ศัพท์ที่ยากจะสื่อความหมาย


คงเป็นเพราะคำว่า "สวัสดิการ" มีปัญหาในการสื่อสาร ล่าสุด อาจารย์ไพบูลย์จึงได้ให้ศัพท์ใหม่คือ "สวัสดิสุข"

ปัจจุบัน  ไทยมีนวัตกรรมทางสังคมที่สำคัญสองอย่างซึ่งเป็นเรื่องง่ายที่เข้าใจยากที่สุด

"ความพอเพียง"  กับ "สวัสดิการ" 

 

ง่าย.. เพราะแท้จริงแล้วทั้งสองอย่างมีฐานคิดมาจากวิถีชีวิตแบบไทยๆ

เข้าใจยาก .. เพราะพื้นฐานดังกล่าวได้เลือนหายไประยะเวลาหนึ่งเนื่องจากถูกแทนที่ด้วยวิถีสังคมสมัยใหม่  ทำให้ศัพท์คำนั้นถูกตีความใหม่    แล้วเมื่อได้รับการฟื้นฟูแนวคิดขึ้นมาอีกครั้ง  การตีความของผู้คนจึงกระเจิดกระเจิงกันไปคนละทิศคนละทาง 

 

อย่างคำว่า "สวัสดิการ"  นักวิชาการต่างสาขา ยังนิยามต่างกัน

ตัวเราเองนั้น  ทุกครั้งที่ไปแนะแนวที่โรงเรียนต่างๆ  สิ่งแรกที่ต้องทำคือ  อธิบายให้นักเรียนเข้าใจว่า เศรษฐศาสตร์ต่างจากบริหารธุรกิจอย่างไร 

 

"บริหารธุรกิจอาจมีเป้าหมายเพื่อให้หน่วยธุรกิจมีกำไรสูงสุด  แต่เศรษฐศาสตร์มีเป้าหมายคือ เพื่อให้มีสวัสดิการสังคมสูงสุด

 

มาบัดนี้  เพิ่งเข้าใจว่า "สวัสดิการของสังคม" ที่เศรษฐศาสตร์มองนั้น ก็ต่างจากศาสตร์อื่นอยู่มาก

คำไทยๆที่มีความหมายใกล้เคียง "สวัสดิการ" ของเศรษฐศาสตร์มากที่สุดคือ "อยู่ดีมีสุข" 

 

สวัสดิการจึงเป็นเป้าหมาย   ส่วนจะใช้เครื่องมือใดในการ "จัดสวัสดิการ" นั้น  เศรษฐศาสตร์จะให้ความสำคัญกับ กลไกตลาด และกลไกรัฐ (เมื่อตลาดทำงานไม่มีประสิทธิภาพ หรือเพื่อความเป็นธรรม)   เพิ่งมาในช่วงปลาย 1980 ที่เศรษฐศาสตร์สถาบันเริ่มพูดถึง "ชุมชน" มากขึ้นเพราะเห็นแล้วว่า ทั้งตลาดและรัฐเป็นสองสถาบันหลักที่มีข้อบกพร่อง   หลักการใหญ่ก็คือ  "ใครก็ได้ (รัฐ หรือ ตลาด หรือ ชุมชน) ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าควรเป็นผู้ดำเนินการ"   ส่วนใครเป็นผู้รับภาระต้นทุนนั้นก็ต้องพิจารณาเป็นเรื่องๆต่อไปอีก

"สวัสดิการ"ในทางเศรษฐศาสตร์ จึงกว้างกว่า "การสงเคราะห์" มากนัก  แถมหลักคิดพื้นฐานคือ ผู้ได้ประโยชน์ควรเป็นผู้จ่าย   ต่อเมื่อสิ่งที่ทำแล้วเกิดประโยชน์แก่สังคมโดยรวม  เช่น การศึกษา  การสาธารณสุข การป้องกันประเทศ  การรักษาความสงบ   รัฐก็ควรเป็นผู้สนับสนุน  โดยประชาชนจ่ายเงินทางอ้อมในรูปแบบภาษี   หรือหากบุคคลใดก่อผลลบต่อความเป็นอยู่ที่ดีของสังคม เช่น ก่อมลภาวะ  ก็ต้องรับภาระนั้น เช่น จ่ายภาษีต่อมลพิษทุกหน่วยที่ตนปล่อยออกมา

"การสงเคราะห์"  "การประกัน"  เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือที่นำสู่ "สวัสดิการ" 

 

และ "ความมั่นคงของชีวิต" ก็เป็นเพียงองค์ประกอบหนึ่งของ "สวัสดิการ"

"เงิน" ที่ให้ๆกันก็ยังไม่ใช่สวัสดิการ  ตราบใดที่ยังไม่ได้แปลงเงินไปสู่ "บริการ" หรือ "สิ่งดี" ที่นำไปสู่ความอยู่ดีมีสุข  ..เว้นแต่ว่า .. คุณกอดเงินแล้วอุ่นใจมีความสุข.. (เดี๋ยวนี้เป็นแบบนี้แล้ว)

ทุกอย่างที่ตลาด (ที่ดี) รัฐ (ที่ดี) และชุมชน(ที่ดี) ดำเนินการอยู่จึงเกี่ยวข้องกับเป้าหมายของสังคม คือ ความเป็นอยู่ที่ดีของคนในสังคม (สวัสดิการ) ทั้งสิ้น

เศรษฐศาสตร์ไม่ได้พูดถึง  "สิทธิที่พึงได้รับ"   แต่ นักเศรษฐศาสตร์อย่างอมาตยา เซน พูดถึง "สิทธิ" หรือ "เสรีภาพในการเลือก"  เสรีภาพในเลือกวิถีชีวิตและสิ่งที่ตนให้คุณค่า

 

และเงื่อนไขสำคัญอีกประการก็คือ  ประโยชน์ที่เกิดแก่บุคคลนั้น ต้องไม่ไปสร้าง "ผลกระทบภายนอก" (เบียดเบียน) ต่อสังคม   ตลาดมักจะบกพร่องในเรื่องนี้  ดังนั้นต้องมีกลไกที่ทำหน้าที่ควบคุมหรือแก้ปัญหา คือ รัฐ หรือชุมชน

อาจารย์ป๋วยท่านเขียนเกี่ยวกับเรื่องสวัสดิการสองหน้ากระดาษโดยไม่ใช้ศัพท์ว่า "สวัสดิการ" เลย  แต่ท่านตั้งชื่อหัวข้อไว้ว่า "คุณภาพชีวิต"   พวกเราอ่านแล้วรู้ว่า เป็นเรื่องสวัสดิการ  เพราะถ้าเรามีอย่างที่อาจารย์ป๋วยกล่าวไว้  เราก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีและมีความสุข

ถึงวันนี้  ไม่แน่ใจว่า ผู้เสนอ พรบ.สวัสดิการสังคม มองสวัสดิการในความหมายใดกันแน่  แต่ในที่ประชุม ยังได้ยินคำพูดที่ทำให้คิดว่า  หน่วยงานรัฐยังคงมองสวัสดิการในเชิงสงเคราะห์อยู่มาก  จึงมีคนเสนอให้ตั้ง "สังคมสงเคราะห์จังหวัด" ขึ้นมา   (เพิ่มตัวเดินเข้ามาในกระดานหมากรุกอีกแล้ว  ทั้งๆที่ตอนนี้หน่วยงานในพื้นที่แน่นจนไม่รู้จะขยับก้าวกันอย่างไรแล้ว)

แต่หากจะให้ "สวัสดิการ"  นิยามโดยชุมชน  ชุมชนบางแห่งก็ยังเข้าใจสวัสดิการในความหมายแคบคือ  การช่วยเหลือกันโดย "การให้เงินสนับสนุน"  จากกองทุนที่ออมร่วมกัน   ทั้งๆที่ในทางปฏิบัติชุมชน "จัดสวัสดิการ" อยู่แล้ว ในรูปแบบของช่วยเหลือเกื้อกูลกันหลายๆด้านที่ไม่ใช่ตัวเงิน  

 

"สวัสดิการ" จึงเป็นศัพท์ที่สังคมไทยยังเข้าใจไม่ตรงกัน  ทั้งๆที่ต่อไปนี้ ทุกฝ่ายจะสามารถมีบทบาทร่วมกันภายใต้ พรบ.ส่งเสริมสวัสดิการสังคม

คงเป็นเพราะคำว่า "สวัสดิการ" มีปัญหาในการสื่อสาร (เพราะต่างฝ่ายต่างติดกรอบคิด) ล่าสุด  อาจารย์ไพบูลย์จึงได้ให้ศัพท์ใหม่คือ  "สวัสดิสุข" 

 

แต่ตัวเองคิดว่า "อยู่เย็นเป็นสุข"  นั่นแหละได้ใจความที่สุด (เหมาะกว่า อยู่ดีมีสุข) 

ใช้เวลามากกับการให้ความหมาย  ทั้งๆที่เรื่องสำคัญกว่า คือ ทำอย่างไร สังคมจึงจะ อยู่เย็นเป็นสุข  ได้อย่างแท้จริง ... ขั้นพื้นฐาน..ศาสนาและจารีตประเพณี ท่านบอกไว้อยู่แล้ว .. ทั้งการปฎิบัติต่อตนเองและต่อผู้อื่น   กติกาสังคมก็มีอยู่  ที่ต้องการจริงๆ  คือลงมือปฏิบัติ  ทำในสิ่งที่ต้องทำ  ไม่ทำในสิ่งที่ต้องไม่ทำ...

 

คำสำคัญ (Tags): #สวัสดิการ
หมายเลขบันทึก: 170779เขียนเมื่อ 14 มีนาคม 2008 01:09 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 17:33 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • ผมก็พบบ่อยครับ กับการที่คนทั่วไปมักใช้ นิยามเป็นเป้าหมาย แทนที่จะมองว่ามันเป็น เครื่องมือ ที่สร้างขึ้นมาใช้ทำงาน และปรับเปลี่ยนได้ให้มันสอดรับกับความ "อยู่ดีมีสุข"
  • พรุ่งนี้ ผมต้องไปเป็นพิธีกร ให้กับการฝึกอบรม "การท่องเที่ยวตามแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง " ด้วยความหวังดีของเจ้าภาพผู้จัด ก็เชิญ ททท. กับ "ปราชญ์ชาวบ้าน" ซึ่งก็มีนิยามของตัวเอง สุดโต่งไปคนละทาง
  • ตัวผมละไม่เท่าไร เพราะมี "ตระแกรงกรองนิยาม" อยู่ระดับหนึ่ง เป็นห่วงก็แต่ชาวบ้านละครับ ชาวบ้านเองก็อาจจะไม่ได้เชื่ออะไรง่ายๆก็จริงอยู่ แต่งานนี้คงหัวหมุนกันไม่มากก็น้อย ปากก็อาจจะพูดได้แต่  "แบ๊ะ แบ๊ะ "
  • การเข้าใจ/รู้เท่าทันกลไกและปฏิบัติการของ วาทกรรม ก็เป็นเรื่องสำคัญ ต่อการช่วยกันกำหนดนโยบายและแผนยุทธศาสตร์ แต่ในระดับปฏิบัติการหรือชาวบ้าน  ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ปัทมาวดีครับ ว่าต้องเน้น "ความรู้ที่กินได้" ในภาษาที่เข้าถึง รวมถึงองค์ประกอบอื่นๆ เช่น การกำหนดความสัมพันธ์ทางสังคมที่เอื้อต่อการนำแนวคิดไปใช้
  • แต่น่าจะได้คำนึงถึงมิติของความเสมอภาคในเรื่องต่างๆด้วยนะครับ ไม่ว่าจะเป็น เพศ ชาติพันธุ์ วัย ชนชั้น เป็นต้น
  • ขอบคุณที่ช่วยให้เข้าใจเรื่องนี้ชัดเจนขึ้นครับ

สวัสดีครับท่านอาจารย์

  • มาเจอคำนี้พอดีเลยครับ "ความพอเพียง"
  • ความพอเพียงกับเวลาของการเกษียณอายุราชการและการขอต่อ ไม่รู้ว่ามันเป็นไปด้วยกันได้หรือไม่นะครับ
  • ผมยังชอบแนวคิดของ อ.ประมวล อยู่นะครับ ผมเดาเอาว่า ท่านเดินตามหลัก อาศรม ๔ ของฮินดู และมองว่า อาศรม ๔ น่าจะเป็นตัวอะไรสักอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความรู้จักพอในแต่ละช่วงของชีวิต
  • คำว่า พอเพียง น่าจะเข้าใจกันได้ดี ถ้าเรียนในศาสตร์เดียวกัน..เห็นด้วยครับ
  • ขอบคุณครับ

หลายครั้งแล้วที่มี "ปราชญ์" ไม่ถูกใจกับศัพท์แสงที่คนอื่นใช้กันแล้วคิดว่าถ้าเปลี่ยนชื่อเรียกแล้วจะดีขึ้น (approach เดียวกับคุณเสนาะ เทียนทอง ยาม้า -> ยาบ้า

คิดว่าเปลี่ยนชื่อเรียกแล้วอะไรจะดีขึ้น ก็เลยไป "คิดค้น/ดัดแปลง" จนได้ชื่อใหม่ที่คนอ่านแล้วเข้าใจน้อยลง

สุขภาพ -> สุขภาวะ (ถึงวันนี้ก็คงรู้แล้วว่าช่วยอะไรได้แค่ไหน)

"สวัสดิการ" มีปัญหาในการสื่อสาร -> "สวัสดิสุข" (แทบจะมั่นใจได้ว่าวิธีนี้จะเพิ่ม "ปัญหาในการสื่อสาร" ให้มากขึ้นไปอีก)

เวลาเจอพวกนี้แล้วก็นึกถึง Sokal Affair และหนังสือของ Sokal โดยเฉพาะ "Fashionable Nonsenses"  

หรือเรื่องชื่อ พระเทพฯ ซุึ่งชอบมีคนไปรบกวนท่านตั้งชื่อ ท่านก็ช่วยตั้งชื่อ รพ.ประเภท "วัฒโนสถ"

ชาวจุฬาก็มีศศินทร์ O]O

แต่เรื่องชื่ออาจจะไม่เป็นปัญหาเท่า เพราะนานๆ ไปคนก็เริ่มรู้ (แต่ถ้าอยากมีชื่อที่ติดตลาดก้คงต้องทำใจหน่อย ตรงนี้ต้องยกให้คุณเสนาะว่าแกเก่งกว่าหลายคน)  

ขอบคุณคุณยอดดอยค่ะ

คิดว่า "นิยาม" มีประโยชน์สำหรับการวางกรอบคิดและการถกเถียงในเชิงวิชาการ  ที่ใช้มากคือนักกฎหมาย

แต่เมื่อถึงการใช้ประโยชน์ในทางปฏิบัติ  เป้าหมายและวิธีการอาจจะสำคัญกว่านิยาม

จะมีปัญหา ตรงพยายามทำภาคปฏิบัติให้เป็นวิชาการ หรือใช้วิชาการอธิบายภาคปฏิบัติ ...... ทำภาคปฏิบัติให้ถูกกฏหมาย หรือ ใช้กฎหมายมาตรวจสอบภาคปฏิบัติ..

คิดไปคิดมาก็เริ่มงงค่ะ ..

อาจารย์เอกคะ

คิดว่า "ความพอเพียง" เป็นเรื่องสัมพัทธ์  สัมพัทธ์กับเงื่อนไขของตนเอง และสัมพัทธกับบริบทภายนอก

เพราะฉะนั้น  ถึงจะเกษียณ แต่ถ้ายังแข็งแรง ทำประโยชน์ให้สังคมได้ดี จะต่ออายุราชการก็คงไม่เป็นไร ค่ะ 

สวัสดีค่ะคุณ grnjvo

  • คิดว่า "ภาษา"เป็นเพียงเครื่องมือในการสื่อสาร  แต่ไปๆมาๆ ภาษากลายเป็นเครื่องชี้ระดับการศึกษา ชนชั้น  ฯลฯ (เหมือน "เงิน" ที่เดิมเป็นเครื่องมือในการแลกเปลี่ยน  ต่อมาก็ถูกใช้เป็นตัวชี้ความมั่งคั่ง ฐานะทางสังคม)
  • ถ้าเป็นเรื่องใหม่ ก็ควรประดิษฐ์คำใหม่เพื่อการสื่อสาร  แต่ถ้าเป็นเรื่องเดิม ก็ไม่รู้จะคิดคำใหม่ให้งงเล่นทำไม  หรือจะเอาไว้ใช้เฉพาะกลุ่ม แวดวงของตน
  • ขอบคุณสำหรับการแลกเปลี่ยนมุมมองที่เป็นประโยชน์ค่ะ

สวัสดีครับอ.ปัทมาวดี

ความคิดของรัฐในเรื่องสวัสดิการบัญญัติอยู่ในกฏหมายส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมซึ่งเป็นวรรณกรรมที่มีตัวละครกว้างขวางและครอบคลุมมาก มีแผนยุทธศาสตร์5ปีชัดเจนจากการลงแรงของสังคมตามกฏหมายที่ตราไว้

ความหมายของสวัสดิการถูกนำเสนอในแผนพัฒนาฉบับที่10คือสัมคมที่อยู่เย็นเป็นสุขร่วมกัน เป็นเป้าหมายที่คมชัดสอดคล้องกับกฏหมายสวัสดิการสังคมแต่คนละภาษา มียุทธศาสตร์5ปีเพื่อการพัฒนาประเทศที่ชัดเจน

กติกาในการอยู่ร่วมกันของชนชาติไทยที่มีรัฐเป็นตัวตั้งถูกตราไว้ในรัฐธรรมนูญ2550ว่าจะต้องทำอะไรบ้าง? เป็นกรอบใหญ่ของประเทศที่ระบุเป็นลายลักษณ์อักษร

ทั้งสามเรื่องมีความเชื่อมโยงและเป็นหนึ่งเดียวกัน? กรอบใหญ่คือรัฐธรรมนูญ ซึ่งรัฐบาลใช้เป็นเครื่องมือในการเลือกปฏิบัติที่เรียกว่านโยบายแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่18ก.พ.2551  เพราะเป็นกรอบกว้างๆที่ให้เลือกปฏิบัติได้ง่ายที่สุด (แทนที่จะใช้เครื่องมือทั้งสามชุดมาซ้อนทับกันเพื่อให้นโยบายมีความชัดเจนสอดรับกันมากที่สุด)

เพราะกฏหมายไม่ได้รับการปฏิบัติ นโยบายจึงมีความสำคัญมากกว่า นโยบายจึงถมทับบนกองสุสานของกฏหมายดีๆจำนวนมากที่หากได้รับการปฏิบัติก็จะแก้ปัญหาได้โดยไม่ต้องใช้นโยบาย

นโยบายมาจากการเมือง และการเมืองมาจากประชาชน

จึงเป็นเกมของราชการ นักการเมือง และประชาชนที่ไม่มีการลำดับเรื่อง ใครใคร่ค้า ค้าช้างค้า ค้าม้าค้า ค้าวัวค้า 

ส่วนที่สองคือระบบราชการซึ่งเป็นกลไกในการขับเคลื่อนนโยบายกฏหมาย(ที่ไม่ผนึกกำลังกัน)ด้วยงบประมาณ1,660,000ล้านบาทในปี2551ที่ไม่มีเจ้าภาพ เพราะซ้อนทับกันและต่างคนต่างทำด้วยราชการระบบเมตทริก4มิติเชิงซ้อนที่ใช้กลไกคณะกรรมการซึ่งสิ้นเปลืองกระดาษ คนร่างและการประชุมที่ไร้สาระจำนวนมหาศาลในแต่ละปี

ทั้งหมดมาจากความรู้ความเข้าใจ และความตั้งใจปฏิบัติหน้าที่โดยขยันหมั่นเพียรและสุจริตของแต่ละภาคส่วน(คน) ซึ่งเชื่อมโยงกับโครงสร้างที่เสื่อมทรุดไม่สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลง(ระบบ)

 

 

สวัสดีค่ะอาจารย์ภีม

  • ให้ความหมายนโยบายว่าเป็นเครื่องมือในการ "เลือกปฏิบัติ" ก็เข้าท่าดีค่ะ ถ้าพูดให้ฟังดูดี ก็คงเป็นการ "จ้ดลำดับความสำคัญ" แต่นโยบายก็ต้องอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญ โดยมีกฎหมายเป็นเครื่องมือในการ "บังคับใช้" หรือรองรับการใช้อำนาจ หรือสิทธิอะไรบางอย่าง
  • ไม่ทำตามนโยบายคงไม่เป็นไร แค่ถือว่า "ไม่รักษาสัญญา" แต่ฝ่าฝืนกฎหมายจะมีความผิดที่เอาความได้ ทว่า กฎหมายก็มีช่องโหว่ที่เลี่ยงได้เหมือนกัน
  • แผนพัฒนายิ่งไม่มีผลบังคับใช้ใหญ่
  • คนไทยเริ่มรู้จักให้ความสำคัญต่อ "นโยบาย" ในสมัยคุณทักษิณ นโยบายโฆษณาได้ เข้าถึงได้ง่าย แต่กฎหมายยังเป็นเรื่องเข้าใจยากสำหรับคนทั่วไป คนจึงสนใจนโยบายโดยอาจมองข้ามเรื่องกฎหมาย
  • งบประมาณ 1.6 ล้านล้านบาทนั้น มีเจ้าภาพคือมีหน่วยงานเจ้าของเงินแน่ค่ะ แต่จะซ้อนทับกันแค่ไหนก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง
  • โครงสร้างหลักภายใต้กระทรวงต่างๆนั้นคงไม่ซ้อนทับกันเท่าไหร่ แต่ไม่ประสานกันมากกว่า วิธีแก้ปัญหาโดยการสร้างกรรมการใหม่ขึ้นมาซ้อนบนโครงสร้างเดิม นอกจากจะยังประสานกันไม่ได้อยู่เหมือนเดิมแล้ว แต่กลับเพิ่มปัญหาความซ้ำซ้อน..
  • พรบ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคมมีนัยสำคัญในการเปิดช่องให้ประชาชนมีส่วนร่วม แต่หน้าที่พื้นฐานที่รัฐพึงปฏิบัตินั้นยังเป็นหลักสำคัญของการสร้างสังคมอยู่เย็นเป็นสุข ควบคู่กับการกำกับโดยระบบคุณธรรมในบุคคลทุกคน
  • เป็นความเห็นของ "ผู้สังเกตุการณ์" วงนอกค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

เรียนอาจารย์ภีม (ต่อ)

เนื่องจากตัวเองตีความว่า นัยสำคัญของ พรบ.ส่งเสริมการจัดสวัสดิการสังคม คือ การเปิดช่องทางการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โจทย์ที่ว่า กลไกรัฐเดิมซ้อนทับกันอย่างไรมีประสิทธิภาพหรือไม่ คงไม่ใช่โจทย์หลัก โจทย์หลักน่าจะอยู่ที่ว่า ภาคประชาชนจะเข้าไปมี่ส่วนร่วมได้อย่างไร ข้อเสนอแนะเรื่องการปรับกลไกรัฐจึงควรมีหลักอยู่ที่เพื่อให้การปรับกลไกภาครัฐสอดคล้องกับการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน มากกว่า (เราจึงควรมองการซ้ำซ้อนของหน่วยงานภาครัฐในกรณีที่เป็นปัญหาต่อการเข้ามามีส่วนร่วมของภาคประชาชน)

คิดว่าอีกโจทย์ที่ต้องตีให้แตกคือ พรบ.เปิดพื้นทีให้ภาคประชาชนในระดับใด และภาคประชาชนจะทำได้ในระดับใด แค่ระดับ "ร่วมมือ" หรือ สามารถไปถึงระดับ "ตัดสินใจในเชิงนโยบายและทิศทาง" ของการจัดสวัสดิการในพื้นที่ได้

โดยโครงสร้างในพรบ. คณะกรรมการสวัสดิการสังคมชาติมีผู้แทนองค์กรสาธารณะประโยชน์ ผู้แทนองค์กรสวัสดิการชุมชน และผู้ทรงคุณวุฒิร่วมเป็นคณะกรรมการกับภาครัฐที่เกียวข้องกับสวัสดิการสังคมใน7มิติทุกหน่วยงาน มีการจัดทำแผนสวัสดิการชาติ เสนอครม.รับรองให้แต่ละหน่วยงานนำไปแปลงยุทธศาสตร์สู่กลยุทธิ์และแผนปฏิบัติการ ถือว่าภาคประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดทำแผน(ในฐานะคณะกรรมการ)ส่วนการนำไปปฏิบัติของแต่ละหน่วยงานก็มีกลไกการมีส่วนร่วมยุบยับไปหมด เช่น คณะกรรมการกองทุนสุขภาพท้องถิ่น คณธกรรมการกองทุนสวัสดิการสังคม การศึกษาก็มีคณะกรรมการเขตพื้นที่ คณะกรรมการสถานศึกษา สภามหาวิทยาลัย เป็นต้น อาชีพก็มีคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร เป็นต้น แต่มีปัญหาเชิงระบบทั้งความรับผิดชอบของหน่วยงานและคณะกรรมการ รวมทั้งคนทำงาน เป็นความอ่อนแอของรัฐไทยและภาคสังคมซึ่งสะท้อนออกมาทางภาคการเมือง

ส่วนที่พอจะเข้มแข็งอยู่บ้าง(เท่าที่ฟังเขาว่ากัน)คือภาคธุรกิจเอกชน เมื่อสภาพเป็นเช่นนี้ สังคมก็ถูกขับเคลื่อนโดยพลังของธุรกิจเอกชน และโดยที่ธุรกิจเอกชนในปัจจุบันมีความเชื่อมโยงเป็นโครงข่ายข้ามชาติ ซึ่งต้องการกำไรดึงกลับฐานทุนของตนเอง จึงเหลือไว้เพียงร่องรอยของความเจริญในอดีตที่ทุนเหล่านี้บุกเข้าไปทั้งทรัพยากรธรรมชาติและวิถีชีวิตของผู้คน เป็นการล่าอาณานิคมยุคใหม่ที่ไม่ต้องส่งใครมาคุมพื้นที่

ในเชิงโครงสร้างหลักควรเพิ่มอำนาจให้กับท้องถิ่นร่วมกับชุมชนมากขึ้น แต่อำนาจที่รวมกันอยู่ในกรมใครจะยอม

กลไกในการเข้าสู่อำนาจและกระบวนการมีส่วนร่วมตลอดทางขององค์กรชุมชนในการดำเนินภารกิจของรัฐท้องถิ่นคือทิศทางของสังคมไทยที่จะอยู่รอดต่อไป

ในกระแสการพัฒนา คิดที่จะทำภาครัฐให้เล็กลง แต่ประเทศไทยทำไปทำมา รัฐใหญ่ขึ้นอีกและไม่ได้ปล่อยวาง (กระจายอำนาจและลดการควบคุม)จริง เรื่องสวัสดิการก็เหมือนกัน ทำไปทำมา รู้สึกว่าขบวนจะเทอะทะมากขึ้นหรือเปล่า

มีอะไรหลายอย่างที่ตัวเองไม่เข้าใจหลักการและวิธีคิดในการทำงานโดยเฉพาะการตั้งกรรมการขึ้นมาหลายๆชุด ซ้อนกันไปซ้อนกันมา เป็นการพัฒนาแบบซ่อมถนนที่โปะลงไปใหม่เรื่อยๆหรือเปล่า แต่แก้ปัญหาไม่ได้จริงเพราะปัญหาอยู่ที่รากฐานบางอย่างไม่ดีพอ และไม่ได้ไปแก้ตรงนั้น

การบูรณาการระดับกรม หรือหน่วยงานนั้นยาก ให้การบูรณาการอยู่ที่ระดับชาวบ้าน (ระดับตำบล) กรมเป็นแค่ที่ปรึกษา เวลาองค์กรชาวบ้านต้องการก็พอแล้ว ไม่อย่างนั้น กรมก็จะทำตัวเป็นผู้กำกับดูแลอีก ประเด็นหนึ่งที่เศรษฐศาสตร์สนใจคือ "ขนาดที่เหมาะสม" ของการจัดการ ระดับจังหวัดอาจจะทำให้กองทุนใหญ่ขึ้น แต่ความอุ้ยอ้ายในการบริหารจัดการก็อาจจะเพิ่มขึ้นมากเกินไป ถึงที่สุดอาจต้องเปลี่ยนดีไซน์เป็นแค่ระดับตำบล ส่วนระดับจังหวัด (ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม) เป็นแค่บอร์ดที่ปรึกษา หรือบอร์ดนโยบาย (กำหนดทิศทาง) ไม่ใช่บอร์ดบริหาร อะไรทำนองนั้น..

ลองศึกษาดู พรบ.ดีๆ บางทีทีมวิจัยของอาจารย์ภีมอาจมีข้อเสนอแนะที่ขอปรับ พรบ เลยก็เป็นได้ (ไหมคะ?)

อ่านที่อาจารย์ภีมเขียนถึงคณะกรรมการสวัสดิการสังคมชาติ ก็ดูจะ top-down อย่างไรอยู่ แม้จะมี "ต้วแทน" ทุกส่วนเข้ามา.. มีแผนหลายเรื่อง หน่วยปฎิบัติก็จะจัดลำดับความสำคัญไม่ถูก เพราะต้องทำทุกแผนใช่ไหม.. แล้วยังต้องตอบสนองนโยบายซึ่งอาจต่างจากแผนอีก ตอนทำ Roadmap เศรษฐกิจพอเพียง ก็ยังมีคำถามนี้อยู่ในใจ

ขอบคุณค่ะ

ตอบบันทึกเรื่องที่อาจารย์ภีมเล่าถึงการลงพื้นที่ลำปาง และยกตัวอย่างเรื่องสาธารณสุขนะคะ

ยังน่าจะลองดูว่า แค่สาธารณสุขเรื่องเดียว (ตัวอย่าง) มีหน่วยงานและเงินอะไรลงมาบ้าง ทั้งกองทุน ทั้งงบผ่านกระทรวง และหน่วยปฏิบัติอยู่ตรงไหน การตัดสินใจอยู่ตรงไหน และดูว่าคอขวดอยู่ตรงไหน ก็คล้ายๆที่อาจารย์ภีมเล่าเร็วๆโดยการเขียนบล็อก แต่คราวนี้เขียนเป็นเรื่องเป็นราวเป็นระบบ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท