NGO กับงานพัฒนาการเกษตร(ตอนที่ ๒) ความจริงที่ไม่มีใครอยากพูดถึง


“วันนี้ ศักดิ์ศรีของชาวนาต่ำกว่าโสเภณี”

เราได้เคยเล่าถึงเรื่องราวของปัญหาที่ว่าด้วย ความยากจน ซึ่งเป็น โจทย์สำคัญ ของภาคการเกษตรและเป็น โจทย์ใหญ่ ของสังคมไทยให้ลูกศิษย์เราฟังเมื่อช่วงต้นเทอม ในหัวข้อที่ว่าด้วยการเกษตรไทย โครงสร้างและชุมชนเกษตร โดยได้อธิบายผ่านการวิเคราะห์เชิงระบบ มิติเชิงประวัติศาตร์ และการพัฒนาเปรียบเทียบ

กระบวนการก่อเกิด พัฒนาการ และผลของการพัฒนาการเกษตรภายใต้แนวทางของการปฏิวัติเขียว (Green Revolution) ที่มีฐานคิดและวิถีการพัฒนาจากการปฏิวัติพาณิชยกรรมและการปฏิวัติอุตสาหกรรมภายใต้ กระบวนทัศน์ของ ทุนนิยม นับเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะ ทุกขภาพ และภาวะ สิ้นชาติ ...ผังก้างปลาและต้นไม้แห่งปัญหาที่เราฉาย Power Point ให้ลูกศิษย์เราดู เป็นแผนภาพที่แสดงถึงภาวะหนี้สินล้นพ้นตัวในสภาพ วัวพันหลักของพี่น้องเกษตรกร สาเหตุแห่งปัญหาที่เชื่อมโยงถึงความสัมพันธ์เชิงระบบของ ๓ ภาคส่วนในสังคม คือภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรม ภาคพาณิชยกรรมและการบริการ

ทั้งหลายทั้งปวงนี้... เราบอกลูกศิษย์ว่า ล้วนมีรากเหง้ามาจากคำว่า กิเลสนิยม คือความ อยากมี อยากได้ และ อยากเป็น ที่มีอยู่ในตัวตนของผู้คน...ทั้งตัวเราเองและทั้งตัวผู้อื่นที่อยู่รอบตัวเรานั่นเอง

"ลูกอยู่ชั้นประถม เอาลูกใส่รถตู้ไปขาย... ส่งเงินมาให้พ่อแม่ ...ถ้าเป็นเกษตรกร คงไม่มีเงินให้...

ไปประชุมที่ญี่ปุ่น มีผู้หญิงไทยเป็นสิบ ๆ คนนั่งไปด้วยในเครื่องบิน ไปทำอะไรคงรู้...ชีวิตเป็นวัตถุ ถูกค้าขาย ปู้ยี้ปู้ยำ แต่ไม่มีทางเลือก...

ผู้หญิงใน Catalog ...เลือกได้ทางไปรษณีย์... ไปลองอยู่ด้วยกันสักเดือนสองเดือน ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ส่งกลับเมืองไทย

เรื่องราวเหล่านี้ รัฐบาลมีความสุขหรือ คนไทยที่ต้อง ขายตัว เพราะไม่มีทางเลือกอื่น... 

เรื่องราวของ ความจริงที่คนไม่อยากพูดถึง ที่พี่เดชาเล่าให้ลูกศิษย์เราฟังนั้น ทำให้เราหวนคิดไปถึงชีวิตของสาวไทยในฝรั่งเศสและเยอรมันที่เราได้มีโอกาสรู้จัก...ใช่แล้ว หลายคนไม่มีทางเลือกเนื่องเพราะความยากจน หากในขณะที่อีกหลายคนมีโอกาสที่จะเลือก เพียงแต่ไม่รู้ว่าเส้นทางที่ตนเองเลือกเดินนั้นต้องเผชิญกับสิ่งใดบ้าง...

ถ้าเรารู้ ความจริง แบบนี้ เรา ทนไหว หรือ? เรายังมี ความสุข กันอยู่หรือ?พี่เดชาตั้งคำถามกับลูกศิษย์เราต่อ

เราต้องทำอะไรบ้าง ทำได้มากได้น้อยก็ต้องทำ เราต้องช่วยคนที่ถูกเอาเปรียบ ช่วยคนที่ถูกข่มเหง...  พี่เดชาบรรยายต่อและเชื่อมโยงให้เห็นถึง ฐานคิด การทำงานของ NGO

มิน่าเล่า ด้วยจิตวิญญาณเช่นนี้นี่เอง ที่ทำให้เพื่อนพ้องน้องพี่ชาว NGOทำงานกันแบบ กัดไม่ปล่อย

การส่งเสริมการเกษตรขององค์กรพัฒนาเอกชนหรือ NGO จึงยาก... ยากตั้งแต่รู้ว่าปัญหาของเกษตรกรคืออะไร เพราะมันไม่ใช่เฉพาะปัญหาด้านเศรษฐกิจ แต่เป็นปัญหาเรื่อง ศักดิ์ศรี...

มาถึงตรงนี้ เรารู้สึกว่าน้ำเสียงของพี่เดชาเข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ

วันนี้ ศักดิ์ศรีของชาวนาต่ำกว่าโสเภณี พี่เดชากล่าวย้ำให้ลูกศิษย์เราฟังว่า ที่พูดเช่นนี้ไม่ได้ดูถูกอาชีพนี้ เพราะเข้าใจได้ว่า...เมื่อไม่มี ทางเลือก หลายคนจึงจำต้องมาเป็นโสเภณี

ทว่าคำอธิบายในประโยคต่อมาของพี่เดชาทำให้เรารู้สึก วูบ เข้าไปข้างใน...ลึกถึงหัวใจ

นักศึกษาเลือกเป็นโสเภณีมากกว่าเป็นชาวนา กล้าขายตัวเพื่อไปซื้อของมียี่ห้อ ไปซิ้อกระเป๋า Louise Vitton...แต่ไม่กล้าเป็นชาวนา...

"สังคมไม่ถือแล้วว่า อาชีพอะไร มีศักดิ์ศรีหรือไม่?” 

เรานึกไปถึงภาพนิสิตนักศึกษา...เจ้าดอกไม้น้อยในรั้วมหาวิทยาลัย...เมื่อไม่สามารถต้านทานกระแสลมแรงแห่งกิเลส...กลีบอ่อนบางของเจ้าจึงบอบช้ำนักหนา...

เรานึกไปถึงภาพข้าราชการ นักธุรกิจ นักการเมือง ...ที่ยอมขายศักดิ์ศรีและจิตวิญญาณแห่งความเป็นมนุษย์...เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งเงินทอง ชื่อเสียงและเกียรติยศ 

หวนคิดไปถึงคำถามที่เรามักถามลูกศิษย์เสมอว่า...จะเลือกเป็นอะไรระหว่างเป็นลูกเกษตรกรที่เป็นคนดี กับเป็นลูกรัฐมนตรีที่คอรัปชั่น?

ปัญหามากมายมหาศาลเหล่านี้ล้วนเป็น เรื่องจริงที่ไม่มีใครอยากพูดถึง เรามีบทบาทในการเปิดเผยเรื่องราวเหล่านี้...

พี่เดชากล่าวย้ำถึงบทบาทของ NGO อีกครั้ง

เรื่องนี้ยังมีต่อนะคะ โปรดติดตามตอนต่อไปค่ะ

หมายเลขบันทึก: 164798เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2008 10:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 20:10 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์  ขออนุญาตแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยครับ

         ในเรื่องของ "ความยากจน" และ "ศักดิ์ศรีของชาวนาต่ำกว่าโสเภณี" ผมมีมุมมองอย่างนี้ครับ

         ผมว่าต้นเหตุที่สำคัญอยู่ที่กระแสทุนนิยมอย่างที่ท่านอาจารย์ว่ามาแหละครับ  จึงทำให้ชาวนานั้นยากจน และมีศักดิ์ศรีต่ำกว่าโสเภณี  ที่นี้การที่จะต่อสู้กับ ทุนนิยม  ผมคิดดังนี้ครับ

       1. เราต้องปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาที่มาจาก รากแก้ว  แห่งความเป็นไทยของเราเองครับ และ ความเป็นไทยของเราอยู่ที่ ความเป็นพุทธครับ

        2. เราต้องมีชุมชนที่เข้มแข็งในการต่อสู้

         ในข้อแรก  ผมว่าตอนนี้ สังคมไทย ความเป็นพุทธแทบไม่มีหลงเหลืออยู่เลยครับ  มีแต่ไสยศาสตร์ และ บริโภคนิยมเต็มบ้านเต็มเมือง

         ในข้อที่สอง ความเป็นชุมชน  ผมก็ว่าแทบจะไม่มีเลยนะครับ  เพราะเรามีการปกครองแบบรวมศูนย์ ถนนทุกสายมุ่งสู่กรุงเทพฯ  ความเป็นชุมชน  ความเป็นสังคม จึงถูกทำลายด้วยอำนาจนิยมและทุนนิยมหมดแล้วครับ

         เรามีชุมชนอยู่บ้าง   เรามีกระบวนทัศน์แบบพุทธอยู่บ้าง  แต่ก็น้อยมาก   

         ถ้าเราสามารถพัฒนาชุมชนและกระบวนทัศน์แบบพุทธขึ้นมาให้ขยายไปในวงกว้าง  ก็น่าจะทานทุนนิยมได้ครับ

         แต่ก็อย่างว่าแหละครับ  มันอาจจะเป็น "กรรม" ของประเทศก็ได้ครับ   ที่มโนกรรมของผู้คนส่วนใหญ่คิดแบบบริโภคนิยม

         มโนกรรมของแต่ละคนส่วนใหญ่ที่เป็นวัตถุนิยม จึงส่งผลให้ภาพรวมของประเทศ ต้องกลายเป็นประเทศทุนนิยม

        เวรกรรมจึงตกกับชาวนา

                                                     ขอบคุณครับ

 

อ่านแล้วสะท้อนใจอย่างแรง หนูขับรถผ่านถนนกำแพงเพชร 7 ทุกวัน เห็นแต่เด็กสาวๆ มายืนทำธุรกิจอย่างว่ากันตลอดแนวถนน ทำไมศักดิ์ศรีคนเราถึงยอมเสียไปเพื่อเงินเท่านั้น คิดยังไงก็คิดไม่ออก อาชีพอื่นยังมีถมไปแต่อาจจะยากลำบาก แต่อาชีพขายบริการทางเพศนั้นมันง่าย สบาย ได้เงินเร็ว หลายคนบอกว่าต้นทุนของอาชีพนี้ก็มีแค่ร่างกายเท่านั้น แต่หนูว่าอีกอย่างที่ต้องลงทุนแลกกับเงินในอาชีพนี้ก็คือจิตวิญญาณความเป็นคนด้วยค่ะ

แปลกมากนะคะที่เด็กเรียนเกษตรแต่ไม่อยากทำการเกษตร เด็กที่เรียนในสาขาอาชีพอื่นล้วนใฝ่ฝันที่จะทำงานในสาขาซึ่งตัวเองเรียนมาทั้งนั้น ไม่ว่าแพทย์ วิศวกรรม ทนาย โฆษณา ฯลฯ หรือเป็นแค่เพราะค่าตอบแทนในอาชีพอื่นจูงใจมากกว่า ถ้าตอบอย่างนี้ก็ยิ่งงงว่า...ทำไมเลือกเรียนเกษตรตั้งแต่ต้น ทั้งๆ ที่สามารถเลือกเรียนอย่างอื่นได้ มันไม่มีเหตุผล หรือเป็นเพราะคะแนนสอบ แต่เท่าที่เห็นตลอดมาคณะเกษตรก็คะแนนอยู่ในระดับกลาง ไม่สูงไม่ต่ำ งงจริงๆ ค่ะ อาจารย์พอจะอธิบายประเด็นนี้ได้มั้ยคะ

สวัสดีค่ะท่านอาจารย์วิชชา

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะที่อาจารย์บอกว่า ...ถ้าเราสามารถพัฒนาชุมชนและกระบวนทัศน์แบบพุทธขึ้นมาให้ขยายไปในวงกว้าง ก็น่าจะทานทุนนิยมได้...

ช่วงนี้ที่กำลังขับเคลื่อนอย่างเข้มข้นคือ โครงการฟื้นฟูและพัฒนาศีลธรรม โดยผ่านระบบการศึกษา เป็นการสร้าง " V-Star หรือดาวแห่งความดี" ในโรงเรียนนำร่องประมาณ 5,000 โรงเรียนทั่วประเทศค่ะ ส่วนในมหาวิทยาลัยจะเป็นการสร้าง "Super Star" เพื่อมาดูแลน้อง ๆ V-Star อีกทีค่ะ โดยต่อเนื่องจากงานเมื่อ 3 ปีที่แล้วที่เป็นโครงการที่ทำร่วมกับศูนย์คุณธรรมคือ โครงการปลุกระแสคุณธรรมสถานศึกษาดีเด่นค่ะ (มีรายงานเอกสารด้วยนะคะ ถ้าอาจารย์สนใจ จะจัดส่งให้ได้ค่ะ)

ในส่วนของการขับเคลื่อนงานพัฒนาชุมชน พวกเราใช้ฐานคิดและวิธีการของกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์เพื่อการพัฒนาคุณธรรมครบวงจรชีวิตของพระอาจารย์สุบิน วัดไผ่ล้อม จังหวัดตราด มาเป็นแนวทางค่ะ

หากอาจารย์มีเวลา ขอเรียนเชิญไปร่วมเวทีพูดคุยด้วยกันนะคะ พวกเรามีจัดวงคุยที่ตราดเป็นระยะ ๆ ค่ะ  เมื่อต้นเดือนกุมภา ตัวเองก็เพิ่งไปกราบนมัสการขอความรู้จากพระอาจารย์สุบินค่ะ เห็นว่าตอนนี้ทีมงานที่ตราดกำลังเคลื่อนเรื่องการจัดการฐานทรัพยากร การดูแลสิ่งแวดล้อมเพื่อดูแลชีวิตผู้คน เป้าหมายคือการการปลูกป่าให้เต็มพื้นที่จังหวัดตราดค่ะ 

หนูซูซาน...คำถามของหนูคงต้องตอบยาวค่ะ...พี่คิดว่าสังคมที่เปลี่ยนผ่านแต่ละยุค แต่ละสมัย ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดที่สะท้อนถึงวิถีในการดำรงชีวิตที่ "เปี๋ยนไป๋" ....อย่างไม่น่าเชื่อ

วันนี้เราจึงเห็นผู้คนมากมายที่ยอม "ขาย" แม้กระทั่งจิตวิญญาณเพื่อแลกกับความสะดวกสบายบางอย่าง...ถ้ามองอย่างเข้าใจ....กลุ่มคนเหล่านี้เป็นคนที่เราควร "เห็นใจ" มากกว่าหมั่นไส้หรือเกลียดชัง เพราะในความไม่รู้ ทำให้ได้ "กระทำ" ในสิ่งที่เป็น "โทษภัย" ให้แก่ทั้งตนเองและผู้อื่น หากจะพิจารณาโดยใช้ "กฏแห่งกรรม" แล้วจะพบว่า คนกลุ่มนี้น่าสงสารมาก ๆ เพราะได้สร้าง "วิบากกรรม" ที่ย่อมส่งผลให้กับตนเองอย่างแน่นอน...ไม่ช้าก็เร็วค่ะ

เราต้องช่วยกันเป็น "กัลยาณมิตร" โดยให้ความรู้ว่าชั่ว ดี เลว เป็นอย่างไร และเมื่อทำอย่างไร ย่อมจะให้ผลอย่างนั้น....ทว่า สังคมวันนี้ จะมีสักกี่คนที่สนใจและเข้าใจเรื่องราวของกฏแห่งกรรม ซึ่งเป็นการมองทะลุมิติของสถานที่และกาลเวลา....คงต้องให้อ่านหนังสือที่ปาโก ราบานแต่งไว้ ต้นฉบับเป็นภาษาฝรั่งเศส แล้วมีคนมาแปลเป็นไทย ตั้งชื่อว่า "วิถีการพัฒนาฝ่าภพชาติ"... ไม่ทราบว่าหนูซูซานเคยอ่านด้วยไหม?

ส่วนเรื่องเด็กเรียนเกษตรแล้วไม่อยากทำเกษตร....ซึ่งเป็นเรื่องแปลกแต่จริงนั้น คงต้องใช้เวลาวิวาทะกันแล้วละ (นัดพูดคุยกันน่าจะง่ายกว่าพิมพ์คุยนะคะ) สิ่งที่เข้าใจได้ง่ายคือไม่อยากเป็นเกษตรกร เพราะเกษตรกรเป็นอาชีพที่ค่าตอบแทนขึ้นกับปริมาณ/คุณภาพของผลผลิตและราคาผลผลิต ปริมาณ/คุณภาพผลผลิตขึ้นกับสภาพแวดล้อม ซึ่งเรามักควบคุมไม่ได้เป็นส่วนใหญ่ (ยกเว้นว่ามีเงินมากพอ สามารถ Artificialize ระบบธรรมชาติบางอย่างได้) ประกอบทั้งราคาผลผลิตที่ได้นั้นมีความแปรปรวนไม่แน่นอนขึ้นกับกฎของ Demand-Supply  (มีข้อยกเว้นด้วยเหมือนกันค่ะ เพราะในบางประเทศ สังคมสามารถสร้างกลไกดูแลเกษตรกรด้วยการประกันราคาผลผลิตทางเกษตร มีกองทุนต่าง ๆ และนโยบายการบริหารจัดการที่เอื้อต่อการพัฒนาภาคเกษตรและเกษตรกร แต่บริบทและเงื่อนไขของเรื่องเหล่านี้มีที่มา-ที่ไปอีกค่ะ) ดังนั้น สรุปได้ว่าอาชีพเกษตรกรมีค่าตอบแทนที่ไม่แน่นอนอีกทั้งไม่น่าสนใจเมื่อเปรียบเทียบกับอาชีพอื่น ๆ  ...จึงไม่อยากเป็นเกษตรกร

นอกจากนั้น ยังมีวิธีคิดเรื่องเกียรติยศ-ศักดิ์ศรีเข้ามาเกี่ยวด้วยค่ะ เพราะเหตุว่าเกษตรกรมัก "จน" นี่เอง และความจนก็เป็นที่มาของ "ความยากไร้" สังคมจึงมองว่าอาชีพเกษตรกร "ต่ำต้อย" ....แต่ที่แปลกก็คือ ในหลายประเทศ แม้เกษตรกรจะ "มีเงิน" มีฐานะและความเป็นอยู่ที่ดี แต่ก็จะมีใครสักกี่คนที่อยาก "แต่งงาน" ใช้ชีวิตกับเกษตรกร ...ถ้าเลือกได้ ก็ขอทำงานอาชีพอื่นและมีชีวิตที่ดูเสมือนว่า "ดีกว่า" ....ลูกเกษตรกรก็คงอยากยกระดับ/เปลี่ยนฐานะ... ทำอย่างอื่นบ้าง ส่วนที่มาเรียนสายเกษตรทั้ง ๆ ที่ไม่อยากเป็นเกษตรกรนั้น มีหลายสาเหตุค่ะ ได้ข้อมูลจากการพูดคุยกับลูกศิษย์ค่ะ....แล้วจะเล่าให้ฟังเมื่อเจอกันนะคะ

 

ผมมองหลายๆด้านนะครับ

  • เราจะบอกไม่ให้เด็กเล่นเกมส์คอมฯ ขณะที่ร้านคอมฯมีเต็มบ้านเต็มเมือง เราก็บอกอีกว่า พ่อแม่ต้องสอนให้เด็กเข้มแข็งต่อสิ่งเร้าพวกนี้ ให้รู้จักพอประมาณ  แต่ร้านคอมลดราคาค่าเวลาลงมา และเพื่อนๆก็ไปเล่นกัน....มันต้องสองด้าน พ่อแม่สอนลูก ร้านค้าก็ต้อง มีคุณธรรมทางธุรกิจ รัฐต้องมีนโยบายที่ดีสำหรับเรื่องนี้ มิใช่ปล่อยให้เป็นอิสระ
  • สังคมหันหน้าสู่ระบบทุนนิยม ทุกวิชาชีพทุ่มเทเพื่อเข้าสู่ความเป็นสุดยอดกิจกรรมภายใต้ระบบทุน 
  • เปิดทีวี เห็นนักวิการที่สร้างแรงกระตุ้นมากมาย ทำอย่างไรจึงจะกำไรสูงสุดในการประกอบธุรกิจ  นักประชาสัมพันธุ์ ก็รับใช้ระบบทุนเต็มที่สุดสุด ใช้วิชาชีพสร้างระบบโฆษณาให้มันกระตุกหัวใจคน แค่ดูครั้งเดียวก็ต้องลุกขึ้นไปซื้อสินค้าเขาเสียแล้ว ทำไมนักประชาสัมพันธ์จึงไม่คิดสร้างประชาสัมพันธ์แบบดูแล้ว ไอ้หนุ่มอีสาวหันหลังให้เมืองเดินกลับบ้านไปช่วยพ่อแม่ทำงานเกษตรบ้างล่ะ
  • นักการขายก็ทั้งแจก ทั้งแถม ทั้งเอารถเก๋งราคาเป็นล้านๆมาล่อให้ซื้อสินค้าแล้วจะโชคดีได้รถ..ก็ซื้อกันจนเงินหมดกระเป๋า ทำไมนักการตลาดไม่ใช้วิชาชีพเพื่อบอกข้อดีข้อเสียให้หมดเปลือกล่ะ
  • นักส่งเสริมในระบบ Contract farming มาโฆษณาว่าปลูกพริกญี่ห้อ Supper-hot แล้ว ให้ใส่ปุ๋ยเท่านั้น พ่นยาเท่านี้เวลานั้นเวลานี้ แล้วจะได้ราคาไร่ละ แสนห้าหมื่นบาท แต่ไม่ปริปากพูดจุดอ่อนของพืชชนิดนั้นๆ หรือพูดแบบผ่านๆ
  • ทุกวิชาชีพมุ่งตอบสนองระบบทุนนิยม
  • มีบ้างไหมที่นักประชาสัมพันธุ์ดีเด่นสุด เดินเข้าไปในชนบท ไปคลุกคลีสักพักใหญ่ๆ แล้วก็คิดงานประชาสัมพันธุ์ให้คนหันกลับมาพัฒนาทุนทางสังคมที่เรามีอยู่และกำลังหมดลงไปนั้นให้ฟื้นคืนมา  ไม่มีครับ เพราะไม่ได้เงิน หรือได้ต่ำๆ
  • องค์ความรู้ซีกธุรกิจจึงก้าวไปสุดขั้ว ไปดูร้านขายหนังสือ ป็อคเก็ตบุ๊ค มีแต่หนังสือแปร  "วิธีทำให้รวยภายใน 7 วัน" "หลักการครอบครองใจลูกค้ามหัศจรรย์"  ฯลฯ  แต่ไม่มี วิธีปลดหนี้ในหมู่บ้านภายใน 6 เดือน อะไรทำนองนี้
  • ไม่มีข้อสรุปหรอกครับเพียงหยิบบางมุมมาให้อ่านกันเล่นๆครับ

สวัสดีครับ ท่านอาจารย์ทิพวัลย์  ขอเข้ามาเยี่ยมอีกครั้งครับ   เป็นประเด็นของท่านพระอาจารย์สุบินครับ

             ผมได้สนทนา ลปรร กับท่านอย่างเข้มข้นครับในเวทีการประชุมอบรม  และ ยังได้นิมนต์ท่านมาที่โรงเรียน ให้ความรู้กับคณะครู  และ ให้คณะครูได้ซักถามทุกเรื่องจนหายข้องใจ 

            เพราะ ทั้งผม และ คณะครู ก็ออกจะ "ดื้อ" เล็กๆ ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ  แต่ พระอาจารย์นิ่งและสุขุมครับ ตอบได้ทุกเรื่อง  จนได้รับการยอมรับ  และ นำเอาหลักการของท่านมาพัฒนาโรงเรียนครับ 

             ตอนนี้ทำอยู่ 2 เรื่อง  คือ ตั้งกลุ่มสัจจะสะสมทรัพย์ และ การปลูกป่าบนพื้นที่ว่างของโรงเรียน 

                                                 ขอบคุณครับ

 ป.ล. ฟังเพลงจากบลอ็กอาจารย์แล้ว  ช่วยให้จิตใจสงบและเย็นได้มากครับ

ขอบคุณท่านบางทรายและท่านอาจารย์วิชชามากนะคะ หวังเป็นอย่างยิ่งว่าคงได้มีโอกาสพบและสนทนากันแบบ "ตัวเป็นๆ " เราจะได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันได้มากขึ้นนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท