาระงานในภาพรวมไปตกหนักกับคนที่พอจะทำงานเป็นมากกว่าคนอื่น

 

ดังนั้น งานจะเดินหรือไม่ จึงมาอยู่ที่ผู้บริหารสถานศึกษา ว่าจะเห็นแก่ส่วนรวม หรือเห็นแก่ส่วนตัว หรือคิดอะไรไม่ออก อยู่อย่างเดิมๆ

 

แต่.....ผู้บริหารสถานศึกษาจำนวนหนึ่ง ก็ยังเห็นแก่ตัว (ทั้งที่รู้ตัว และไม่รู้ตัว) ทำงานเพื่อตัวเองมากกว่าเพื่อสถานศึกษา และยังอาจใช้อำนาจสั่งการให้ลูกน้องที่พอจะทำงานเป็น มาช่วยงานตนเอง ซึ่งทำให้ศักยภาพของการพัฒนาระบบการศึกษาอ่อนด้อยลงไปอย่างทันตาเห็น

 

แล้วเราจะหวังพึ่งใคร ได้ครับ...

 

สมศ.จะทำอย่างไรต่อไป หรือจะปล่อยให้เป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ

 

เราจะมีการติดตามประเมินผล ความสัมฤทธิ์ผลของแผนงานของ สมศ.หรือไม่  หรือจะปล่อยให้เป็นไปอย่างเดิม ๆ ที่เป็นอยู่ กล่าวคือ

  • คนที่ทำงานจริง มักจะไม่ค่อยมีเวลาทำเอกสารขอตำแหน่ง เนื่องด้วยเวลาที่จำกัด และอาจต้องช่วยผู้บริหารทำงาน จนไม่มีเวลาทำเอกสารขอให้กับตัวเอง หรือมีเวลาก็หมดแรงเสียก่อน
  • คนที่ไม่ค่อยจะทำงาน จะมีเวลามากหน่อยในการเตรียมเอกสาร หรือบางทีก็ใช้เวลาที่ควรจะต้องทำงานไปเตรียมเอกสาร หรือ (มีข่าวว่า) มีผู้สอนบางคนไปจ้างคนอื่นทำเอกสารแทนตัวเอง โดยมีผู้รับจ้างเป็นธุรกิจ ทำให้เป็นรายๆ ตกลงกันเป็นจำนวนเงินมาตรฐาน เช่น รายละ ๓๐,๐๐๐ บาท เป็นต้น และคนที่ไม่ค่อยจะทำงานหรือทำเอกสารไม่เป็นเหล่านั้น ก็คิดสาระตะว่า ถ้าได้ตำแหน่งก็สามารถจะถอนทุนคืนได้ภายใน ๓ เดือน คุ้มค่าอยู่แล้ว จึงเป็นที่มาของธุรกิจรับจ้างทำเอกสารขอตำแหน่งทางวิชาการ (อันนี้ ไม่ทราบ สมศ.สนใจหรือเปล่า)

 

แล้วอนาคตการศึกษาของไทย คือ อะไรครับ

 

ผมเคยเขียนไปแล้วว่า เรา(แทบ)ไม่มีครู  ไม่มีนักเรียน  ไม่มีนักศึกษา แล้วเรามีระบบการศึกษาไว้ทำอะไร  อยากฟังคำตอบจาก สมศ.ครับ ว่า ท่านสนใจหรือเปล่าว่า คนที่ขอตำแหน่งทางวิชาการนั้น เป็นครูจริงหรือไม่ หรือเป็นแค่ในเอกสาร หรือเป็นเพราะจ้างคนทำเอกสารแทน หรือเป็นแค่นักท่องตำราไปเล่าให้เด็กฟัง

 

สำหรับนักเรียนนั้น สมศ.สนใจหรือไม่ ว่า เรามีนักเรียนจริงๆ อยู่กี่คน มีนักท่องตำราไปสอบอยู่กี่คน หรือว่าไม่เกี่ยวข้องกับงานของ สมศ. ผมก็ไม่ทราบครับ

 

ถ้าเราไม่คิดใน ๒ ประเด็นนี้ ผมก็ไม่ทราบว่า เราจะมีระบบการศึกษาไว้ทำอะไร จริง ๆ ครับ

 

แค่นี้ผมก็คิดไม่ออกแล้วครับ

 

ใครคิดออกบ้างครับ (โดยเฉพาะ สมศ.และผู้บริหารสถานศึกษาทั้งหลาย) ท่านเห็นด้วยหรือไม่ครับ ที่จะปล่อยให้การศึกษาเป็นเช่นนี้ต่อไป

หมายเลขบันทึก: 170890เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2008 18:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 19:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (17)

สวัสดีครับ อาจารย์ :)

  • อาจารย์วิเคราะห์ได้แตกฉานอีกแล้ว
  • การนำเงินประจำตำแหน่งมาล่อหลอกให้ครูที่ทำแล้วจะได้โน้นได้นี่ ทำให้ระบบการทำอะไรเพื่อตัวเองต้องมาก่อนเสมอ ...
  • ครูใหญ่ไปเรียนต่อโท ก็ใช้ให้ครูน้อยมาช่วยทำหน่อย ทั้ง ๆ ที่ครูน้อยไม่ได้รู้เรื่องด้วย แต่ถ้าทำแล้ว 2 ขั้น ก็ OK
  • ครู 2 ทำระดับ  7 ครู 3 ทำระดับ 8 - 9 ... การว่าจ้างกลายเป็นเรื่องปกติ ทำเองไม่เป็น มีเงิน ก็จ้างได้ จะเอาแบบโน้นแบบนี้ ... ประเด็นนี้ ผมพบเห็นเรื่อย ๆ ครับ เพราะเวลาเค้าทำผลงาน ก็อยากทำนวัตกรรมใหม่ ๆ ทำสื่อการสอน ก็ว่าจ้างพวกลูกศิษย์ผมนี่แหละ หมื่นหนึ่งบ้าง สองหมื่นบ้าง แล้วแต่ความยากง่าย
  • อย่าไปหวังว่า จะมาพัฒนาตนเองตามที่ สมศ. ตั้งกติกาไว้เลย เปล่าประโยชน์
  • สังคมชอบอะไรง่าย ๆ คุณภาพง่าย ๆ ขั้นง่าย ๆ เงินก็ง่าย ๆ
  • สังคมไทยคงพากัน CHIP มันหายหมดกระมัง

ขอบคุณครับอาจารย์ แจ่ม และ เป๊ะ มาก :)

ขอบคุณครับ

ช่วยมองหาทางออกหน่อยครับ

ผมเดินมาถึงทางตันแล้วครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์

    จะลองประยุกต์แนวทางจากสามก๊กมาลองใช้ดูไหมครับ น่าจะมีทางออกที่ดีก็ได้ครับ จึงผมว่าปัญหาเรื่องการศึกษานี่ต้องถามแรกๆ เลยว่า..

  1. จะศึกษาไปทำไม ทำไมต้องศึกษา การยัดเยียดให้คนต้องศึกษาโดยไม่อยากจะศึกษา ทำไปทำไม เพื่ออะไร
  2. การศึกษามีความสำคัญกับคนไทยจริงหรือ? จงอธิบาย หากดีคุณจะทำให้คนส่วนใหญ่คิดว่าการศึกษาดีจริงและอยากศึกษาเพื่ออะไร เป้าหมายของการศึกษาเพื่ออะไรกันแน่
  3. การศึกษาทำที่ใดได้บ้าง?
  4. การศึกษาส่งผลดีผลเสียอย่างไร ส่งผลต่อตัวเองและสังคมอย่างไร
  5. หากเข้าใจว่าการศึกษาเพื่ออะไร และคนส่วนใหญ่เข้าใจว่าการศึกษานั้นดีจริงอย่างไร ก็ไม่จำเป็นต้องหาอะไรมาล่อให้คนอยากศึกษา เพราะคนจะหาทางในการพัฒนาสมองของตัวเอง
  6. ดังนั้น คงต้องกลับมาทบทวนกันใหม่ในเบื้องต้น ว่า ทำไมต้องศึกษา? เพราะผมเชื่อว่าการศึกษาจริงๆ แล้วนั้น ไม่ีทางตัน เพราะคำตอบมันจะรออยู่ทีปากทางตันนั่นหล่ะครับ เพียงแต่คุณจะถอยออกไปเสียก่อนจะเจอคำตอบหรือเปล่า?
  7. หากอะไรจะดีจริงๆ จะอยู่ได้ด้วยองค์ความดีของมันครับ ไม่จำเป็นต้องมีตัวล่อใดๆ
  8. เพราะท้ายที่สุดแล้ว ตัวล่อเหล่านั้นก็พังราบเช่นกันครับ

อิๆๆ มากวนหมวนอย่างเดียวครับ

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์

  • เป๊ะ ๆ โดนใครหลายคน อีกแล้วครับท่าน
  • ผมอ่านแล้วปวดศีรษะเลยครับ อาจจะเพราะมันเป็นความจริงที่ไม่ค่อยชอบ หรืออาจเพราะนั่งตากแอร์ในโรงหนัง เรื่อง  "10,000 B.C. : บุกอาณาจักรโลก 10,000 ปี" ก็ไม่รู้ครับ
  • ...ช่วยมองหาทางออกหน่อยครับ ผมเดินมาถึงทางตันแล้วครับ...
    ผมว่า อาจจะเป็นทางตันจริง ๆ ครับ เพราะถ้าสังเกตุให้ดีจะเห็นว่า ยุคสมัยหนึ่ง ท่านผู้นำที่พยายามฟัดแก้ไขทุกปัญหาที่ขวางหน้าได้พยายามจะแก้ปัญหาด้านการศึกษาอย่างจริงจัง ถึงกับออกมาสอนหนังสือโชว์ เรียกน้ำย่อย ได้ส่งแม่ทัพ หลายคนทั้งบู้และบุ๋นไปนั่งเป็นจ้าวกระทรวงศึกษาฯ ผลสุดท้ายก็ลาออก อยู่ไม่ครบวาระเลยสักคน... บางท่านเป็นนักวิชาการระดับเซียน พอมารู้ความจริงอย่างที่ท่านเล่าแจ้งแถลงมา ก็ขอปล่อยวางและลาออกเอาดื้อ ๆ ก็มี

  • คนในวงการศึกษาจำนวนไม่น้อยที่ตัดสิน Early เพราะทนรับทราบความจริงอย่างที่ท่านอาจารย์ว่านี้ต่อไปไม่ไหวแล้ว จึงขอปล่อยวาง Early ดีกว่า

  • จะง่ายไปไหมที่จะบอกว่า ..ปล่อยวางดีกว่า.. เพราะในความเป็นจริงของโลก ๆ ก็มีทั้งคนดีและคนไม่ดี ที่สำคัญนักการศึกษาที่ดีก็มีไม่น้อยนะครับ

10,000 B.C.

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์

  • อาจารย์เสนอได้โดนใจจริง ๆ ครับ จึงขอทางออกอันริบหรี่นี้ด้วยคนครับ
  • ผมยังเชื่อว่า "การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญในการพัฒนาสังคมและประเทศชาติ" อยู่นะครับ
  • ถึงแม้ปัญหาทางการศึกษาจะซับซ้อนและมีมากขึ้น กว่ายุคสมัย เลข คัด เลิก ก็ตาม แต่หลายอย่างก็พัฒนาขึ้นไม่น้อย เช่น ผู้คนอ่านออกเขียนได้มากขึ้น มีโอกาสเรียนมากขึ้น เป็นต้นครับ
  • ต้องยอมรับว่า เมืองไทยเรายังมองว่า การศึกษาคือใบปริญญา มากกว่าที่จะมองว่า การศึกษาคือการพัฒนา
  • พรบ.การศึกษาแห่งชาติ 42 หมวด 3 มาตรา 15 ได้ระบุไว้ว่า การจัดการศึกษามีสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบ การศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างของพัฒนาการศึกษาของไทยเป็นต้นครับ(http://www.onec.go.th/Act/law2542/law2542.pdf)
  • ความพยายามที่จะแก้ปัญหาการศึกษาของไทยล่าสุด คือ การปฏิรูปการศึกษาของไทยครั้งล่าสุดนี้(ครั้งที่ 3) ที่ท่าน   4 เทพ ได้มีความพยายามที่จะออกแบบและแก้ปัญหาการศึกษาหลายอย่างตามบริบทและพัฒนาการของสังคมไทย อย่างเต็มกำลังความสามารถ (เท่าที่นักวิชาการสามารถทำได้)
  • สิ่งที่ 4 เทพ ท่านได้ทำไว้อย่างดียอดเยี่ยม คือ กฏหมายแม่ พรบ.การศึกษาแห่งชาติ ปี 42 แต่พอต้องผ่านมือนักการเมือง ก็เป็นต้องปรับปรุง ปี 45 ไงครับ (ไม่ง่ายเลย)
  • กฎหมายลูกก็ต้องโดนยำใหญ่เมื่อต้องผ่านกระทรวง (เทพจะมาคิดให้คนใช้ได้อย่างไร อิ อิ) ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ พอเหลาลงไปเป็นอะไรก็ไม่รู้ เหมือน ๆ อย่างที่ท่านอาจารย์ได้ตั้งประเด็นไว้ไงครับ
  • ที่ว่ามาทั้งหมดนี้ หวังเพียงจะเสนอว่า ปัญหาด้านการศึกษามีความซับซ้อน เกี่ยวข้องและกระทบกับหลายคนกับหลายด้าน การแก้ปัญหาต้องค่อยเป็นค่อยไป และท้อไม่ได้ครับ

 

 

 

ขอบคุณครับ

ไม่ท้อ ไม่ท้อ ไม่ท้อ ลูกท้อไม่มีครับ

แต่หาคนช่วยมองหาทางออกครับ

ธุรกิจทำลายชาติโดยการทำเอกสารผลงานที่เป็นเท็จนั้น หรือให้คนอื่นทำเท็จแทนขานั้น เราฟ้องร้องได้ไหมครับ

เพราะเป็นอาชญากรรม ฉ้อโกงระดับชาติ สร้างความเสียหายมากมาย

ท่านอัยการว่าอย่างไรครับ

  • ผมประเมินว่า ตอนนี้แทบจะทุกคนทุกฝ่ายทุกระดับ และทุก องคาพายพของภาคการศึกษา ได้ตกสู่สภาวะความหลง(ในสิ่งที่ไม่ควรหลง) แบบมิดศีรษะไปแล้ว
  • ผมเห็นทางออกทางเดียวครับ
  • ล้มระบบทั้งหมด (ให้โอกาสเออรี่เต็มที่)
  • แล้วปล่อยให้เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการสรรหาจากหลายภาคส่วนและหลายชุดจากชุมชนนั้นๆ  ทำการสรรหา "คนหัวใจครู" แบบเข้มข้นเพียงคนเดียวเฉพาะผู้บริหารเท่านั้น มารับผิดชอบจัดการศึกษาสำหรับชุมชนนั้นๆโดยเฉพาะ ทั้งนี้ โดยใช้วิธีการตรวจสอบคุณภาพแบบให้นำเสนอตัวเอง และแนวทางการจัดการศึกษาสำหรับชุมชนนั้นๆแบบเปิดกว้างคราวละ 2 ปี  พร้อมเสนอของบประมาณ(แบบบวกอัตราเงินเฟ้อ) และทำสัญญาจ้างตามนั้น (ซึ่งผู้ว่าจ้างสามารถขอปรับปรุงก่อนทำสัญญาได้)
  • ส่วนที่เหลือ (ทั้งครูผู้สอนและเจ้าหน้าที่อื่น)  ให้ผู้บริหารที่สรรหามาเป็นผู้รับผิดชอบเอง 100 % (ชอบแบบไหน ดีอย่างไร เก่งด้านใด ให้เลือกเอาเอง) ชุมชนคอยตรวจสอบคุณภาพตามรูปแบบและระยะเวลากำหนดไว้เท่านั้นพอ
  • แบบนี้เราก็จะได้ทีมครูผู้มีความมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ เพราะถ้าไม่มุ่งมั่น  โอกาสที่จะได้รับการต่อสัญญาก็จะน้อย  แต่ถ้าโชว์กึ๋นการบริหารและการจัดการเรียนรู้ได้ตามที่ได้สัญญาไว้หรือดีกว่า  ก็น่าจะเป็นทีมครู"หัวใจครู"ที่เป็นที่รักของผู้เรียนและชุมชน และในขณะเดียวกันก็อาจเป็นที่ต้องการของชุมชนอื่นๆด้วย (ค่าจ้างอาจสูงตามไปด้วย)
  • แหะๆๆๆ...ครูวุฒิฝันละเมอกลางดึกตอนตี 3 ครึ่งเศษๆ  ไม่ว่ากันนะครับ
  • อ้าว ท่านคุณครู ดร. ก็ตื่นตี 3 เหมือนกันเหรอครับเนี่ย....
  • เรื่องทำเอกสารอันเป็นเท็จ  ผมเห็นมาตลอด
  • ก่อนนั้น  ก็เห็นผู้บริหาร รร. สั่งให้ครูลอก ป.02 (หลักฐานผลการเรียนเด็ก)ใหม่ เพื่อให้ผ่านเกณฑ์ที่เขากำหนดมา  เขาปล้นชาติกันขนาดนั้นเลยล่ะครับ
  • แต่ยุคนี้ จะไปว่าครูก็ไม่ถูก  ต้องโทษคนกำหนดเกณฑ์  เพราะแต่ละเกณฑ์ที่ออกมา เป็นเกณฑ์ที่ทำให้ครูต้องสร้างเอกสารเท็จทั้งนั้น
  • ท่านลองนึกถึงความเป็นจริงนะครับ  จะมีครูเทวดาหน้าไหนทำได้ตามนั้น  เพราะสอนก็ 8 สาระ 2 กิจกรรม งานธุรการ งานการเงินพัสดุ ก็ใช่  แถมงานผลประโยชน์ส่วนตัวของท่านผู้บริหารอีก  ปัญหาหนี้สินอันรุงรังที่ต้องแก้กันรายวันอีก  แล้วจะเอาเวลาที่ไหนมาทำเอกสารและผลงานตามที่เป็นจริงได้ (ทั้งๆที่ส่วนใหญ่ก็อยากทำตามความจริงนั่นแหละ)
  • ทั้งหลายทั้งหมดและทุกเกณฑ์ที่ผ่านมา จึงเข้าทาง "พวกอีแอบขี้ฉ้อ" แบบเต็มๆ 
  • เฮ้อ...พูดไปก็ปวดใจแทนเด็กๆครับ
  • อ้อ... ฝากภาพมาให้ดูเล่นๆ 2 ภาพครับ
  • Dsc000521 
    เมื่อครูหลงมั่วอยู่กับกองเอกสาร
  • Dsc03593 เด็กๆลูกชาวบ้าน จึงได้โอกาสแปลงร่างกันเต็มที่
  • ผมจะนำภาพเหล่านี้  พร้อมบทเพลงที่แอบร้องคนเดียวในใจ  ไปฝากน้องๆครูพันธ์ใหม่พรุ่งนี้ (16 มีค.) ด้วยครับ
  • สวัสดีครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

หนิงไม่ได้เป็นครูนะคะ  แต่อยู่ในแวดวงการศึกษา (ของผู้พิการ)  อ่านแล้วโดน!! เช่นกันค่ะ 

เหนื่อยเหมือนกันค่ะ  การทำงานกับเด็กที่ถูกครูทิ้งให้มะงุมมะหงาหรา  หาทางเรียนรู้เอง เด็กจะอ่าน จะรู้ที่อาจารย์สอนยังไงหนอ นี่หรือคือการศึกษาแบบยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ  แต่หนิงก็ไม่ท้อนะคะ เพราะลูกๆที่ DSS@MSU ก็ไม่เคยท้อแม้มองไม่เห็นค่ะ

อ่านดูแล้ว เหมือนว่า ตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานหลัก Key Performance Indicator จากสำนักงานมาตรฐานการศึกษา (สมศ.) นี่ทำให้เกิดโรคเครียดเพิ่มขึ้นมากนะคะ

ไปอ่านพบข้อเขียนของ ท่านศ. ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาล มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด---อาจมีเกี่ยวข้องบ้าง

 เลยขอนำมาให้อ่านกันค่ะ พวกหน่วยงานPISA หรือ OECD ดิฉันก็เคยมีลิงค์อ้างอิง เอาไว้ที่บันทึกดิฉันบ้างแล้วในความเห็นที่ 102 # ค่ะ 

ปัญหาการศึกษาในต่างประเทศ อิสราเอล เป็นประเทศที่มีปัญหาการศึกษาคล้ายคลึงกับไทยอย่างมาก

สัญญาณที่บ่งบอกว่าการศึกษาในอิสราเอลมีปัญหา และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศไทยพบว่ามีลักษณะคล้ายคลึงกันในหลายประการ ดังนี้


ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนอยู่ในระดับต่ำ ในศตวรรษที่ 1960s นักเรียนอิสราเอลมีศักยภาพด้านคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์อันดับต้น ๆ ของโลก

แต่ศักยภาพด้านนี้ได้ลดลงเรื่อย ๆ โดยในปี 2002 เลื่อนอันดับลงไปอยู่ที่ 33 จากทั้งหมด 41 ประเทศ ตามหลังประเทศไทยและโรมาเนีย และนักเรียนอายุ 18 ปี เพียงร้อยละ 30 เท่านั้น ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานการอ่านภาษาฮีบรู (standard Hebrew reading comprehension test) จากที่เคยผ่านถึงร้อยละ 60 เมื่อ 20 ปีที่แล้ว

เช่นเดียวกับประเทศไทย ผลการสำรวจในโครงการ PISA ปี 2549 เป็นสิ่งที่ยืนยันว่า ไทยควรปรับปรุงการเรียนการสอนคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์

 และยังมีผลการทดสอบระดับชาติ จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ปี 2546-2547 และ 2549 พบว่า นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ มีคะแนนเฉลี่ยวิชาหลักต่ำกว่าร้อยละ 50 ในวิชาสังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ยกเว้นวิชาภาษาไทย

ผลการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (O-NET) ปีการศึกษา 2548-2549 โดยสำนักงานทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) พบว่า นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 6 มีคะแนนเฉลี่ยวิชาหลัก 5 วิชา คือ ภาษาไทย สังคมศึกษา ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ต่ำกว่าร้อยละ 50 ทั้ง 2 ปี ยกเว้นภาษาไทย

ที่อิสราเอล ครูมีภารกิจงานมากแต่ค่าจ้างต่ำ

ในขณะที่ประเทศไทยก็ประสบปัญหาครูทำงานหนักแต่รายได้ค่อนข้างต่ำเช่นกัน

จากรายงานการวิจัยของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) สภาวะการขาดแคลนครูในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานของประเทศไทย (2547) โดย รศ.ดร.ชนิตา รักษ์พลเมือง รศ.ดร.จรูญศรี มาดิลกโกวิท และคณะฯ

พบว่า ค่าตอบแทนครูต่ำเมื่อเทียบกับวิชาชีพอื่น อีกทั้งระบบเงินเดือนเดียว กล่าวคือ อัตราเงินเดือนระหว่างครูเก่งครูดีกับครูคุณภาพต่ำไม่แตกต่างกัน ทำให้ครูเก่งครูดีขาดกำลังใจและมีแนวโน้มจะขอออกจากการประกอบวิชาชีพครูมากขึ้น

การขาดแคลนครูในวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และภาษาอังกฤษ ปัจจุบันอิสราเอลขาดแคลนครูที่เชี่ยวชาญในวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาอังกฤษ

การแก้ไขปัญหาคุณภาพการศึกษาของอิสราเอล

อิสราเอลแก้ไขปัญหาการศึกษาด้วยการเพิ่มงบประมาณในปี 2008 โดยอิสราเอลจะเพิ่มงบประมาณอีก 400 ล้านเหรียญสหรัฐสำหรับการศึกษา

โดยงบฯ ที่เพิ่มเข้ามานี้นำมาใช้เป็นเงินเดือนครูและการปฏิรูปโรงเรียน โดยรัฐบาลมีงบผูกมัดว่าต้องเพิ่มงบฯ 2 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในอีก 5 ปี นั่นหมายความว่า รัฐบาลอิสราเอลให้ความสำคัญกับการปฏิรูปที่ครูผู้สอน และสถานศึกษามากกว่าการพัฒนาหรือปฏิรูปในส่วนอื่น

ผลการประเมินขององค์กรระหว่างประเทศพบว่า การศึกษาไทยประสบปัญหาด้านคุณภาพ ตั้งแต่ปฐมวัยถึงระดับอุดมศึกษา อาทิ องค์การความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือ OECD จัดโครงการประเมินผลนักเรียนนานาชาติ (Programme for International Student Assessment: PISA) ปี 2549 โดยสำรวจความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ และการอ่านของนักเรียนอายุ 15 ปี จำนวน 4 แสนคน

ในประเทศสมาชิก OECD 57 ประเทศ ผลการสำรวจพบว่า มีนักเรียนไทยไม่กี่คนทำคะแนนอยู่ในกลุ่มความสามารถระดับสูง นักเรียนไทยประมาณร้อยละ 40 ทำคะแนนอยู่ในระดับ 1 หรือต่ำกว่า และร้อยละ 50 ทำคะแนนด้านคณิตศาสตร์อยู่ในระดับ 1 หรือต่ำกว่า

องค์การยูเนสโก ภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แนะนำว่าไทยควรเพิ่มคุณภาพการศึกษา โดยระดับปฐมวัยควรปรับหลักสูตรการเรียนการสอน ระดับอุดมศึกษาควรปรับการวัดมาตรฐานการสอน ทำวิจัย และเพิ่มจำนวนหนังสือในห้องสมุด เป็นต้น

ตัวอย่างของอิสราเอลที่เห็นว่า จะพัฒนาคุณภาพการศึกษาได้ต้อง พัฒนาที่ตัวครูและปฏิรูปที่สถานศึกษา ซึ่งหากวิเคราะห์คานงัดในการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ผม...ดร.เกรียงศักดิ์ฯ...เสนออย่างน้อย 3 จุด ได้แก่

 


2) จัดสรรทรัพยากรโดยจัดสรรเงินอุดหนุนรายหัวให้แก่ผู้เรียนตามคุณภาพและประสิทธิภาพในการจัดการศึกษาของสถานศึกษา 


3) พัฒนาคุณภาพครู โดยพัฒนาครูให้มีคุณภาพในการสอนและมีขวัญกำลังใจในการประกอบวิชาชีพ

 

อ่านแล้ว ไม่ค่อยสบายใจนะคะ แต่ท้อไม่ได้  ผู้รู้อย่างอาจารย์แสวงฯ ต้องช่วยกัน แก้ไขกันต่อไปค่ะ

การปฏิรูปการศึกษาไทยจะมุ่งสู่เป้าหมายการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพได้หรือไม่นั้น หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตั้งลำ และหาคานงัดสำคัญในการขับเคลื่อนไปอย่างถูกทิศ มิใช่การดันทุรังดำเนินการไปในกรอบเดิมที่แสดงให้เห็นแล้วว่าไม่เกิดผลในเชิงประจักษ์
1) นำธงชัด โดย รมต. ศธ. ต้องชัดเจนด้านการกำหนดนโยบายการศึกษา และมีกลไกให้เกิดดำเนินการต่อเนื่องแม้มีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล

อาจารย์คะ ข้อ 1 ของดร.เกรียงศักดิ์ฯกระเด้งลงมาข้างล่างของหน้าค่ะ แปลกจัง เป็นอย่างนี่มาหลายทีแล้วค่ะ...

1) นำธงชัด โดย รมต. ศธ. ต้องชัดเจนด้านการกำหนดนโยบายการศึกษา และมีกลไกให้เกิดดำเนินการต่อเนื่องแม้มีการปรับเปลี่ยนรัฐบาล

ขอบตุณมากครับ

ผมได้อะไรอีกมากเลยตรับ

ผมคิดว่าข้ออ่อนของเรื่องนี้อยู่ที่การดำเนินการอย่างถูกชั้นตอน

การพัฒนาครูน่าจะมาก่อน แบบพร้อมๆกันกับ ทรัพยากรการศึกษา และติดตามประเมินผลการทำงานแบบนำธงชัด น่าจะไปได้นะครับ

ฉะนั้น จะไปได้ไม่ได้น่าจะอยู่ที่กระบวนการด้วย ครับ

 

สวัสดีครับ

    เวลาผมเห็นหนังสือเล่มหนาๆ ของครูวุฒิทีไรผมนึกถึงป่าไม้ทุกทีเลยครับ ผมมองว่ากระดาษมาจากป่า หากกระดาษนั้นไม่คุ้มค่าเีสียดายป่าจริงๆ ครับ แต่หากกระดาษนั้นคุ้มค่า กระดาษอาจจะทำให้พื้นที่ป่าเพิ่มขึ้นได้ครับ

ขอบพระคุณมากครับ

ผมไม่เป็นห่วงเรื่องทางตันครับ ทางมีมากมาย หลายแยก หลายทิศทาง ถึงมีทางที่จะเดินได้มากมาย ผมก็ยังเป็นห่วงว่าเราจะลุกขึ้นมาเดินกันได้หรือเปล่า หรือ ถูกทางแค่ไหน (ไม่หลง) หรือ ได้ดีแค่ไหน (ยั่งยืน)

อาจารย์แสวงคะ

มีอีกข้อค่ะ เป็นความสงสัยส่วนตัวค่ะ เพราะไม่ทราบจริงๆ

คือดิฉันเห็นพวกนักศึกษาปี1-4 บางคณะที่มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง มีเวลาว่างมาก ไปเรียนก็สาย บางทเรียนเช้า สายๆกลับ และก็ไม่ได้ไปอีก ถามเข้า เขาบอก วันนี้ไม่มีเรียนแล้ว

แต่โดยภาพรวม นักศึกษาเรียนน้อยลงกว่าสมัยที่ดิฉันเป็นนักศึกษานะคะ บางทีไปสายครูต้องรอนาน

ที่อยากทราบคือ ได้มีการ ลดชั่วโมงการเรียนการสอนลงไปหรือเปล่าคะ

เพราะที่อิสราเอลนะคะ    เมื่อปี 1997 นักเรียนใช้เวลาอยู่ในโรงเรียนจำนวน 36 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ แต่ในวันนี้ ผู้เรียนใช้เวลาเรียนเพียงแค่ 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โรงเรียนส่วนใหญ่หยุดการสอนตั้งแต่เวลา 13.00 น.

เพราะบางวิชาไม่มีการเรียนการสอน หรือบางวิชาไม่สามารถสอนได้ครบตามหลักสูตร โดยวิชาหลักอย่างคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ได้ถูกตัดทอนบทเรียนลงไปค่ะ

ส่วนประเทศไทย....ผลจากนโยบายจำกัดอัตรากำลังคนของภาครัฐ หรือการเออลี่รีไทร์ ทำให้ขาดแคลนครูอย่างรุนแรงตั้งแต่ปี 2543 โดยเฉพาะครูวิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และภาษาต่างประเทศ

นอกจากนี้ กระบวนการผลิตครูยังไม่สามารถคัดเลือกคนดีคนเก่งมาเป็นครูได้อีก

เลยไม่ทราบว่า เราได้มีการลดชั่วโมงเรียนอย่างอิสราเอลไหม

ถ้าเป็นจริง ดิฉันใจหายมากเลย สงสารเด็กไทยค่ะ

แต่คงไม่เป็นอย่างนั้น ใช่ไหมคะ อยากให้ตอบด้วยค่ะ สงสัยจริงๆค่ะ

สวัสดีครับ ดร. แสวง รวยสูงเนิน

  • หลายปีก่อน ผมเคยคุยกับวัยรุ่น ได้ยินว่า ยังมีแทรกซ้อนอีกเรื่อง
  • คือ ครูใช้วิธีไม่สอน ให้เด็กเรียนรู้เอง บอกว่า เป็นการเรียนแบบผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง !
  • ฟังแล้ว ก็พิลึก ๆ อยู่ แบบนั้น ครูคนเดียว สอนเด็กทั้งประเทศได้เลย สอนได้ทุกวิชาด้วย

เรื่องระบบการประเมิน ผมคิดว่า เราคงต้องกลับไปใคร่ครวญแนวคิดของเดมมิงให้ดี เพราะเราชอบไปหยิบของเขามาใช้แบบเป็นเสี้ยว ๆ แล้วก่อปัญหา ทั้งที่แนวคิดของเขา บูรณาการ  แบ่งแยกเมื่อไหร่ เกิดปัญหามากกว่าจะเป็นคุณ

 

ก่อนหน้านี้ ผมเคยเขียนถึงเดมมิงนิดหน่อย

  • ผมเชื่อว่า ระบบการประกันคุณภาพ มีวิวัฒนาการอยู่สองสายเท่านั้น
  • สายแรก ประกัน คน ว่า คนดี คนเก่ง ประกันคุณภาพปัจเจกบุคคล
  • สายที่สอง ประกันว่า หน่วยงาน ระบบ หรือผลงานของหน่วยงาน เป็นหน่วยที่ดี มีฝีมือ สร้างงานได้เลิศ ประกันคุณภาพการทำงานเป็นทีม
  • สายแรก เคี่ยวเข็ญคน
  • สายที่สอง เคี่ยวเข็ญระบบ
  • ใครที่บอกว่า ทำแบบใช้สองสายนี้คละกัน จริง ๆ แล้ว จะเป็นกลุ่มหัวรุนแรงที่สังกัดสายที่หนึ่ง จำแลงกายมา
  • เพราะถ้ามีสายแรกเจือมา สายแรกจะชี้ขาดพฤติกรรมทันที
  • เพราะสายที่สอง คือ การทำงานแบบทีม
  • สองสายนี้ ไม่สามารถอยู่ร่วมกันได้ครับ เพราะปรัชญาอยู่คนละฐานคิดกัน ปนกันเมื่อไหร่ เละกว่าการใช้เพียงแนวคิดสุดขั้วของสายแรก หรือสายที่สองล้วน ๆ
  • คือ จะเอา คนเดี่ยว เป็นตัวตั้ง หรือ ทีมงาน เป็นตัวตั้ง
  • ถ้าใครบอกว่า จะเอาทั้งสองอย่าง แปลว่า เอาคนเดี่ยวเป็นตัวตั้ง

ระบบประกันคุณภาพที่เป็นอยู่ ดูเผิน ๆ เป็นตามระบบเดมมิง แต่ถ้าดูให้ดี มีประเด็นที่ สวนกับแนวคิดเดมมิงอย่างรุนแรง

"ติดตามดูแลการปฏิบัติงานเพื่อมุ่งช่วยแก้ปัญหา ไม่ใช่เพื่อประเมินจัดอันดับ"

"หาทางก่อให้เกิดทีมงาน ให้ความสำคัญของทีมงานมากกว่าปัจเจกบุคคล"

จะเอาเลิศทางไหน ก็คงไม่แปลก

แต่เมื่อไหร่จะเอาเลิศสองทาง คือ คนเลิศ ทีมงานเลิศ สิ่งที่จะได้ คือ วิบัติ เพราะเป็น "จิตเภทเชิงนโยบาย" เพราะสองอย่างนี้ อยู่คนละฐานความเชื่อ อยู่ด้วยกันเมื่อไหร่ คนจะเครียดและดิ้นรนเพื่อเอาตัวรอด  องค์กรก็จะพัง

ในบริบทนี้ ครู ต้องเอาตัวเองให้รอดก่อน อย่างที่อาจารย์แสวงยกมา จะเป็นอื่นไปได้อย่างไร ?

 

ถ้าดูกรณีที่พี่ Sasinanda ยกตัวอย่างอิสราเอล ก็จะเห็นว่า

พัฒนาที่ตัวครูและปฏิรูปที่สถานศึกษา

พอดูให้ดี ๆ ก็คือ เขาปรับตัวไปใช้ระบบของเดมมิงแบบขนานแท้ ที่บูรณาการฐานความเชื่อเข้าด้วยกันแบบครบองค์

"หาทางก่อให้เกิดทีมงาน ให้ความสำคัญของทีมงานมากกว่าปัจเจกบุคคล"

"อย่าปกครองโดยสร้างความกลัวแก่ผู้ปฏิบัติงาน"

"ประสานหน่วยงานย่อยเพื่อให้เกิดทีมที่ดี"

"ฝึกฝนและให้การศึกษาแก่ผู้ปฏิบัติงานและผู้บริหาร"

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท