ระบบการแลกเปลี่ยนเพื่อการพึ่งตนเอง..อย่างมีศักดิ์ศรี


การมีส่วนร่วมเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เป็นรูปธรรมที่จะสอนเรื่อง "ศักดิ์ศรี" และการพึ่งตนเอง

ได้ติดตามบันทึกของ อ.ปัทมาวดี เกี่ยวกับระบบการแลกเปลี่ยนชุมชนมานาน แต่เพิ่งได้เข้าไปอ่านงานของ "โครงการวิจัยและพัฒนาระบบการแลกเปลี่ยนชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง" ในเว็บของสถาบันการจัดการเพื่อชนบทและสังคม ตามที่ อ.ปัทแนะนำไว้ มีประเด็นที่สนใจ..ใคร่ติดตามเรียนรู้...

ส่วนหนึ่งในงานด้านสงเคราะห์และพัฒนาที่ได้ทำอยู่ในพื้นที่ในช่วงที่ผ่านมา ได้แก่งานช่วยเหลือเด็กพิการ แม่หม้าย (ซึ่งมีมากขึ้นๆ ในชุมชนปัจจุบัน) ซึ่งช่วยตัวเองไม่ได้มาก และตามวัฒนธรรมชนเผ่าดั้งเดิมก็ไม่เป็นที่ยอมรับของชุมชน

ที่ผ่านมานอกจากการช่วยด้านสุขภาพจิตใจแล้ว ยังมีการช่วยด้านสุขภาพร่างกาย ที่ไม่เพียงการทำกายภาพบำบัด ฝึกหัดการใช้ชีวิต ยังมีการช่วยปัจจัยในการดำรงชีวิตเบื้องต้น เช่น นมผง สำหรับเด็ก

แต่ล่าสุดได้มีแนวคิดที่จะให้แม่หม้าย หรือครอบครัวเด็กพิการเหล่านี้ มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเท่าที่เป็นไปได้ โดยรูปแบบที่เลือกใช้ตามความสามารถทางวัฒนธรรม ก็คือ การให้แม่บ้านซึ่งมีฝีมือในการปักผ้าแบบชนเผ่า ได้ใช้เวลาในการปักผ้ามาแลกกับนมผง หรือความช่วยเหลืออื่นๆ ที่เคยได้รับเปล่าๆ  โดยมองว่าการมีส่วนร่วมเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้เป็นรูปธรรมที่จะสอนเรื่อง "ศักดิ์ศรี" และการพึ่งตนเอง

พอได้อ่านงานวิจัยที่กล่าวข้างต้น เลยได้หันมามองโครงการเล็กๆ ที่กำลังเริ่มต้นทำในปีนี้ ไม่แน่ใจว่าเป็นแนวคิดเดียวกันหรือไม่?

และจะพอขยายจากจุดเล็กๆ นี้ ไปสู่เรื่องระบบการแลกเปลี่ยนชุมชนที่อาจารย์ทำอยู่ได้ไหม?

และจะเชื่อมโยงกับการตั้งกองทุนสวัสดิการชุมชน ที่กำลังสนใจรูปแบบของ "ครูชบ" ได้อย่างไรบ้าง?

ดูๆ แล้วน่าจะเป็นเรื่องเดียวกันใช่ไหมคะ??

 

หมายเลขบันทึก: 164504เขียนเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2008 19:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 พฤษภาคม 2012 10:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

อ่านเรื่องกองทุนฟื้นฟูที่นครสวรรค์ของ อ.ปัท แล้ว พอจะมีกำลังใจกลับมาทำงานในพื้นที่ต่อ เพราะที่ไหนๆ ก็ปัญหาหนี้สินไม่แพ้กัน แต่อย่างน้อย ทางนี้..เราคงพอเป็น "ตัวเชื่อม" เล็กๆ ได้บ้าง

คุณ pilgrim สวัสดีค่ะ

กำลังคิดอยู่ว่า คุณ pilgrim หายไปไหน ไปทำอะไรมา  ได้อ่านบันทึกแล้วก็เลยได้คำตอบ

สิ่งที่คุณ pilgrim ดำเนินการอยู่  ถ้าช่วยให้แม่บ้านไม่ต้องดิ้นรนกับการขายมากนัก  และได้สิ่งที่เขาต้องการกลับมาด้วยความกำลังความสามารถของเขาอย่างพอเหมาะพอสม และอยู่ในขอบข่ายที่เขาพอกำหนดวิถีตนเองได้   ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีค่ะ  ส่วนจะสอดคล้องกับแนวคิดของโครงการระบบแลกเปลี่ยนหรือไม่นั้นไม่สำคัญ  (แต่ที่อ่านแล้วคิดว่า สอดคล้องทั้งในเรื่อง การแลกเปลี่ยนและเรื่องสวัสดิการค่ะ) 

ด้วยความตั้งใจจริงและจริงใจต่อชาวบ้าน  คุณ pilgrim เป็นตัวเชื่อมได้แน่ค่ะ  

วันก่อนไปคุยกับนักศึกษาปริญญาโทที่เคยทำงานพัฒนา   ได้เล่าเรื่องโครงการระบบแลกเปลี่ยนให้เขาฟัง  และเล่าว่า  ตัวเองก่อนเริ่มโครงการ  ต้องถามตัวเองก่อนให้แน่ใจว่า  สิ่งที่แนะนำชาวบ้านนั้น  ถ้าไม่สำเร็จจะเป็นผลลบกับชาวบ้านไหม   คิดทบทวนแล้วว่า ถ้าไม่บวก ชาวบ้านก็จะแค่เสมอตัว   คงไม่เป็นลบแน่  จึงได้เริ่มโครงการ

น้องเขาบอกว่า  เขาเริ่มต้นงาน ด้วยการที่ไปสนับสนุนให้แม่บ้านผลิตเพื่อขาย ปรากฎว่าทำให้ชาวบ้านขาดทุน  น้องเขาฝันร้ายมาถึงทุกวันนี้  พอมาคุยกันเรื่องระบบแลกเปลี่ยน  เขาจึงเข้าใจว่า  ที่จริงแนวทางการส่งเสริมให้ชาวบ้านผลิตของขายนั้น คงจะไม่ถูกตั้งแต่ต้น

คุณ pilgrim ลองคุยกับแม่บ้านดูนะคะ ว่า เขาคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไรกับการแลกเปลี่ยนแบบนี้   ลองค้นหาสิ่งที่เขาขาด ค้นหาสิ่งที่เขามี  แล้วค่อยๆคิด ค่อยๆขยับขยาย 

 

ส่วนกิจกรรมการออมด้วยการลดรายจ่ายวันละบาทนั้น ก็คงทำได้ไม่ยาก แต่คงต้องทำความเข้าใจกับชาวบ้านก่อน   นอกจากออมเงินแล้ว  จะออมไม้  ออมป่า  ก็ยังได้ค่ะ  ชาวบ้านเขาเคยออมอะไรกันบ้างคะ

แต่ถ้าจะให้ชัด คิดว่าคงต้องตอบก่อนว่า  อะไรคือปัญหาที่เรา(กับชาวบ้าน) เห็นว่าควรช่วยกันแก้ไข  เอาโจทย์และเป้าหมายเป็นตัวตั้ง จะได้มีแรงขับเคลื่อน และมองหาทางเลือกที่หลากหลาย ไม่ติดรูปแบบและปรับได้ตามสถานการณ์ที่เป็นจริง      

การแลกเปลี่ยน การออม ก็เป็นแค่ทางเลือกค่ะ  เป้าหมายแรกคือ ทำให้ชาวบ้านได้หันเข้าหากัน ช่วยเหลือกัน และภูมิใจในตัวเอง

พี่ไม่ใช่คนที่มีประสบการณ์งานพัฒนาที่ลงพื้นที่มากเท่ากับผู้รู้อีกหลายๆท่าน    ถือว่าเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ก็แล้วกันนะคะ

ต้องขอโทษอาจารย์ด้วยค่ะ ที่หายไปไม่ได้ส่งข่าวคราว แต่ไม่ได้ไปไหนไกลคะ เพียงแต่ไม่ได้เข้า gotoknow พักหนึ่งค่ะ

และพยายามทำการบ้านที่คุยกับ อ.ไว้ เพียงแต่ยังไม่ค่อยชัด เพราะเข้าใจว่าจุดที่สนใจจาก "กองทุนสวัสดิการชุมชน" นั้น เป็นเพียงส่วนหนึ่ง เลยพยายามเข้าใจภาพกว้างในส่วนที่ อ.ทำ คือ "ระบบการแลกเปลี่ยนชุมชน" ไปพร้อมกันด้วย พร้อมๆ กับเริ่มลงมือทำบางสิ่งบางอย่าง

จุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่เล่าในบันทึกนี้ เป็นสิ่งที่ปรับมาจากโครงการสหกรณ์ช่างตัดเย็บผ้า ที่เคยเขียนไว้ในบันทึกแรกๆ แต่เมื่อได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้มากขึ้น ก็หยุดไปเพราะไม่อยากเดินเข้าสู่ระบบตลาดเต็มตัว

เลยกลับมาดูจุดนี้ ซึ่งที่ผ่านมาก็ทำในลักษณะนี้อยู่บ้าง แต่อาจไม่ชัดเจนจริงจังนัก จึงคิดกลับมาทำให้ชัดเจนขึ้นตามแนวคิดและประสบการณ์ที่อาจารย์แบ่งปันไว้ค่ะ

ขอบคุณ อ.ปัท มากนะคะ สำหรับคำแนะนำและความคิดเห็น (กำลังรอคอยด้วยความตื่นเต้นคะ เพราะกำลังมีข้อสงสัยเยอะเลยคะ !!)

สำหรับความรู้สึกของแม่บ้าน มีดังนี้ค่ะ

ส่วนน้อยมาก ที่เป็นฝ่ายมาขอ (ก่อนเริ่มโครงการ) ว่าตนพอจะทำอะไรตอบแทนได้บ้าง จากที่ได้รับความช่วยเหลือด้านต่างๆ สำหรับลูกซึ่งเป็นเด็กพิการ ซึ่งเราก็เลยได้เสนอให้ปักผ้า ด้วยความยินดีทั้งสองฝ่าย

แต่หลายๆ คน ซึ่งเคยได้รับความช่วยเหลืออยู่ก่อนแล้ว พอเราอธิบายแนวคิดและเป้าหมายนี้ เขาก็ไม่ได้ปฏิเสธ ได้ให้ความร่วมมือปักผ้าด้วย แต่มีคนหนึ่งบอกว่าผ้าที่เคยให้ครั้งก่อน (เข้าใจว่านานมากแล้ว) ยังอยู่ที่เขาอยู่เลย

ซึ่งเราก็มีข้อกังวลกันดังนี้

1. ถ้าเขาปักเพราะต้องปักให้ เขาอาจไม่ตั้งใจทำอย่างเต็มที่ไหม?? เช่น อาจทิ้งไว้นานๆ อย่างคนนี้  หรือ ปักแบบขาย ไม่ใช่ปักด้วยใจใช้เอง

2. ดังนั้น เราจะต้องมีกฎเกณฑ์อะไรบางอย่างไหม เช่น ระยะเวลา หรือการกำหนดมูลค่า ของชิ้นงาน .. กรณีเช่นนี้ เมื่อไม่ได้วัดเป็นตัวเงิน จะกำหนดอย่างไรดีคะ ?? เช่น ลายละเอียดแลกนม 2 กระป๋อง ลายหยาบๆ ได้ 1 กระป๋อง เหรอคะ ? 

ขอรบกวนช่วยแนะนำเพิ่มเติมประเด็นนี้ด้วยค่ะ กำลังขบคิดกันอยู่ค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

ยังงงๆอยู่เล็กน้อยค่ะ 

สิ่งที่กำลังทำคือการแลกเปลี่ยนระหว่างชาวบ้านกับเราหรือคะ  มีการแลกเปลี่ยนระหว่างชาวบ้านด้วยกันเองไหม

ใช่ค่ะ เริ่มต้นนี้เป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างเรา ซึ่งให้ความช่วยเหลือด้านงานสงเคราะห์อยู่ ..กับชาวบ้านซึ่งรับความช่วยเหลือมาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนที่จะเริ่มแนวคิดการแลกเปลี่ยนนี้ค่ะ

เราเพิ่งเริ่มคิดเริ่มทำในส่วนนี้ ยังไม่ได้มีการกระตุ้นให้ชาวบ้านแลกเปลี่ยนกันเอง  แต่เท่าที่เห็นชาวบ้านแลกเปลี่ยนกันเองอยู่แล้วในเรื่องแรงงานเกษตรในไร่ค่ะ

คุณ pilgrim คะ

ขอโทษที่หายไประยะหนึ่งค่ะ

การแลกเปลี่ยนควรมาจากความสมัครใจทั้งสองฝ่ายค่ะ ไม่อยากให้สร้างดีมานด์เทียมค่ะ  ค่อยๆดูว่ามีความต้องการอะไรบ้าง ทำอะไรได้บ้าง  ชาวบ้านปลูกผักปลูกผลไม้ (ไม่ทราบว่ามีหรือเปล่า) มาแลกกับนมก็ยังได้ค่ะ  ถ้าคนในชุมชนผลิตเหมือนๆกัน ก็จะไม่มีให้แลกเปลี่ยนมากนัก  แต่ถ้าแบ่งกันผลิตแล้วมาแลกกันก็จะดีค่ะ    บางพื้นที่มีการแบ่งกันปลูกผัก  หรือแบ่งกันปลูกสมุนไพร  แล้วรวมกลุ่มทำยาพื้นบ้านด้วยกัน  แลกวัตถุดิบสมุนไพรกับยาที่ได้ก็มีค่ะ

คือว่า ยังไม่เห็นภาพของสภาพพื้นที่จริง ก็เลยยังแนะนำอะไรได้ไม่มากค่ะ

ผ้าที่แลกมา  ถ้าคุณ pilgrim ต้องการมันจริงๆก็ดีค่ะ แต่ถ้าเพียงเพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยน ก็อาจจะไม่ยั่งยืนค่ะ  

เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน  อย่าเพิ่งคิดแบบเป็นกฎเกณฑ์ตายตัวนะคะ   อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ความสมัครใจของทั้งสองฝ่าย   เช่น  เดิมอาจแลก ลายหยาบกับนม 1 กระป๋อง  แต่ต่อมา อาจเห็นว่าชาวบ้านคนนั้นเดือดร้อน ก็อาจจะอนุโลมให้ 2 กระป๋องได้เหมือนกันยามจำเป็น อะไรทำนองนี้

ถ้าเขาไม่มีผ้าปัก แต่เขามีอย่างอื่นมาแลก คุณ pilgrim อาจพิจารณาได้ตามความพอใจค่ะ  เช่นอยากช่วยเขา แต่เราไม่ต้องการ ก็อาจรับมาก่อน แล้วเอาไปแลกต่อกับคนอื่นก็ยังได้ค่ะ

หรือคุณ pilgrim จะทำหน้าที่คล้ายๆเป็นร้านค้าชุมชนที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยน    ที่จริงของมือสองที่เรามีก็อาจเป็นสิ่งที่ชาวบ้านต้องการเช่นกันค่ะ

ต้องลองดูก่อนว่า  ชาวบ้านทำอะไรได้บ้างนอกจากปักผ้า...  น่าจะมีนะคะ

 

 

ขอบคุณค่ะอาจารย์

ที่ผ่านมาเราเคยใช้ระบบการแลกเปลี่ยนกับโครงการอื่นอยู่บ้างค่ะ โดยเฉพาะในเรื่องการศึกษา สำหรับค่าเทอมเด็กนักเรียน หลายครอบครัวก็ไม่ได้ใช้เงิน แต่จ่ายเป็นหมู หรือข้าวสารค่ะ

ส่วนความคิดเรื่องการปักผ้าเพื่อแลกเปลี่ยนในโครงการนี้ ก็มีความเชื่อมโยงกับแม่บ้านที่มีวิชาชีพตัดเย็บเสื้อผ้าที่เคยคุยให้ อ.ฟังน่ะค่ะ เลยคิดว่าผ้าปักนี้จะสามารถนำมาประกอบเป็นผลิตภัณฑ์ เช่นกระเป๋า ฯลฯ ใช้เป็นของขวัญที่มีคุณค่าความงามจากลายปักของวัฒนธรรมชนเผ่าด้วยค่ะ

ที่ว่าทำหน้าที่คล้ายๆ เป็นร้านค้าชุมชนที่เป็นศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนนี่ น่าสนใจมากเลยค่ะ

ที่ผ่านมาเราก็มีเสื้อผ้าบริจาค ทั้งมือหนึ่ง มือสองจำนวนไม่น้อย แต่เราใช้วิธีขายราคาถูกให้คนที่ต้องการ ในเทศกาลพิเศษต่างๆ ค่ะ

ความคิดอาจารย์น่าสนใจมากค่ะ จะนำมาต่อยอดนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท