beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

EDUCATION FOR ALL or EDUCATION FOR WHO


ผมเห็นว่าปรัชญาการศึกษา "Education for All" ยังไม่เคยทำได้ และจะทำไม่ได้เลยในยุคปัจจุบัน

   จั่วหัวเป็นภาษาอังกฤษ แต่ต้องเขียนภาษาไทยเพราะว่า "ภาษาอังกฤษไม่ค่อยแข็งแรง" เหมือนกัน วันนี้ผมลองเปิดประเด็นเพื่อลปรร.กันครับ

   คือหลายปีก่อน สมัยผมเรียนหนังสือ (ย้อนหลังไปสัก 20-30 ปี) ผมเห็นปรัชญาการศึกษาบอกว่า "Education for All" หมายความว่า "การศึกษาเป็นของทุกๆ คน" ถ้าแปลให้ดีหน่อยก็จะบอกว่า "คนเราทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันทางการศึกษา"

   เวลาผ่านมานานมากแล้ว ผมเห็นว่าปรัชญาการศึกษา "Education for All" ยังไม่เคยทำได้ และจะทำไม่ได้เลยในยุคปัจจุบัน เพราะอะไรหรือครับลองมาดูเหตุผลกัน

   สมัยก่อนโรงเรียนดังๆ ในกรุงเทพ ที่เป็นของโรงเรียนรัฐบาล เช่น สวนกุหลาบวิทยาลัย, เตรียมอุดมศึกษา และสตรีวิทยา ที่ยังใช้ระบบการสอบเข้า คนที่เข้าเรียนได้มักเป็นผู้มีอันจะกินหรือผู้ที่มีโอกาสทางการศึกษาดีกว่า เพราะว่าการเข้าโรงเรียนดังๆได้ ส่วนใหญ่ต้องกวดวิชาจึงจะเข้าได้ ลูกคนจนๆ จึงไม่ค่อยมีสิทธิที่จะเรียนได้ (เข้าได้เหมือนกันเพราะความสามารถ)

   ผมก็เป็นลูกคนจนคนหนึ่ง สอบเข้าเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นได้ แต่เป็นการสอบรอบสอง ก่อนสอบก็ต้องไปเข้าโรงเรียนกวดวิชา เสียไป 600 บาท สมัยนั้นก็มากอยู่เหมือนกัน แล้วก็สอบได้โรงเรียนวัด เพื่อนๆ ที่จนๆ ก็มีหลายคน แต่ส่วนมากจะมีสตางค์

   ชาวบ้านต่างจังหวัด ในชนบทไกลๆ ที่มีลูกเรียนอยู่ชั้นประถมศึกษา ส่วนใหญ่เป็นคนจนและได้เรียนฟรีที่โรงเรียน แต่ไม่ค่อยมีครูสอนหรือครูไม่ได้สอน ปล่อยให้นักเรียนเล่นกัน คุณครูมาสาย,ไม่มา,อาจจะเมาหรือครูไม่พอสอน โรงเรียนต่างจังหวัดมักเป็นแบบนี้ ผมเคยถามชาวบ้านว่า ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษา ที่เป็นปัญหาสำหรับครอบครัวคืออะไร ส่วนมากจะได้รับคำตอบว่า "เป็นค่าสนับสนุนการศึกษา" ได้แก่ ค่าเสื้อผ้า, ค่าอาหาร,ค่าเดินทาง, ค่าใช้จ่ายส่วนตัว, ค่าเสียโอกาสที่ลูกๆ ไม่ได้ช่วยพ่อแม่หาสตางค์ ขณะนั้นบังคับให้เรียนในระบบโรงเรียนเพียง 6 ปี

   ช่วงที่รัฐบาลยังไม่ประกาศนโยบายเรียนฟรี 12 ปี นักเรียนชั้นประถมศึกษาส่วนใหญ่ที่เรียนโรงเรียนรัฐบาลก็ได้เรียนฟรี แต่โรงเรียนดังๆ ก็อาจเสียเงินบ้าง และลูกข้าราชการก็สามารถเบิกได้ เพราะเขาเก็บค่าเล่าเรียนหรือค่าธรรมเนียมเล็กน้อย ส่วนโรงเรียนมัธยมก็อาจจะเสียมากหน่อย แต่ก็ยังดีที่มีเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษาสำหรับลูกคนจนๆ ซึ่งต่อเนื่องไปถึงระดับอุดมศึกษา แถมลูกข้าราชการที่เรียนโรงเรียนเอกชนก็เบิกได้ประมาณครึ่งหนึ่ง

   พอรัฐบาลประกาศพรบ.ทางการศึกษาให้เรียนฟรี 12 ปี ตั้งแต่ชั้นประถมต้นถึงมัธยมปลาย เกิดอะไรขึ้นบ้าง โรงเรียนไม่เก็บค่าเล่าเรียนหรือค่าธรรมเนียมครับ แต่เก็บค่าใช้จ่ายอื่น เช่น ค่าเรียนคอมพิวเตอร์ คุณไม่จ่ายก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องเรียน ถามว่า พ่อแม่คนไหนจะไม่จ่ายบ้าง ร้อยละ 90 กว่าก็ต้องจ่าย (สำหรับคนในเมือง) ส่วนคนต่างจังหวัดไกลๆ คงไม่มีคอมพิวเตอร์ หรือถ้ามีก็ไม่มีครูสอน การจัดการศึกษาก็ไม่เท่าเทียมกันในชนบทไกลๆ กับในเมือง

   โรงเรียนใหญ่ๆ ในเมืองมีการจัดการศึกษา แบบพิเศษ เอาใจคนมีสตางค์ เช่น มีเรียน Course ภาษาอังกฤษ รับ 1 ห้อง ให้ผู้ปกครองจ่ายสำหรับลูกคนละ 2-5 หมื่นบาทแล้วแต่ละระดับ เพื่อจ้างครูต่างประเทศมาสอน ถามว่าดีไหม ดีครับ แต่ก็เป็นการเลือกปฏิบัติสำหรับคนมีสตางค์หรือเปล่า

    นักเรียนมัธยมต้นต้องจ่ายค่าใช้จ่ายอื่น คนละ 1,200-1,800 บาท (ข้อมูลจากโรงเรียนรัฐบาลในเมืองพิษณุโลก) เบิกไม่ได้ทั้งราชการและเอกชน แต่ถ้าไปเรียนโรงเรียนเอกชนที่เก็บไม่แพงนัก เขาเก็บประมาณ 4-5 พันบาท แต่ถ้าเป็นข้าราชการก็เบิกได้เกือบครึ่งหนึ่ง

   พอโรงเรียนรัฐบาลเก็บค่าใช้จ่ายอื่นไปแล้ว ก็จะเชิญผู้ปกครองไปพบแล้วบอกว่า "รัฐบาลให้เงินสนับสนุนโรงเรียนมาน้อยไม่พอจัดการศึกษาให้ดีมีมาตรฐาน ขอให้ผู้ปกครองช่วยบริจาคหน่อย เขียนตัวเลขมาว่าจะบริจาคเท่าไร แต่เราไม่มีใบเสร็จให้นะ" อะไรทำนองนี้

   ถามว่าถ้าผมเป็นผอ.โรงเรียนผมจะทำแบบนี้ไหม คำตอบก็คือ อาจจะทำครับ เพราะว่าต้องการจัดให้โรงเรียนมีมาตรฐานดีๆ ปีหน้านักเรียนจะได้มาเข้าเรียนมากๆ เราก็ได้เลือกคนเก่งๆ โรงเรียนของเราก็จะได้มีชื่อเสียง แต่เราเขียนกฎหมายกันอย่างหนึ่ง ขณะที่เราปฏิบัติกันอีกอย่างหนึ่ง ทำไมไม่ทำให้ตรงไปตรงมา เรากำลังหลอกใครกันครับ.....

   พอรัฐบาลประกาศพรบ.การศึกษาให้เรียนฟรี 12 ปี (ชื่อว่าเรียนฟรีแต่ไม่เคยได้เรียนฟรีจริง หรือถ้าจะมีแบบเรียนฟรีจริง แต่ค่าใช้จ่ายที่สุงมากคือค่าสนับสนุนการศึกษา) ก็ปล่อยลอยตัวค่าใช้จ่ายในการศึกษาระดับอุดมศึกษา คือ ให้สถานศึกษาพิจารณาเก็บค่าใช้จ่ายในการศึกษา ในระดับที่คุ้มทุน

   ลองยกตัวอย่างพวกเรียนมหาวิทยาลัยของรัฐ (ป.ตรี) บางมหาวิทยาลัยนะครับ ค่าใช้จ่ายในการศึกษาเหมาจ่าย เทอมละ 12,000 -15,000 บาท, ค่าใช้จ่ายส่วนตัว 5,000 บาท/ เดือน (ค่าเดินทาง,ค่าอาหาร,ค่าเอกสาร) ค่าหอพัก 800-1,200 บาท รวมแล้วเดือนหนึ่งแต่ละคนเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 10,000 บาท ขณะที่เงินเดือนป.ตรีขั้นต่ำประมาณ 7,000 บาท/เดือน เป็นอย่างนี้ลูกตาสีตาสาที่ไหนจะเรียนได้ ผมเลยใช้คำว่า "Education for Who" ครับ

   มีบางคนอาจจะเถียงว่า ถ้าไม่มีเงินเรียน รัฐบาลเขาก็ให้กู้ยืมเงินได้ (กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา) ก่อนหน้านั้นผมไม่เถียง แต่ว่าเริ่มตั้งแต่ปีการศึกษา 2549 เป็นต้นไปเขาให้ไปใช้เงินกู้ยืมแบบ กรอ.หรือ ICL (โปรดอ่าน กองทุนเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษาที่ผูกกับรายได้ในอนาคต) ซึ่งให้กู้เฉพาะ ค่าใช้จ่ายในการศึกษา (ตัวอย่างข้างต้นก็คนละ 12,000-15,000 บาท ต่อเทอม หรือ 3,000-4,000 บาทต่อเดือน) แต่ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เฉลี่ยอีกเดือนละ 6,000-7,000 บาทต่อเดือนจะเอามาจากไหน? นี่คือการเรียนในระบบครับ (ยังไม่พูดถึงคุณภาพนะครับ)

   คนที่มีสตางค์หรือคนที่พอจะกู้หนี้ยืมสินเขาได้จึงจะได้เข้าเรียน ก็คือ "Education for Who" ลูกตาสีตาสา เรียนอุดมศึกษาไม่ได้แล้ว ประเทศของเราก็จะไม่มีลูกชาวนา ขึ้นมาเป็นผู้นำของประเทศอีกแล้ว (มีแต่ลูกของชาวนาซึ่งเลิกทำนา)

   ผมเปิดประเด็นฝากให้ช่วยกันคิด, ช่วยกันลปรร. แค่นี้ก่อนครับ.....

 

หมายเลขบันทึก: 17025เขียนเมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2006 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 15:56 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
วันนี้อาจารย์ร่ายซะยาวเลยนะครับ แต่ก็นับว่าเป็นการสะท้อนความจริงที่น่าคิด "Education for All"  กับ "Education for Who" เป็นความจริงว่าประเทศเรายังมีค่านิยมกับปริญญาอยู่ ปริญญาคือใบเบิกทางสำหรับการทำงานที่ไม่ต้องใช้แรงงานมากนัก ทำงานที่ใช้สมองหรือใช้ความรู้ ผมอ่านข่าวนักเรียนที่ผูกคอตายเพราะสอบติดมหาวิทยาลัยราชภัฏ แล้วครอบครัวไม่ให้เรียนเพราะคิดว่าคงไม่มีเงินส่งเรียนจนจบ ผมว่าเด็กและผู้ปกครองคงทราบว่าสามารถกู้เรียนได้ แต่รายได้อีกบางส่วนทีไม่สามารถกู้ได้ ตรงนี้ต่างหากที่จะเกิดขึ้น และเมื่อมาเรียนแล้วค่าใช้จ่ายๆ ต่างๆก็ไม่ใช่แค่นี้ยังมีค่ารับน้อง ค่าเสื้อ ค่าโทรศัพท์ อีกมากมาย คนที่ไม่มีนี่เค้าไม่มีจริงๆนะครับ นอกจากจนเงิน แล้วยังจนทางออกอีกด้วย เค้าไม่มีสินทรัพย์ที่จะไปแปลงเป็นเงิน การที่จะทำการศึกษาเพื่อคนทั่วไปที่มีสิทธิจะเข้าถึงคงเป็นแต่เพียง realistic มั้งครับ เดี๋ยวนี้ค่าเล่าเรียนมีแต่แพงกับแพง แถมเรียนจบก็ยังมีหนี้อีกบานตะไท ตามที่ฝรั่งเคยว่าไว้ว่าชีวิตเริ่มต้นเมื่ออายุ 40 ผมว่าคงต้องร่นไปอีก 10 ปีครับ เพราะต้องใช้หนี้เก่าให้หมดก่อน
   อ.หนึ่งสะท้อนภาพการศึกษาอุดมศึกษาได้ตรงใจผมเลยครับ ขอบคุณที่ได้ลปรร.กัน
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท