มุมมองของคนลักษณ์ 1 ที่มีต่อคนลักษณ์อื่น


           ข้อเขียนก่อนหน้านี้ ได้แสดงให้ท่านผู้อ่านเริ่มเห็นแล้วว่า อิทธิพลของ "ลักษณ์" ในชีวิตประจำวัน ส่งผลอย่างไร และมองเห็นการเชื่อมโยงกับปัญหาความขัดแย้งระหว่างผู้คนได้อย่างไรแล้ว

            เมื่อใช้ "นพลักษณ์" เพื่อเป็นเครื่องมือในการลดระดับความขัดแย้งของคนในองค์กร หรือความขัดแย้งในเรื่องสัมพันธภาพในชีวิตประจำวันนั้น สิ่งที่ควรทำเป็นอันดับแรกคือ การสำรวจตัวเอง

            การสำรวจตัวเองในที่นี้จะเป็นระดับของการสำรวจอย่างที่ต้องวางตัวเป็นกลาง เพื่อสกัดสิ่งที่พบออกมาเป็นแนวทางในการสานสัมพันธ์กับคนลักษณ์ต่างๆ

            ในเมื่อเราพบว่า การที่คนเราแต่ละคนมีความใส่ใจ มีความคิดยึดติด ที่เราทำเป็นประจำ ทำให้เรามีมุมมองที่แตกต่างจากคนอื่น และเมื่อใดที่เราเชื่อมั่น ยึดมั่นในมุมมองของตัวเอง เมื่อนั้นภาวะของ "ความขัดแย้ง" ย่อมเกิดขึ้นแน่นอน เมื่อเราแสดงอัตลักษณ์ของเราออกไปปะทะกับคนอื่น ที่เขาก็มีมุมมองเป็นของตัวเองเช่นกัน แต่บังเอิญว่า เป็นการมองคนละมุมเท่านั้นเอง

            สิ่งที่จะทำให้เราลดความขัดแย้งกับผู้คนได้ คือ เราต้องรู้ตัวว่า เรามักจะขัดแย้งกับใคร อย่างไรบ้าง และคนอื่นมักจะรู้สึกขัดแย้งกับเราในเรื่องใด อย่างไรบ้าง ถ้าเรารู้ตัว เราก็สามารถ "กันไว้ดีกว่าแก้" ได้

            ในการอบรมเชิงปฏิบัติการนพลักษณ์ ในปลายปี 2549 โดยท่านอาจารย์สันติกโร ได้ให้ผู้เข้ารับการอบรมซึ่งเป็นผู้ที่ศึกษานพลักษณ์มาเป็นระยะเวลาพอสมควร (แปลว่า สามารถสังเกต ดูตัวเอง ได้ดีระดับหนึ่ง) มาระดมความคิดเห็นกัน และทำการสำรวจว่า ตนเองในแต่ละลักษณ์ มักจะมีความไม่พึงพอใจ ขัดแย้ง หรือโกรธ คนลักษณ์ต่างๆ ในลักษณะใดบ้าง

            โดยวัตถุประสงค์ของการทำการสำรวจในหัวข้อดังกล่าว เป็นไปเพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ว่า เรามักมีปฏิกิริยากับคนอื่นอย่างไร เพื่อเป็นการเตือนตนเอง มิให้หลงไปกับปฏิกิริยาอัตโนมัติ หรือพฤติกรรมอัตโนมัติที่ถูกผลักดันโดยอิทธิพลของลักษณ์ของเรา ทำให้เราเกิดภาวะอคติกับผู้คน ขัดแย้งกับผู้คน มองผู้คนอื่นๆ ในมุมมองต่างๆ นำพามาซึ่งความคับข้องใจ ความไม่เป็นสุขใจ

 

มุมมองของคนลักษณ์ 1 ต่อลักษณ์อื่นๆ

คนลักษณ์ 1 มักจะรู้สึก หรือมองว่า คนลักษณ์ 2

  • วุ่นวาย ชอบช่วยเหลือ ( เป็นได้ทั้งรำคาญ และ ชอบ)
  • หว่านเสน่ห์ ชวนหลงใหล (ดูเหมือนไม่จริงใจ)
  • คิดว่าเป็นคนสำคัญ (อาจจะหมั่นใส้เล็กๆ ที่คนลักษณ์ 2 ถือตัวอยู่ตลอดเวลา และมักมีพฤติกรรมให้คนอื่นรับรู้ได้ว่า "ขาดฉันแล้วเธอจะรู้สึก" )

ข้อความใน ( ) คือสิ่งที่ดิฉันเติม ขยายความ เนื่องจากในการระดมความเห็นผู้เข้าร่วมอบรมลักษณ์ 1 เขียนสั้น และกระชับ อย่างที่เห็น 

คนลักษณ์ 1 มักจะรู้สึก หรือมองว่า คนลักษณ์ 3

  • มุ่งมั่นต่อความสำเร็จมากเกินไป
  • ไม่ละเอียดอ่อนในเรื่องความรู้สึกของคนที่สัมพันธ์ด้วย
  • สร้างภาพ ความสำเร็จของคนลักษณ์ 3 ขึ้นอยู่กับการยอมรับของคนอื่น
  • มีความสามารถ ทำหรือสร้างผลงานได้มากกว่า 1 ในสิ่งที่คนลักษณ์ 1 เห็นว่ามีคุณค่า

คนลักษณ์ 1 มักจะรู้สึก หรือมองว่า คนลักษณ์ 4

  • ซับซ้อน เข้าใจยาก เนื่องจากใช้อารมณ์เยอะ คิดหลายชั้น
  • การทำอะไรพิเศษ เป็นการเสียเวลา เสียกฎเกณฑ์ ----กระทบสิ่งที่คนลักษณ์ 1 ยึดติด คือ การรักษาระเบียบ กฎเกณฑ์
  • แสดงออกทางอารมณ์มาก ช่วยให้คนลักษณ์ 1 ได้สัมผัส หรือ เข้าถึงอารมณ์บ้างในบางคราว และชีวิตมีสีสันมากขี้น

คนลักษณ์ 1 มักจะรู้สึก หรือมองว่า คนลักษณ์ 5

  • เข้าถึงยาก ไม่ยอมเปิดพื้นที่ให้ใครเข้าไป ทำให้ไม่สามารถไปรับรู้ข้อมูลของเขาได้ เพื่อให้สิ่งที่คนลักษณ์ 1 กระทำให้สมบูรณ์  รู้สึกว่าคนลักษณ์ 5 กันผู้คนออกมาได้จริงๆ
  • คิดลึกซึ้ง เป็นระบบได้ดีกว่าคนลักษณ์ 1 บางครั้งรู้สึกอิจฉาที่คนลักษณ์ 5 ทำได้ดีกว่า
  • คนลักษณ์ 5 ทำให้คนลักษณ์ 1 รู้สึกว่าตนเองไม่เก่ง  เป็นการตอกย้ำ สิ่งที่คนลักษณ์ 1 มักตำหนิตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่า ตนเองมีความเป็นคนไม่สมบูรณ์
  • คนลักษณ์ 1 รู้สึกไม่ค่อยสนิทด้วยกับคนลักษณ์ 5 เพราะคนลักษณ์ 5 ไม่เปิดเผยตัวเอง ทำให้รู้สึกเหมือนถูกหลอกเอาข้อมูลเพียงฝ่ายเดียว 

คนลักษณ์ 1 มักจะรู้สึก หรือมองว่า คนลักษณ์ 6

  • ขี้กลัว กังวล วกไปเวียนมา ทำให้คนลักษณ์ 1 ไม่สามารถทำอะไรให้ดีตามที่ตั้งใจ หรือเสียเวลา ทำให้งานหยุดชะงัก กระทบต่อความใส่ใจเรื่องความเนี๊ยบ เรียบร้อยของคนลักษณ์ 1
  • พฤติกรรมลังเล สงสัย ของคนลักษณ์ 6 ทำให้คนลักษณ์ 1 คิดว่าตนเองเป็นสาเหตุที่ทำให้คนลักษณ์ 6 ลังเลหรือเปล่า ทำอะไรผิดหรือเปล่า และไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร --- กระทบสิ่งหลีกเลี่ยงของคนลักษณ์ 1 คือ หลีกเลี่ยงเรื่องความผิดพลาด

คนลักษณ์ 1 มักจะรู้สึก หรือมองว่า คนลักษณ์ 7

  • รับผิดชอบน้อย ไม่ค่อยจริงจัง  --- เมื่อทำงานด้วยกันก็จะกระทบกับ เรื่องความสมบูรณ์ ที่คนลักษณ์ 1 ยึดมั่นมาก
  • ฟุ้งซ่าน ไม่จดจ่อเรื่องใดเรื่องหนึ่งจริงจัง
  • สนุก ท้าทาย แปลกใหม่ ทำให้คนลักษณ์ 1 ผ่อนคลาย มีความสนุกสนานตาม

คนลักษณ์ 1 มักจะรู้สึก หรือมองว่า คนลักษณ์ 8

  • ก้าวร้าว แข็งกร้าว ดุดัน
  • ควบคุมยาก ไม่สามารถผลักดันให้คนลักษณ์ 8 เป็นไปตามที่คนลักษณ์ 1 ต้องการได้
  • คนลักษณ์ 8 ชอบแหกกฎ บางครั้งก็พาล
  • แสดงออกอย่างรวดเร็ว แรง ไม่คิดให้รอบคอบก่อนทำ
  • คนลักษณ์ 1  มีความรู้สึกทั้ง "รัก" และ "รำคาญ" คนลักษณ์ 8

คนลักษณ์ 1 มักจะรู้สึก หรือมองว่า คนลักษณ์ 9

  • น่ารัก สบายๆ
  • ชักนำได้ง่ายกว่า ไม่ตัดสินใจ
  • ไม่รู้ความต้องการของตนเอง
  • สงสารที่คนลักษณ์ 9 ไม่เห็นคุณค่าในตนเอง

คนลักษณ์ 1 มักจะรู้สึก หรือมองว่า คนลักษณ์ 1 (ลักษณ์เดียวกันเอง)

  • จู้จี้ จุกจิก น่ารำคาญ เคร่งเครียด
  • ตัดสินใจช้า เพราะต้องคิดให้รอบคอบ ละเอียดเกินไป
  • โกรธง่าย และจะโกรธยิ่งขึ้นถ้าคนอื่นโกรธตอบ

(ข้อมูลจากการอบรมนพลักษณ์เพื่อการประยุกต์ใช้  6-9 ธันวาคม 2549 ที่พนาศรม จ.นครปฐม จัดโดยสมาคมนพลักษณ์ไทย)

 

            ข้อมูลเหล่านี้ คนที่จะได้ประโยชน์นอกไปจากคนลักษณ์ 1 เองแล้ว ที่เอาไว้เตือนตัวเอง ก็คือ คนลักษณ์ต่างๆ ที่จะไปสัมพันธ์กับคนลักษณ์ 1 เช่น ดิฉันเป็นคนลักษณ์ 5 เมื่อทราบว่า ในมุมมองของคนลักษณ์ 1 เห็นว่าการที่คนลักษณ์ 5 ปิดตัว ไม่ค่อยพูด ไม่ค่อยสื่อสาร กระทบกับความสมบูรณ์แบบในงานที่ต้องทำร่วมกัน (ในมุมมองของคนลักษณ์ 1) เราก็สื่อสารกันตั้งแต่ต้นเลยว่า หากเป็นเรื่องงาน เดินเข้าหาดิฉันได้ตลอดเวลานะ แค่นี้ดิฉันก็ยังคงสามารถรักษาความเป็นส่วนตัวของดิฉันได้ (ในแบบของคนลักษณ์ 5) และขณะเดียวกันก็ไม่ทำให้เพื่อนร่วมงานที่เป็นคนลักษณ์ 1 อึดอัด และถ้าจะให้ดีก็คือ ทำจริงอย่างที่พูด คือเมื่อลักษณ์ 1 เดินมาคุยเรื่องงาน เราก็คุยอย่างเต็มที่ ให้เวลาเต็มที่ เขาก็จะรับรู้เองว่า ในความเป็นเรา ไม่กระทบหรือทำให้เขาอึดอัดอีกต่อไป เป็นต้น

หมายเลขบันทึก: 166863เขียนเมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2008 01:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 22:04 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)
  • ชอบอ่านค่ะ สนใจอยู่โดยเฉพาะลักษณ์4(ตัวเอง) ลักษณ์1(คาดว่าของคนใกล้ตัวค่ะ)
  • ลักษณ์1 จะขี้บ่น จู้จี้ ของต้องวางตามเดิม จัดบ้านใหม่ไม่ได้ หงุดหงิด
  • ลักษณ์4 ชอบเปลี่ยนบรรยากาศบ่อยๆ ขี้เบื่อ แล้วแสนงอน

 

มาวิเคราะห์ตัวเองอีกครั้ง..ดีนะคะ..อ่านแล้วก็ได้เปรียบเทียบดูในชีวิตจริงๆ..ใช้ได้เลยค่ะ..

ว่าจะมาบอกว่า.."คิดถึง.อาจารย์นะคะ.."แต่ปรากฏว่า..ได้มากกว่า..แค่บอกว่าคิดถึงค่ะ....ดีจังค่ะ..

ขอบคุณค่ะ..

  • ยินดีค่ะ คุณโรงเรียนพ่อแม่ ... ก็จะเขียนไปเรื่อยๆ แต่อาจจะต้องรอนานหน่อยนะคะ เพราะข้อเขียนนี้คือต้นฉบับที่ดิฉันนำส่งนิตยสาร MBA รายเดือนหน่ะค่ะ ต้องรอเขาตีพิมพ์แล้ว ค่อยเอามาเผยแพร่สาธารณะอีกทีหนึ่ง
  • ดังนี้ มุมมองคนลักษณ์ 2 คงต้องรอปลายเดือนหน่ะค่ะ

คิดถึง P คุณครูแอ๊ว เช่นกันค่ะ

 

ความชั่วแม้มีประมาณเท่าปลายขนทราย ย่อมปรากฏเหมือนประมาณเท่าหมอกเมฆแก่ท่านผู้ไม่มีกิเลสเครื่องยั่วยวน ผู้แสวงหาความสะอาดเป็นนิตย์ http://gotoknow.org/blog/56485/161187

  • ขอบคุณค่ะ คุณP.นายศักดิ์ณรงค์ ที่แวะมาทักทาย
  • ดิฉันอยู่ระหว่างการบำเพ็ญเพียรในการเผากิเลสตนเองอยู่ค่ะ แต่ก็ยังคงต้องใช้ความพยายามอยู่มากทีเดียวค่ะ

แต่ส่วนใหญ่ คนเราจะเป็นลักษณ์ผสมนะคะ ตัวเองก็เหมือนกันค่ะ เลยอาจจะวิเคราะห์ยากขึ้นไปอีกนิด

  • P คุณ Sasinanda ขออภัยค่ะ ที่ตอบช้า  และขอบคุณนะคะที่แวะมาเยี่ยม
  • ตามทฤษฎีนพลักษณ์แล้ว เรามีลักษณ์เดียวค่ะ ที่เป็นลักษณ์หลักของเรา แต่หากอายุเกิน 30 ปี แล้ว มักพบว่าแต่ละคนจะเอาตัวรอด โดยการปรับตัว เลียนแบบพฤติกรรมของลักษณ์อื่นมาใช้เพื่อการอยู่รอดค่ะ เลยดูเหมือนมีหลายลักษณ์
  • แต่หากนึกย้อนดีๆ ไปตั้งแต่วัยเด็กถึงประมาณอายุไม่เกิน 30 ปี เราจะเห็นร่องรอยของพฤติกรรมหลักๆ แรงจูงใจหลักๆ ที่ทำให้เรามีชุดของพฤติกรรมหนึ่ง ซึ่งบอกเราว่า เราเป็นลักษณ์ใดค่ะ
  • หากต้องการทราบลักษณ์ มีหลายวิธีค่ะ

1. ศึกษาทฤษฎีนพลักษณ์แล้ว พินิจพิจารณาตนเองว่าเข้าลักษณ์ใดค่ะ

2. เข้ารับการอบรมหลักสูตรนพลักษณ์ขั้นต้น จะมีกระบวนการช่วยในการพินิจพิจารณาให้ง่ายขึ้นค่ะ แต่เจ้าตัวก็ยังคงเป็นคนบอกเองว่า ตนเองสังกัดลักษณ์ใดค่ะ ..... มีหลายกลุ่มที่จัดอบรมค่ะ ดูข้อมูลได้ที่ www.enneagramthailand.com

3. เข้ารับบริการ Typing Interview คือ สัมภาษณ์แนวโน้มลักษณ์ จากผู้ที่ศึกษานพลักษณ์มาก่อนค่ะ เขาจะช่วยคัดกรองแนวโน้มลักษณ์ให้เราจาก 9 ลักษณ์ ให้เหลือน้อยที่สุด แต่เจ้าตัวก็ยังคงต้องเป็นคนพืนิจพิจารณา และเลือกลักษณ์ของตนเองเช่นเดิมค่ะ  .. อันนี้ขอรับบริการได้ที่สมาคมนพลักษณ์ไทยค่ะ

55 ตลก คนลักษณ์ 1 มองคนลักษณ์ 1 อ่ะครับ มีเพื่อนคนนึงเป็นลักษณ์ 1 เหมือนกันครับ จู้จี้ จุกจิก บ้าง แต่เป็นคนเก่ง รอบคอบ ปกติเคยเห็นแต่เขาวิจารณ์คนอื่น พอเห็นคนแบบเดียววิจารณ์กันเองแล้วก็ตลกดี เหมือนคนนั่งเถียงกับกระจกเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท