รูปแบบการจัดการความรู้ในโรงเรียน


การจัดการความรู้ สู่ องค์กรแห่งการเรียนรู้

รูปแบบการจัดการความรู้ในโรงเรียนวัดหนองแตน... สู่ ... สังคมแห่งการเรียนรู้

 

                   การจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management เป็นเรื่องค่อนข้างใหม่ ซึ่งเกิดขึ้นจากการ  ค้นพบว่า องค์กรต้องสูญเสียความรู้ไปพร้อมๆ กับการที่บุคลากรลาออกหรือเกษียณอายุราชการ อันส่งผลกระทบต่อการดำเนินการขององค์กรเป็นอย่างยิ่ง ดังนั้นจากแนวคิดที่มุ่งพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้มากแต่เพียงอย่างเดียวจึงเปลี่ยนไป และมีคำถามต่อไปว่าจะทำอย่างไรให้องค์กรได้เรียนรู้ด้วย ดังนั้น                   การบริหารจัดการความรู้จึงสัมพันธ์กับเรื่อง องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization) เป็นอย่างยิ่ง สำหรับประเทศไทยนั้นคงเป็นเรื่องท้าทายสำหรับผู้บริหารที่จะหายุทธวิธีในการดึงความรู้ออกมาจากตัวบุคคล และการกระตุ้นให้บุคลากรถ่ายทอดความรู้ให้เพื่อนร่วมงาน ซึ่งการถ่ายทอดความรู้บางประเภทนั้น การฝึกอบรมอาจจะไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด อุปสรรคที่มักพบอยู่เสมอของการบริหารจัดการความรู้ คือพฤติกรรม "การหวงความรู้" และวัฒนธรรม "การไม่ยอมรับในตัวบุคคล" หากองค์กรสามารถกำจัดจุดอ่อนทั้งสองอย่างนี้ได้การบริหารจัดการความรู้ก็มิใช่เรื่องยากจนเกินไป สืบเนื่องจากการปฏิรูประบบราชการครั้งสำคัญที่ผ่านมาพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารกิจการบ้านเมือง  ที่ดี พ.ศ. 2546 เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อผลักดันแนวคิดธรรมาภิบาล (Good Governance) ให้เกิดผลเป็นรูปธรรมขึ้น โดยมาตรา 11 กำหนดไว้ว่า ส่วนราชการมีหน้าที่พัฒนาความรู้ในส่วนราชการ เพื่อให้มีลักษณะเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างสม่ำเสมอ โดยต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารและสามารถประมวลผลความรู้ในด้านต่างๆ  เพื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการปฏิบัติราชการได้อย่างถูกต้อง รวดเร็ว เหมาะสมกับสถานการณ์ รวมทั้งต้องส่งเสริมและพัฒนาความรู้ความสามารถ สร้างวิสัยทัศน์ และปรับเปลี่ยนทัศนคติของข้าราชการในสังกัดให้เป็นบุคลากรที่มีประสิทธิภาพและมีการเรียนรู้ร่วมกัน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการปฏิบัติราชการของสถานศึกษาให้สอดคล้องกับการบริหารราชการให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามพระราชกฤษฎีกานี้ จึงเสนอรูปแบบการจัดการความรู้ในสถานศึกษา ตามลำดับดังนี้

 

ความหมายของการจัดการความรู้

 

                   การจัดการความรู้ (Knowledge Management : KM) คือ การรวบรวมองค์ความรู้ที่กระจัดกระจายทั้งที่เป็นความรู้แบบรูปธรรม คือมีการบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร และความรู้แบบนามธรรมคือความรู้ที่อยู่ในตัวบุคคล เช่น ประสบการณ์ พรสวรรค์ สัญชาติญาณ มาประมวล/พัฒนาให้เป็นระบบ ให้สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาตนเองและพัฒนางาน/องค์กรให้มีประสิทธิภาพสูงสุด บรรลุตามเป้าหมายที่วางไว้

                   ความรู้มี 2 ประเภท คือ

                   1.  ความรู้ที่ฝังอยู่ในคน (Tacit Knowledge) เป็นความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ พรสวรรค์หรือสัญชาติญาณของแต่ละบุคคลในการทำความเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ เป็นความรู้ที่ไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นคำพูดหรือลายลักษณ์อักษรได้โดยง่าย เช่น ทักษะในการทำงาน งานฝีมือ หรือการคิดเชิงวิเคราะห์ บางครั้ง จึงเรียกว่าเป็นความรู้แบบนามธรรม

                   2.  ความรู้ที่ชัดแจ้ง (Explicit Knowledge) เป็นความรู้ที่สามารถรวบรวม ถ่ายทอดได้ โดยผ่านวิธีต่าง ๆ เช่น การบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษร ทฤษฎี คู่มือต่าง ๆ และบางครั้งเรียกว่าเป็นความรู้แบบรูปธรรม

 

การจัดทำแผนการจัดการความรู้

 

                แนวคิดการจัดทำแผนการจัดการความรู้ (Knowledge Management Action Plan) ของโรงเรียนได้ประยุกต์มาจากการจัดการความรู้ของสำนักงาน ก... และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ คือนำแนวคิดเรื่องกระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management Process) และกระบวนการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง (Change Management Process) มาประยุกต์ใช้ในการจัดทำแผนการจัดการความรู้ (KM Action Plan) ดังนี้

 

                   1.  กระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management Process)  

                   กระบวนการจัดการความรู้ (Knowledge Management Process) เป็นกระบวนการแบบหนึ่งที่จะช่วยให้องค์กรเข้าใจถึงขั้นตอนที่ทำให้เกิดกระบวนการจัดการความรู้ หรือพัฒนาการของความรู้ที่จะเกิดขึ้นภายในองค์กร ประกอบด้วย 7 ขั้นตอน ดังนี้

                   1)  การบ่งชี้ความรู้เช่นพิจารณาว่า วิสัยทัศน์/ พันธกิจ/ เป้าหมาย คืออะไร และเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย เราจำเป็นต้องรู้อะไร , ขณะนี้เรามีความรู้อะไรบ้าง, อยู่ในรูปแบบใด, อยู่ที่ใคร

                   2)  การสร้างและแสวงหาความรู้เช่นการสร้างความรู้ใหม่, แสวงหาความรู้จากภายนอก, รักษาความรู้เก่า, กำจัดความรู้ที่ใช้ไม่ได้แล้ว

                   3)  การจัดความรู้ให้เป็นระบบ - เป็นการวางโครงสร้างความรู้  เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเก็บความรู้ อย่างเป็นระบบในอนาคต

                   4)  การประมวลและกลั่นกรองความรู้เช่นปรับปรุงรูปแบบเอกสารให้เป็นมาตรฐาน,           ใช้ภาษาเดียวกัน, ปรับปรุงเนื้อหาให้สมบูรณ์

                   5)  การเข้าถึงความรู้เป็นการทำให้ผู้ใช้ความรู้นั้นเข้าถึงความรู้ที่ต้องการได้ง่ายและสะดวก เช่น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT), Web board , บอร์ดประชาสัมพันธ์ เป็นต้น

                   6)  การแบ่งปันแลกเปลี่ยนความรู้ทำได้หลายวิธีการ โดยกรณีเป็น Explicit Knowledge อาจจัดทำเป็น เอกสาร, ฐานความรู้, เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือกรณีเป็น Tacit Knowledge อาจจัดทำเป็นระบบ ทีมข้ามสายงาน, กิจกรรมกลุ่มคุณภาพและนวัตกรรม, ชุมชนแห่งการเรียนรู้, ระบบพี่เลี้ยง, การสับเปลี่ยนงาน, การยืมตัว, เวทีแลกเปลี่ยนความรู้ เป็นต้น

                   7)  การเรียนรู้ ควรทำให้การเรียนรู้เป็นส่วนหนึ่งของงาน เช่นเกิดระบบการเรียนรู้จาก  สร้างองค์ความรู้>นำความรู้ไปใช้>เกิดการเรียนรู้และประสบการณ์ใหม่ และหมุนเวียนต่อไปอย่างต่อเนื่อง

 

                   2.  กระบวนการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง (Change Management Process)

 

                   กระบวนการบริหารจัดการการเปลี่ยนแปลง (Change Management Process) เป็นกรอบความคิดแบบหนึ่งเพื่อให้องค์กรที่ต้องการจัดการความรู้ภายในองค์กร ได้มุ่งเน้นถึงปัจจัยแวดล้อมภายในองค์กรที่จะมีผลกระทบต่อการจัดการความรู้ ประกอบด้วย 6 องค์ประกอบ ดังนี้

                   1)   การเตรียมการและปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น กิจกรรมการมีส่วนร่วมและสนับสนุนจากผู้บริหาร (ที่ทุกคนมองเห็น), โครงสร้างพื้นฐานขององค์กร, ทีม/ หน่วยงานที่รับผิดชอบ, มีระบบการติดตามและประเมินผล, กำหนดปัจจัยแห่งความสำเร็จชัดเจน

                   2)  การสื่อสาร เช่น กิจกรรมที่ทำให้ทุกคนเข้าใจถึงสิ่งที่องค์กรจะทำ, ประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับทุกคน, แต่ละคนจะมีส่วนร่วมได้อย่างไร

                   3)  กระบวนการและเครื่องมือ ช่วยให้การค้นหา เข้าถึง ถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนความรู้สะดวกรวดเร็วขึ้น โดยการเลือกใช้กระบวนการและเครื่องมือ ขึ้นกับชนิดของความรู้, ลักษณะขององค์กร (ขนาด, สถานที่ตั้ง ฯลฯ), ลักษณะการทำงาน, วัฒนธรรมองค์กร, ทรัพยากร

                   4)  การเรียนรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญและหลักการของการจัดการความรู้ โดยการเรียนรู้ต้องพิจารณาถึง เนื้อหา, กลุ่มเป้าหมาย, วิธีการ, การประเมินผลและปรับปรุง

                   5)  การวัดผล เพื่อให้ทราบว่าการดำเนินการได้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่, มีการนำผลของการวัดมาใช้ในการปรับปรุงแผนและการดำเนินการให้ดีขึ้น, มีการนำผลการวัดมาใช้ในการสื่อสารกับบุคลากรในทุกระดับให้เห็นประโยชน์ของการจัดการความรู้  และการวัดผลต้องพิจารณาด้วยว่าจะวัดผลที่ขั้นตอนไหนได้แก่ วัดระบบ (System), วัดที่ผลลัพธ์ (Out put) หรือวัดที่ประโยชน์ที่จะได้รับ (Out come)

                   6)  การยกย่องชมเชยและให้รางวัล เป็นการสร้างแรงจูงใจให้เกิดการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการมีส่วนร่วมของบุคลากรในทุกระดับ โดยข้อควรพิจารณาได้แก่ ค้นหาความต้องการของบุคลากร, แรงจูงใจระยะสั้นและระยะยาว, บูรณาการกับระบบที่มีอยู่, ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับกิจกรรมที่ทำในแต่ละช่วงเวลา

 

รูปแบบการจัดการความรู้

              รูปแบบการจัดการความรู้โรงเรียนวัดหนองแตน ประยุกต์มาจากโมเดลไข่ ประกอบไปด้วย 5 ขั้นตอน ดังนี้

              1)  การจัดการให้เกิดการเรียนรู้ (Learning) เพื่อมุ่งหวังว่าจะสามารถสร้างภาพฝันร่วมกันของบุคลากรทุกคนในสถานศึกษาได้อย่างง่ายๆ (Simplify) ไปกับงานประจำเดิมที่ทำอยู่ พร้อมกับสร้างสภาพแวดล้อม (Surrounding) ต่างๆ ของสถานศึกษาให้เอื้อต่อการเรียนรู้ เนื่องจากการเรียนรู้เป็นบ่อเกิดของความรู้และปัญญา โดยต้องมีการเตรียมคน เตรียมทีม เตรียมกิจกรรม เตรียมเครื่องมือเทคโนโลยี และเตรียมบรรยากาศสถานศึกษาที่ดีที่จะทำให้คนเกิดการเรียนรู้ได้ดี มีความคิดสร้างสรรค์

              2)  การจัดการให้เกิดองค์ความรู้ (Knowledge Organizing) เพื่อให้บุคลากรทุกคนใน สถานศึกษา รู้ว่าหน่วยงานของเราต้องมีความรู้อะไรจึงจะทำให้งานได้ผลดี เมื่อรู้แล้วจะไปหามาจากไหนได้บ้าง จะสร้าง จะค้นหามาไว้เพื่อนำเอามาจัดรวมให้เป็นวิธีการทำงาน หรือนวัตกรรมของสถานศึกษา ซึ่งในขั้นตอนนี้บุคลากรทุกคนจะมีบทบาทหลัก

              3)  การจัดการให้เกิดการใช้ความรู้ (Knowledge Acting) เพื่อทำให้องค์ความรู้ที่มีอยู่นั้นได้มีโอกาสนำมาใช้หรือทดลองปฏิบัติจริงในสถานศึกษาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน

              4)  การจัดการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (Knowledge Sharing) เพื่อให้คนทำงานที่ทำงานได้ผลดีได้นำเอาวิธีที่ปฏิบัติจนได้ผลดีนั้นมาเล่าแลกเปลี่ยนให้คนอื่นๆ ได้รับทราบและนำเอาไปประยุกต์ใช้ได้

              5)  การจัดการให้เกิดคลังความรู้ (Knowledge Asset) เพื่อให้มีการจัดเก็บ เผยแพร่ ทบทวน เข้าถึงความรู้ที่ดีที่ผ่านการนำไปปฏิบัติอย่างเห็นผลมาแล้ว ไว้ให้คนอื่นๆ ได้เอาไปดู ไปใช้ เอาไปต่อยอดได้ง่าย จนเกิดพลังความรู้มากขึ้นหรือยกระดับความรู้มากขึ้น (Spiral knowledge)

                   หัวใจของการจัดการความรู้ (KM) เป็นลำดับชั้นมาเริ่มแต่ข้อความแรกที่ว่า ความรู้คือพลัง หรือความรู้คืออำนาจ ซึ่งเป็นข้อความเป็นที่ยอมรับที่เป็นสากล ทั้งภาคธุรกิจ เอกชน และภาคราชการ จากการยอมรับดังกล่าวมาสู่การเน้นที่ปฏิสัมพันธ์ของคนว่ามีความสำคัญในการถ่ายทอดความรู้กว่าเครื่องมือหรือเอกสารใดและมักกล่าวถึงว่า แม้ความรู้จะถูกจัดระบบและง่ายต่อการเข้าถึงของบุคคล  ต่าง ๆ ดีเพียงใดก็ตาม ถ้ามีความรู้ เกิดความรู้ขึ้นแล้ว หากไม่นำไปใช้ประโยชน์ ก็ไม่ใช่จุดหมายปลายทางของ  ความรู้และที่ชัดเจนก็คือ ประโยคสุดท้ายที่เน้นการนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ให้เกิดมรรคผลมีคุณค่าประโยชน์เป็นรูปธรรมว่านั่นเป็นนิยามใหม่ของผู้ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการเลยทีเดียว  ดังนั้น อาจกล่าวได้ว่าหัวใจของ KM อยู่ที่การนำความรู้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม

 

หมายเลขบันทึก: 169574เขียนเมื่อ 7 มีนาคม 2008 16:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 พฤษภาคม 2012 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ได้ความรู้แต่อยากขอตัวอย่าง workflow knowledge management เพราะได้รับมอบหมายให้จัดอบรมครู โดยนำปัญหาจาการนิเทศครูมากำหนดหัวข้อการอบรมครู โดยนำ km มาใช้ในการอบรมครู ไม่มีความรู้ด้าน km

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท