AAR การประชุมประจำปี ครั้งที่ 2 โครงการ R2R ศิริราช


         ใครอยากรู้จักโครงการ R2R ดูได้จาก www.si.mahidol.ac.th/r2r  


เป้าหมายของผมในการเข้าร่วมการประชุม  เมื่อวันที่ 24 ก.พ.49
1. เพื่อเรียนรู้พัฒนาการใหม่ ๆ ด้านการพัฒนาคุณภาพบริการผู้ป่วย
2. เพื่อหาทางให้คำแนะนำทีมบริหารงาน R2R ว่าควรวางยุทธศาสตร์การดำเนินการอย่างไรบ้าง
3. เพื่อประเมินความสำเร็จของโครงการ R2R


สิ่งที่ได้รับเกินความคาดหมาย
1. ได้มีโอกาสแนะนำเครื่องมือ AAR ให้ท่านคณบดีศิริราช  รศ. นพ. ปิยะสกล  สกลสัตยาทร   และทีมจัดการประชุมได้ทดลองใช้งานตอนเสร็จจากการประชุม   และเชื่อว่าคงจะได้นำไปใช้งานประจำต่อไป
2. ได้เห็นนวัตกรรมในการขับเคลื่อน R2R ที่ทีมบริหรใหม่นำโดย อ. นพ. อัครินทร์  นิมมานนิตย์,  อ. นพ. เชิดชัย  นพมณีจำรัสเลิศ และ อ. นพ. กุลธร  เทพมงคล   โดยการสร้าง platform ในการทำงานขึ้นมา 3 พื้นที่  คือ  UM (Utilization Management),  QoL (Quality of Life) และ CPG (Clinical Practice Guideline)   นี่คือยุทธศาสตร์การสร้างพื้นที่สำหรับการ ลปรร. ร่วมกันของคนศิริราชและนอกศิริราชที่น่าชื่นชมมาก   และเป็นเรื่องที่ "โดนใจ" ทั้งผู้บริหาร  ผู้ให้บริการ  และผู้รับบริการ   ดูจากความเห็นและสีหน้าแววตาของท่านคณบดีปิยะสกลแล้ว   ผมเดาว่าท่านชอบยุทธศาสตร์นี้มาก

         แค่ได้ 2 ข้อข้างบน  ผมก็เกิดปิติสุขและกลับมาบ้านนอนหลับสบายแล้ว   แต่ผมยังได้กำไรเอ็นดอร์ฟินเพิ่มอีก


3. ได้ฟังปาฐกถาพิเศษเรื่อง "เรียนรู้และเติบโตจากการทำงาน" โดย ศ. นพ. ประเวศ  วะสี   อ. หมอประเวศกล่าวว่าไม่ทราบใครเป็นคนตั้งชื่อเรื่อง   น่าจะให้มาเป็นคนกล่าวปาฐกถา   มีคนชี้มาที่ผม   ที่จริงหัวข้อคือ 1 ใน 4 ของ BSC (Balanced Scorecard) คือ Learning and Growth   เป็นข้อเตือนใจว่าในการบริหารจัดการองค์กรหรือเป้าหมายขององค์กร   ต้องมีเรื่องการเรียนรู้และเติบโตของพนักงาน   เป็นเป้าหมายหลักอย่างหนึ่งเสมอ   แต่นั่นคือหลักการ   การตีความหลักการสู่ภาคปฎิบัติเป็นเรื่องสำคัญไม่น้อยกว่าตัวหลักการเอง   และการตีความควรมีหลายชุดหลายมุมมอง   ผู้ที่จะเสนอมุมมองในภาพใหญ่  ลุ่มลึกและประณีตอย่างถึงขนาดคงจะมีไม่มากคนนักในบ้านเมืองของเราและหนึ่งในคนเหล่านั้นคือ อ. หมอประเวศ   คนที่ได้ฟังปาฐกถาพิศษในวันนั้นถือได้ว่าเป็นมงคลชีวิต
4. ได้เห็นความสนใจ  ความกระตือรือร้นของชาวศิริราชต่อ R2R มากกว่าที่ผมคิดไว้   จนห้อง QoL และ CPG มีคนแน่นจนล้น   ถือเป็นนิมิตดีสำหรับทีม R2R จะขับเคลื่อนกิจกรรมอันทรงคุณค่านี้ต่อไปด้วยพลังคนหนุ่มสาว


สิ่งที่ได้รับน้อยว่าที่คาดหมาย
1. ไม่ได้ดู VCD นำเสนอความรู้สึกของทีมดูแลผู้ป่วยที่ดำเนินการโครงการ R2R ได้ผลสำเร็จ   เพราะคณะกรรมการจริยธรรมในการวิจัยของศิริราชไม่อนุมัติให้เผยแพร่   ซึ่งเราต้องเคารพมตินี้ของ EC   แต่ผมได้ดู VCD 13 นาทีที่เป็นส่วนหนึ่งของต้นฉบับแล้ว   ถ้าเป็นผม  ผมอนุมัติ   ก็ถือเป็นการมองต่างมุมนะครับ   ผมมองว่าถ้าได้ฉายจะทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมที่ไม่คุ้นเคยกับ R2R ได้เห็นพลังของ R2R ต่อความสุขความภาคภูมิใจของผู้ให้บริการ   และไม่คิดว่าเป็นการละเมิดสิทธิของผู้ป่วย
2. ข้อนี้คงจะเป็นอคติของผมเอง   ที่เดี๋ยวนี้ชอบการประชุมแบบ ลปรร. แบบอิสระ   มากกว่าการประชุมแบบ "ผู้รู้" มาบรรยายหรืออภิปราย   ผมจึงรู้สึกว่าการประชุมครั้งนี้ยังใช้ยุทธศาสตร์ "มีของดีมาแลกเปลี่ยน" (sharing success stories) น้อยไป   ที่ควรค้นหามาเดินเรื่อง R2R    ซึ่งการประชุมครั้งนี้ยังไใช้ "ทรัพย์ในดิน" ของศิริราชน้อยไป   หรือทีมจัดประชุมยังคำนึงถึงประเด็นนี้น้อยไป


ข้อเสนอให้ปรับปรุง
1. ตั้ง CoP ขึ้นมา 3 CoP   คือ UM Innovation,  QoL Innovation และ CPG Innovation   หาทางทำ Mapping micro-success ในเรื่องดังกล่าวที่มีอยู่แล้ว   เอามาเผยแพร่และจัดกิจกรรม ลปรร. ทั้งแบบ B2B และ F2F   จุดสำคัญคือ ลปรร. กันว่าความสำเร็จเล็ก ๆ เหล่านั้นเกิดขึ้นได้อย่างไร   ใครบ้างเป็นตัวละคร   ตัวละครแต่ละคนคิดอย่างไร  เชื่ออะไร  ทำอย่างไร  จึงเกิดผลสำเร็จขึ้น   ถ้าจัดเวที ลปรร. เล็ก ๆ ขึ้นโดยส่งเสริมให้เขาจัดกันเอง (ทีม R2R ทำเองให้น้อยที่สุด) จัดย่อย ๆ  จัดเล็ก ๆ แต่มีคุณภาพ   ประณีต   มีการจดบันทึกเอาใช้งานต่อ   จะได้ผลครบทั้ง 5 องค์ประกอบของ LO
2. Capture วิธีการเลิศ (Best Practice) ด้าน UM, QoL และ CPG ของที่อื่นในประเทศไทย   เอามาทำ "เพื่อนช่วยเพื่อน - Peer Assist - ดูในหนังสือ "การจัดการความรู้ ฉบับนักปฏิบัติ" หน้า 157-162


สิ่งที่ผมจะดำเนินการต่อ
1. เอามาคิดต่อว่าจะให้คำแนะนำทีมงานจัดการ R2R ในภาคปฏิบัติอย่างไรบ้าง
2. เอามาคิดต่อว่า สคส. จะมีทางขับเคลื่อน CoP เหล่านี้ในระดับประเทศอย่างไรบ้าง

วิจารณ์  พานิช
 25 ก.พ.49

หมายเลขบันทึก: 17076เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2006 10:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 07:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมเอา VCD นี้ให้ ศ. นพ. ธาดา ยิบอินซอย ดูเมื่อวันที่ ๒๕ กพ. ๔๙   เพื่อขอความเห็นว่าถ้าเอาไปให้คนทั่วไปดู   จะผิดจริยธรรมเรื่องละเมิดผู้ป่วยหรือไม่    ศ. ธาดา บอกว่าไม่

วิจารณ์ พานิช

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท