การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่ ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความ ปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2517


การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่  ตามระเบียบว่าด้วยการรักษาความ ปลอดภัยแห่งชาติ พ.ศ.2517
                                การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่คือ  มาตรการที่กำหนดขึ้นเพื่อพิทักษ์รักษาให้ความปลอดภัยแก่ที่สงวน  อาคาร  และสถานที่ของส่วนราชการ  ตลอดจนวัสดุ  อุปกรณ์  เจ้าหน้าที่  และเอกสารในอาคารสถานที่ดังกล่าวให้พ้นจากการโจรกรรม  การจารกรรมและการก่อวินาศกรรมหรือเหตุอื่นใด  อันอาจทำให้เสียสมรรถภาพในการปฏิบัติภารกิจของส่วนราชการได้
                                ความมุ่งหมาย     การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่มีความมุ่งหมายเพื่อ
                                1.  กำหนดมาตรฐานการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่ของส่วนราชการ
                                2.  เป็นแนวทางในการวางแผนการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่ของส่วนราชการที่ตั้งขึ้นใหม่หรือขยายออกไป  และเป็นแนวทางในการประเมินค่าแห่งการรักษาความปลอดภัย เกี่ยวกับสถานที่ที่มีอยู่แล้ว
                                3.  เป็นแนวทางให้ส่วนราชการดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัย เกี่ยวกับสถานที่ตามความเหมาะสมกับระดับความสำคัญของสถานที่นั้นๆ
                                4.  ช่วยเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบในการพิทักษ์รักษาสถานที่ และวัสดุต่างๆ ที่มีค่าสูงของชาติให้ปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
                                ข้อพิจารณาในการวางมาตรการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่                                 ระดับการรักษาความปลอดภัยของสถานที่หนึ่งๆ ย่อมมีความแตกต่างกันแล้วแต่ความสำคัญของภารกิจ สิ่งที่เป็นความลับ ทรัพย์สิน และอาคารสถานที่ จึงต้องแยกพิจารณาการวางมาตรการการป้องกันแต่ละอาคารสถานที่ เช่น อาคารสถานที่บางแห่ง พื้นที่ทั้งหมด  อาจต้องการมาตรการการรักษาความปลอดภัยเพียงแบบเดียว แต่สถานที่อีกแห่งหนึ่งมีภารกิจเฉพาะอย่าง หรือพื้นที่ภายในเฉพาะแห่งที่ต้องการมาตรการการรักษาความปลอดภัยมากแบบเป็นพิเศษ เช่น การจัดแยกกิจการให้อยู่ต่างหากและการเพิ่มมาตรการการป้องกันให้มากขึ้น เป็นต้น
                                เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสถานที่
                                เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสถานที่  คือ  เจ้าหน้าที่ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการรักษาความปลอดภัย ประกอบด้วยเจ้าหน้าที่เวรรักษาความปลอดภัยประจำวัน  ยามรักษาการณ์ และเจ้าหน้าที่อื่น
                                เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสถานที่จัดขึ้นด้วยความมุ่งหมายเพื่อให้การรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพราะไม่ว่าจะมีเครื่องกีดขวางชนิดใด หากไม่มีการเฝ้ารักษาแล้วก็อาจมีการเล็ดลอดเข้าไปได้
                                เจ้าหน้าที่เวรรักษาความปลอดภัยประจำวันมีหน้าที่กำกับ  ดูแล  การปฏิบัติของยามรักษาการณ์ และหน้าที่อื่นที่ได้รับมอบหมายจากหัวหน้าส่วนราชการนั้นๆ
                                ยามรักษาการณ์มีหน้าที่ป้องกันบริเวณเขตหวงห้ามทั้งหมดตลอดจนวัสดุและสิ่งอุปกรณ์ทั้งปวง ทำการตรวจสอบบุคคล  ยานพาหนะ  และสิ่งของต่างๆ ที่นำเข้ามาหรือออกไปจากอาคารสถานที่ ห้ปฏิบัติตามกฎ และข้อบังคับต่างๆ  โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการป้องกันอัคคีภัย  อุบัติเหตุ  และภยันตรายอื่นๆ
                      ที่ทำการของเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสถานที่ ควรตั้งอยู่ในบริเวณที่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้สะดวกภายในที่ตั้งควรมีที่เก็บอาวุธ  เครื่องมือเครื่องใช้และเครื่องมือสื่อสาร  ในที่ตั้งจะต้องมีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยสถานที่ประจำอยู่อย่างน้อยหนึ่งคนตลอดเวลา
                                ในกรณีที่มียามรักษาการณ์  ควรมีโทรศัพท์ตั้งไว้    จุดอันเหมาะสมที่สุดในเส้นทางของยามรักษาการณ์ และควรกำหนดประมวลลับสำหรับใช้พิสูจน์ฝ่ายระหว่างกันขึ้น ยามรักษาการณ์จะต้องรายงานตรงตามกำหนดเวลาเสมอด้วย  นอกจากโทรศัพท์ควรกำหนดวิธีการ หรือเครื่องมือสื่อสารสำรองไว้ในกรณีที่โทรศัพท์ขัดข้อง
                                การควบคุมบุคคลและยานพาหนะการควบคุมบุคคล
                                1.  จัดให้มีบัตรผ่านสำหรับบุคคลภายใน  เพื่อใช้แสดงว่าเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ผ่านเข้าไปในพื้นที่ที่การรักษาความปลอดภัยได้
                                2.  จัดให้มีป้ายแสดงตนสำหรับบุคคลทั้งภายในและภายนอก   เพื่อแสดงว่าเป็นบุคคลที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปในพื้นที่ใดได้ ในฐานะอะไร
                   3.  จัดให้มีการบันทึกหลักฐานสำหรับบุคคลภายนอก
                                4.  จัดให้มีที่พักผู้มาติดต่อ หรือเยี่ยมไว้เป็นพิเศษต่างหาก
                                การควบคุมยานพาหนะ
                1.  มีเจ้าหน้าที่ตรวจสอบ
                                2.  ทำบันทึกหลักฐานยานพาหนะเข้าออก
                                3.  จัดที่จอดรถให้อยู่ห่างจากตัวอาคารที่สำคัญและ/หรือ สิ่งของที่ติดเพลิงง่ายประมาณ ไม่น้อยกว่า 6 เมตร
                                พื้นที่ที่มีการรักษาความปลอดภัย  คือ  พื้นที่ที่มีการกำหนดขอบเขตโดยแน่ชัด ซึ่งมีข้อจำกัดและการควบคุมของการเข้าออกเป็นพิเศษ  มีความมุ่งหมายเพื่อจะพิทักษ์สิ่งที่เป็นความลับบุคคล  ทรัพย์สิน  วัสดุและสิ่งอุปกรณ์ของทางราชการให้ปลอดภัย  โดยกำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัยในแต่ละเขตให้มีระดับแตกต่างกันตามความสำคัญ
                                การป้องกันอัคคีภัย
               1.  การวางมาตรการการป้องกันอัคคีภัย  ให้หัวหน้าส่วนราชการกำหนดมาตรการการป้องกันอัคคีภัย  โดยมีเจ้าหน้าที่ควบคุมการรักษาความปลอดภัยเป็นผู้วางแผนและกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันและระงับอัคคีภัย  กฎกระทรวงและมติคณะรัฐมนตรี ตลอดจนคำสั่งของทางราชการต่างๆ ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้
                                2.  เจ้าหน้าที่ดับเพลิง  ในเวลาราชการให้จัดข้าราชการเป็นเจ้าหน้าที่ดับเพลิง โดยแบ่งเป็นสองกลุ่ม  คือกลุ่มที่หนึ่งมีหน้าที่ดับเพลิง  และอีกกลุ่มหนึ่งมีหน้าที่ขนย้ายเอกสารและควบคุมรับผิดชอบเอกสารและวัสดุ  โดยให้แต่ละกลุ่มมีจำนวนเพียงพอสำหรับงานนั้นๆ  สำหรับนอกเวลาราชการให้เป็นหน้าที่ของเจ้าหน้าที่เวรรักษาความปลอดภัยประจำวัน และยามรักษาการณ์เป็นผู้รับผิดชอบ
                                การวางแผนการรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่
                                ในการวางแผนรักษาความปลอดภัยเกี่ยวกับสถานที่ ต้องพิจารณาจากผลของการประมาณการและ/หรือ ข้อมูลตามหัวข้อดังต่อไปนี้เป็นหลัก  คือ
                                1.  สถานการณ์โดยทั่วไปและสภาพแวดล้อมโดยรอบพื้นที่
                                2.  ข่าวสาร  สิ่งบอกเหตุ และการเตือนภัย
                                3.  ภารกิจและหน้าที่ของหน่วยงาน
                                4.  จำนวนเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานและเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย
                                5.  งบประมาณที่จะใช้ในการวางมาตรการการรักษาความปลอดภัย
                                6.  จากการสนับสนุนจากหน่วยเหนือและหน่วยงานอื่นๆ
                                7.  การติดต่อสื่อสารภายในหน่วยกับหน่วยเหนือและหน่วยงานอื่นๆ
                                8.  รายงานการสำรวจหรือการตรวจสอบการรักษาความปลอดภัย

หมายเลขบันทึก: 164796เขียนเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2008 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท