292 คุณยายคนนั้น...


การเดินทางที่มีความเร็วย่อมไม่สามารถมองเห็นสรรพสิ่งสองข้างทางได้ และ การเดินทางที่เร่งรีบ ย่อมไม่สามารถเก็บรายละเอียดของสิ่งที่น่าสนใจสองข้างทางได้ เช่นเดียวกัน

 

วันหยุดเมื่อกี้ ต้องเดินทางไปทำธุระของครอบครัว ก่อนถึงจุดหมายปลายทางตามนัด เราก็หยุดที่ตลาดแห่งหนึ่งเพื่อซื้อของติดไม้ติดมือไปฝากญาติผู้ใหญ่ตามสำนึก

 

เราพบสิ่งหนึ่ง คือเพิงเล็กๆริมรั้ววัด! ?  และคุณยายท่านนี้

 

 55

 

   

ทุกท่านก็คงถามเช่นเดียวกันว่า ทำไมคุณยายมาอยู่ตรงนี้ คุณยายเป็นใคร มาจากไหน ทำไมลูกหลานไม่ดูแล อยู่มานานหรือยัง แล้วจะกินจะนอนทำอย่างไร หากเจ็บไข้ได้ป่วยทำอย่างไร และ ฯลฯ....

 

คุณยายเป็นคนที่นี่แหละ.. 

ลูกน่ะมี...แต่เขาก็หายไปนานแล้วไม่มาดูแลยายหรอก.. 

ยายขาหัก ไปไหนมาไหนลำบาก..

เวลาหิวก็ตะโกนร้านค้าฝั่งตรงข้ามวัด แกก็เอาอาหารมาให้..

ยายได้เงินจากคนที่ผ่านไปมาบริจาค พอได้อยู่ได้กิน...

ห้องน้ำยายก็ตรงนั้นไง..ร่องระบายน้ำอีกด้านหนึ่งของประตูนี้ ง่ายๆยังงี้แหละ..

ฯลฯ...

 

 

 


Gm%209

 


 

แดดเปรี้ยงยามปลายหนาว เข้าสู่ต้นฤดูร้อน

คุณยายท่านนี้อาศัยร่มกันแดด  ครึ่งตัวคุณยายโผล่ออกมารับแดด

รั้ววัดคือที่อาศัย ผูก มัด ยัด ซุกทุกสิ่งที่คุณยายคิดว่าจะเก็บจะใช้มัน

ด้านซ้ายมือนั่นคือกล้วยหวีเก่าๆผิวขึ้นสีดำ อาหารว่างคุณยาย

นั่นไม้กวาด ..เสื้อกันหนาว...ผ้าห่มเก่าคร่ำคร่า. ฯ

 

ขวามือคุณยาย มีคุน้ำพลาสติกสีแดงอยู่หนึ่งใบ

มีถุงปุ๋ยปิดเกือบมิด และมีท่อนไม้เก่าๆทับอยู่..

คิดว่าคุณยายตุนน้ำไว้ใช้  แต่ไม่ใช่ครับ..

 

ในนั้นมีสิ่งมีชีวิตที่เป็นเพื่อนคุณยาย

สิ่งเดียวเท่านั้นที่คุณยายมีอยู่  และ..

ทำให้คุณยายมีความสุขท่ามกลางสภาพเช่นที่เห็น

ลูกแมวครับ.. ลูกแมวสีดำตัวเล็กๆ..

 

เมื่อได้ยินเสียงเราคุยกัน มันพยายามปีน เอาหัวโผล่ออกมา

พร้อมส่งเสียง...

แต่คุณยายก็กดหัวลูกแมวลงไป

เขาพยายามโผล่หัวออกมาอีก

คุณยายก็กดลงไปอีก..

 

มันคือลูกยาย.. เพื่อนยาย..

มีเท่านี้แหละ..ลูกเอ้ย...

 

ผมคว้ากล้องมาถ่ายรูปคุณยาย ระหว่างที่เพลิน การพูดคุย..
พอคุณยายเห็นกล้องเท่านั้น

ไม่เอา ไม่ถ่าย  ไม่ถ่ายลูก ....

เสียงคุณยายดังขึ้นมาและเข้มทันที

 

 59

 

ผมขออนุญาตคุณยายขอถ่ายรูปน้องแมวตัวเล็กๆ..นะครับ...

 

ไม่เอา ไม่เอา  ไม่ถ่าย...

คุณยายยืนยัน

ผมต้องหยุดและจบการถ่ายรูปเพียงเท่านั้น

 

 

หลังจากที่หยิบยื่นปัจจัยยังชีพจำนวนหนึ่งให้คุณยายแล้ว..

เราก็รีบเดินทางต่อไปยังการนัดหมาย

 

เราไม่ต้องการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลของคุณยาย มากไปกว่าการถ่ายรูป

แต่เราปรารถนาให้คุณยายได้อยู่อาศัยในสภาพที่เหมาะสมกว่านี้

 

คำถามในใจ ที่ไม่มีคำตอบ

มีแต่การวิเคราะห์โดยอัตโนมัติเกิดขึ้นมากมายระหว่างการเดินทางต่อนั้น

 

 Gm%2011

 

บันทึกนี้มิได้เรียกร้องความช่วยเหลือใดๆ

 

เพียงแต่ แสดงความจำเจ ของผลการเคลื่อนตัวของสังคม

ที่มีให้เห็นทุกรูปแบบ ทุกสถานที่ ทุกมุมของประเทศแห่งนี้

 

คุณยายคือผลสัมฤทธิ์ ของการพัฒนาสังคม พัฒนาประเทศ

เช่นนั้นฤา  ...

 

หมายเลขบันทึก: 170032เขียนเมื่อ 9 มีนาคม 2008 22:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:50 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)
  • เศร้าเลยครับพี่ซึมๆ
  • โลกนี้ช่างโหดร้ายปานนี้หนอ
  • ฤา ลูกหลานใจหินไม่ดูแล....ยิ้มไม่ออก
  • บอกไม่ถูกเลยครับพี่...
  • แหมอ่านแล้วเศร้าใจ
  • แต่มีแรงฮึกในการทำงานครับ
  • คิดฮอดดงหลวงจังน้อ

เคยเห็นแบบนี้เยอะเลยค่ะ

บางคนถ้ายังเดินได้ ก็จะเดินขายของ ส่วนใหญ่ก็จะช่วยอุดหนุน..แล้วก็ทำใจ...

ดูแล้วได้แต่ปลงชีวิตค่ะ  ได้เห็นการ"ไม่มี" ของคนบางคนชัดเจนทีเดียวในขณะเดียวกันก็ได้เห็นว่าคนบางคนหรือตัวเราเองนั้น "มี" มากขนาดไหน..

ก็ต้องช่วยกันบำรุงและกล่ิอมเกลาสังคมกันต่อไปค่ะ หวังว่าตัวเราเองกับเด็กๆ รุ่นต่อๆ ไป จะช่วยกันแก้ไขได้บ้าง..ไม่มากก็น้อยนะคะ

สวัสดีค่ะ

เห็นแล้วเศร้าใจค่ะ สงสารคุณยาย   แต่มนุษย์นี่ค่ะ มีให้เห็นทุกรูปแบบนะค่ะ

 

อึ้งครับพี่...

ผมไม่ทำอย่างนี้เด็ดขาด

ท่านครูบาครับP 1. ครูบา สุทธินันท์ ปรัชญพฤทธิ์

อิ ไม่ออก อึกอัก แทน

พอดีที่จังหวัดนี้ท่านรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นเพื่อนกัน เรียนมาด้วยกัน จะลองนำเสนอข้อมูลนี้ว่าทางผู้รับผิดชอบพื้นที่จะมีหนทางแก้ไขเรื่องราวที่มีความหมาย่นนี้อย่างไร ตามระบบราชการ ครับ

น้องขจิตครับ P 2. ขจิต ฝอยทอง

  • เศร้าเลยครับพี่ซึมๆ โลกนี้ช่างโหดร้ายปานนี้หนอ ฤา ลูกหลานใจหินไม่ดูแล....ยิ้มไม่ออก
  • บอกไม่ถูกเลยครับพี่...

รอบๆตัวเรา ไม่ว่าที่ไหนๆกฌอาจจะมีภาพเหล่านี้เช่นกัน ความสุดโต่งของสังคมย่อมเกิดขึ้น และจะทวีมากขึ้นหากการพัฒนาเป็นแบบไม่สมดุล ครับ

พี่ยังคิดว่า หากปรมประชาสงเคราะห์เอาตัวไปอยู่ในสถานที่ที่ราชการจัดให้ คุณยายอาจจะไม่ชอบก็ได้  อาจจะชอบแบบนี้ เพราะได้เงินบริจาค และอิสระมากกว่า ก็เป็นได้...

น้องออตครับ P 3. ออต

  • แหมอ่านแล้วเศร้าใจ แต่มีแรงฮึดในการทำงานครับ
  • คิดฮอดดงหลวงจังน้อ

 มันเศร้าจริงๆ ทุกคนไม่อยากเห็นภาพนี้ และควรที่จะมีกลุ่ม องค์กร หร่วยงานเข้ามาจัดการให้ดีกว่านี้

เราอาจจะไม่สามารถขจัดต้นตอของการเกิดปรากฏการณ์นี้ได้ การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุจึงเป็นเรื่องที่เป็นการแก้ที่ปลายเหตุ  แต่ก็ต้องทำ และทำให้ดีที่สุดด้วย..

อาจารย์ครับ P 4. กมลวัลย์

เคยเห็นแบบนี้เยอะเลยค่ะ  บางคนถ้ายังเดินได้ ก็จะเดินขายของ ส่วนใหญ่ก็จะช่วยอุดหนุน..แล้วก็ทำใจ...

ดูแล้วได้แต่ปลงชีวิตค่ะ  ได้เห็นการ"ไม่มี" ของคนบางคนชัดเจนทีเดียวในขณะเดียวกันก็ได้เห็นว่าคนบางคนหรือตัวเราเองนั้น "มี" มากขนาดไหน..

ก็ต้องช่วยกันบำรุงและกล่ิอมเกลาสังคมกันต่อไปค่ะ หวังว่าตัวเราเองกับเด็กๆ รุ่นต่อๆ ไป จะช่วยกันแก้ไขได้บ้าง..ไม่มากก็น้อยนะคะ

 

อาจารย์เป็นคนที่มีธรรมะในหัวใจ มองเห็นการ ไม่มี และการ มี ระหว่างคน แค่นี้ก็มหาศาลแล้วครับ

สวัสดีครับ P 5. หญ้าบัว

เห็นแล้วเศร้าใจค่ะ สงสารคุณยาย   แต่มนุษย์นี่ค่ะ มีให้เห็นทุกรูปแบบนะค่ะ

ผมอยากใช้เวลากับคุณยายมากกว่านี้ แต่ทำไม่ได้เพราะต้องรีบเดินทางไปตามนัดหมาย แต่ก็หวังว่าการติดต่อของผมกับข้าราชการที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้คุณยายมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นครับ

ท่านอัยการครับ P 6. อัยการชาวเกาะ

อึ้งครับพี่...

ผมไม่ทำอย่างนี้เด็ดขาด

 

หากเรามองโลกในแง่ดีนะครับ ลูกคุณยายอาจจะอยู่ในฐานะที่อาจจะไม่ต่างกับคุณยายก็ได้  ไม่รู้  แต่ก็เคยเห็น เคยทราบว่ามีการทิ้งจริงๆ แบบตั้งใจ  แต่ก็มีแบบที่ไม่ตั้งใจ ครับ

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

"การเดินทางที่มีความเร็วย่อมไม่สามารถมองเห็นสรรพสิ่งสองข้างทางได้ และ การเดินทางที่เร่งรีบ ย่อมไม่สามารถเก็บรายละเอียดของสิ่งที่น่าสนใจสองข้างทางได้ เช่นเดียวกัน"

ชอบใจตั้งแต่ประโยคแรกเลยค่ะ

....

หน่วยงานที่จะมาดูแลให้คุณยายมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ?.. ไม่แน่ใจเลยค่ะว่า คุณยายอยากไปอยู่ในความดูแลของคนแปลกหน้าในสถานที่ที่ถูกกำหนดหรือเปล่า..

เมื่อวานนี้เอง  ขับรถผ่านตรงสะพานลอย  มีรถตำรวจกับปอเต๊กตึ๊งมาเก็บศพคนชราที่นอนเสียชีวิตที่เชิงสะพาน...

เมื่อวานนี้อีกเหมือนกัน ..ที่สี่แยก มีเด็กชายหญิงผิวคล้ำผมหยิก เหมือนลำหับกับซมพลา..มาเร่ขายปลาสานจากใบมะพร้าว...  เด็กๆเหล่านี้มาจากที่ไหนกัน...

เรื่องน่าเศร้าในสังคมนี้มีมาก.. คนใจดีในสังคมก็มีมาก

แต่ที่ต้องการจริงๆคือการดูแลของคนใกล้ตัวคุณยายและเด็กๆ ... ทว่า..พวกเขาก็คงมีปัญหาและข้อจำกัด..จึงคิดแต่เอาตัวรอด..

มันเป็นปัญหาสังคม ...คนในสังคมร่วมก่อปัญหา  คนในสังคมก็ต้องร่วมรับภาระรับผิดชอบปัญหาที่เกิดขึ้นค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

  • แม้ว่าผมนึกถึงหน่วยงานราชการที่รับผิดชอบงานด้านนี้ ก็พอได้ แต่การทำงานด้านนี้หน่วยงานนี้ควรยกระดับการทำงานได้แล้ว.. เราเชื่อว่าสักวันหนึ่งคงทำได้ ครับ เขาก็คงมีข้อจำกัด
  • ผมนึกถึงหน่วยงาน NGO ที่ทำงานเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ หากเขามีงบประมาณสนับสนุนจะทำงานได้ดีกว่าราชการ เพราะยืดหยุ่นสูงกว่า  แต่เขาไม่มีงบประมาณ ทำเท่าที่มีงบฯอยู่
  • ผมนึกถึงสมัยก่อน ช่วงเผยแพร่ศาสนาคริสต์ เขาจะทำงานกับคนด้อยโอกาสที่สุด จะทำงานกับคนที่สังคมปฏิเสธ ตัวอย่างงานเขียนของหมอสอนศาสนาในภาคเหนือที่เขียนเรื่องราวเมื่อ ร้อยกว่าปีมาแล้วว่า คนที่ชาวบ้านไล่ออกจากหมู่บ้านเพราะเชื่อว่าเป็น ผีก๊ะ แต่ศาสนาคริสต์รับเข้ามา โอบอุ้มเข้ามาในอ้อมอกพระเจ้า  และเขาก็เป็นคนใหม่ และกลับได้รับการยอมรับในสังคมเมื่อเวลาเปลี่ยนไป  ผมเป็นทึ่งกับการทำงานของมิชชันนารี เหล่านี้
  • อย่างอาจารย์กล่าวว่า หากสมมุติว่า ราชการเอาคุณยายไปอยู่บ้านพักคนชรา คุณยายอาจจะไม่ไปก็ได้  ตรงนี้แม้ดูไม่ดีแต่ยายก็เลือกแล้ว และตรงนี้มีรายได้ มีคนบริจาค ..ฯลฯ..
  • แต่ผมคิดว่าสังคมตรงนั้น น่าที่จะหยิบเรื่องนี้มาปรึกษาหารือกัน  ผมคิดเล่นๆนะครับว่า วัดก็ใหญ่โตโอฬาร สถานที่กว้างขวาง อาจจะทำกระต๊อปให้คุณยายอยู่ดีกว่านี้หน่อย เมื่อยายไม่ไปไหนก็ได้ แต่ย้ายไปอยู่ในบริเวณวัดนี่แหละ แต่ในสภาพที่ดีหน่อยให้เป็นที่พักของคนหน่อย แล้วอาจจะเขียนประกาศติดว่าใครอยากจะบริจาคให้ยายก็มาให้ตรงนั้นตรงนี้
  • ที่วัดก็มีอาคารเก่าๆ ที่สามารถดัดแปลงให้ยายเข้าไปอาศัยได้
  • ทั้งหมดนี้อาจะมีคนทำ มีคนคิดแล้วก็ได้ แต่ยายอาจจะบอกว่าไม่ไป
  • ..แต่อย่างไรก็ตาม หากยายอยู่ตรงนั้นก็อันตรายหลายประการ หนึ่งคือ ไอ้หัวขโมย ไอ้ขี้ยาอาจจะมาบังคับยายเอาเงินบริจาคก็เป็นได้  หากยายขัดขืนมันก็จะทำร้ายยายได้เช่นกัน ดังมีข่าวบ่อยๆไป..
  • เห็นด้วยครับกับอาจารย์ว่าสังคมควรช่วยกันดูแลเรื่องนี้ครับ

เคยคิดว่าเมืองไทยมี คนจรจัด แต่ ไม่มี homeless แบบฝรั่งที่นอนริมถนนหรือเก้าอี้ในสวนสาธารณะทุกคืน หรือไม่ก็ปีนไปนอนในถังขยะใหญ่ๆ

เพราะอย่างน้อยเราก็มี "เพิง" ที่ทำจากสังกะสี หรือ ป้ายหาเสียง หลบใต้สะพานก็ได้ ยังมั่นคง ไม่โดนฝน โดนแดด

คิดผิดซะแล้วเรา

แต่พูดถึงคุณยายท่านก็อยู่ที่สะดวกของท่านคือมีคนหาอาหารให้ทานตลอดเมื่อหิว และอาจพูดคุยถูกคอกับร้านตรงข้าม

อย่างที่อาจารย์บอกค่ะ ถ้าจัดหาที่อยู่ให้ก็ไม่ทราบว่า ยายจะยอมไปรึเปล่า นอกจากถามยายก่อนว่ายายอยากได้แบบไหนแน่

ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เล่าให้ฟังว่า  มิชชันนารีคือผู้ริเริ่มแนวคิดการทำงานบนฐาน "วัฒนธรรมชุมชน"   การเข้าถึงชาวบ้านเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น  ต้องเข้าใจก่อนว่า "พระเจ้า" ของชาวบ้านคืออะไร.... .. จำติดใจเลยค่ะ

บางที NGO คงเหมาะกว่าภาครัฐ เพราะรู้ว่าอาจสนใจ "ความเป็นคน" มากกว่าการคิดแค่ทำตามหน้าที่ (แต่เจ้าหน้าที่ดีๆก็มีเยอะค่ะ)

คิดเอาเองนะคะว่า วัดน่าจะเหมาะเหมือนกัน   คุณยายขาพิการ แต่ยังอาจหยิบฉวยอะไรช่วยงานโน่นนี่เบาๆได้บ้าง  จะได้ไม่เหงาและรู้สึกชีวิตมีคุณค่า

 

สวัสดีครับอาจารย์ P  มัทนา

เคยคิดว่าเมืองไทยมี คนจรจัด แต่ ไม่มี homeless แบบฝรั่งที่นอนริมถนนหรือเก้าอี้ในสวนสาธารณะทุกคืน หรือไม่ก็ปีนไปนอนในถังขยะใหญ่ๆ

เพราะอย่างน้อยเราก็มี "เพิง" ที่ทำจากสังกะสี หรือ ป้ายหาเสียง หลบใต้สะพานก็ได้ ยังมั่นคง ไม่โดนฝน โดนแดด

คิดผิดซะแล้วเรา

มีมากขึ้นครับอาจารย์ แต่ก่อนผมไม่ได้สังเกตุเท่าไหร่ แต่มาระยะหลังนี่ หนาตามากขึ้นครับ

แต่พูดถึงคุณยายท่านก็อยู่ที่สะดวกของท่านคือมีคนหาอาหารให้ทานตลอดเมื่อหิว และอาจพูดคุยถูกคอกับร้านตรงข้าม

อย่างที่อาจารย์บอกค่ะ ถ้าจัดหาที่อยู่ให้ก็ไม่ทราบว่า ยายจะยอมไปรึเปล่า นอกจากถามยายก่อนว่ายายอยากได้แบบไหนแน่

คุณยายพูดจาฉะฉาน เข้มแข็งกว่าวัยครับ เสียงดังด้วย  ในสังคมพุทธนั้น มีคนเดินผ่านไปมาก็บริจาคกันแล้วยิ่งบ้านนอกที่คุณยายท่านนี้อาศัยอยู่นะครับ ชาวบ้านจากหมู่บ้านต่างๆจะเข้ามาตลาดเพื่อจับจ่ายของกินของใช้ และหรือ เอาผักพื้นบ้านมาขาย เมื่อเดินผ่านก็จะบริจาคกันครับ  ตัวอย่างคุณแม่ผมเห็นขอทานในตลาดก็จะสงสารควักกระเป๋าหยิบเงินให้แล้ว มากบ้างน้อยบ้าง  คุณแม่ผมเป็นชาวบ้านธรรมดา มักคิดเรื่องบุญ กรรม การบริจาคตามศรัทธา คือการทำบุญ ให้ทาน ครับ

(ผมเดาเอา) ว่าคุณยายไม่อยากไปไหนเพราะรายได้นี่ครับ.. ผมอาจจะเดาผิดก็ได้ครับ

สวัสดีครับอาจารย์ ปัทมาวดี โพชนุกูล ซูซูกิ

อาจารย์ฉัตรทิพย์ นาถสุภา เล่าให้ฟังว่า  มิชชันนารีคือผู้ริเริ่มแนวคิดการทำงานบนฐาน "วัฒนธรรมชุมชน"   การเข้าถึงชาวบ้านเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนั้น  ต้องเข้าใจก่อนว่า "พระเจ้า" ของชาวบ้านคืออะไร.... .. จำติดใจเลยค่ะ

ผมเองก็เชื่อเช่นที่อาจารย์ฉัตรทิพย์กล่าวครับ  อย่างน้อยที่สุดช่วงที่ผมเติบโตในวงการพัฒนา กับ NGO ในบ้านเรานั้น สภาคริสตจักรท่านมีบทบาทมาก่อน NGO หลายเท่าตัว และก้าวหน้ามาก และอิงชุชน อิงวัฒนธรรมชุมชนมากที่สุด ก่อน NGO ที่เป็นคนชั้นกลางมากมาย เรามักมาจากเจตนาบริสุทธิ์ แต่ไม่มีประสบการณ์ จนตั้ง กป.อพช.แห่งชาติขึ้นในสมัยผมนี่แหละครับ  จึงมีการประชุมแลกเปลี่ยน  สรุปบทเรียนกันมากมาย ทำให้ยกระดับกระบวนการพัฒนามากขึ้น  ก่อนนั้นเวลาคุยกันก็มักยกตัวอย่าง ซาโวดาย่า ที่ศรีลังกา คิบบุชและโมชาปที่อิสราเอล PRRM ที่ฟิลิปปินส์ และกรามินแบงค์ แม้กระทั่ง ในเกาหลีใต้ คือ เซมาอุลอัลดง ฯลฯ ทั้งนั้น ต่อมาเมื่อเรามีประสบการณ์ ชื่อดังกล่าวเลยหายไปจากการพูดคุยเลย... มาช่วงที่หลัง นักพัฒนาหยิบเอามุม แนววัฒนธรรมชุมชนมาใช้กันมาก และท่านอาจารย์ฉัตรทิพย์ก็สนับสนุนแนวทางนี้ด้วย...

บางที NGO คงเหมาะกว่าภาครัฐ เพราะรู้ว่าอาจสนใจ "ความเป็นคน" มากกว่าการคิดแค่ทำตามหน้าที่ (แต่เจ้าหน้าที่ดีๆก็มีเยอะค่ะ)

คิดเอาเองนะคะว่า วัดน่าจะเหมาะเหมือนกัน   คุณยายขาพิการ แต่ยังอาจหยิบฉวยอะไรช่วยงานโน่นนี่เบาๆได้บ้าง  จะได้ไม่เหงาและรู้สึกชีวิตมีคุณค่า

โดยเงื่อนไขแล้ว NGO น่าจะทำได้ดีกว่า  แต่ไม่ค่อยยั่งยืนเพราะต้องอาศัยงบประมาณสนับสนุนจากภายนอก(ประเทศ) มาสิบกว่าปีมานี่ที่ NGO ใหญ่ๆในไทยรณรงค์ขอรับการบริจาคมากขึ้นเพื่อระดมทุนภายในประเทศมากกว่าจะไปขอจากต่างประเทศ ท่านอาจารย์คงทราบดีอยู่แล้วนะครับ

สงสารคุณยายจัง T T อ่านแล้วยังร้องให้เลย

ทำไมลูกหลานไม่ค่อยดุแลท่านละ** ปล่อยให้ท่านต้องลำบากอย่างงี้ ได้ไง

ไม่มีความรับผิดชอบเลย รู้ไหมว่าเขาเป็นผู้ให้กำเนิดพวกคุณมานะ ไม่รู้จักตอบแทนบุญคุณท่านบ้างรึยังไง

ทำไมโง่อย่างงี้ **<<< >>> อยากจะด่าหรอกนะ เห็นแก่คุณยายท่านเถอะ กลับมาเถอะมาคอยดูแลก่อนที่ท่านจะไม่ได้อยุ่บน

โลกนี้อีก T T*

น้องเนยครับ

ขอแสดงความเสียใจด้วยนะครับคุณยายเสียไปแล้วครับ น้องสาวที่อยู่ที่บ้านบอกว่าคุณยายเสียไปแล้วหลายเดือนมาแล้วครับ...

ขอให้คุณยายสู่สุคติเถอะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท