เสียงกระซิบจากครู(ไม่ใหญ่) ตอนที่ 4 : บทเรียนของชีวิต


เรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา

 ตอนที่ 1 : โรงเรียนอยู่ไหน..? 

 ตอนที่ 2 : ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง

          เขียนบันทึกเกี่ยวกับประสบการณ์ในการทำงานเป็นครูอาสาสมัครนี้ไว้นานแล้ว แยกเป็นตอนๆ บันทึกนี้เป็นตอนสุดท้าย เป็นตอนที่จะสรุปว่าในช่วงเวลาเกือบ 4 ปี นั้นได้เรียนรู้หรือบทเรียนอะไรบ้างเกี่ยวกับการทำงานที่อยู่ในแวดวงของการศึกษาและการพัฒนา 

 

          ประสบการณ์ในช่วงเวลาสั้นๆ นั้นเป็นประโยชน์แก่ตัวผมเองเป็นอย่างมาก  ที่ได้เรียนรู้กระบวนการทำงานกับ"คน" ซึ่งเป็นงานที่ไม่ง่ายอย่างที่เราคิด    บางประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้และน่าจะเกิดประโยชน์แก่ผู้ที่แวะเวียนมา ลปรร. ในบันทึกนี้ อาทิ

  • การทำงานร่วมกับคนอื่นนั้น  ต้องสร้างบรรยากาศในการทำงานให้เหมือนกับการเป็นเพื่อนร่วมงานกัน  ช่วยเหลือเกื้อกูลและเห็นอกเห็นใจกัน  มากกว่าที่จะทำงานกันในแบบของเจ้านายกับลูกน้อง   และที่สำคัญต้องมีการพบปะพูดคุย-หารือเกี่ยวกับการทำงานร่วมกันให้บ่อยๆ  เพราะหากคนเราคุยกัน  เรื่องที่ยากๆ  ก็จะกลายเป็นเรื่องง่าย


ทุกคนคือเพื่อนร่วมงาน...แม้เราจะอยู่กันคนละม่อนเขา แต่ทุกเดือนเราจะไปรวมกันที่ศูนย์ใดศูนย์หนึ่ง เพื่อพบพูดคุย หารือ  ช่วยกันทำงานและเรียนรู้ซึ่งกันและกัน

 

 

  • คนที่ทำหน้าที่เอื้อหนุน(ผู้นำ-ผู้บริหาร) ก็จะต้องเข้าถึง  เมตตาคนทำงานให้มากๆ (ไม่สั่งอย่างเดียว)  ในช่วงที่ผมทำงานอยู่นั้น  ผมมีความประทับใจในตัวท่านศึกษาธิการอำเภอเป็นอย่างมาก (กศน.ฝากให้ ศธอ.ดูแล) ท่านชื่อจำลอง  กิติศรี  ปัจจุบันท่านคือ ผอ.สำนักพระพุทธศาสนาจังหวัดเชียงใหม่  ทุกวันนี้ผมก็ยังระลึกถึงท่านเสมอแม้ว่าเวลาจะผ่านมาแล้วร่วม 20 ปี   ในขณะที่ทำงานอยู่นั้น ท่านจะสอนวิธีการทำงานทุกๆ เรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเขียนหนังสือราชการ  การโต้ตอบหนังสือ  เทคนิคการทำงาน  ฯลฯ  และหากมีงานในพื้นที่ท่านก็จะลงไปคลุกคลีกับพวกเราโดยไม่ได้คิดแยกส่วนว่าเราจะอยู่คนละกรม-กอง


ถึงไหนถึงกัน....ศึกษาธิการอำเภอจำลอง  กิติศรี ขึ้นเขาไปร่วมงานวันเด็กกับพวกเรา (ทางลำบากมาก)


ไปไหนไปกัน...ลุย สุดถนนทางรถก็ต่อด้วยทางเดินเท้า เพื่อไปเยี่ยมเยียนและให้กำลังใจคนทำงานในพื้นที่


แม้จะอยู่ห่างไกล ระยะทางประมาณ 70 กม.(ทางภูเขา) คุณเอื้อก็ทั้งซิ่งทั้งเดิน(ปีน) ไปให้กำลังใจกันถึงที่


 

            นอกจากบทสรุปที่บันทึกมาข้างต้นแล้ว  ผมยังได้บทเรียนในการทำงาน   อาจจะเหมือนกับหลักการทำงานทั่วๆ ไป  แต่ผมสรุปมาจากบทเรียน ของตนเองที่ได้เรียนรู้ และคิดว่าใช้ได้จนถึงปัจจุบัน คือ       

  • ต้องมีความอดทนครับ (คาถาคือ อดทน-ทนอด)
  • เรียนรู้และพัฒนาตนเองอยู่ตลอดเวลา
  • รู้จักการปรับตัวเองให้สามารถอยู่ได้  มีความยืดหยุ่นกับทุกสถานการณ์ เพื่อที่จะสามารถอยู่ร่วมกับสังคมรอบข้างได้
  • ต้องมีความพร้อมทั้งร่างกาย และจิตใจครับ ถึงจะยืนระยะจนทะลุสู่เป้าหมายของเราได้
  • รักในเพื่อนมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าเขาเหล่านั้นจะเป็นใคร  อาชีพอะไร ยากดีมีจนอย่างไร เขาคือเพื่อนร่วมโลกของเราครับ
  • ต้องมองโลกในแง่ดี และคิดอย่างสร้างสรรค์ มองปัญหาเป็นเรื่องที่ท้าทายความสามารถ
  • ต้องไม่เห็นแก่ตัว รู้จักการเสียสละ  และการให้โดยไม่หวังอะไรตอบแทน
  • ต้องรัก  ซื่อสัตย์และรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนเอง

          เป็นประสบการณ์ของอดีตครูอาสาสมัคร  ที่เป็นคนเล็กคนน้อย และอยู่ชายๆ ขอบของงานพัฒนาและการศึกษา   เป็นส่วนหนึ่งที่ได้หล่อหลอม และขัดเกลา ให้มาเป็นตัวตนอยู่จนบัดนี้  ประสบการณ์ใดอันอาจจะก่อเกิดประโยชน์แก่ท่านก็ขอยกคุณความดีให้แก่ทุกๆ ท่านที่ได้ทำหน้าที่เป็นครูทั้งทางตรงและทางอ้อมทุกๆ คน  ที่ไม่อาจเอ่ยนามได้หมด ณ ที่นี้

วีรยุทธ  สมป่าสัก  11  มีนาคม  2551

หมายเลขบันทึก: 170294เขียนเมื่อ 11 มีนาคม 2008 12:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (12)
  • โห พี่ตอนหนุ่มๆๆ หล่อมากๆๆ
  • แถมซิ่งอีกต่างหาก
  • รอตอนต่อไปนะครับ
  • รอดูตอนพบ แฟน ฮ่าๆๆๆ

ท่านสิงห์ฯ ดีนะครับยังมีภาพถ่ายสมัยหนุ่มๆ ไว้ดู เตือนความทรงจำได้บ้าง

ผมไม่ค่อยได้ถ่ายรูปเลย สมัยหนุ่มๆ เลยจำไม่ได้ว่าตัวเองหล่อแค่ไหน..ฮ่าๆๆๆ

อย่าลืมไป CONFIRMED ที่นี่ ด้วยนะครับ

ขอบคุณครับ

  • คนที่ทำงานจริง  ลงพื้นที่จริงต่อเนื่องก็จะสรุปบทเรียนตรงกันครับ 
  • บางทราย  เป็นอีกท่านหนึ่งที่ชัดเจนมากๆ  เรื่องนี้  อิอิ

สวัสดีค่ะ พี่สิงห์ป่าสัก

  • พี่สิงห์ป่าสักเคยเป็นครูด้วยหรือค่ะ
  • ตอนเรียนอยู่เคยฝันว่าอยากเป็นครูดอยแต่ก็ไม่ได้เป็นอย่างที่ฝันไว้ค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

ทำดีไว้ ไม่เสียหลายครับ... เกิดมาชาติหนึ่ง ก่อนตายได้ช่วยเหลือสังคมอะไรบ้าง?  เป็นคำถามที่ผมต้องถามตัวเองอยู่ตลอดเวลา...

น่าทึ่งจริง ๆและเป็นประสบการณ์ที่ล้ำค่ามาก อ่านบันทึกคุณสิงห์ทำให้นึกถึงตนเองย้อนเมื่อเป็นนักศึกษา พี่อยู่กลุ่มมหาวิทยาลัยชาวบ้านของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ไปสอนเด็กกะเหรี่ยงที่เมืองกาญจนบุรีด้วย ขอบคุณนะคะที่แบ่งปันความรู้ให้พวกเรา

P

 

  • ตอนทำงานบนดอยถนัดมากเลยครับกับการเป็นเด็ก(เฒ่า)แว้น  กับการเดินดอย
  • งานที่ทำอยู่นั้นรู้สึกสนุกมากๆ
  • พวกเราถูกเรียกว่า "ครูวิบาก" ครับ  เพราะลำบากจริงๆ
  • ขอบคุณครับ

P

 

  • สวัสดีครับพี่ สะ-มะ-นึ-กะ
  • สำหรับพี่ สะ-มะ-นึ-กะ ตอนนี้ยังหล่อมากๆ ขนาดนี้(ไม่เชื่อก็ลองถามครูอ้อย...) สงสัยว่าเมื่อก่อนจะหล่อขนาดไหนหนอ
  • อิอิ...

P

 

  • สวัสดีครับครับคุณหมอคนชอบวิ่ง
  • อายุเริ่มมากขึ้นก็มักจะรำลึกถึงอดีตครับ...อิอิ
  • ประสบการณ์ของ อ.บางทรายที่นำมาแลกเปลี่ยนนั้น เป็นความรู้ที่เยี่ยมยอดมากๆ เลยนะครับ
  • ขอบคุณมากครับ

P

 

  • สวัสดีครับครูมิม
  • ไม่ได้ทักทายกันนานแล้วนะครับ
  • ได้ทำงานนี้อยู่ 40 เดือนครับ สนุกและได้เรียนรู้นอกตำราเยอะมากเลยครับ
  • ขอบคุณมากครับ

P

 

  • สวัสดีครับคุณหมอเล็ก
  •  ทำดีไว้ ไม่เสียหลายครับ... เกิดมาชาติหนึ่ง ก่อนตายได้ช่วยเหลือสังคมอะไรบ้าง?  ใช่เลยครับ
  • โดนในวัยรุ่น(เก่า)มากเลยครับ..อิอิ
  • ขอบพระคุณมากครับ

P

 

  • สวัสดีครับ ผอ.ธุวนันท์
  • เป็นกำไรชีวิตที่ได้มีโอกาสไปเรียนรู้การทำงานอีกลักษณะหนึ่งครับ
  • เป็นประโยชน์กับการนำมาปรับใช้ในงานส่งเสริมการเกษตรเป็นอย่างดียิ่ง
  • ขอบพระคุณมากครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท