วัันเพ็ญเดือนสาม เรียกกันว่า วันมาฆบูชา ความสำคัญของวันนี้ก็จะมีการนำเสนอกันทุกๆ ปี ซึ่งประเด็นสำคัญอย่างหนึ่งในวันนี้ก็คือ พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาฏิโมกข์์... นี้คือช่วงเหตุการณ์ที่ทำให้เราคุ้นเคยกับคำว่า ปาฏิโมกข์
อีกกรณีหนึ่ง สำหรับผู้เคยบวชพระหรือคุ้นเคยกับวัดมานานๆ จะรู้ว่า ศีลของพระภิกษุทั้ง ๒๒๗ ข้อ เรียกกันว่า ปาฏิโมกขศีล ซึ่งตามพระวินัย พระภิกษุสงฆ์ต้องฟังปาฏิโมกขศีลทุกกึ่งเดือน และเฉพาะพระภิกษุรูปที่สวดได้จะได้รับการยกย่องว่ามีความจำเป็นเลิศ... และนี้ก็เป็นอีกกรณีหนึ่งที่ทำให้เราคุ้นเคยกับคำว่า ปาฏิโมกข์
- ปาฏิโมกข์ แปลว่าอะไร ?
เมื่อแรกศึกษาบาลี ก็เคยสอบถามท่านมหาฯ หรือครูบาอาจารย์บางรูป ซึ่งท่านก็ตอบว่า หลุดพ้นเฉพาะ นั่นคือ ศีล (หรือโอวาท) ที่ทำให้คนเราหลุดพ้น... ประมาณนี้
ที่แปลว่า หลุดพ้นเฉพาะ นั้น ท่าน (และผู้เขียน) แยกศัพท์ว่า ปฏิ + โมกข์ = ปาฏิโมกข์ (ปฏิ แปลว่า เฉพาะ ... โมกข์ แปลว่า หลุดพ้น) ...
แต่เมื่อมีข้อสงสัยว่า ปฏิ จึงกลายเป็น ปาฏิ เพราะเหตุไร ?.... ก็ไม่มีใครอธิบายได้ชัดเจน ถ้าจะมีคำที่พอฟังได้ก็คือ เพื่อประโยชน์แก่การออกเสียงได้สะดวก (สุขุจจรณัตถายะ) ตามหลักภาษาศาสตร์เท่านั้น ซึ่งเมื่อก่อนผู้เขียนก็เข้าใจทำนองนี้
.........
เมื่อมาแปล คัมภีร์วิสุทธิมรรค ก็เจอบทวิเคราะห์ของศัพท์นี้ ทำให้รู้ว่า ที่เข้าใจมาแต่เดิมนั้นผิดพลาด... โดยท่านตั้งวิเคราะห์ทำนองว่า...
- โย ยํ ปาติ โส ตํ โมเจตีติ ปาฏิโมกโข (ธมฺโม)
- อันว่าบุคคลใด ย่อมรักษา ซึ่งธรรมใด อันว่าธรรมนั้น ยังบุคคลนั้น ย่อมให้หลุดพ้น ดังนั้น ธรรมนั้น ชื่อว่า ปาฏิโมกข์ (่ผู้ใดย่อมรักษาผู้นั้นย่อมหลุดพ้น)
ตามนัยนี้ ปาฏิ ในคำว่า ปาฏิโมกข์ นั้น มาจากคำว่า ปาติ ซึ่งเป็นกิริยาแปลว่า ย่อมรักษา (แปลง ต. เต่า แห่งคำว่า ปาติ เป็น ฏ.ปฏัก) นั่นคือ จาก ปาติโมกข์ ก็แปลงเป็น ปาฏิโมกข์
ดังนั้น คำว่า ปาฏิโมกข์ จึงเป็นคำสมาส แต่เป็นคำสมาสที่พิเศษสุดในภาษาบาลี เพราะปกติ ศัพท์กิริยาอาขยาต (ปาติ หรือ ปาฏิ เป็นกิริยาอาขยาต) จะไม่นิยมใช้สมาสทำนองนี้...
............
พระเถระท่านหนึ่ง (ปัจจุบัน ป.ธ.๙) เคยปรารภกับผู้เขียนสมัยที่ท่านยังเรียนบาลีว่า....
- เรียนมากๆ ออกเล (เรียนเยอะเกินไป ออกทะเล)
กล่าวคือ เมื่อเราเรียนสูงๆ ขึ้นไป กฎเกณฑ์ไวยากรณ์ หรือหลักพื้นฐานอื่นๆ ที่เราจดจำมา ก็เริ่มใช้ไม่ได้ ไม่สามารถนำมาเป็นแบบแผนในการเรียนได้ คล้ายๆ กับออกทะเลลึก ไม่สามารถหยั่งถึงพื้นดิน ไม่มีใครช่วยเหลือ และอ้างว้างเดียวดาย... ประมาณนี้
เฉพาะภาษาบาลี ผู้เขียนเคยแนะนำศิษย์หรือเพื่อนรุ่นน้องที่มาปรึกษาเรื่องทำนองนี้ว่า ไวยากรณ์เกิดหลังภาษา นั่นคือ คนฉลาดค่อยๆ เข้าไปขบคิดและค่อยๆ จัดรูปแบบของภาษา กลายเป็นไวยากรณ์ หลักสัมพันธ์ และอื่นๆ ซึ่งบางอย่างที่อยู่นอกเหนือกรอบหลักภาษาที่ถูกจัดระบบไว้ เราก็ต้องจดจำเป็นคำๆ หรือเรื่องๆ ไป....
............
เฉพาะคำว่า ปาฏิโมกข์ แปลว่า ผู้ใดย่อมรักษา ผู้นั้นย่อมหลุดพ้น
ดังนั้น....
- โอวาทปาฏิโมกข์ = โอวาทที่ผู้ใดย่อมรักษาผู้นั้นย่อมหลุดพ้น
- ปาฏิโมกขศีล = ศีลที่ผู้ใดย่อมรักษาผู้นั้นย่อมหลุดพ้น