ธรรมมาตา : อ้อมกอดแห่งมารดาคือธรรม


คัดลอกจากบทความของ ฐิตวํโส ภิกฺขุ*

            เมื่อครั้งที่ได้เดินทางไปร่วมประชุมนานาชาติ เนื่องในโอกาสฉลองความสัมพันธ์ทางพุทธศาสนาระหว่างไทย-ศรีลังกาครบ ๒๕๐ ปี ที่ประเทศศรีลังกา ทำให้ได้พบเหตุการณ์ที่น่าประทับใจและซาบซึ้งใจเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะกระบวนการเลี้ยงดูแลเอาใจใส่เด็กๆและเยาวชนของครอบครัวศรีลังกาที่ใช้ด้านบวกของพุทธศาสนาเข้ามาเป็นอ้อมกอดแห่งไออุ่นที่ฟูมฟักให้เด็กและเยาวชนของศรีลังกาได้เติบโตขึ้นมาอย่างสมบูรณ์ พร้อมกับการสร้างสายใยแห่งครอบครัวที่อบอุ่นและเข้มแข็งได้อย่างดียิ่ง

 

ขบวนแห่แห่งการเรียนรู้พุทธศาสนา

            ในงานขบวนแห่อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุประจำปีที่วัดกัลยาณี หรือที่เรียกตามภาษาถิ่นว่าวัด เกลานีย่า อาตมภาพได้พบเห็นว่ามีเด็กๆและเยาวชนได้มาร่วมงานเป็นจำนวนมาก ภาพที่ประทับใจก็คือระหว่างทางที่รถวิ่งไปที่วัดเราจะพบเห็นครอบครัวได้เดินเท้ามาด้วยกันจากทุกสารทิศทั้งพ่อแม่ลูกเป็นจำนวนเรือนหมื่นเรือนแสน ต่างก็เดินเท้ามาด้วยความกระตือรือร้นมีรอยยิ้มแห่งความสุขบนใบหน้า  เมื่ออาตมาไปถึงที่วัดก็อัศจรรย์ใจว่าคนเป็นเรือนหมื่นเรือนแสนทั้งลูกเล็กเด็กแดงทั้งพ่อแม่ปู่ย่าตายาย สามารถนั่งรายล้อมบริเวณวัดเฝ้าดูขบวนแห่อย่างพร้อมเพรียงเป็นระเบียบได้เองอย่างลงตัว โดยไม่ต้องให้ใครมาคอยประกาศจัดแถวเลย และที่น่าอัศจรรย์และปีติใจเป็นที่ยิ่งก็คือ คนลังกาเป็นเรือนหมื่นเรือนแสนมารวมกันก็ไม่พบเห็นใครมั่วสุมอบายมุขเลยแม้แต่นิดเดียว บุหรี่จะสูบสักมวนเดียวก็ไม่มีให้เห็นเลย ถ้าจะมีก็คือนักท่องเที่ยวฝรั่งต่างชาติที่สูบบุหรี่ให้เห็นได้บ้าง  ภาพของเด็กและเยาวชนจำนวนมากได้วิ่งเล่นกันอย่างสนุกสนาน ดูจะมีความสุขความตื่นเต้นดีใจที่ได้มาเข้าร่วมขบวนแห่พระบรมสารีริกธาตุในครั้งนี้ เด็กมีส่วนร่วมในการแสดงในขบวนแห่และการรับชมขบวนแห่อย่างมีความสุข ประธานาธิบดีที่มาเป็นประธานก็มีความเป็นแบบอย่างที่ดีในฐานะชาวพุทธที่มาร่วมพิธีในครั้งนี้

 

พุทธศาสนานำพาครอบครัวตอกหมุดสร้างวิถีแห่งกตเวที

            ที่น่าสนใจเข้าไปอีกก็คือ เมื่อสอบถามถึงพฤติกรรมของเยาวชนวัยรุ่นที่นั่นที่เคยตกเป็นเมืองขึ้นประเทศตะวันตกมาหลายประเทศด้วยกัน จะมีพฤติกรรมเช่นไร ก็ทั้งได้ยินและพบเห็นว่าเยาวชนที่นั่นเกือบทั้งหมดมีค่านิยมและพฤติกรรมรักนวลสงวนตัวเป็นปกติ ไม่ยุ่งเกี่ยวกับสุรายาเสพติด ยึดมั่นวิถีชีวิตตามหลักการของศีล ๕  ทั้งนี้ได้สอบถามและพบเห็นว่าปัจจัยที่สำคัญที่ทำให้เยาวชนวัยรุ่นยังคงมีพฤติกรรมเป็นชาวพุทธที่ดีอย่างเป็นปกตินั้น มาจากคุณลักษณะที่สำคัญมากก็คือเด็กและเยาวชนชาวพุทธศรีลังกามีความเคารพเชื่อฟังพ่อแม่อย่างมาก และถ้าเราจะวิเคราะห์พิจารณาต่อไปล่ะว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยที่ทำให้ระบบการเลี้ยงดูของครอบครัวชาวพุทธศรีลังกานั้นประสบความสำเร็จที่ทำให้ลูกได้มีความรักความกตัญญูเคารพเชื่อฟังพ่อแม่เป็นอย่างดีจนทำให้มีพฤติกรรมที่ดีอย่างที่กล่าวมานี้

 

บ้าน-วัด-โรงเรียน-สื่อสารมวชน ประสานพลังเพื่อลูกหลาน

            ทุกเช้าก่อนที่ลูกจะออกจากบ้านไปโรงเรียน เด็กๆ จะกราบไปที่เท้าของคุณพ่อคุณแม่ พร้อมกับสวดมนต์บูชาคุณพ่อแม่ที่มีทำนองเสียงสวดที่ไพเราะมากๆ (ขอยืนยันว่าฟังแล้วได้ความรู้สึกซาบซึ้งประทับใจมากๆ) ยิ่งเมื่อได้ทราบคำแปลก็ยิ่งรู้สึกซาบซึ้งมากๆ เด็กๆ จะก้มลงกราบที่เท้าและเปล่งคำสวดเช่นนี้ทุกวัน และเมื่อกลับจากที่โรงเรียนมาที่บ้านหรือก่อนนอนลูกก็จะก้มลงกราบคุณพ่อคุณแม่ที่เท้าพร้อมกับเปล่งคำสวดบูชาคุณเช่นนี้ทุกคืน พุทธศาสนาได้มีกุศโลบายนำพาให้ครอบครัวได้ตอกหมุดความกตัญญู และความเคารพศรัทธาในพระรัตนตรัยมาตั้งแต่เริ่มพอจำความหรือพูดได้ ที่บ้านสอนอย่างไรให้ฝึกอย่างไร ที่โรงเรียนและวัดก็สอนให้ฝึกให้ทำเช่นนั้น สื่อสารมวลชนก่อนจะเปิดสถานีออกอากาศในช่วงเช้า ก็จะแพร่ภาพการสวดมนต์บูชาพระรัตนตรัยและการสวดบูชาคุณพ่อแม่ สรุปได้ว่า ทั้งบ้าน วัด โรงเรียน สื่อสารมวลชนต่างก็ช่วยกันพูดเรื่องเดียวกันทำเรื่องเดียวกัน คือช่วยกันตอกหมุดความกตัญญูและความเคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนาให้เกิดขึ้นในจิตใจของลูกหลานชาวพุทธศรีลังกาที่เป็นคนหมู่ใหญ่ของประเทศ (ประเทศศรีลังกามีชาวพุทธอยู่ประมาณร้อยละ ๗๐) ซึ่งต่างจากวิถีของผู้คนในสังคมไทยอย่างกับฟ้ากะดินเลยทีเดียว

 

พุทธศาสนาทำให้ระบบนิเวศน์สมบูรณ์

            ทุกวันตอนเย็นเราจะเห็นครอบครัวศรีลังกาก็จะนำพาจูงมือกันไปสวดมนต์ที่วัด เมื่อเข้าวัดก็จะมีกิจกรรมดีๆ ให้ทำทันที เช่นการถอดรองเท้า การถือภาชนะใส่น้ำไปเดินเวียนรอบต้นโพธิ ๓ รอบแล้วก็อธิษฐานจิตผ่านน้ำที่บรรจงรดลงที่โคนต้นโพธิ เป็นกุศโลบายที่ดียิ่งที่นำพาให้ผู้คนได้ปฏิบัติเจริญสติฝึกสมาธิเดินจงกรมรอบต้นโพธิในวิถีชีวิต หมั่นให้ตั้งจิตอธิษฐานในทางกุศลธรรมทุกๆ วันและฝากไว้กับต้นโพธิให้เป็นประจักษ์พยาน และยังเป็นการปลูกฝังให้คนศรีลังกาเป็นคนรักและกตัญญูต่อต้นไม้ต่อธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ชาวพุทธลังกามีค่านิยมและพฤติกรรมอยู่ในหลักศีล ๕ จึงไม่ฆ่าสัตว์ทั้งเพื่อกินหรือเพื่อบวงสรวง จึงทำให้พวกเขาเลือกที่จะกินอาหารมังสวิรัติเป็นปกติ นกกาและสรรพสัตว์ทั้งหลายโบยบินและเกาะอิงอาศัยตามต้นไม้ต่างๆ ที่มีอยู่มากอย่างปลอดภัย ระบบนิเวศน์วิทยาในศรีลังกาจึงยังสมบูรณ์อยู่มาก ก็เพราะได้รับอานิสงส์จากพระพุทธศาสนา

 

แรงบันดาลใจจากลังกานำพามาสู่วิถีพุทธของไทย

            อาตมาได้เคยนำตัวอย่างของการที่ครอบครัวชาวพุทธศรีลังกา ใช้พุทธศาสนามาช่วยโอบอุ้มและเลี้ยงดูลูกหลานของเขา มาเล่าให้กับโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียนวิถีพุทธของประเทศไทยได้ฟังบ้าง ก็มีโรงเรียนที่สนใจโดยเฉพาะเรื่องวิถีการตอกหมุดกตัญญูกราบเท้าสวดมนต์บูชาคุณพ่อคุณแม่ทุกวัน ก็มีท่านผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแม่จ้อง จ.เชียงใหม่ ได้ตั้งข้อสังเกตุว่าสำหรับครอบครัวไทยนั้นยากมาก อย่าว่าแต่กราบเท้าเลย แค่จะให้ยกมือไหว้หรือกล่าวสวัสดีก็ยากแล้ว แต่ด้วยศรัทธาและปัญญาของ ผอ.ท่านนั้น ก็ได้นำไปปรับประยุกต์เป็นอุบายให้เด็กได้เรียนภูมิปัญญาท้องถิ่นเรื่องการนวดเท้า และกำหนดให้กับไปนวดเท้าพ่อแม่ทุกๆ วันเป็นงานของโรงเรียนให้เป็นการบ้าน แม้ว่าใหม่ๆ จะมีการเขินอายบ้าง แต่เมื่อผ่านไปไม่กี่วันพ่อแม่ก็มีความชอบใจ และให้ความร่วมมือกับโรงเรียนอย่างดียิ่ง  ซึ่งเป็นตัวอย่างที่ดีที่ชี้ให้เห็นว่าโรงเรียนไม่ได้ปล่อยเรื่องของบ้านหรือครอบครัวไปตามยถากรรมแต่ตั้งใจออกแบบและสร้างอุบายเป็นกิจกรรมที่นำพาให้สายใยภายในของครอบครัวเกิดความเข้มแข็งและอบอุ่นมากขึ้น เวลาทุกครอบครัวมีเท่ากันคือ ๒๔ ชั่วโมง แต่ถ้าจะถามว่าจะมีเวลาคุณภาพสักกี่ชั่วโมงใน ๑ วัน หลายครอบครัวอาจจะตอบไม่ได้เลย  แต่ครอบครัวของโรงเรียนแห่งนี้มีเวลาคุณภาพของครอบครัวทุกๆวัน วันละครึ่งถึงหนึ่งชั่วโมง ที่พ่อแม่ลูกได้ทำกิจกรรมแห่งความรักความกตัญญูกตเวทีนี้ร่วมกัน  ตอนเย็นพ่อแม่จะมีท่าทีรีบกลับบ้าน ถ้าถูกถามว่าจะรีบไปไหน เขาก็จะตอบว่า กลับไปให้ไอ้หนูมันนวด วิถีกตเวทีสร้างความอบอุ่นในครอบครัว ก็กลายเป็นวัฒนธรรมวิถีชีวิตที่มีความหมายขึ้นมาอีกครั้ง

            นอกจากนั้นโรงเรียนวิถีพุทธแห่งนี้ยังได้ประสานความร่วมมือให้มีการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวพุทธและมรดกทางศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นขึ้นมาพร้อมกันจนสร้างความเข้มแข็งกลมเกลียวกันทั้งชุมชนให้กลับคืนมาได้สำเร็จ เป็นที่น่าชื่นชมอย่างมาก โรงเรียนวิถีพุทธจึงทำหน้าที่เป็นตัวเชื่อมประสานระหว่างบ้าน วัด โรงเรียน หรือ บวร เข้าด้วยกันอย่างดียิ่ง โรงเรียนทำหน้าที่เสมือนเป็นเจ้าภาพต้นเริ่ม ที่มือข้างหนึ่งก็ไปจับกับบ้านหรือครอบครัว มืออีกข้างหนึ่งก็ไปจับกับวัดและศาสนา มาร่วมกันสร้างชุมชนที่อบอุ่นและปลอดภัยให้กับลูกหลานของตนเอง ให้มีอ้อมกอดแห่งมารดาคือธรรมะกลับมาโอบล้อมปกป้องลูกหลานของเราให้ปลอดภัยจากสังคมที่เลวร้ายในทุกวันนี้ได้อีกครั้ง

 

วิถีพุทธ: ทางรอดแห่งสังคมไทยแต่ต้องอนาถใจโตตามยถากรรม? เพราะ..

            ครอบครัวทุกวันนี้แม้พ่อแม่จะรู้ทฤษฎีเลี้ยงลูกอย่างดีที่สุด แต่ก็ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะได้รับผลความเลวร้ายจากสังคมไทยที่เสื่อมทรามในทุกวันนี้มางับหัวลักตัวลูกหลานไปให้เกิดความเหลวแหลกได้ไม่ยาก ทั้งนี้เพราะต่างคนต่างอยู่แบบสังคมเมืองยุควัตถุนิยม แต่โรงเรียนวิถีพุทธที่ก้าวหน้าจะทำหน้าที่เป็นเจ้าภาพเชื่อมโยงประสานพ่อแม่ของทุกครอบครัวของลูกๆ ในโรงเรียนเข้ามารวมกลุ่มรวมพลังร่วมใจกันสร้างวิถีชีวิตของชุมชนที่อบอุ่นและปลอดภัยมาช่วยกันเลี้ยงดูแลลูกๆ ของทุกคนร่วมกันให้เติบโตขึ้นมาอย่างปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งถ้าหากโรงเรียนละเลยเพิกเฉยต่อบทบาทการเชื่อมประสานครอบครัวเช่นนี้ ชุมชนที่เข้มแข็งและปลอดภัยก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย

            โรงเรียนวิถีพุทธที่ตั้งใจทำที่มีคุณภาพก้าวหน้าเป็นที่น่าชื่นใจเช่นนี้ มีจำนวนเพิ่มขึ้นหลายแห่งแล้ว แต่ก็เป็นที่น่าเสียใจและอนาถใจว่ามีจำนวนเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ามาก เมื่อเทียบกับจำนวนโรงเรียนที่สมัครเข้าร่วมโครงการโรงเรียนวิถีพุทธทั่วประเทศซึ่งมีมากถึงสองหมื่นกว่าแห่ง ทั้งนี้เพราะขาดการส่งเสริมและสนับสนุนอย่างเอาจริงเอาจัง ทั้งจากทางภาคการเมืองและจากทางองค์กรหลักคณะสงฆ์และสำนักงานพระพุทธศาสนาเอง ต่างก็ปล่อยให้โรงเรียนวิถีพุทธเติบโตไปตามยถากรรมอย่างขาดแคลนและอนาถามากว่า ๕ ปีแล้ว แทบจะไม่มีการส่งเสริมเชิงรุกแต่อย่างใดเลย ก็นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่น่าสังเวชใจน่าสลดใจในด้านองค์กรที่เกี่ยวข้องทั้งหลายไม่ทำงาน แต่ก็เป็นที่น่าประทับใจและปีติใจเป็นอย่างยิ่งต่อโรงเรียนระดับรากหญ้าที่ลุกขึ้นมาเพียรพยายามทำงานอย่างดียิ่งแม้จะมีความขาดแคลนอยู่มาก แต่ก็ประสบผลสำเร็จที่งดงาม อยู่หลายแห่งด้วยกัน ก็ขออนุโมทนาและให้กำลังใจกันไว้ ณ โอกาสนี้ด้วย เอวัง.

* พระมหาพงศ์นรินทร์ ฐิตวํโส วัดสุทัศนเทพวราราม  (นธ.เอก, ปธ.๖, วท.บ.(เคมี), วศ.ม.(วิศวกรรมเคมี), MA(Buddhist Studies)) e-mail: [email protected]

หมายเลขบันทึก: 168921เขียนเมื่อ 3 มีนาคม 2008 23:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 13:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท