เทคโนโลยีสารสนเทศกับการศึกษาตลอดชีวิต


สร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตด้วยเทคโลโลยีสารสนเทศ

เทคโนโลยีสารสนเทศกับการพัฒนาการศึกษาตลอดชีวิต

 

 

 

                   ในยุคโลกาภิวัตน์ความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีผลกระทบในทางบวกและทางลบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ของบุคคลอย่างรุนแรง บุคคลจึงจำเป็นต้องพัฒนาตนเองให้มีความรู้ ความคิดและทักษะชีวิตให้สามารถแก้ปัญหาและพัฒนาคุณภาพชีวิตได้อย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่เกิดจนตายโดยสังคมมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ การพัฒนาสาระและกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

 

เทคโนโลยีสารสนเทศ

 

เทคโนโลยีสารสนเทศ (Information  Technology : IT)  หมายถึง  เทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บ  ประมวลผล  และเผยแพร่สารสนเทศ  ซึ่งได้แก่  เทคโนโลยีคอมพิวเตอร์  เทคโนโลยีการสื่อสาร  และเทคโนโลยีคมนาคม

                   เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อการศึกษา  หมายถึง  การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศกับงานด้านการศึกษา  อันได้แก่  การจัดเก็บข้อมูล  และประมวลผลฐานข้อมูล  การพัฒนาระบบสารสนเทศช่วยการทดสอบวัดผล  การพัฒนาบุคคล  เช่น ระบบสารสนเทศช่วยในการเรียนการสอน การสอนทางไกลผ่านดาวเทียม การประชุมทางไกลระบบจอภาพ ระบบฐานข้อมูลทางการศึกษา และระบบสารสนเทศเอกสาร

                   แหล่งสารสนเทศ แบ่งได้ 4 กลุ่ม คือ 1)  แหล่งสารสนเทศบุคคล เป็นแหล่งสารสนเทศ ที่มีอยู่ในตัวบุคคลที่เป็นผู้รู้สารสนเทศ โดยเกิดจากการประมวลความคิด ความรู้และประสบการณ์ของแต่ละบุคคล 2)  แหล่งสารสนเทศสถาบัน หรือ สถาบันบริการสารสนเทศ เป็นแหล่งสารสนเทศที่จัดตั้งอยู่ในองค์การต่างๆ อาจเป็นหน่วยงานรัฐบาล รัฐวิสาหกิจ เอกชน สมาคม หรือองค์การระหว่างประเทศ 3) แหล่งสารสนเทศสื่อมวลชน เป็นแหล่งสารสนเทศที่มุ่งเผยแพร่สารสนเทศ ข่าวสาร เหตุการณ์ ต่อประชาชน โดยเน้นข่าวสารเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหม่ๆ รวมทั้งสาระความรู้ในเรื่องต่างๆที่เป็นประโยชน์ โดยวิธีการแพร่กระจายเสียง ภาพ และตัวอักอักษร ผ่านสื่อประเภทโทรทัศน์ วิทยุ และหนังสือพิมพ์ 4)  แหล่งสารสนเทศอินเทอร์เน็ต อินเทอร์เน็ตเป็นเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่เชื่อมโยงเครื่องคอมพิวเตอร์ทั่วโลกให้สามารถติดต่อสื่อสารกัน

การศึกษาตลอดชีวิต

 

                   การศึกษาตลอดชีวิต (Lifelong Education) หมายถึง การจัดกระบวนการทางการศึกษา เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต เป็นการจัด การศึกษาในรูปแบบของการศึกษาในระบบโรงเรียน(Formal Education) การศึกษานอกระบบโรงเรียน (Non – Formal Education)และการศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) โดยมุ่งให้ผู้เรียนเกิดแรงจูงใจที่จะเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self – directed Learning) มุ่งพัฒนาบุคคลให้สามารถพัฒนาตนเอง และปรับ ตนเองให้ก้าวทันความเปลี่ยนแปลงของสังคมการเมืองและเศรษฐกิจของโลก

 

องค์ประกอบของการศึกษาตลอดชีวิต

                   1. การจัดการศึกษาในโรงเรียน (Formal Education) หมายถึง การจัดกิจกรรมการศึกษาที่มีโครงสร้างที่ชัดเจนแน่นอนและมีลำดับ มีการแบ่งชั้นเรียนตามอายุ จัดการเรียนการสอนตามลำดับชั้น ตั้งแต่ระดับต้นจนถึงระดับสูงโดยมีลักษณะที่สำคัญคือมีหลักสูตรเวลาเรียนที่แน่นอน มีการจำกัดอายุผู้เรียน มีการลงทะเบียนเรียนและมีการวัดผล การประเมินผลเพื่อรับประกาศนียบัตร การเรียนเน้นในเรื่องอนาคตส่วนใหญ่มีสถานที่แน่นอนในการเรียน

                   2. การจัดการศึกษานอกโรงเรียน (Non-formal Education ) หมายถึง การจัดกิจกรรมการศึกษาที่จัดขึ้นนอกโรงเรียนปกติ โดยมีกลุ่มเป้าหมายผู้รับบริการเป็นประชาชนอยู่นอกโรงเรียน มีวัตถุประสงค์ในการเรียนที่ชัดเจน โดยมีกระบวนการจัดการเรียนการสอน ที่ยืดหยุ่น และสอดคล้องกับสภาพความต้องการของกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย ซึ่งมีลักษณะที่สำคัญ คือ มีหลักสูตร เวลาเรียน มีการลงทะเบียน มีการประเมินผลเพื่อรับประกาศนียบัตร ไม่จำกัดอายุ เป็นการเรียนนอกโรงเรียน เน้นการเรียนเรื่องที่เป็นสภาพปัจจุบัน เพื่อแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน มีเวลาเรียนที่ไม่แน่นอน

                   3. การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education) หมายถึง การศึกษาที่เกิดขึ้นตามวิถี ชีวิตที่เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ จากการทำงาน บุคคล ครอบครัว สื่อ ชุมชน แหล่งความรู้ต่างๆ เพื่อเพิ่มพูนความรู้ ทักษะ ความบันเทิง และการพัฒนาคุณภาพชีวิต โดยมีลักษณะที่สำคัญคือ ไม่มีหลักสูตร ไม่มีเวลาเรียนที่แน่นอน ไม่จำกัดอายุ ไม่มีการลงทะเบียน และไม่มีการสอบ ไม่มีการรับประกาศนียบัตร มีหรือไม่มีสถานที่แน่นอนเรียนที่ไหนก็ได้ ลักษณะการเรียนส่วนใหญ่เป็นการเรียนเพื่อความและนันทนาการ อีกทั้งไม่จำกัดเวลาเรียน สามารถเรียนได้ตลอดเวลาและเกิดขึ้นในทุกช่วงวัยตลอดชีวิต

                   การศึกษาทั้งสามรูปแบบ คือ การศึกษาในระบบโรงเรียน นอกระบบโรงเรียน และการศึกษาตามอัธยาศัย สามารถเทียบโอนผลการเรียนของผู้เรียนได้ โดยความรู้ ทักษะ และประสบการณ์ที่ได้จากการศึกษาในรูปแบบต่างๆ และหรือจากการประกอบอาชีพมาเทียบโอนเป็นผลการเรียนของหลักสูตรใดหลักสูตรหนึ่งในระดับที่กำลังศึกษาอยู่ ซึ่งจะสอดคล้องตามความต้องการของบุคคล ชุมชน และส่งผลต่อการพัฒนาประเทศชาติในที่สุด

 

เทคโนโลยีสารสนเทศกับการพัฒนาการศึกษาตลอดชีวิต

 

                   1.  อินเทอร์เน็ต

                   จากคำกล่าวของ  โรเบิร์ต  ไรช์  (2534) เกี่ยวกับภารกิจของชาติว่า เรากำลังดำรงชีวิตฝ่ากระแสคลื่นของความเปลี่ยนแปลง  ซึ่งจะก่อให้เกิดการปรับเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจและการเมืองในรูปแบบใหม่ในศตวรรษที่กำลังจะมาถึง   ทรัพย์สินในขั้นปฐมภูมิของแต่ละประเทศ  ขึ้นอยู่กับทักษะและไหวพริบและพลเมืองในชาติ

                   เมื่อเป็นเช่นนี้  ภารกิจพื้นฐานทางด้านการเมืองของทุกชาติก็จะต้องรับมือกับอิทธิพลต่างๆ  ของเศรษฐกิจ  โลกที่จะดึงสังคมให้เสียศูนย์โดยการเข้าไปกัดกร่อนทำลายสายใยซึ่งโยงยึดพลเมืองของชาติเข้าไว้ด้วยกันส่งผลให้ผู้ที่มีทักษะและไหวพริบปฎิภาณมากที่สุดเป็นผู้ที่มั่งคั่งยิ่งไปกว่าเดิม  ขณะที่ประชากรผู้ด้อยในทักษะต้องเผชิญกับสภาวะมาตรฐานการครองชีพที่เสื่อมถอยลงเรื่อยๆ (สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ. 2543:27)  ทำให้เกิดมุมมองว่าประเทศที่ปรับเปลี่ยนทักษะ  และไหวพริบของพลเมืองในชาติทันต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจและความก้าวหน้าทางวิทยาการ  ย่อมสร้างความมั่งคั่ง   และความร่ำรวยกว่าประเทศที่ด้อยประสิทธิภาพต่อการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว  เมื่อเป็นเช่นนี้ประเทศต่างๆ  จึงให้ความสำคัญที่จะพัฒนาประเทศเพื่อให้มีประสิทธิภาพเพียงพอต่อการเข้าสู่เวทีการแข่งขันเสรีและคงความได้เปรียบทางด้านการแข่งขันเพื่อเพิ่มศักยภาพในการต่อรอง 

                   วิสัยทัศน์ด้านการศึกษาผ่านอินเตอร์เน็ต  ซึ่งผู้เรียนสามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้ได้ด้วยตนเอง  ตามเนื้อหาที่ต้องการและสนใจ  เช่น  หลักสูตรการเรียนการสอนวิชาสามัญ  และวิชาชีพ  ความรู้ทั่วไปทั้งทางด้านสารคดี  และ บันเทิงคดี  กิจกรรมการเรียนการสอนที่หน่วยงานทางการศึกษาที่สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ  หรือสังกัดทบวงมหาวิทยาลัย  ได้จัดกิจกรรมผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์  ได้แก่  โครงการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียมของกรมสามัญศึกษา  กรมการศึกษานอกโรงเรียน,   มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช  และ  มหาวิทยาลัยรามคำแห่ง  หรือ  โครงการการเรียนการสอนแบบปฏิสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต

                                2.  E – Book 

                   E – Book  หมายถึง  การเก็บเนื้อหาความรู้ต่างๆ  อาทิเช่น  เนื้อหาทางวิชาการ  สารคดี  และบันเทิงคดี  ในรูปแบบข้อความอิเล็กทรอนิกส์  อยู่บนเว็บเพ็จ  โดยผู้เรียนสามารถเปิดศึกษาจากคอมพิวเตอร์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต หรือ  บันทึกลงบนแผ่นซีดีรอม  ซึ่งเปิดศึกษาโดยใช้เครื่องเล่นซีดีรอมหรือ  เครื่องคอมพิวเตอร์  ปัจจุบันนี้หนังสือประเภทต่างๆ  ได้มีการผลิตบันทึกเนื้อหาลงบนแผ่นซีดีง่ายต่อการจัดเก็บรักษาและสะดวกต่อการพกพาที่จะนำไปศึกษานอกสถานที่

                   3.  E-Library Centre 

                   E-Library Centre หมายถึง  ห้องสมุดกลางอิเล็กทรอนิกส์ที่จัดเก็บเฉพาะเอกสารสิ่งพิมพ์ในรูปสื่ออิเล็กทรอนิกส์เท่านั้น  เช่น  เทปคาสเซ็ต  ม้วนวีดีโอ  แผ่นซีดี  โดยให้ผู้ที่เป็นสมาชิกห้องสมุด  หรือ  ผู้ที่สนใจสามารถศึกษาสาระเนื้อหาทั้งวิชาการ  สารคดีและบันเทิงคดี  โดยนำมาเปิดศึกษาจากเครื่องเล่นซีดีรอมหรือ  เครื่องคอมพิวเตอร์  รวมทั้งศึกษาจากเครือข่ายอินเตอร์เน็ต  ขณะนี้ยังไม่มีสถานที่เฉพาะส่วนมากจะจัดอยู่ในบางมุมของห้องสมุดมหาวิทยาลัย 

                                4.  E-TEACHER  

                   E-TEACHER หมายถึง  การใช้  Web-based Course  ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต  เป็นสื่อดำเนินการจัดกระบวนการเรียนการสอนพร้อมทั้งประเมินผลการเรียนรู้ได้ทันที  โดยเริ่มจากการศึกษาหาความรู้ในเนื้อหาที่อยู่เว็บไซค์   การถาม ตอบทางระบบกระดานถาม ตอบอิเล็กทรอนิกส์  รวมทั้งทำแบบทดสอบพร้อมแสดงผลประเมินผล  ของเนื้อหาทันที่เมื่อทำแบบทดสอบเสร็จตามเวลาที่กำหนด   ซึ่งขณะนี้  มหาวิทยาลัยรามคำแห่งได้จัดทำโครงการการเรียนการสอนแบบปฏิสัมพันธ์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต  ชุดภาษาอังกฤษเพื่อพัฒนาอาชีพ  โดยครูผู้สอนเป็นโปรแกรมบทเรียนทางอินเตอร์เน็ต   รวมทั้งการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ประเภทอื่นๆ  ที่ใช้บันทึกเนื้อหา  และวิธีการเรียนการสอน   เช่น  เทปคาสเซ็ต,   เทปวิดีโอ  และ  แผ่นซีดีรอม  เช่น  โปรแกรมการเรียนการสอนในการใช้เครื่องคอมพิวเตอร์จากเทปวิดีโอ  หรือ แผ่นซีดีรอม, โปรแกรมการเรียนรู้ภาษาอังกฤษของ Follow  me  เป็นต้น 

                   5.  ETV  สู่การศึกษาในยุคปฏิรูป

                   สถานีวิทยุโทรทัศน์เพื่อการศึกษากระทรวงศึกษาธิการ (Educational Television)  หรือ ETV เพื่อนำมาใช้เรื่องการสนับสนุนการเรียนในชั้นเรียนให้กับผู้เรียน  เกิดขึ้นภายใต้โครงการจัดการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม  ภายใต้ความร่วมมือระหว่าง  กรมการศึกษานอกโรงเรียน  กระทรวงศึกษาธิการกับมูลนิธิไทยคม   เผยแพร่สัญญาณภาพรายการโทรทัศน์เพื่อการศึกษา   ด้วยสัญญาณที่คมชัดทั้งภาพและเสียง  รวมทั้งมีรัศมีการรับชมครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศโดยไม่มีอุปสรรค  มีข้อมูลที่เป็นประจักษ์พยานถึงคุณค่าที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเป้าหมาย  ETV สามารถเร้าความสนใจและเพิ่มประสิทธิภาพในการสร้างองค์ความรู้  เนื่องจากสามารถนำภาพของจริง   เรื่องไกลตัวหรือเรื่องสลับซับซ้อนและกระบวนการเปลี่ยนแปลงต่างๆ   มาสู่ผู้เรียนรู้หรือผู้ชมได้สถานศึกษาที่อยู่ห่างไกลยังสามารถใช้สื่อ  ETV ขาดแคลนครูได้อีกด้วย   เพื่อแก้ไขปัญหาการ

                   6.  การออกแบบบทเรียนออนไลน์

 

                                อินเทอร์เน็ตมีคุณค่าในการจัดการเรียนการสอนอย่างมากมาย  จากการสำรวจคุณค่าทางการศึกษาของกิจกรรมบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ทั่วประเทศสหรัฐอเมริกา  โดยวิทยาลัยครูแบงค์สตรีท (Bank  Street College of Education)  ใน พ.ศ. 2536  พบว่ากิจกรรมบนเครือข่ายคอมพิวเตอร์ช่วยเปิดโลกกว้างให้กับผู้เรียน  กิจกรรมการเรียนการสอนบนเครือข่ายมีผลให้ผู้เรียนมีการรับรู้เกี่ยวกับสังคม   วัฒนธรรมและโลก  (Social Awareness, Cultural Awareness and Awareness about the World)  มากขึ้น (Honey & Heriquez : 1993)

                     รูปแบบของการนำอินเตอร์เน็ตมาใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตรูปแบบหนึ่งก็คือ  การเรียนการสอนผ่านเว็บ   เป็นการใช้เว็บมาเป็นสื่อในการเรียนการสอบ  โดยอาจใช้เว็บเพื่อนำเสนอบทเรียนในลักษณะสื่อหลายมิติของวิชาทั้งหมดตามหลักสูตรหรือใช้เพียงการเสนอข้อมูลบางอย่างเพื่อประกอบการสอนก็ได้ รวมทั้งใช้ประโยชน์จากคุณลักษณะต่างๆ  ของสื่อสารที่มีอยู่ในระบบ

 

                   นับแต่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา วิถีของการพัฒนาและการเปลี่ยนแปลงของสังคมเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันกันอย่างเสรีในเวทีโลก ทำให้นานาประเทศต้องเตรียมความพร้อมต่อการเข้าสู่ยุคแห่งโลกาภิวัฒน์ ที่มีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อให้ได้เปรียบต่อสภาวะการแข่งขันกันอย่างเสรีในทุกด้าน ประเทศไทยจึงเตรียมความพร้อมประชาชนให้มีสามารถรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและซับซ้อนได้โดยใช้การศึกษาเป็นเครื่องมือในการพัฒนาประชาชนจึงได้กำหนดแผนพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ ตั้งแต่ฉบับที่ 8 (พ.ศ. 2540 -2544) และแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ ฉบับที่ 8 ที่เน้นในเรื่องการพัฒนาคน รวมทั้งปฏิรูประบบการศึกษาโดยออกกฎหมายเป็นพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 การใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษาเป็นส่วนหนึ่งในมาตราของพระราชบัญญัติดังกล่าวที่จะพัฒนาปวงชนในประเทศให้มีความรู้และทักษะเพียงพอที่จะใช้เทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ในการแสวงหาความรู้ด้วยตนเองได้อย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต โดยเฉพาะในด้านการใช้เครือข่ายทางอินเตอร์เน็ตซึ่งเป็นเทคโนโลยีสารสนเทศที่มาช่วยเสริมสร้างความรู้เชื่อมโยงแหล่งความรู้เพื่อลดช่วงและระยะเวลาในการเรียนรู้ รวมทั้งส่งเสริมวิถีการเรียนรู้ของปวงชนให้เกิดความต่อเนื่องตลอดชีวิตด้วยตัวของเขาเอง ตามความพร้อมและความต้องการต่อการดำรงชีวิตในสังคมอย่างมีความสุข

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 169575เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2008 16:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 08:31 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท