๑๒. เสริมพลังบัณฑิตเวชนิทัศน์ ม.ขอนแก่น


 ร่วมงานปัจฉิมนิเทศน์บัณฑิตใหม่สาขาเวชนิทัศน์ ขอนแก่น  

ผมได้ไปร่วมงานปัจฉินิเทศน์ให้กับผู้กำลังจะเป็นบัณฑิตรุ่นใหม่อีกรุ่นหนึ่ง ของสาขาเทคโนโลยีบัณฑิต เวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ไปในฐานะวิทยากรบรรยายพิเศษ บรรยายในหัวข้อ เวชนิทัศน์กับการพัฒนาสื่อในอนาคต เพื่อเป็นเวทีให้ว่าที่บัณฑิตซึ่งเพิ่งจะสอบและเสร็จสิ้นการศึกษา 

ได้คุยกันและมองไปในอนาคตว่าจะวางอนาคตตนเองไปทางไหน ? โอกาสการทำงานและการศึกษาต่อในอนาคตเป็นอย่างไร ? เวลาออกไปทำงานแล้วโลกของการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง ? พร้อมทั้งให้ข้อเสนอแนะสำหรับการเตรียมตัวในฐานะคนรุ่นที่มาก่อน

 ขอบเขตงานเวชนิทัศน์กว้างไปตามกระบวนทัศน์สุขภาพและสาธารณสุข 

ผมเก็บเกี่ยวหลายสิ่งอย่างไปฝากพวกเขา ทั้งประสบการณ์ที่น่าจะสะท้อนให้เขาเห็นขอบเขตการทำงานทางด้านสุขภาพและการสาธารณสุข ทั้งในโรงเรียนแพทย์ โรงพยาบาลและนอกโรงพยาบาล รวมไปจนถึงงานสุขภาพที่อยู่ในวิถีชุมชนระดับต่างๆ ที่กว้างขึ้น เพื่อมิให้เข้าใจไปตามความเคยชินว่า การทำงานกับอาจารย์แพทย์ นักวิจัย และการทำงานเป็นทีมร่วมกับแพทย์ ตลอดจนบุคลากรทางด้านสุขภาพนั้น จะมีอยู่แต่ในคณะแพทย์และโรงพยาบาลเท่านั้น แต่มีงานวิจัยและงานทางการศึกษา ที่เป็นงานเชิงรุกและเป็นเรื่องสุขภาพที่อยู่ในความมีสุขภาพดีอีกด้วย

 การทำงานในอนาคตต้องเดินบวกความเป็นเลิศกับหลายสาขา 

นอกจากนี้ ผมได้ประมวลภาพให้เห็นความเคลื่อนไหวของวงการเวชนิทัศน์ในต่างประเทศ ซึ่งได้เริ่มเคลื่อนไหวจากอดีตที่เคยมีบทบาทมากในมหาวิทยาลัยและคณะแพทย์ ไปสู่ความเป็นมืออาชีพและการเป็นองค์กรวิชาชีพที่มีบทบาทในภาคเอกชน ของอเมริกา รวมทั้งการก่อเกิดสาขาวิชาชีพใหม่ๆ ที่ต่อยอดจากสาขาเวชนิทัศน์ สู่การเป็นสาขาที่เป็นศาสตร์บูรณาการทางด้าน ศิลปะ การสื่อสาร และวิทยาศาสตร์การแพทย์ พร้อมกับยกตัวอย่างว่าแนวโน้มนี้เชื่อว่ากำลังจะเกิดขึ้นในประเทศไทย

 การเตรียมความพร้อมสู่โลกการทำงานและการดำเนินชีวิตให้แก่บัณฑิตใหม่ 

กลุ่มนักศึกษาส่วนมากเป็นลูกหลานชาวชนบท...ก็จากอีสานนั่นเอง มีบางส่วนที่ไปจากกรุงเทพมหานคร ผมก็เลยทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและครูแนะแนวไปในตัว เพราะตระหนักดีว่าลูกหลานคนต่างจังหวัดนั้น แค่ได้เรียนจบและมีงานทำแล้วก็คิดอะไรไม่ออกหรอก โลกภายนอกมันไกลจากประสบการณ์ทางสังคมของเขามาก แค่หลุดออกมาจากบ้านทุ่งแล้วมาเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัยนั้น ชีวิตก็มาไกลมากแล้ว หนทางข้างหน้า  หากมีใครมาคุยให้ฟัง ก็ล้วนจะเป็นเรื่องใหม่ที่ไม่เคยมีคนนำทางชีวิตให้มาก่อน ข้อนี้เลยต้องนับถืออาจารย์และสถาบันของพวกเขาที่จัดงานนี้ขึ้นมา 

 แนะนำให้น้องเวชนิทัศน์พัฒนาตนเองสู่อนาคต

หลังจากเล่าสู่กันฟังเกี่ยวกับสังคมและโลกแห่งการทำงานให้พอนึกภาพออกได้บ้างแล้ว ผมก็แนะนำผู้ที่กำลังจะเป็นบันฑิตเวชนิทัศน์ขอนแก่น ในการเตรียมตนเองเพื่อเข้าสู่แวดวงการทำงานและการดำเนินชีวิตในโลกความเป็นจริง คือ......

(๑) ทำงานและเรียนรู้ ออกไปแล้วทำงานให้หนัก ทำแบบคนเรียนรู้  ทำอย่างเป็นนักเวชนิทัศน์ในอุดมคติ เป็นปัจเจกที่มีพลัง (ผมเล่าให้เขาฟังถึงความเป็นมาของสาขาเวชนิทัศน์ในประเทศไทย เรื่องราวการบุกเบิกของศาสตราจารย์นายแพทย์สุด แสงวิเชียร | รองศาสตราจารย์นายแพทย์นันทวัน พรหมผลิน | รองศาสตราจารย์นายแพทย์สภา ลิมพาณิชย์การ | อาจารย์กอง สมิงชัย | อาจารย์โชติ แสงสมพร รวมไปจนถึงจุดเด่นของเวชนิทัศน์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น)

(๒) พัฒนาทักษะทำงานกับทีมต่างสาขา พัฒนาตนเองให้เป็นผู้เรียนรู้ที่ดี หัดพูด หัดฟัง พัฒนาวิธีคิดและความสามารถทำงานสร้างสรรค์ และพาตนเองไปเป็นส่วนหนึ่งของทีมนักวิชาการสาขาอื่นๆ ที่เป็นมิติเนื้อหา สามารถแสดงหลักวิชาที่คนสาขาอื่นเขารับได้ และสามารถทำงานเชิงเนื้อหา จับเอาโจทย์และเนื้องานวิชาการสาขาอื่นมาทำงานให้ได้อย่างดีที่สุด

(๓) วิจัยและพัฒนางานประจำอยู่เสมอ เป็นนักศึกษาและนักวิจัยในงานประจำที่ตนเองทำไปด้วย เก็บบันทึกข้อมูล  รวบรวมข้อมูล มีแฟ้มงาน และนำเอางานที่ทำไปแล้วมาทบทวนหาความคิดดีๆ และบทเรียนดีๆ เพื่อพัฒนาตนเองไปด้วยอยู่เสมอ เมื่อจะสื่อสารความคิดและยกตัวอย่างงาน ก็จะได้มีผลงานที่เป็นรูปธรรมช่วยเป็นสื่อแสดง

หลังการบรรยายพิเศษ คณาจารย์ก็ช่วยกันพูดคุยให้พลังใจแก่ว่าที่บัณฑิต  รับพวงมาลัยดอกไม้จากพวกเขา แล้วก็พากันผูกข้อไม้ข้อมือ อำนวยอวยพรแก่เด็กๆ

 พัฒนาชีวิต  

จากนั้น ก็พากันไปไหว้พระคุณเจ้าที่วัดหนองผือ (วัดเกิ้ง) ซึ่งเป็นพระสายปฏิบัติ มีพระคุณเจ้า พระอาจารย์โอภาส สุทธิปัญโญ เป็นเจ้าอาวาส ทั้งวัดไม่ใช้ไฟฟ้า ออกแบบอาคารสถานที่ให้ประหยัดพลังงานและรักษาสิ่งแวดล้อม พาคนให้อยู่กับธรรมชาติและใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อมอันสัปปายะต่อการปฏิบัติภาวนาเป็นอย่างยิ่ง

ในทีมมีอาจารย์สาขาเวชนิทัศน์ซึ่งเป็นรุ่นพี่อาวุโสหลายท่าน รวมทั้งมีท่านรองคณบดีคณะศิลปกรรมของมหาวิทยาลัยขอนแก่น แวะเวียนมาร่วมวงสนทนาในบรรยากาศต่างๆอยู่เสมอ

  พลังเครือข่ายวิชาการของขอนแก่น   ที่ขอนแก่นมีเวทีวิชาการและมีแหล่งบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์คึกคักอย่างยิ่ง ผมนั่งคุยกับทุกท่านกระทั่งจรดเย็นอย่างไม่รู้เบื่อ ซึ่งแต่ละท่านก็เป็นผู้รู้ที่อ่อนน้อม ให้เกียรติแก่ผมซึ่งอาวุโสและอ่อนด้อยกว่ามากในทุกด้าน ได้เห็นจุดแข็งและได้การเรียนรู้จากวงวิชาการในครั้งนี้หลายอย่าง คือ......

(๑) เครือข่ายและชุมชนทางปัญญา  ทางด้านเวชนิทัศน์ สื่อ และศิลปกรรม ของขอนแก่นและภาคอีสาน เป็นเครือข่ายที่เชื่อมโยงกันอย่งแข็งขัน มีกิจกรรมและการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันคึกคักอย่างยิ่ง หลายเวทีมีเครือข่ายจากกรุงเทพฯ เช่น  มหาวิทยาลัยศิลปากร และวงการสื่อมืออาชีพ ไปร่วมเสวนาสังสรรค์อย่างมีชีวิตชีวา  

(๒) พัฒนาเวทีเพื่อนักศึกษา ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมและเวทีการแสดงออกของนักศึกษา คนรุ่นใหม่  มากเป็นอย่างยิ่ง ครูอาจารย์แต่ละแห่งมีอยู่ไม่มาก แต่ช่วยกันทำแบบเอาแรงกันข้ามคณะและสถาบัน ทำให้ระดมบุคลากรในจังหวัดและในภูมิภาคมาช่วยกันทำ เด็กๆเลยได้รับสิ่งดี 

บางเรื่องน่าจะดีกว่าหรือไม่น้อยไปกว่ากรุงเทพฯ เช่น มีเวทีแสดงงานกลางแจ้ง  ปิดถนนเป็นเวทีเลย ซึ่งเป็นที่นิยมมากทั้งสำหรับคนท้องถิ่น คนไทยและชาวต่างประเทศ ทำต่อเนื่องมา ๕ ปีแล้ว ซึ่งทำให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ความสำเร็จและโลกความเป็นจริงจากการลงมือของตนเอง.   

หมายเลขบันทึก: 170121เขียนเมื่อ 10 มีนาคม 2008 14:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 21:30 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • สวัสดีค่ะ อาจารย์คะ
  • ขออนุญาตนำบล็อกอาจารย์เข้าแพลนเน็ตค่ะ
  • ได้ความรู้มหาศาล ขอบพระคุณค่ะ
  • สวัสดีครับคุณบัวปริ่มน้ำ(นามแฝงแปลกดี)
  • ยินดีครับ
  • ขอบคุณครับที่เข้ามาเยี่ยมเยือน
  • ขอให้ได้แรงบันดาลใจดีๆเสมอนะครับ

ได้ขอเข้าไปรู้จักคุณบัวปริ่มน้ำแล้วนะครับ จึงได้ทราบว่าเป็นตัวจริงเสียงจริงเรื่องการพัฒนาการวิจัย  เลยมีความยินดีอย่างยิ่งที่คุณบัวปริ่มน้ำให้ความสนใจกิจกรรมที่ผมได้นำมาบันทึกไว้นี้ 

พร้อมทั้งขออนุญาตไว้ล่วงหน้านะครับว่า หากมีโอกาสก็จะขออนุญาตให้ข้อมูลการติดต่อหรือขอคำปรึกษาคุรบัวปริ่มน้ำ แก่คณาจารย์  พี่ๆ เพื่อนๆ และน้องๆ ในสาขาเวชนิทัศน์ ศิลปกรรม และการวิจัยสร้างสุขภาพชุมชน ที่อยู่มอขอนแก่น ที่สนใจพัฒนาการวิจัย 

หากมีโอกาสได้การแนะนำหรือจัดเวทีเรื่องนี้ให้จากคุณบัวปริ่มน้ำละก็คิดว่าจะได้เรื่องสำหรับการวิจัยและพัฒนาอีกมากมาย  หลายท่านมีผลงานดีมากเลย  หากมีอะไรดีๆก็ช่วยแนะนำและนำมาเล่าแบ่งปันกันบ้างนะครับ

ลิงก์เรื่องเวชนิทัศน์ จากเวิร์คช็อปทำสื่อของเครือข่ายนักเวชนิทศน์ กับเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพ มาฝากผู้อ่านในบันทึกนี้ด้วยครับ

ถ้าจะให้จัดงานสัมนาเกี่ยวกับงานเวชนิทัศน์ตอนนี้ จะจัดเรื่องเกี่ยวกับอะไรดีค๊ะ

เอาอย่างงี้เลยหรือครับ กดปุ่มอย่างกับเป็นปุ่มขอสัญญาณไฟข้ามทางม้าลายเลยแน่ะ อ่านแล้วก็ต้องขำครับ ถามอย่างนี้ เหมือนกับขอโยนไอเดียเฉยๆ ซึ่งผมเองและเพื่อนๆเวลาทำงานที่ต้องหาความคิดดีๆ ก็ชอบใช้วิธีนี้เหมือนกับครับ เป็นการขอรวบรวมไอเดียและวิธีคิดให้หลากหลาย แต่จะนำไปใช้จริงหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งบางที่ก็เกิดความคิดดีๆขึ้นหลังจากได้เห็นแนวคิดและข้อเสนอดีๆ 

แต่ก็เป็นคำถามที่เป็นประโยชน์มาก ทั้งต่อวงการวิชาชีพ ต่อการพัฒนาการศึกษาเรียนรู้ และต่อสังคม ...ก็ลองดูนะครับ หัวข้อเหล่านี้เป็นไงครับ......

  • การถอดบทเรียนและพัฒนาเครือข่ายความเชี่ยวชาญสาขาเวชนิทัศน์ในประเทศไทย
  • Community-Based and Work-Based Research Development for Medical Illustration and AV Technology in Thailand : Theory, Frame for Practice, Practical Model and Coming Decade Developments Agenda
  • Art, Sciences , Health Science and Education Science Technology : Appropriate Integration Model for Practice in Thai Socio-Cultural Context
  • สื่อและการสื่อสารวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุขกับการเพิ่มศักยภาพการศึกษาเรียนรู้ : อดีต ปัจจุบัน และโอกาสการพัฒนาในอนาคตของประเทศไทย
  • เว็บบล๊อกกับเครือข่ายวิจัยและบันทึกความรู้เพื่อสร้างความรู้และสุขภาวะปัญญาของจากชุมชนฐานราก
  • เครือข่ายจัดการความรู้แบบผสมผสานเพื่อสร้างความเข้มแข็งในงานพัฒนาการศึกษาเรียนรู้สุขภาพของปัจเจก ครอบครัว และชุมชน ในประเทศไทย
  • เวชนิทัศน์ โสตทัศนศึกษาการแพทย์ เพื่อสุขภาวะชุมชน : การพัฒนาเครือข่ายเวชนิทัศน์และโสตทัศนศึกษาทางการแพทย์และสาธารณสุขเพื่อสร้างคลังความรู้การดำเนินงานสุขภาพในชุมชนโดยอสม.และเครือข่ายชุมชน
  • เวชนิทัศน์ โสตทัศนศึกษาการแพทย์ และสุขศึกษาชุมชน เพื่อสุขภาพพอเพียงของปัจเจก ครอบครัว และชุมชน

....................................... ซึ่งหาข้อมูลมาพัฒนาความคิดไปได้อีกเยอะครับ

ประเด็นสำหรับวางแนวคิดไว้ก็คือ ต้องหาประเด็นที่นำไปสู่ All for Health : ให้ศักยภาพคน พลเมืองประชากร ทุนมนุษย์ ทุนศักยภาพชุมชน และทุนทางสังคม เป็นปัจจัยและโอกาสการพัฒนาการแพทย์ สุขภาพ และสุขภาวะสังคมด้วยวิธีการที่ส่งเสริมการมีส่วนร่วมอย่างกว้างขวางลงไปถึงวิถีชีวิตประชาชนให้มากที่สุด และ Health for All : การทำให้การพัฒนาด้านการแพทย์กับสุขภาพเป็นวิธีสร้างคุณภาพชีวิต พัฒนาทุนมนุษย์ และพัฒนาสังคม ...ในแง่มุมที่เป็นจุดแข็งของงานเวชนิทัศน์และโสตทัศนศึกษา คือ Simplified Scientific and Health Communication ขยายศักยภาพและขีดความสามารถการแก้ปัญหาที่มีคนและชุมชนเป็นศูนย์กลางโดยการใช้วิทยาการและเทคโนโลยีอย่างผสมผสาน

คงพอได้แนวคิดนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

ตามมาศึกษาจากประสบการณ์อาจารย์ค่ะ

ลูกสาวเพิ่งโทรมาเล่าให้ฟังถึงคอร์สที่เรียน เรื่องยาค่ะ บอกว่าเรียนคอร์สนี้สนุกมาก (ก็เห็นบอกสนุกแทบทุกคอร์ส)

อาจารย์มีสุขภาพดีเสมอนะคะ

มาเด็กมาเล่นที่บ้านอาจารย์ด้วย

อ้าว นี่เลยครับ มาพอดีเลยวิทยากรหนึ่งท่าน คุณณัฐรดานี่แหละ จัดว่าเป็นมือเวชนิทัศน์และสื่อศิลปะวิทยาศาสตร์การแพทย์ภาคประชาสังคมคนหนึ่งของประเทศได้อย่างดีคนหนึ่งเลยละครับ หากจัดก็ขอแนะนำเชิญเป็นวิทยากรและนำงานไปเผยแพร่เลยได้ ๑ ท่านเลย ....งั้นขอโยนไอเดียต่อให้อีก.....

  • ศิลปะและการวาดรูปกับการพัฒนาทักษะสื่อสารและศักยภาพการเรียนรู้เพื่อพัฒนาการเด็ก
  • ศิลปะและการวาดรูปเพื่อพัฒนาทักษะพ่อแม่ในการเป็นครูคนแรกของลูก
  • ครอบครัวเรียนรู้กับการเลือกสื่อเข้าบ้าน
  • เวชนิทัศน์และโสตทัศนศึกษาเพื่อพัฒนาความฉลาดและเท่าทันสื่อแก่พลเมืองในยุคไซเบอร์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท