จิตตปัญญาเวชศึกษา 58: Empowering Talk, Empowering Mind


Empowering Talk, Empowering Mind

พวกเราอาศัยอยู่ในยุค How to มานานทีเดียวนะนี่!

สมัยหนึ่ง เมื่อเราเห็นผลงาน masterpiece ของศิลปินบ้าง ของนักประพันธ์ ของจิตรกร เราก็เกิดความพิศวงสงสัย เอ... เขาผลิตผลงานแบบนี้ออกมาได้อย่างไรหว่า? ก็เลยไปเอาผลงานของ maestro เหล่านี้มาศึกษากันใหญ่ อ้อ... นี่ๆ เขาใช้เงาอย่างนี้ ใช้แสงอย่างนั้น อ้อ.. นี่เขาหามุมอย่างนี้ มานั่งอยู่ตรงนั้น อ้อ... ต้องมีวิว ต้องมีการเคลื่อนไหว ฯลฯ เป็นยุคแห่ง Do What คือ ไปเอาผลงานมาศึกษาร่ำเรียน ว่าทำอะไรกันหนอ

ศึกษาเสร็จก็ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้่าง

ยุคต่อมา เอ.. ท่าทางจะไม่ค่อย work นะ เราก็ศึกษางานของปิคาสโซมาตั้งเยอะ ที่เราว่ามันเป็น "ปิศาจโซ" ซะมากกว่า ทำไมหนอกะอีแค่วาดหน้า ปาก คอ จมูก ผิดที่ผิดทาง ไม่น่าจะยาก แต่วาดออกมาแต่ที่จะเป็น masterpiece มันออกมาเป็น madder piece ทุกทีไป สงสัยมีอะไรผิดที่ี "PROCESS" แหงๆเลย ยุคนี้จึงเป็นยุคแห่งการเรียนเรื่อง Do How คือ เขาทำกันยังไงนะ วางอยู่บนสมมติฐานว่า ถ้าเราจับภู่กันเหมือนกัน ใช่ภู่กันยี่ห้อเดียวกัน ใช้แรงเหมือนกัน สะบัดเหมือนกัน ไปยืนอยู่หน้าวิวเดียวกัน มันก็ควรจะได้ผลงานออกมาครือๆกัน (จะว่าไป.. นี่เป็นรากฐานของวิชา "วิทยาศาสตร์" คือ สรรพสิ่งเกิดจากการผสมผสานของ input ที่จะได้ certain output มีความสามารถในการผลิตซ้ำ พยากรณ์ได้ และเพราะฉะนั้นเรียนรู้ได้) How to จึงครอบครองปรัชญาการเรียนรู้ การทำงาน การฝึกอบรมมาตั้งแต่นั้น

ศึกษาเสร็จ ก็ (ยังคง) ทำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง

เราก็ปลุกปลอบใจตัวเองว่ามันคงเป็น individual's skill เป็นกรรมเก่า เป็นเพราะเราเป็นอย่างนี้ บางคนอาจจะไปถึงอ้าง reference เช่น Enneagram หรือ นพลักษณ์ ก็ฉันลักษณ์นี้ ฉันก็ต้องทำแบบนี้ ฉันก็ต้องเป็นแบบนี้ ฉันก็ต้องไม่ถนัดด้านนั้น ฉันก็ต้องไม่ชอบด้านนี้

ด้วยความเชื่อว่าเราเป็นคนอย่างนี้ ถูกกำหนดมาแล้ว ฉะนั้นเรา "จึงต้องทำแบบนี้" เป็น concept ที่ฝังรากมาจากการเรียนรู้แบบ How To สิ่งนี้รึเปล่า ที่เป็น "อุปสรรคตัวจริง" ที่กดดัน ขวางกั้น ศักยภาพที่แท้ของมนุษย์ไป?

เมื่อวานนี้ ผมจัด workshop ให้พยาบาล ward ศัลยกรรมของ รพ.ม.อ. เรื่อง Empowering Talk หรือ "การสนทนาสร้างพลัง" เป็น workshop ของทีมสหสาขาวิชาชีพใจและกาย (Soul & Physique PCT) ซึ่งเป็นทีมดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายของภาควิชาศัลยศาสตร์ ก็หารือกันว่าจะทำในรูปแบบไหนดี

เพราะผมเบื่อ lecture แล้ว ก็เอาเป็น workshop ไหม อือ ไม่เลวนะ เอาก็เอา ก็ออกมาเป็น mini-lecture ประกอบหนังสั้น ตบท้ายด้วย workshop breaking the bad news

ทีนี้ตอนกำลังจะพูดว่า "ควรจะพูดอย่างไร จึงเป็นการพูดสร้างพลัง" นี่เอง ที่ทำให้เกิดอารมณ์ใคร่ครวญไตร่ตรองเกิดขึ้น เกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า "ตกลง มันขึ้นอยู่กับพูดอย่างไร พูดว่าอะไร หรืออะไรกันแน่ที่เมื่อพูดออกไปแล้ว สื่อออกไปแล้ว มันสร้างเสริมพลังแก่คน?" เมื่อเราเอาประสบการณ์มาทบทวนดู ว่าเมื่อไรนะที่เรามีกำลังใจ มีพลังเยอะๆ และเกิดจากอะไร ก็พบว่า มันไม่ได้มาจากคำพูด หรือ วิธีพูดเท่านั้น แต่มันเป็น "บริบท" อันซ่อนเร้นไว้ด้วยอะไรบางอย่างที่ personal มากกว่านั้น หรือมีความ "โดนใจ" เป็นส่วนตัว มากกว่าจะเป็น universal words หรือ universal methods ที่ใช้ทีไรก็หวังผลได้ 100%

อะไรกันแน่ที่เป็น "กลจักรสำคัญ" ของกำลังใจ?

เมื่อเป็นเรื่องของการสื่อสาร ก็หนีไม่พ้น "องค์" ก็คือ ผู้สื่อ ผู้รับ และบริบท

เมื่อไรก็ตามที่ทั้งสามประการอยู่ในสภาวะที่เหมาะสม สัมฤทธิผลก็จะสูง ถ้าเราเน้นเพียงแค่ประการใดประการหนึ่ง หรือสองประการ แต่มีองค์ที่เหลือที่ไม่พร้อม ก็จะลดหย่อนประสิทธิภาพลงไปตามสัดส่วน จนไปถึงอาจจะล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง สมดุลของทั้งสามมิติไม่ได้เป็นไปในรูปแบบของหารสาม หรือสามส่วนเท่าๆกัน แต่เป็นปฏิกิริยาเชิงซับซ้อนแปรเปลี่ยน จนเราไม่สามารถจะบอกได้ว่าทำแค่ไหนพอ ถ้าหากเราจะอยากได้ผลที่ดีที่สุด มีวิธีเดียวก็คือต้อง approach ทั้งสามส่วน

และข้อสำคัญที่สุดประการหนึ่งก็คือ "การรับรู้"

การรับรู้ ไมได้หมายถึงสิ่งที่เราเห็น เราได้ยิน หรือสัมผัส ผัสสะทั้ง 5 เท่านั้น แต่หมายถึง เวทนา สัญญา ด้วยที่จะชุกนุมประกอบเป็นความรู้สึกของเราเอง อาทิ สำหรับบ้านหนึ่ง มีเงินอยู่ 50,000 บาท อาจจะหมายถึงอยู่อย่างพอเพียงไป 1 ปี สำหรับอีกบ้านหนึ่งอาจจะไม่มีความหมายอะไร หรืออาจจะหมายถึงน้อยไป ไม่เพียงพอ ฉะนั้น การรับรู้ ไม่ใช่อะไรที่ตายตัว ไม่ใช่อะไรที่เราอาจจะเข้าใจได้โดยง่าย ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ของเราเอง และโดยเฉพาะอย่างย่ิงการรับรู้ของผู้อื่น

คนไข้ที่เป็น anorexia nervosa (อาการผิดปกติที่ผู้เป็นจะกลัวอ้วนอย่่างมาก จนไม่อยาก ไม่กล้่ากินอาหาร จนถึงขั้นบางครั้งจะล้วงคอเอาอาหารที่กินเข้าไปออกมาให้หมดทุกทีไป) คนธรรมดาดูเธอจากภายนอก ก็จะเห็นผอม เพรียว หรือผอมมากไป แต่ใน "การรับรู้" ของเธอเอง กลับมองเห็นตรงนั้น ตรงนี้ ของเธอนั้นอ้วนไป ใหญ่ไป ตลอดเวลา

Empowerment เป็นศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับ "การรับรู้" อย่างมาก

ดังนั้น Empower ใครนั้น ไม่น่าจะมี "สูตรสำเร็จ" และกรรมวิธีก็คงจะไม่เหมือนตำราคุ้กกี้ Simply Delicious ที่ขอเพียงมี ingredients ครบ มีที่ชั่ง มีที่ตวง มีเตาอบ ก็การันตีอร่อยแน่ๆ เรื่องสำคัญที่เกี่ยวกับการรับรู้ก็คือ interconnectedness ของ กาย ใจ จิต หรือ Will Heart Mind ทั้งสามประการ

ถ้าจะมีสูตรอะไรสักอย่างหนึ่ง ผมคิดว่า

Empowering Talk จะต้องเริ่มจาก Empowering Mind

คนที่จะถูก empowered ได้ก็ต้องเริ่มจาก Empowerable Mind

บริบทที่จะมีการ empowerment เกิดขึ้น ก็ต้องเกิดขึ้นใน Empowerifiable Context

   

ซึ่งเงื่อนไขของ empowering mind, empowerable mind, และ empowerifiable context นั้น แปรตาม "การรับรู้ของปัจเจก" อย่างยิ่งยวด

 

สิ่งหนึ่งที่คนที่มี "หน้าที่" ไปเสริมพลังคนอื่นพึงตระหนักก็คือ พลังงาน นั้นมีธรรมชาติของมันอยู่ เสมือนของไหลทั่วๆไป ที่จะไหลจากที่สูงไปหาที่ต่ำ พลังงานก็เช่นกัน จะมีแนวโน้ม drain จากที่ที่มีพลังงานศักย์สูงไปหาที่ที่มีพลังงานศักย์ต่ำเสมอ บางที บางโอกาส ที่หมอ พยาบาลเกิดอยู่ในสภาวะ "จิตตก" แทนที่จะเป็นคนไป empower คนอื่น ช่วงนั้นกลับจะไปดึงพลังของคนอื่นมาใช้แทน พบได้บ่อยมากที่คนไข้กลับกลายเป็นคนเสริมพลังหมอ ให้กำลังพยาบาล คนไข้ที่เป็นมะเร็งระยะลุกลามบางคน ทำใจได้แล้ว สภาวะจิตดีมาก แต่หมอกลับรู้สึกผิด ที่ไม่สามารถจะช่วยอะไรได้อีก เดินไปหาคนไข้ที ก็เกิดอารมณ์เศร้าหมอง guilt หน้าตาไม่สบาย พอคนไข้เห็นเช่นนั้น ก็จะปลอบหมอว่า "หมอ... ป้าไม่เป็นอะไรหรอกวันนี้ ไม่ปวด ไม่อึดอัด ขอบคุณมากที่มาเยี่ยมป้า" หมอก็ค่อยรู้สึกดีขึ้น ยิ้มออก พลังถูกเติมเต็ม เช่นนี้เป็นคนไข้เสริมพลังหมอ ทำ counseling ให้หมอ

ทางที่ดี จะเป็นหมอ จะเป็นพยาบาล อย่าลืมดูแลสภาวะจิตของตนเองให้ดี เพราะเรามีหน้าที่ไปเติมให้คนอื่น จริงอยู่ งานนี้เป็น mutual benefit คือเป็นปฏิกิริยาสองทาง ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรที่เราจะไปรับพลังจากคนไข้มาเป็นครั้งคราว แต่กับคนไข้บางคน เมื่อเจอหมอ พยาบาลที่จิตตก อาการจะยิ่งแย่ลง หนักลง ส่วนใหญ่แล้วคนไข้เราก็ไม่ได้มีมากนักที่จะเป็นคนจิตสูง ทรงพลัง เพราะจิตและกายเชื่อมโยงถึงกัน  ถ้าคนที่สนใจอยากจะ empower คนอื่น ทำ health promotion หรือการสร้่างเสริมสุขภาพ ก็จงพัฒนาตนเองให้มี empowering mind เสียก่อน ช่วยคนไข้ให้มี empowerable mind ด้วย เสร็จแล้วก็หาทางเอื้ออำนวยให้เกิด empowerifiable context ถึงพร้อมทั้งสามประการ empowerment จึงเกิด และเกิดกับทุกคนในนิเวศนั้นๆ

 

 

หมายเลขบันทึก: 167478เขียนเมื่อ 26 กุมภาพันธ์ 2008 10:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 18:48 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • อาจารย์นกไฟ
  • ได้มุมมองเพิ่มค่ะ
  • ขอบคุณค่ะ

บางครั้งใจที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความปราถนาดีของเราเอง อีกมุมหนึ่งแอบคาดหวังลึกๆ ว่าสิ่งที่เราทำต้องประทับใจคนไข้และครอบครัว บางครั้งผลกลับเป็นตรงกันข้าง

ผมเจอปัญหานี้บ้างแม้จะไม่บ่อย แต่พอเจอทีไรรู้สึกยุบไปหลายวัน

น่าสนใจว่า "จุดที่ยากของการ empowering mind ทำยากเหลือเกินในสถานการณ์แบบนี้ " อาจารย์เห็นอย่างไรครับ

พี่หมอเจ๊ครับ

ยินดีครับผม

โรจน์ครับ

ปัญหาอยู่ตรง "แอบคาดหวังลึกๆ" นั่นเองครับโรจน์ เป็นฉนวนพร้อมระเบิดแห่งความผิดหวัง

ถ้าหากสิ่งที่เราทำ เป็นสิ่งที่ดีที่สุดเท่าที่เราได้ใคร่ครวญไตร่ตรองแล้ว ก็จะเพียงพอไหม?

ผลอันเป็นตรงกันข้ามนั้นมีได้หลายสาเหตุ อาทิ ทางฝั่งคนไข้ ก็อาจจะมีความคาดหวังสูงมาก (ตรงนีเราจะทำอะไรได้ไหม?) ทางฝั่งเราก็อาจจะมีข้อมูลไม่ครบถ้วน คลาดเคลื่อน ทำให้สิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุดนั้น อาจจะยังไม่ได้ครอบคลุมบางประเด็น บางเรื่องซึ่งเราก็จะได้เรียนรู้ตอนนี้นี่เองว่า "อ๋อ... มันยังมีประเด็นนี้ด้วยหรือเนี่ย" เราก็จะใกล้ชิด และเข้าใจคนไ้รายนี้มากขึ้น

การเรียนรู้ก็ไม่น่าจะเป็นส่ิงที่ทำให้เรายุบใช่ไหมครับ น่าจะพองเนอะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท