จะบ่นเรื่องซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์กันทำไม


ทำไมไม่บอกคนของเราว่า มันมีสิ่งที่เรียกว่า Freeware และสิ่งที่เรียกว่า Opensource อยู่ในโลกด้วย

เมื่อวานมีการโต้เถียงในห้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการใช้ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ มันเป็นเรื่องที่ไม่น่าภาคภูมิใจเลยที่ประเทศไทยเราติดอันดับการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนลำดับต้นๆ ของโลก จากงานวิจัยสามารถอ้างอิงได้ว่าสาเหตุหลักหนึ่งที่ทำให้คนไทยไม่ซื้อของจริงเพราะราคาที่แพงของซอฟต์แวร์ และกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่าใช้ซอฟต์แวร์ที่หาซื้อมาแผ่นละร้อยกว่าบาทอยู่ จึงมีคำถามเกิดขึ้นในใจผม (คนทำซอฟต์แวร์คนหนึ่ง) ว่าแล้วราคาที่เหมาะสมอยู่ที่ไหน

มีน้องคนหนึ่งพูดว่า การทำธุรกิจต้องสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (competitive advantage) ด้วยราคาขายที่เหมาะสม (price efficiency) แต่ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ที่ขายกันอยู่ราคาหลักหมื่น หลักแสน แล้วใครมันจะไปซื้อ ก็มีเพื่อนอีกคนกล่าวขึ้นว่าจริงๆ ซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ส่วนใหญ่มีให้เลือกหลายระดับ เราสามารถซื้อแค่ระดับเบื้องต้นเฉพาะที่เราใช้มาก็ได้ ยกตัวอย่างเช่น โปรแกรมเวิร์ดโปรเซสซิ่ง (word processing) เราก็ใช้แค่พิมพ์รายงาน ไม่ได้ใช้ฟังก์ชันอะไรพิเศษมากไปกว่านั้น ทำไมไม่ซื้อ Home edition มาใช้ แต่กลับไปหาซื้อโปรแกรมเถื่อนที่มีฟังก์ชั่นครบครันที่ไม่ได้ใช้มาด้วยหละ

คำถามนั้นไม่มีคำตอบกลับไป มีทั้งฝั่งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย แต่ทุกคนยอมรับว่าการใช้ซอฟต์แวร์เถื่อนเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย แต่เราไม่เคยถูกปลูกฝั่งให้คิดถึงคุณค่าและมูลค่าของซอฟต์แวร์กันเลย เครื่องคอมพิวเตอร์สามารถทำงานได้ต้องมีซอฟต์แวร์ ซอฟต์แวร์ไม่ได้เกิดจากกระบอกไม้ไผ่ต้องมีคนทำ ถ้าอย่างนั้นเราจะทำอย่างไรให้มันถูกต้อง ก็มีพี่คนหนึ่งเสนอว่ารัฐบาลสามารถช่วยอะไรได้ไหม เราเอาจำนวนมารวมๆ กันสามารถต่อรองซื้อลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ราคาถูกได้ไหม แต่สำหรับผมกลับมองว่าการไปเจรจาซื้อลิขสิทธ์ซอฟต์แวร์จำนวนมากเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะจะทำให้เราตกไปอยู่ในเกมวงจรอุบาทว์ของธุรกิจซอฟต์แวร์


http://zenzai.wordpress.com

ซอฟต์แวร์เปรียบเสมือนงานศิลปะ มีคนจำนวนหนึ่งที่สามารถเสพได้ และมีคนจำนวนหนึ่งที่สามารถทำกำไรจากมันได้ สำหรับเกมนี้ก่อนอื่นต้องยอมรับว่าซอฟต์แวร์ที่เรารู้จักกันส่วนใหญ่มาจากต่างชาติ ส่วนคนทำซอฟต์แวร์ในประเทศก็มีให้เลือกว่า "จะจนแล้วเหนื่อยตาย" หรือ "จะเป็นพันธมิตรกับบริษัทซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่" คนทำซอฟต์แวร์รายเล็กๆ มักไม่มีทางเลือกในการรับงาน บางครั้งตั้งใจเขียนโปรแกรมนั่งอยู่หน้าจอวันละ 10 กว่าชั่วโมงเป็นแรมปี สุดท้ายเค้าอาจจะขายให้ได้กับลูกค้าแค่รายเดียวเท่านั้น และครั้นจะพัฒนาทำเป็นซอฟต์แวร์สำเร็จรูปก็จะมีปัญหาเรื่องการยอมรับของตลาด (คนไทยด้วยกันเอง) มันคงเร็วไปที่วันนี้เราจะมาคุยกันเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา (intellecture property) ตราบใดที่ยังไม่มีคนตายเพราะมัน

แม้โลกจะพัฒนาไปไกลแค่ไหน ต่อให้เราอยู่ในยุคดิจิตอลที่ทุกอย่างต้องอาศัยพึ่งพิงอิเล็กทรอนิกส์ แต่ของที่จับต้องไม่ได้ (intangible) ก็ยังเป็นเพียงของที่เราไม่รู้คุณค่า คนไทยซื้อซอฟต์แวร์โดยดูจากมูลค่าของสิ่งที่บรรจุมัน ใส่ CD ก็ถูกหน่อย ใส่ DVD ก็อาจจะแพงหน่อย ถ้าของคนไทยด้วยกันเองทำเอง (made in Thailand) สงสัยใช้เวลา ใช้ความพยายามน้อยกว่าฝรั่ง(มั้ง) จะจ่ายแพงก็กลัวว่าจะโง่ เลยไม่ซื้อดีกว่า ถ้าทำโปรเจคมูลค่ามหาศาลก็เอาบริษัทยักษ์ใหญ่มีชื่อเสียงเข้ามารับงาน แล้วบริษัทเหล่านั้นทำอย่างไรหละ ก็เอางานมาแบ่งจ้างต่อให้บริษัทเล็กๆ ใครทำงานดีก็เสมอตัว ทำงานชั่วก็โดนปรับ บริษัทใหญ่รับทรัพย์ตามระเบียบ แต่อย่างไรก็ตามก็ต้องยอมรับว่า การที่ลูกค้าตัดสินใจอย่างนั้นก็ไม่ใช่สิ่งที่ผิด เพราะคนเลวที่รับงานแล้วทิ้งมีอยู่ในโลกจริง (ปัจจุบันผมก็เข็ดกับการจ้าง Freelance ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน) ดังนั้นทำไมลูกค้าต้องไปเสี่ยงหละ ก็ยอมจ่ายแพงหน่อยจ้างบริษัทใหญ่ที่เชี่ยวชาญมารับความเสี่ยงทำงานให้เสร็จไม่ดีกว่าหรือ


http://www.ipedinc.net

ก่อนที่ผมจะไปไกลกว่านี้ ขอกลับมาที่เรื่องซอฟต์แวร์สำเร็จรูป มีกรณีศึกษาเล่าไว้ว่า บริษัทไทยรายหนึ่งถูกสุ่มตรวจโดยตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์บริษัทยักษ์ใหญ่ สิ่งที่เจ้าหน้าที่บริษัทตัวแทนทำคือการโทรศัพท์ไปยังบริษัทต่างๆ แล้วบอกว่า "เรารู้ว่าคุณใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายอยู่ใช่ไหม" ถ้าใครเสียอาการยอมรับ เจ้าหน้าที่ก็จะขอเข้ามาค้น ซึ่งรับรองว่าค้นแล้วไม่เจอแค่ซอฟต์แวร์ตัวเดียวแน่ เครื่องหนึ่งคงไม่ต่ำกว่าสิบโปรแกรม รวมๆ กันหลายๆ เครื่อง บางบริษัทต้องเสียค่าปรับเป็นล้านๆ ก็ต้องทำการเจรจาต่อรองขอส่วนลดอีก ชีวิตวุ่นวายไม่ต้องทำมาหากินเพราะต้องมายุ่งกับการประณีประณอมกับบริษัทตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ จึงมีคนบอกว่า "ก็ถ้าคุณใช้ซอฟต์แวร์ใด แล้วมันก่อให้เกิดรายได้กับคุณ คุณจงจ่ายเงินซื้อซอฟต์แวร์นั้นซะเถอะ" แต่มันก็จะวนกลับมาที่ว่าแล้วเราจะรู้ได้อย่างไรหละว่าใช้ซอฟต์แวร์ตัวไหนแล้วดี ใช้แล้วสามารถนำไปหาประโยชน์ นำไปทำมาหากินได้ ถ้ายังไม่ได้ใช้

มีทฤษฎีสมรู้ร่วมคิด (conspiracy theory) อยู่บทหนึ่งกล่าวว่า ซอฟต์แวร์เถื่อนไม่ได้เกิดขึ้นจากการลักลอบขโมยจากแฮกเกอร์ แต่มันเกิดจากความตั้งใจของบริษัทผู้ผลิตซอฟต์แวร์ยักษ์ใหญ่ทั้งหลายเอง มันจะเป็นไปได้หรือที่ซอฟต์แวร์เถื่อนออกวางขายก่อนซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ แล้วจะเป็นไปได้หรือที่การป้องกันการถอดรหัส serial number ทำไม่ได้จริง ทฤษฎีบทนี้กล่าวไว้ว่า "ไม่มีทางเป็นไปได้ถ้าผู้ผลิตไม่ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น" คำถามคือทำไมหละ? คำตอบที่ได้ก็อาจจะเป็นเพราะว่าเขาอยากให้มีคนใช้ซอฟต์แวร์เขาเยอะๆ เยอะที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้จนเกิดสิ่งที่เรียกว่า economy of scale แล้วค่อยไปหาวิธีเก็บตังค์คนที่ใช้อย่างผิดลิขสิทธิ์เอาทีหลังดีกว่า (ด้วยวิธีการอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น) ยิ่งมีเรื่องละเมิดลิขสิทธิ์ก็มีการทำข่าวก็ได้โปรโมตฟรีอีก แล้วมันไม่ดีตรงไหน นี่ก็เป็นเรื่องสมมติที่น่าสนใจเรื่องหนึ่ง ผมไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า แต่ถ้าใช่ใครคือคนผิด ผู้ผลิตซอฟต์แวร์ หรือคนใช้ซอฟต์แวร์เถื่อน?

สุดท้าย ผมต้องยอมรับว่าก็เกมมันถูกกำหนดให้เป็นเช่นนี้ ถ้าเรายังยอมเดินตามเกมเค้าต่อไป แล้วเราจะมานั่งคุยกันทำไมเรื่องการใช้ซอฟต์แวร์ถูกลิขสิทธิ์ เราจะพยายามเอาเงินไปยัดใส่มือบริษัทยักษ์ใหญ่ข้ามชาติทำไม ทำไมอีกนั้นแหละที่เราไม่ให้การศึกษากับคนของเราแทน ทำไมไม่บอกคนของเราว่า มันมีสิ่งที่เรียกว่า Freeware และสิ่งที่เรียกว่า Opensource อยู่ในโลกด้วย ทำไมยอมปล่อยให้คนของเราไปใช้ของผิดลิขสิทธิ์จนติดเป็นนิสัย ผมเปลี่ยนคนเดียวคงไม่สามารถช่วยประเทศไทยได้ ไฟล์เอกสารต่างๆ ยังยืดติดกับฟอร์เมตที่เปิดได้ดีด้วยโปรแกรมจากบริษัทยักษ์ใหญ่ (Open Document Format จะเกิดไหม?) ผมจะชวนให้เพื่อนในห้องเรียนเปลี่ยนด้วยก็คงจะทำไม่ได้เพราะพวกเขาไม่ใช่คนเทคนิคอย่างผมที่จะมาทดลองเล่นโปรแกรมใหม่ๆ อย่างถูกต้อง ปัจจัยมากมายทำให้คำว่า "จริยธรรม" ขาดหายไปอีกครั้งหนึ่ง เส้นของความเหมาะสมอยู่ที่ไหน แล้วคุณหละคิดอย่างไร How do u think?

 

หมายเลขบันทึก: 163244เขียนเมื่อ 4 กุมภาพันธ์ 2008 10:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 17:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (20)

เห็นด้วยอย่างยิ่งกับคุณครับ ทำไมเราจึงไม่ช่วยกันสนับสนุนให้คนไทยหันมาใช้ซอฟท์แวร์ที่ถูกกฏหมาย หรือไม่ก็ ใช้พวกโอเพ่นซอร์สไปเลย ทำไมโรงเรียน มหาวิทยาลัยหรือ สถาบันการศึกษาไม่มีการสอนการใช้ซอฟท์แวร์ที่เป็นโอเพ่นซอร์สแบบจริงจังเลย

ตามความเห็นผมนะครับ ผมว่าซอฟท์แวร์บางตัวดีกว่าซอฟท์แวร์จากค่ายยักษ์ใหญ่ซะอีก (OpenOffice.org เทียบกับ Micro$oft Office) แต่ถ้าหากที่โรงเรียนไม่ใช้ เอะอะอะไรก็มีแต่ Micro$oft Office แล้วเด็กที่ไหนมันจะกล้าใช้ OpenOffice.org ทำรายงานส่งอาจารย์ (โดยเฉพาะพวกอาจารย์หัวโบราณบางคน) ผมรู้สึกไม่ดีเลยเมื่อได้ยินผู้ใหญ่ในบ้านเราบางคน (ที่หัวโบราณอีกแล้ว) ออกมาบ่นว่าประเทศไทยมีแต่ซอฟท์แวร์ละเมิดลิขสิทธิ์ แล้วก็ออกกฏหมายสอพลอพวกนายทุนต่างชาติ ก็ในเมื่อเราไม่เริ่มปลูกฝังให้ลูกหลานเราเคารพในสิทธิทรัพย์สินทางปัญญา พอเด็กโตขึ้นมาเป็นโจร เราจะไปโทษใครได้ (ผมว่าเด็กอนุบาลสมัยนี้ก็รู้ครับว่าเขาจะหาซื้อ cd เถื่อนได้ที่ไหน ของมันหาง่ายกว่าหนังสือการ์ตูนซะอีก)

บางบริษัทต้องเสียค่าปรับเป็นล้านๆ ก็ต้องทำการเจรจาต่อรองขอส่วนลดอีก ชีวิตวุ่นวายไม่ต้องทำมาหากินเพราะต้องมายุ่งกับการประณีประณอมกับบริษัทตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์

"บางบริษัทต้องเสียค่าปรับเป็นล้านๆก็ต้องทำการเจรจาต่อรองขอส่วนลดอีก ชีวิตวุ่นวายไม่ต้องทำมาหากินเพราะต้องมายุ่งกับการประณีประณอมกับบริษัทตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์"

ก็แอบใช้ของคนอื่น เปรียบเสมือนขโมย ก็สมควรแล้วที่โดน บริษัทไม่ใช่เล็กๆ จะมาอ้างว่าไม่รู้ไม่ได้  

ขอบคุณคุณ Ake ครับ
ผมขอเสริมจากข้อมูลที่เคยได้ยิน คือโรงเรียนสมัยนี้เขาพยายามเริ่มสอนให้ใช้โปรแกรมสำเร็จรูปกันตั้งแต่เด็กยังเล็กๆ (อย่างที่ว่าบางอนุบาลก็สอนให้ใช้โปรแกรมออฟฟิศแล้ว) มุมหนึ่งคือทำให้เด็กได้คุ้นเคยกับคอมพิวเตอร์ แต่สิ่งที่ขาดหายไปคือการปลูกฝั่งสำนึก บางมัธยมครูกลับชมว่าเด็กเก่งถ้าเด็กสามารถหาโปรแกรมเวอร์ชั่นใหม่ๆ มาลงเครื่องที่โรงเรียนได้ วันนี้โปรแกรมสำเร็จรูปที่เป็น Opensource อาจจะไม่ใช่คำตอบที่ดีที่สุด การใช้งานอาจจะยังยากอยู่ แต่มันเป็นคำตอบที่อาจจะเหมาะสม(ใครจะรู้) แต่ในวันหน้าในอนาคตอันใกล้เรากำลังจะได้เห็นได้สัมผัสกับเว็บไซต์หลายๆ ที่ซึ่งให้บริการโปรแกรมดังกล่าว เราจะไม่จำเป็นต้องติดตั้งโปรแกรมอื่นๆ อีกต่อไป นอกจาก OS และ Web browser แต่ปัญหาเรื่องความเร็วอินเทอร์เน็ตที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของการใช้งานก็จะกลับมาหลอกหลอนเราอีกครับ

ขอบคุณคุณ Jo
ให้ความเห็นเหมือนขายซอฟต์แวร์อยู่เลยครับ ผมเชื่อว่าไม่มีใครอยากเป็นขโมยหรืออยากทำผิดหรอกครับ ถ้าเขามีทางเลือกหรือมีโอกาส ในทางกลับกันชีวิตในสังคมที่ต้องแย่งกันหายใจนี้ทำให้คนเรามองข้ามบางสิ่งบางอย่างไป ชีวิตมันคงเดินเร็วเกินไปมั้งครับ

จำได้ว่าแต่ก่อนCU writer ก็เป็นที่นิยมสำหรับเด็กนักเรียนมากเลยนะ

 

ตอนนี้หายไปไหนแล้วล่ะเนี่ย

 

. . .     

บทความดีมากๆ เลยครับ

ผมเป็นคนนึงที่อยากใช้ของจริง แต่ไม่มีตัง เพราะเรียนอยู่ สู้ราคาไม่ไหว

จริงๆ ผมว่า หากมีการปลูกฝังที่ดี+ มีการเอาจริงเกี่ยวกับของปลอมก็คงดีกว่านี้

นอกจาก software พวก programs ต่างๆ ผมยังคิดเกี่ยวกับพวกหนังหรือเพลงที่ถูกละเมิดลิขสิทธิ์ด้วย สงสารเค้าครับ ผมยอมรับว่าผมโหลดเพลงมาฟัง แต่หากผมฟังแล้วชอบ ก็จะไปซื้อแผ่นจริง

ทำได้คับ แต่ไม่ทำ

ดูอย่างวงการเกมส์ pc สิครับ

ของเถื่อน dvd @ 200 บางเกมส์ 2 แผ่นก็ 4 ร้อย แผ่นก๊อปคุณภาพแย่ เล่นอย่างเดียว ลงกินที่เครื่องอีก

ของแท้ 499-699 แพงกว่านิดหน่อย แต่ได้กล่องสวยงาม แผ่นปั้มอย่างดี เล่น  online ก็ได้ update version + bug fix ก็ได้ ทำได้เยอะแยะ

เด็ก หรือผู้ใหญ่ ก็คิดออกว่า มันน่าสนใจ เพราะคุ้มกว่า

ประเด็นคือ.. เกมส์ ซื้อมา 499 ได้ใช้ครบทุก function ก็คุ้ม 499 ไงคับ..

โปรแกรม เช่น MS Office ซื้อมา 2 หมื่นกว่าบาท เอามาใช้แค่ MS Word แทนเครื่องพิมพ์ดีดไฟฟ้า ความคุ้มค่า ก็แค่ 200 แหละครับ แถมใช้เป็นแค่โปรแกรมเดียวแหละ (ร้านมันดันลงมาให้อีกนั่น)

่มองได้หลายจุด

1. ผู้ใช้บ้านเราเค้าใช้อย่างเดียว (ไม่มีการศึกษาเลย) ใช้โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่า เค้าต้องการอะไรถึงใช้โปรแกรมพวกนี้ เลยไม่เห็นคุณค่าของโปรแกรมที่ใช้ ว่ามันช่วยอะไรเค้าได้

2. ร้านค้าก็ดันสนับสนุนโปรแกรมเถื่อนซะอย่างงั้น แถมทดสอบแล้วด้วยว่าตัวนี้ก๊อปมาเนียน ไม่มีบั๊ก ใครจะไปถอดออกแล้วซื้อของแท้มาลงให้เหมือนเดิมล่ะคับ

3. ราคาขาย ไม่ได้จูงใจผู้ใช้ตามบ้านเลย ต้องการทำตลาดองค์กรเท่านั้น นานๆ จะมีออกมาทีสำหรับผู้ใช้ตามบ้าน แต่ไม่มีการสนับสนุนอย่างเพียงพอคับ

อย่างว่าแต่คนไทยเลยครับ เป็นกันทั้งเอเชียแหละครับ

ขึ้นอยู่กับว่า ถ้าประเทศไหนเศรษฐกิจดีหน่อย คนก็มีตังซื้อของแท้เยอะหน่อย

ประเทศไหนเศรษฐกิจไม่ดี คนไม่มีตัง เค้าก็ซื้อของเถื่อนกันนั่นแหละคับ

ผมว่าเป็นไปไม่ได้หรอกครับ ที่จะมีคนคิดแปลกๆแบบ ทำออกมาให้มันปลอมง่ายๆ แล้วไปตามเก็บตังทีหลัง

คือถ้าคิดดูมันก้อถูกว่าเค้าอยากจะให้คนมาใช้ของเค้าเยอะๆ
แต่คุณลืมไปครับ ว่าไอ้ซอฟต์แวร์ยี่ห้ออื่นมันก้อโดนก๊อปเหมือนกัน!
ฉะนั้นแล้วเรื่องอะไรที่จะต้องไปยอมให้ก๊อปง่ายๆล่ะ เพราะมันไม่ได้สร้างอะไรขึ้นมา
และที่สำคัญ เค้าจะไปสนอะไรกะประเทษเล็กๆกระจ้อยร่อยที่ไม่ได้สร้างincome?
เค้าทำซอฟต์แวร์ขายประเทศที่มีกม.ลิขสิทธิ์ที่ชัดเจนดีกว่า
(ไม่งั้น Adobeกะ MS จะทำระบบactivationอันแสนจะน่ารำคาญมาทำไม เพราะคนที่รำคาญคือคนที่จ่ายเงินจริงซะด้วยซ้ำ ซื้อเถื่อนไม่ต้องactivate)

Conspiracy theory นั้น ผมว่าไร้สาระมากๆ

การใช้ซอฟต์แวร์ผิดกม.มันอยู่ที่ค่านิยมครับ
มันไม่ได้อยู่ที่ว่ามูลค่าของซอฟต์แวร์นั้นมันเท่าไหร่
มันอยู่ที่ค่านิยมที่ว่าเราหาได้ถูกๆ หาได้ฟรีๆ เรื่องอะไรต้องไปเสียเงิน

 ฉะนั้นมันไม่ได้อยู่ที่การศึกษา มันอยู่ที่การปลูกฝังให้เข้าใจว่า ของที่มันไม่ใช่ของเรา เราไม่มีสิทธิ์ใช้ ถึงแม้มันจะได้มาง่ายๆ เราก้อไม่ควรจะไปเอา

เรื่องเกมนี่เป็นตัวอย่างที่ใช้ได้นะ

คือถ้าของมันถูกจนถึงจุดที่ว่าคนคิดว่าคุ้มแล้ว ว่าเออ ได้มาฟรีๆ หรือได้มาเถื่อนๆ มันสู้ของแท้ไม่ได้
มันก้อจะมีคนซื้อ ถึงแม้จะคิดเข้าข้างตัวเองแล้วก้อเหอะ ว่าของเถื่อนก้อมี
แต่ของแท้มันคุ้มกว่า
อันนี้ต้องเข้าใจนะครับ ว่าไม่ใช่เพราะคนอยากจะซื้อของแท้ แต่เพราะมันคุ้มกว่า
จะด้วยว่าpackaging ความน่าเชื่อถือ การรับประกัน หรืออะไรก้อแล้วแต่

แต่ก้อนั่นแหละครับ ถ้ามันยังไม่ถึงจุดนั้น คนก้อยังจะใช้ของเถื่อนอยู่
เพราะมันถูกกว่า ดีกว่า และที่สำคัญ เรื่องอะไรต้องไปใช้ของopen source หรือของแท้
เพราะของเถื่อนๆ ถูกๆ มันหาง่ายเหลือเกิน

ผมว่า Conspiracy theory อะไรนั้น เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก และตัวผมเองก็เคยคิดว่าหลาย ๆ อย่างที่อยู่รอบตัวเราก็ใช้ระบบนี้อยู่ ส่วนภายหลังจะมาไล่กวดจับหรือเปล่านั้นก็เป็นอีกเรื่อง

ส่วนเรื่องการทำให้หยุดนั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ยากจนแทบจะเป็นไปไม่ได้ครับ เราจะซื้อหรือยอมเสียของที่เราคิดว่ามีค่าอย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต่อเมื่อเราคิดว่า มันเหลือใช้ หรือไม่ก็เพื่อหวังสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่คิดว่ามันคุ้มค่า ปัจจัยอื่น ๆ เป็นสิ่งเสริมที่อาจจะเปลี่ยนแปลงได้เช่นกัน เช่น ความสะดวก ความง่าย ความพึ่งพอใจ แต่หลัก ๆ ก็คือสิ่งที่หวังนั้นแหละครับ เมื่อผมบอกอย่างนี้ คนไทยมีเงินพอที่จะซื้อ software ราคาเท่าไหร่ ผมว่าแค่หลัก 1000 นี่ เด็ก ๆ บางคนก็คงไม่ซื้อ ถึงจะบอกว่า word 1000 บาทถูกแล้ว สำหรับผม คิดว่าถูก เพราะผมทำงานแล้ว แต่แน่นอน ต้องมีบางคนที่ยังไม่เห็นว่าควรจ่ายเงิน 1000 บาทเพื่อมันอยู่แน่นอน และถ้าประเทศไทยทำได้ ก็ยังมีประเทศอื่นที่ทำไม่ได้อยู่อีกแน่นอน

เมื่อคิดว่าเป็นไปได้ยากที่จะต้องทำให้ทุกอย่างถูกต้อง Conspiracy theory จึงเป็นสิ่งที่น่าสนใจ และทุกวันนี้ก็มีการใช้อยู่แน่นอนในหลาย ๆ เรื่อง การได้แนวร่วม การถูกห้อมล้อมไปด้วยสินค้าของเขา ทำให้วิธีคิด วิธีการใช้ถูกครอบงำไปจนถึงรุ่นลูก ผมว่ามันคุ้มค่ากว่าการไปพยายามทำให้ทุกอย่างถูกลิขสิทธิ์โดยที่ต้องทุ่มท่นไปตั้งเท่าไหร่ ถึงจะทำให้คนทั้งโลกใช้ word ได้อย่างถูกลิขสิทธิ์ วิธีนี้ง่ายและส่งผลอื่น ๆ โดยที่ไม่ต้องลงทุนอะไรมากนักอีกด้วย

บทความเขียนได้ดีครับ

เรื่อง Conspiracy theory  น่าสนใจครับ สำหรับวงการคอมพิวเตอร์นี่ผมยังไม่มีข้อมูลอ้างอิงที่ชัดแจ้ง

 แต่ที่แน่ๆเราเคยได้ยินบ่อยๆ เรื่องคนสร้างไวรัสกับบริษัททำ software กำจัดไวรัส คุ้นๆไหมเอ่ย เรื่องนี้

 ส่วนอีกเรื่องนึงที่ผมเคยดูสารดีมา เป็นสัมภาษณ์เจ้่าของหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่คิดว่าเจ้าของ ของยักษ์ใหญ่ด้านเสื้อผ้าในอเมริกา ยี่ห้อนึง

ก่อนที่เสื้อผ้าเขาจะดังมากๆ ของในร้านมักจะโดนขโมยไปบ่อยๆ ซึ่งทางร้านก็รู้ แต่ก็จับบ้างไม่จับบ้าง ที่ตลกกว่านั้น เจ้าของบอกเองว่าพวกนี้ขโมยเอาไปใส่เยอะเข้าๆ เพื่อนในกลุ่มก็อยากได้ ก็เป็นการสร้างแบรนด์ให้ติดจากกลุ่มคนวงเล็กๆ ก็ขยายใหญ่ไปเรื่อยๆ จน brand เขาดังไปเลย

แปลกดีไหมครับ! 

ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาเสนอความคิดเห็นครับ

คุณ ArLim แสดงว่าใช้คอมตั้งแต่ยุค Dos เลยนะครับเนี่ย

คุณ tomgkatsu ขอบคุณที่ซื้อสินค้าถูกลิขสิทธิ์ครับ

คุณ กล้า (ใช่จาก duocore.tv หรือเปล่าเนี่ย) ขอแยกเป็น 2 ประเด็นนะ
ประเด็นแรกเรื่องเกม เกมสามารถทำอะไรได้หลายอย่างครับ มันแตกเป็นผลิตภัณฑ์ย่อยๆ ได้อีกเยอะ เช่น หนัง การ์ตูน ฟิกเกอร์ ของชำร่วย ฯลฯ ดังนั้นคนทำเกมไม่ได้มีรายได้แต่จากการขายเกมแต่เพียงอย่างเดียว ยิ่งเกมออนไลน์แจกแผ่นโปรแกรมฟรีเลยก็ยังได้ แล้วค่อยไปขาย option ขาย item ขายของอย่างอื่นในเกม อย่าง Second Life เค้ามีระบบเงินตราเป็นคนตัวเองเลยด้วยซ้ำ กลับมาที่คนทำซอฟต์แวร์ เค้าไม่สามารถแตก Product Line ออกไปได้มากขนาดนั้น โปรแกรมคือชุดคำสั่งที่ทำมาเพื่อตอบสนองโจทย์ความต้องการอะไรสักอย่าง ดังนั้นในมุมมองของผมบริษัทที่ทำซอฟต์แวร์ขายมีความจำเป็นบางอย่างที่ไม่สามารถลดราคาลงมาสู้ของเถื่อนได้ ยิ่งถ้าเป็นระดับโลกจะให้ขายประเทศนั้นถูกกว่าประเทศนี้ ยากครับ ถ้าใครทำได้ต้องนับถือว่ามีความสามารถทางการตลาดสูงจริงๆ ครับ ขนาดโปรแกรมค่าย MS ที่มีคนใช้ทั้งโลกยังไม่กล้าเลย

ประเด็นที่สองเรื่องร้านขายฮาร์ดแวร์ คำถามไก่กับไข่กลับมาอีกครั้ง คนขายเครื่องยัดเยียดโปรแกรมให้ หรือคนซื้อเรียกร้องว่าต้องมีโปรแกรม ถ้าร้าน A ขายเครื่องไม่มีโปรแกรม กับร้าน B ขายเครื่องโปรแกรมเพียบแถมไม่ต้องเสียตังค์เพิ่ม ถามว่าเลือกร้านไหนครับ ตกลงร้าน A ต้องปรับตัวเพื่อให้ขายของได้ หรือเปล่าครับ? แล้วถ้าภาครัฐจะเข้าไปตามจับปรับทั้งร้าน A ร้าน B สุดท้ายไม่มีใครขายของได้เลย เพราะเจ้าโปรแกรมที่มันแพงเหลือเกิน ใครผิดครับ? ย้อนกลับไปที่มุมมองของผู้ขายซอฟต์แวร์ ถ้าถามว่าทำตลาดทำประชาสัมพันธ์กับองค์กรที่ทราบว่ามีจำนวนเท่าไรอยู่ที่ไหนหรือทำตลาดกับรายย่อยที่คาดคะเนการซื้อได้ยาก อะไรต้องใช้เงินลงทุนมากกว่ากัน ทำการตลาดกับกลุ่มไหนอาจมีกำไรมากกว่ากัน  อืมมม การตลาดล้วนๆ เลยว่าไหมครับ

คุณ BiGGA
conspiracy theory ที่ผมได้ยินมาฟังแล้วสนุกดีนะครับ น่าจะเอามาทำหนัง แล้วใส่พวก special effect +  graphic animation เยอะๆ เพราะเป็นเรื่องไฮเทค น่าจะขายได้ดีครับ
ส่วนความคุ้มของผู้ซื้ออยู่ที่ไหน ก็ถ้าฟรีได้หมดผมว่าคุ้มครับ บริษัทซอฟต์แวร์ก็คงจะไม่ใช่บริษัทซอฟต์แวร์อีกต่อไป ต้องหา business model ดีๆ แล้วย้ายไปอยู่อุตสาหกรรมอื่น เช่นอุตสาหกรรมโฆษณาอย่าง GOOG เป็นต้น หรือว่าพยายามสร้าง multi-disciplinary นึกนอกกรอบ ใส่ innovation เข้าไปเยอะๆ อย่าขายซอฟต์แวร์ แต่ขายอย่างอื่นแทนครับ

คุณ Basic
เห็นไหมครับ ว่าเรื่องนี้น่าเอาไปทำหนังจริงๆ ทำ plot เรื่องดีๆ ผมว่าสนุกนะ ถ้ามีผู้กำกับมาอ่าน blog นี้ ฝากไปทำการบ้านหน่อยสิครับ

คุณ hoho
ขอบคุณสำหรับตัวอย่าง anti-virus กับ visus ครับ เห็นภาพชัดมาก
ก็มีเพื่อนในห้องเคยเล่าให้ฟังเหมือนกันในวงการออกแบบ บางครั้งมีคนก๊อปปี้แทนที่จะพยายามจับ เค้ากลับมาว่าดีแสดงว่าผลงานชิ้นนั้นเข้าตาประชาชน อย่างกระเป๋าหนังชื่อดังอักษรย่อ L เค้าสามารถวัดได้ว่า collection ไหนคนสนใจเยอะจากการไปสำรวจตลาดสินค้าปลอมในเมืองจีน แล้วก็นำเอาแบบนั้นๆ ไปต่อยอด โลกนี้มันก็ตลกอย่างนี้แหละครับ ขึ้นอยู่กับว่าเราจะมองมุมไหน

 

คุณ TheInk

คุณยิ่งพูด ผมก้อยิ่งถูกครับ เพราะจริงๆแล้วมันเป็นอย่างที่คุณว่าแหละ
ว่าคุ้มสุดๆเลย มันอยู่ที่ 0 ครับ คือได้มาฟรีๆ
แล้วมันก้้อได้มาฟรีแบบง่ายๆซะด้วย
(ไม่ต้องไปลงมือปล้นแบงค์ แค่ไปโหลดtorrent fileมาก้อได้แล้ว)

สิ่งสำคัญ ท้ายที่สุดแล้วก้อคือ จิตสำนึกนั่นแหละครับ
อย่างที่บอกว่าถ้าเราไม่สน ไม่คิดว่าของที่ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีสิทธิ์
ถ้ายังไม่ละอายตรงนี้ และการลงโทษยังไม่เข้มงวดไม่รุนแรง
กม. ลิขสิทธิ์ถึงมีก้อไม่มีความหมายครับ

มันเหมือนกับมีขนมวางอยู่บนโต๊ะ ไม่รู้ของใคร
ไม่มีใครเห็น เราจะหยิบเอามากินหรือเปล่า

 วิธีป้องกันคนกินขนมมันก้อมีสองอย่างครับ
คือปลูกฝังจิตสำนึก ว่าอย่าไปกินขนมคนอื่นฟรีๆ ขอซื้อเค้าก่อน
หรือใช้กม.ที่เข้มงวดเข้าควบคุม คือถ้ากิน ต้องโดนปรับ

ไอ้ข้อหลังนี่มันเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ และในบทความนี้ก้อเห็นว่า enforcement บางทีมันไม่แฟร์
จะอย่างไรก้อตามแต่ ปัญหาที่แท้มันอยู่ที่สามัญสำนึกนั่นแหละครับ
ว่าจะกินขนมฟรีๆหรือไม่

ของฟรี ใครๆก็ชอบ มีเน็ตแทบจะไม่ต้องซื้ออะไรเลย เพลง หนัง เกมส์ โปรแกรมใหม่ๆ แค่เข้า bittorrent  อีกอย่างคนไทยชอบ copy อยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นของอะไรคนไทยทำได้หมด แต่ถ้าให้คิดเองเหรอไม่มีทางหรอก หึหึ

ผมว่า "รถขายกับข้าว" ที่ตระเวนขายตามหมู่บ้าน เขายังกล้าลงทุนซื้อรถกระบะ ซื้อผัก กะปิ น้ำปลา และอื่นๆอีกมากมาย มาขาย เพื่อแลกกับกำไรวันละไม่กี่ร้อยต่อวัน เก็บเล็กผสมน้อย เริ่มจากแผงเล็กๆ เป็นรถเก่าๆ และเป็นรถใหม่ๆ

และพวกเราที่ใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทำธุรกิจ จะไม่ซื้อ Software ตามความเหมาะสมกับงานบ้างหรือ 

ผมว่า Windows (OEM) ที่มาพร้อมเครื่องราคาก็ไม่แพงน่ะ โปรแกรมบัญชียังขายเป็นหมื่นเลย นี่ตัว OS เขียนโปรแกรมยากกว่าตั้งเยอะ ราคาน่าจะประมาณ 5-7 พันเอง 

เราว่า คนจนๆใจสู้ดีแฮ่ะ แล้วเราพวกใส่สูทผูกไท ทำไมไม่สู้เลย ผมก็อายตัวเองเหมือนกัน

http://www.ee43.com/content/topic/339.html 

ต้องค่อยๆเริ่มแหละครับ

ตอนนี้ในเครื่องผมก็พยายามใช้ free, open source software ทั้งหมด เผื่อใครสนใจว่าผมใช้อะไรบ้าง

Word, Excel, PowerPoint ก็ใช้ Open Office ซะ สบายดี แปลงเป็น pdf ได้ด้วย

Ftp ก็ Filezilla

Download Manager ก็ Free Download Manager

จับภาำพ แต่งรูป ย่อขยาย นิดๆหน่อยก็ PhotoScape

ดูรูปก็ IrfanView

Browser ก็ Firefox

Check Mail ก็ ThunderBird ไม่ก็โยนไป Gmail

Bittorrent ก็ utorrent

ดู Video ก็ KMplayer, VLC

ผมก็ใช้อยู่แค่นี้แหละ

เหลืออย่างเดียว ตอนนี้คือ XP ที่ยังใช้ของที่เขาโมให้มันกินที่น้อยๆอยู่ อิอิ

ขอบคุณ คุณ BiGGA ครับ
ชัดเจนมาก เราจะหยิบขนมที่วางไว้บนโต๊ะมากินฟรีไหม บางคนให้ความสำคัญว่ามันไม่ใช่ของเรา แต่บางคนคิดว่ามันไม่เสียหายอะไร บางคนก็คิดว่าขนมบางชนิดหยิบกินไปเถอะไม่เป็นไร แต่บางชิ้นสงสารคนทำ อยู่ที่มุมมองครับ

คุณ ppjung แหมมมม ก็ว่าไปนั้น เรายังเป็นประเทศกำลังพัฒนาครับ ดูอย่างญี่ปุ่นหรือไต้หวันสิครับ ก็เริ่มจาก C ก่อนทั้งนั้น กว่าจะย้ายตัวเองไปทำ R&D ได้ ต้องใช้เวลา และต้องมีโอกาสครับ

คุณแมว ผมว่าจุดนี้มันน่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สินที่จับต้องกับทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ครับ เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับอะไรที่เราจับต้องไม่ได้ คิดว่ามันไม่มีตัวตนอยู่ เพราะฉะนั้นก็เลยเกิดกรณีหยิบขนมกินฟรีอย่างที่คุณ BiGGA ว่าหนะครับ

คุณ hoho ขอบคุณที่ช่วยกันแนะนำซอฟต์แวร์ดีๆ ครับ ว่าแต่ไม่สนใจจะลอง ubuntu หรือครับ ไม่เลวนะ จะบอกให้ ;)

 

ผมคิดว่ากรณี SW ต่างประเทศ ผมมองว่าโปรแกรมหลายตัวนั้น ขายแำำพงเกินไปจริงๆ ส่วนหนึ่งคือ เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ค่าครองชีพ และผลประโยชน์ของผู้ผลิต SW (ผมว่าอันหลังนะมีผลเยอะ)

เราไม่สามารถซื้อ SW ต่างประเทศเพราะเราเสียเปรียบค่าเงินบาทอยู่มากโข ทำให้โปรแกรมหลายๆตัวจึงดู แพ้ง แพง ในสายตาคนทั่วไป ลองให้ เงินบาทไทย 1 US  = 5 - 10 บาท ดูสิ โปรแกรมจะถูกลงทันตาเลย 

สำหรับตอนนี้ ผมมองว่าสิ่งที่เราพอทำได้ และพอเป็นไปได้คือ แนะนำให้คนไทยซื้อของที่ผลิตโดยคนไทยก่อน ประมาณว่าจะเถื่อนยังไง ถ้าเป็นของผลิตของคนไทยด้วยกันก็ละเว้นไว้สักหน่อยละกันครับ คนไทยด้วยกันอย่าฆ่ากันเลย และเรื่อง Open Souce น่าจะเป็นระยะที่ 2-3 นะครับ

  • ครูอ้อย เข้ามาแสดงความคิดเห็น...แบบเห็นด้วยทั้งตัวและหัวใจ
  • ขณะที่  ครูอ้อยกำลังพบกับปัญหานี้อยู่  เมื่อได้โปรแกรมการสอนภาษาอังกฤษที่ต้องใช้ซอฟท์แวร์แบบให้เปล่า...แพงสุดโหด  ใช้ได้เพียง 1 ปี
  • ทำไมเราต้องมาใช้ของแพงกันหนอ
  • ครูอ้อยรบกวนแค่นี้ค่ะ  แบบระบายน่ะค่ะ

ขอบคุณ

ซอฟต์แวร์เถื่อนก็ไม่ต่างอะไรกับเพลง MP3 หรือ ภาพยนตร์ที่ดาวน์โหลดกันทั่วบ้านทั่วเมืองไม่มากไม่น้อยไปกว่านั้น ก็เพราะว่ามันฟรี และคนใช้ของเถื่อนไม่ถูกจับนะครับ ไม่ต้องมีทฤษฎีอะไรมาอธิบาย ฝรั่งเองก็ใช้ของเถื่อนกันเยอะแยะมีให้เห็นถมไป ไม่ใช่เพียงแต่คนไทย

อย่างกรณีที่แอปเปิลขึ้นแบล็กลิสต์ไทยเนื่องจากทางประเทศไม่จัดการอะไรซักอย่างกับเพลงละเมิดลิขสิทธิ์ แอปเปิลก็มีทั้งการแบนไอทูนส์สโตร์  ป่านนี้ไม่รู้เลิกแบนหรือยัง

ส่วนเรื่องเปรียบเทียบซอฟต์แวร์ว่าถ้าเอาตัวที่ฟรีดีกว่า แต่ประสิทธิภาพงานลดต่ำลง 10 เท่า ก็คงเป็นการยากที่จะหาคนมาใช้ 

เรื่องซอฟต์แวร์ฟรีน่าจะดูตัวอย่างของ ไฟร์ฟอกซ์ ดูนะครับ เพราะว่าตัวนี้นอกเหนือจากการที่เป็นซอฟต์แวร์ฟรีแล้ว ยังมีสิ่งที่อยู่ลึกลงไปหลายอย่าง ไม่ว่าอุดมคติ คอนเซ็ปต์ ความสวยงาม การตลาด การเปิดให้พัฒนา คือมีความหมายที่ลึกซึ้งมากกว่าความคิดของตัวซอฟต์แวร์

http://itshee.exteen.com/

ขอบคุณครับคุณ JJJ ครูอ้อย และคุณ mnop ครับ

ซอฟต์แวร์เป็นเรื่องละเอียดอ่าน ชื่อมันก็บอกอยู่แล้วว่า soft คงไม่มีอะไรมาก ถ้าแค่ใช้ อย่างไม่ได้คิด แต่ถ้าเราคิดก่อนใช้ ก็จะช่วยให้สังคมเราน่าอยู่ขึ้นเยอะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท