KM Knowledge Management การบริหารจัดการความรู้


KM Knowledge Management การบริหารจัดการความรู้

เขียนโดย วิศิษฐ์ วังวิญญู

 

มีการพูดถึงการบริหารจัดการความรู้ ในยุคสมัยแห่งข้อมูลข่าวสาร ที่สังคมมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์กรมนุษย์ โดยเฉพาะองค์กรธุรกิจต้องปรับตัวให้เท่าทันสถานการณ์หรือสภาพการณ์ของสังคม ตลอดจนสิ่งแวดล้อมที่แปรเปลี่ยนไป

เราพูดถึงการบริหารจัดการองค์กรที่จะต้องแปรเปลี่ยนได้อยู่เสมอ เราพูดถึงองค์กรที่มีความรู้ ซึ่งความรู้นั้นจะต้องเป็นความรู้ที่ปรับเปลี่ยนได้ ด้วยเหตุนี้ เราจึงฝันถึง องค์กรแห่งการเรียนรู้และเมื่อองค์กรจะต้องบริหารจัดการอะไรสักอย่าง องค์กรแห่งการเรียนรู้แน่นอน ย่อมจะต้องบริหารจัดการความรู้

ข้อมูลกับความรู้

คำสองคำนี้ ก็มีการใช้และตีความกันไปต่างๆ นานา ในหนังสือ Finding The Way (2005) อันเป็นหนังสือเล่มล่าสุดของ Margaret Wheatley ได้ให้ความหมายข้อมูลและความรู้แตกต่างกัน หรือที่จริง ก็คือการสร้างวาทกรรม ที่เราตั้งใจจะให้ความหมายกับคำสองคำนี้แตกต่างกัน ความแตกต่างนี้ช่วยให้เราเข้าใจ การบริหารจัดการความรู้ หรือ Knowledge Management ในมิติของวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่

และถ้าจะให้เข้าใจวิถีของการจัดการความรู้ในวิทยาศาสตร์ใหม่ได้ดี เราอาจจะต้องเข้าใจ การจัดการความรู้ในวิทยาศาสตร์เก่า กล่าวคือ ในวิทยาศาสตร์เก่า ข้อมูล ความรู้เป็นเสมือนวัตถุ สิ่งของที่เป็นชิ้นส่วน อันสามารถเก็บสะสมได้ เคลื่อนย้ายได้ นำไปใช้ประโยชน์ได้ การมีข้อมูลไหลเวียนในระบบคอมพิวเตอร์มากขึ้น แปลว่ามนุษย์ฉลาดขึ้น มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะการมีปริมาณข้อมูลมากๆ นั้น อันนี้เพียงคิดและใช้ความรู้สึกอย่างง่ายๆ ก็รู้ว่าไม่จริง ไม่ได้เป็นเช่นนั้น

คำว่า ข้อมูล มาร์กาเร็ต วีตเล ใช้ในความหมายของวิทยาศาสตร์เก่านี้ อาจจะช่วยให้เข้าใจได้มากขึ้น ถ้าจะกล่าวว่า ข้อมูลเป็นเหมือนความรู้จากตำรับตำรา หรือเป็นความรู้จากผู้เชี่ยวชาญที่มาจากภายนอก คือภายนอกตัวเราและภายนอกองค์กร ชุมชนหรือเครือข่ายของเรา แต่อันที่จริงแล้ว ในวิทยาศาสตร์ใหม่ มิติทางความรู้จะแปรเปลี่ยนไป จะมองว่า ความรู้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในตัวเรา เป็นกระบวนการบางอย่าง ที่ทำให้เราเรียนรู้และเข้าใจอะไรบางอย่างขึ้นมา โดยความรู้นั้นจะติดอยู่กับตัวเรา และมีความยืดหยุ่นที่จะนำไปใช้กับโจทย์ที่แปรเปลี่ยนไป หรืออาจกล่าวได้อีกอย่างว่า ความรู้แบบนี้เป็นความรู้ที่อยู่ในเนื้อในตัวของเรา ที่เราสามารถเข้าไปกระทำการกับมันได้ จะปรับเปลี่ยนแปรรูปอย่างไรเพื่อประโยชน์ใช้สอยของเราได้ดังใจปรารถนา


ความรู้หรือข้อมูลในระบบโรงเรียน

ในขณะที่ข้อมูล เมื่อตีความด้วยวิทยาศาสตร์เก่า ข้อมูลจะเป็นชิ้นส่วนที่ปราศจากชีวิต หากเป็นความรู้ที่ไม่ได้ผ่านประสบการณ์หรือกระบวนการเรียนรู้ หากใช้การจดจำ แต่ความรู้ในการตีความของวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่จะมีความหมายที่แตกต่างออกไป เพราะความรู้ในความหมายนี้จะก่อเกิดขึ้นได้ในประสบการณ์ตรง ในกระบวนการเรียนรู้ของชีวิต เป็นมากกว่า ชิ้นส่วนข้อมูลในระบบโรงเรียนหรือความรู้ที่มาจากตำรา จะใช้ฐานคิดของการเป็นข้อมูลในวิทยาศาสตร์เก่า บางทีอาจจะมีปัญหา เมื่อมีการถ่ายเทความรู้นั้น ๆ เพื่อนำไปใช้ ในอีกสถานการณ์หนึ่งหรือในอีกบริบทหนึ่ง วิธีการง่ายๆ ที่จะทดสอบก็คือการเปลี่ยนโจทย์เพื่อดูว่าสามารถนำความรู้เดิมไปใช้ในบริบทใหม่ได้หรือไม่ ผลปรากฏว่า การเรียนรู้ในระบบโรงเรียน (แบบกระบวนทัศน์เก่า) จะไม่สามารถตอบโจทย์ที่ถูกจัดวางขึ้นในบริบทใหม่ คือไม่สามารถยักย้ายถ่ายเทความรู้หรือข้อมูลไปใช้ในบริบทอื่นๆ ได้

อันนี้ มีการวิจัยเด็กจบปริญญาตรีในสหรัฐอเมริกา ปรากฏว่าโดยเฉลี่ย เด็กจบปริญญาตรีก็ยังไม่สามารถถ่ายเทความรู้ออกไปใช้ในบริบทอื่นๆ อันต่างจากที่เรียนมา  หรือว่านี่คือความล้มเหลวของระบบโรงเรียน !


 ความรู้หรือข้อมูลที่มีชีวิต

นพ. ประสาน ต่างใจ เคยกล่าวไว้ว่า พลังงาน ข้อมูล จิต ปัญญา คือ สิ่งเดียวกัน

กวีในทีมกระบวนกรของเรา อภิชาติ ไสวดี ที่เขียนเรื่องเล่าของปกาเกอะญอ เคยกล่าวว่า ตามคติของ ปกาเกอะญอ แล้วถ้อยคำ คำหนึ่ง จะมีความหมายอยู่ ๗ความหมาย เรื่องเล่าเรื่องหนึ่ง จะมีที่ใช้อยู่ ๗ ประการความข้อนี้แสดงให้เห็นว่าความรู้มิได้มีเพียงมิติเดียวแบนๆ หากมีหลากหลายมิติ มีความลุ่มลึกและกว้างไกล แต่ในโลกปัจจุบัน ที่ความสนใจของมนุษย์ถูกเบี่ยงเบนออกไปแต่ภายนอก จำกัดกรอบการรับรู้ของมนุษย์อยู่แต่เพียงวัตถุ ตลอดจนรูปแบบภายนอกที่พื้นผิว  โลกของคนสมัยนี้ จึงตื้นเขินและคับแคบลงอย่างถนัดใจ

ระบบการเรียนรู้ของมนุษย์นั้นเป็น Self-Referencing คือความรู้จะเกิดขึ้นได้จะต้องอาศัยฐานความรู้เดิมของตนเอง ฐานความรู้ของตนเองนั้นหมายถึง ทั้งฐานของปัจเจกบุคคลคือตัวเอง และฐานของสังคมวัฒนธรรมที่ตนดำรงอยู่ ด้วยเหตุนี้เอง บริบทและสิ่งแวดล้อมทางภูมินิเวศจึงเข้ามามีบทบาทที่สำคัญที่เป็นฐานอ้างอิง เพื่อจะก่อเกิดความรู้ใหม่ ๆ ด้วย

การกลืนทางวัฒนธรรมให้คนภาคอื่น มาพูดไทยภาคกลางหรือไทยกรุงเทพฯ และให้มามีโลกทัศน์แบบไทยพุทธจึงเป็นการตัดรอนรากฐานเดิมทางเอกลักษณ์ หรือ การอ้างอิงตนเองของชนเผ่าหรือคนพื้นเมืองอื่นๆ ที่ไม่ใช่ไทยกรุงเทพฯ การถูกตัดขาดออกจากรากฐานเช่นนี้ ทำให้การเรียนรู้ที่แท้จริงขาดสะบั้นลง ที่ทำให้ความรู้ที่มีชีวิตกลายมาเป็นความรู้ที่ตายแล้ว

ความรู้กับความสด

ยามเช้า เราชอบกินขนมปังอบอุ่นๆออกมาจากเตามากกว่าที่จะชอบกินขนมปังค้างคืนค้างวัน   ความคิดเป็นนวัตกรรมขององค์กรจัดการตัวเองของสมองมนุษย์ ความคิดมีทั้งสดและไม่สด ความคิดโดยส่วนใหญ่ ที่มนุษย์ทุกวันนี้เข้าไปเกี่ยวข้อง มากหลาย มักจะเป็นเพียงความทรงจำอันปราศจากความสด   บางทีเราอาจจะมองว่า ความคิดเช่นนั้นเป็น ความคิดที่ตายแล้ว

ความคิดตายแล้วก็มีประโยชน์ เพราะมันใช้เป็นฐานสำหรับความคิดใหม่ ๆ สด ๆ จะก่อเกิดขึ้นด้วย  แต่ถ้าเพียงหมุนวนอยู่กับที่ ก็อาจจะมีปัญหา อันที่จริงโดยโครงสร้าง แบบแผน และกระบวนการทางรูปธรรมคือชีวเคมีฟิสิกส์ของเซลสมองต่างๆ และเครือข่ายการเชื่อมโยงของพวกมันจะไหลเลื่อน เคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลง เชื่อมโยงอยู่เสมอ ความคิดก็อาจจะเป็นรูปแบบพลังงานในสมอง ที่อาจจะแปรเปลี่ยนเรียนรู้ได้ตลอดเวลา

แต่ เวลานี้เรากลับไปตรึงตรามันให้หยุดอยู่กับที่ เมื่อเป็นเช่นนี้ ชีวิตทั้งชีวิตวนเวียนกับบรรดาความคิดที่ตายแล้วอยู่ไม่กี่เรื่อง อาจจะทำให้สมองทำงานในขอบเขตจำกัดและในที่สุด ก็จะทำให้เรามีอนาคตในวัยชราเป็นโรคหลงลืม หรือที่เรียกว่าอัลไซเมอร์

ในบรรดานักคิด นักปราชญ์ ศิลปินนักบริหารที่ประสบความสำเร็จ เราจะพบพลังสร้างสรรค์ของความคิดอันไม่หยุดนิ่ง พวกเขาจะเรียนรู้และรับรู้เรื่องราวใหม่ๆอยู่เสมอและจะเรียนได้จากทุกคนไม่จำกัดเพศวัยคุณวุฒิ ตาพวกเขาใสซื่อแบบเด็กๆ เรียนใหม่ เริ่มใหม่ได้ตลอดเวลา และความคิดของพวกเขามีชีวิต มันจึงไม่อยู่กับที่ หากไหลเลื่อน  เคลื่อนที่ เปลี่ยนแปลง เชื่อมโยงไปตลอดเวลา

การไม่อยู่กับความจำ ไม่อยู่กับอดีต เพียงเท่านั้น ก็คือการดำรงอยู่ในปัจจุบันกาลหรือปัจจุบันขณะอย่างมีชีวิตชีวา อย่างมีความสดใหม่ต่อทุกเรื่องราว แม้กระทั่ง มองใหม่ในเรื่องเก่าจากจุดเดิมที่นั่งกินน้ำชา กาแฟตอนเช้า พวกเขาก็สามารถเห็นอะไรใหม่ๆ ได้ทุกวัน

ก่อนจะมาเป็นตำรา

ก่อนจะมาเป็นตำรา ความรู้ที่เกิดขึ้นเป็นความรู้แบบสด เป็นความคิดที่พวยพุ่งออกมาจากจิตไร้สำนึก ในองค์กรจัดการตัวเองของสมอง เรียกว่า ความรู้ปฐมภูมิ แต่แล้วต่อมา เราเอาความคิดความอ่านของคนอื่นอีกทีหนึ่งมาสอนมาเรียนกัน ความรู้นั้นเป็นเพียงความทรงจำ และที่จริงก็ได้มาไม่หมด มันเป็นเพียงแผนที่ ที่ไม่อาจจะให้ครบถ้วนเท่าของเดิมได้ ความรู้ในชั้นนี้เป็นทุติยภูมิแล้ว

พอมีคนเอาไปทำเป็นภาพยนตร์หรือวิดีโอเข้าอีก หรือมีคนที่สามมาพูดถึงความรู้ ที่คนที่สองเอามาสอน ความรู้เช่นนี้ ก็เป็นความรู้ชั้นที่สาม หรือตติยภูมิเข้าไปแล้ว

ในมนุษย์ที่แท้ จางจื้อกล่าวว่า ความรู้เช่นนี้เป็นกากวิชา หรือเป็นชานอ้อยที่ปราศจากรสหวานเสียแล้ว สิ่งที่เลวร้ายที่สุดก็คือ เราพากันเลิกเชื่อมั่นในตัวเอง โดยไปคิดว่าความรู้อยู่นอกตัว ความรู้อยู่ที่ผู้เชี่ยวชาญ เราไม่สามารถก่อเกิดความรู้ได้ หากต้องเข้าไปเรียนในโรงเรียน หรือไปเรียนกับผู้เชี่ยวชาญ

 

ความรู้กับความลี้ลับหรือ  Tacit Knowledge และ Bonding

              ความลี้ลับคือ สิ่งที่เราเข้าไม่ถึง หรือ เข้าถึงได้ยาก ตัวอย่างง่ายๆ ที่จะเข้าใจที่ทางของความลี้ลับในความรู้ก็มีเรื่องขี่จักรยาน หรือกับเรื่องว่ายน้ำเป็นต้น คนที่ว่ายน้ำไม่ได้ ขี่จักรยานไม่เป็น ย่อมเห็นคนที่ทำได้เป็นเรื่องลี้ลับ เราไม่สามารถเขียนหรือถอดประสบการณ์เหล่านี้เป็นถ้อยคำออกมาได้

             เรื่องประสบการณ์ชีวิตอื่นๆ ก็คงจะคล้ายๆ กัน และรวมไปถึงเรื่องของความรู้บางอย่างบางประการด้วย

             บางทีเมื่อองค์กรหนึ่งทำงานประสบความสำเร็จ ผู้คนตื่นเต้น ส่งนักวิชาการเข้าไปถอดบทเรียนออกมาเป็นหนังสือเล่มหนาๆ คิดว่าเมื่อนำส่งไปให้องค์กรอื่นๆ ศึกษา ก็อาจจะพบความสำเร็จอย่างเดียวกัน แต่แล้วที่พวกเขาได้ไป ก็เป็นเพียง explicit knowledge หรือความรู้ประเภทระบุเป็นถ้อยคำได้เท่านั้น แต่ที่ระบุเป็นถ้อยคำไม่ได้ซึ่งเป็น Tacit knowledge ซึ่งเป็นเรื่องราวที่สำคัญกว่า  กลับไม่สามารถถ่ายทอดเอาไปได้

            บางทีเราอาจจะต้องมีประสบการณ์ตรงกับอะไรบางอย่างที่เป็นคุณค่าหลักๆ (core values) ขององค์กรนั้นๆ ก่อน แล้วการอ่านและการถอดบทเรียนจึงอาจจะมีความหมายเต็มๆ พอที่จะเอาไปสร้างขึ้นในองค์กรใหม่ๆ ได้

            โจเซฟ ชิลตัน เพียซ นักคิดนักเขียนที่ดึงเอางานวิจัยสำคัญๆ ทางวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะที่เกี่ยวกับการเรียนรู้ มาเขียนหนังสือสำคัญๆหลายเล่ม เขาให้ความสำคัญกับ Model Imperative หรือกับพัฒนาการของมนุษย์ที่จะเกิดขึ้นได้ต้องมีต้นแบบหรือ Model และคำว่า ต้องเพราะมันเป็นการออกแบบที่องค์กรจัดการตัวเองตามธรรมชาติหรือ แห่งธรรมชาติได้เงื่อนไขนี้ขึ้นมา

              Model imperative นี้ เป็นไปทั้งในระดับสัญชาตญาณในเด็กเล็กๆ ไปจนกระทั่งในระดับจิตสำนึกในเด็กโตหรือมนุษย์ที่เป็นผู้ใหญ่ เพียซเห็นว่าการ Bonding คือการเชื่อมโยงระหว่างเด็กกับผู้ใหญ่ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้จากต้นแบบ หรือ Model imperative ที่ว่านี้ เมื่อผู้น้อยแสวงหา แบบในผู้ใหญ่ เมื่อทั้งสองยินยอมพร้อมใจมันจะเกิด Bonding ระหว่างกัน Boding เป็นความรักแบบแม่ มากกว่าความรักแบบพ่อที่แข็งกร้าวหรือเป็นพลังหยาง แต่แม่เป็นพลังหยินเป็นพื้นที่ปลอดภัย ไม่มีถูก-ผิด เป็นพื้นที่แห่งกำลังใจและแรงบันดาลใจ เพราะฉะนั้น ความสัมพันธ์ใน Bonding จึงต่างจากความสัมพันธ์ระหว่างครูกับศิษย์ในระบบโรงเรียนโดยสิ้นเชิง ในขณะที่ครูในระบบโรงเรียนจะควบคุมบังคับแต่ต้นแบบใน Bonding จะหล่อเลี้ยงดูแล หล่อเลี้ยงและดูแลแรงบันดาลใจการเรียนรู้ และการเติบโตด้านจิตวิญญาณของผู้น้อย

              Bonding นี้น่าจะนวัตกรรมของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ที่ปัญญาแรก ๆ ของสมุหภาพหรือ collective กำลังก่อเกิด


องค์กรจัดการตัวเองกับการก่อเกิดความรู้

              ระบบของชีวิต คือระบบที่เป็นองค์กรจัดการตัวเอง แม้รูปแบบชีวิตที่เรียบง่ายที่สุด ชีวิตเป็นองค์กรจัดการตัวเองในทุกๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเรียนรู้

              การเรียนรู้นั้นเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตในมิติของการอยู่รอด ชีวิตเรียนรู้เพื่อการอยู่รอด นอกจากนี้ ชีวิตยังเรียนรู้เพื่อการพัฒนา ความสามารถทาง ปัญญาในวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตโดยเฉพาะในชีวิตที่ซับซ้อนอย่างสายพันธุ์ของมนุษย์

               การออกแบบสถาบันการเรียนรู้แบบศาสนจักรและระบบโรงเรียนในเวลาต่อมา ซึ่งดั้งเดิมต้องการออกแบบเพื่อสร้างบรรยากาศให้เกิดการเรียนรู้ แต่ด้วยข้อจำกัดทางความคิดของมนุษย์ในยุคสมัยนั้นๆ และด้วยความต้องการควบคุมบังคับขององค์กรที่ดำรงอยู่ในอำนาจ โบสถ์และโรงเรียนจึงถูกออกแบบมาให้ปิดกั้นการเรียนรู้มากกว่าจะเกื้อหนุนให้เกิดการเรียนรู้ ระบบการศึกษาในโบสถ์และโรงเรียน ได้สร้างการพึ่งพาให้มนุษย์แต่ละคนไม่สามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองได้ แต่จะต้องพึ่งพาสถาบันทางสังคมที่ผู้มีอำนาจก่อตั้ง เพื่อให้เชื่อมและปกครองง่าย มนุษย์จึงเริ่มไม่เชื่อว่าตนเองจะเรียนรู้เองได้ ความรู้แบบมีชีวิตจึงต้องหลีกทางให้กับความรู้ที่ตายแล้ว


ปัจเจกภาพ

            ประดิษฐกรรมที่จิตสร้างเพื่อการพึ่งพาตลอดกาล

             การรวมตัวกันของมนุษย์ขึ้นมาเป็นกลุ่มก้อนมีเวทีมีโอกาสที่จะคิดอะไรร่วมกันขึ้นมา จะเป็นสิ่งที่เป็นอันตรายอย่างยิ่ง โดยเฉพาะสำหรับผู้ที่อยู่ในอำนาจ(แบบเก่า)ความเป็นปัจเจกภาพจึงถูกประดิษฐ์คิดค้นขึ้นมาเพื่อแยกมนุษย์ออกจากกันอย่างถาวร โดยไม่ต้องสร้างกรงขังแต่ละกรงให้มนุษย์แต่ละคนอยู่อาศัย แต่เป็นประดิษฐกรรมทางนามธรรมที่ใส่เข้าไปในห้วงคิดของมนุษย์ และทำให้มนุษย์เชื่อว่าเป็นเช่นนั้นจริง

            “ปัจเจกภาพเป็นซอฟต์แวร์ทางความเชื่อที่ทำให้มนุษย์เชื่อว่าหน่วยพื้นฐานของความเป็นมนุษย์คือ ตัวตนของมนุษย์แต่ละคน มนุษย์จะฝากทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกเรื่องราวในการดำเนินชีวิตไว้กับคำว่า ปัจเจกบุคคลมนุษย์จะดำรงตนอย่างเดียวดายในฝูงชน ในสถาบันทางสังคมต่างๆ แม้กระทั่งสถาบันครอบครัว ก็ถูกทำให้หลวมๆลงมาก ความผูกพันกันน้อยลง โดยเปิดพื้นที่ให้แก่ความเป็นปัจเจกมาก่อน โดยที่สุดแล้วปัจเจกบุคคลนั้นๆ จะต้องพึ่งพา สถาบันทางสังคมทุกอย่าง เพราะไม่สามารถเรียนรู้เองและออกแบบชีวิตให้ตัวเองได้ เอกลักษณ์จึงไม่ใช่การก่อเกิดทางปัญญาแห่งปัจเจก หากแต่เป็นการออกแบบของผู้เชี่ยวชาญทางเสื้อผ้า เครื่องสำอางและอื่นๆ มากกว่า!? มนุษย์จึงมีเอกลักษณ์ไปตาม Brands ของสินค้าต่างๆ มากกว่าที่มนุษย์จะเป็นตัวของตัวเองได้อย่างแท้จริง


เคลื่อนย้ายสู่สมุหภาพ

              สมุหภาพคือ Collective ในการสืบค้นกระบวนการเรียนรู้ของวิทยาศาสตร์ ณ พรมแดนความรู้ ฐานแห่งการเรียนรู้เริ่มย้ายฐานจากปัจเจกภาพไปสู่ สมุหภาพ คือเคลื่อนย้ายหน่วยพื้นฐานแห่งการเรียนรู้ซึ่งเดิม จะด้วยอิทธิพลของปรัชญาตะวันตกโดยเฉพาะการเกิดขึ้นของวัตถุนิยม บริโภคนิยมและทุนนิยม พร้อมๆ กับการละทิ้งคุณค่าทางจิตใจและจิตวิญญาณ มนุษย์จำกัดขอบเขตการเรียนรู้ของตัวเองไว้ในฐานของปัจเจกภาพเท่านั้น แต่หลักฐานต่างๆ ในงานวิจัยล่าสุดต่างๆ ในวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนรู้ ได้ชี้มาในทิศทางเดียวกันว่า หน่วยพื้นฐานของการเรียนรู้ ของมนุษย์ก็คือสมุหภาพ

              กล่าวอย่างง่ายๆ เมื่อการเรียนรู้จำกัดตัวเองอยู่แค่ปัจเจกภาพ เราจะรู้สึกถึงความตีบตัน และคุณภาพการเรียนรู้ของประชากรโลกปัจจุบันกลับถอยหลังเข้าคลองอย่างน่ากลัวยิ่ง เรากำลังผลิตประชากรผู้เสพติดบริโภคนิยม ตลอดจนเสพยาเสพติด พร้อมที่จะเป็นอาชญากร ออกมาในปริมาณท่วมท้น และได้ปรับเปลี่ยนโฉมหน้าโลกให้กลับไปสู่ยุคไดโนเสาร์อีกครั้งหนึ่ง แต่เมื่อใดก็ตาม เมื่อเด็กนักเรียนหรือ กลุ่มคนที่เป็นผู้ใหญ่ เริ่มหันหน้าเข้าหากัน แลกเปลี่ยนถ่ายเทความรู้ให้กันและกันโดยปราศจากกำแพงใจขวางกั้น เมื่อนั้น ในทุกครั้ง เราจะค้นพบการปะทุหรือระเบิดออกของการเรียนรู้อันยิ่งใหญ่

              เอาง่ายๆ เมื่อเราคิดอะไรไม่ออก เพียงหาเพื่อนรักสองสามคนขึ้นไป มาคิดร่วมกัน เราก็อาจผ่าทางตันออกไปได้สบายๆ

              พระพุทธองค์ เคยตามย้ำทานกับพระอานนท์ว่า อานนท์ กัลยาณมิตรมีความสำคัญกับพรหมจรรย์เพียงใด?” พระอานนท์ตอบว่ากัลยาณมิตรเป็นกึ่งหนึ่งของชีวิตพรหมจรรย์พระพุทธองค์ทรงแก้ไขว่า อานนท์ แท้จริงมิได้เป็นเช่นนั้น กัลยาณมิตรเป็นทั้งหมดของพรหมจรรย์

หมายเลขบันทึก: 163310เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2008 14:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 13:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
ขอบคุณที่เอามาเผยแพร่ต่อ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท