การอนุรักษ์เต่าทะเลตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490


  การอนุรักษ์เต่าทะเลตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490
     พระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 มีบทบัญญัติที่สำคัญในการอนุรักษ์เต่าทะเล ดังต่อไปนี้มาตรา 9 ห้ามมิให้บุคคลใดทำการประมง หรือเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี
ผู้อนุญาตต้องปฏิบัติเงื่อนไขที่อธิบดีกำหนดให้
ที่รักษาพืชพันธุ์
คำว่า "ที่รักษาพืชพันธุ์" หมายถึง ที่จับสัตว์น้ำซึ่งอยู่บริเวณพระอารามหรือปูชนียสถานหรือติดกับเขตสถานที่ดังกล่าวแล้ว บริเวณประตูน้ำ ประตูระบายน้ำ ฝาย หรือทำนบ หรือที่ซึ่งเหมาะแก่การรักษาพืชพันธุ์ลักษณะของบริเวณที่จับสัตว์น้ำที่ควรกำหนดเป็นที่รักษาพืชพันธุ์
1. ที่จับสัตว์น้ำซึ่งอยู่ในบริเวณพระอาราม
2. ที่จับสัตว์น้ำซึ่งอยู่ในบริเวณปูชนียสถาน
3. ที่จับสัตว์น้ำซึ่งติดกับพระอาราม
4. ที่จับสัตว์น้ำซึ่งติดกับปูชนียสถาน
5. ที่จับสัตว์น้ำซึ่งอยู่บริเวณประตูน้ำ
6. ที่จับสัตว์น้ำซึ่งอยู่บริเวณประตูระบายน้ำ
7. ที่จับสัตว์น้ำซึ่งอยู่บริเวณฝาย
8. ที่จับสัตว์น้ำซึ่งอยู่บริเวณทำนบ
9. ที่ที่เหมาะแก่การรักษาพืชพันธุ์สัตว์น้ำ

 

 ตามมาตรา 9 การห้ามแบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ
1. ห้ามทำการประมงในที่รักษาพืชพันธุ์
2. ห้ามเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำในที่รักษาพืชพันธุ์
     ในมาตรา 9 คำที่ควรทราบ ได้แก่ คำว่า "สัตว์น้ำ" และ "ทำการประมง" 
     มาตรา 4 (1) คำว่า "สัตว์น้ำ" หมายความว่า สัตว์ที่อาศัยอยู่ในน้ำหรือมีวงจรชีวิตส่วนหนึ่งอยู่ในน้ำหรืออาศัยอยู่ในบริเวณที่น้ำท่วมถึง เช่น ปลา, กุ้ง, ปู, แมงดาทะเล, หอย, เต่า, กระ, ตะพาบน้ำ, จระเข้ รวมทั้งไข่ของสัตว์น้ำนั้น สัตว์น้ำจำพวกเลี้ยงลูกด้วยนม, ปลิงทะเล, ฟองน้ำ, หินปะการัง, กัลปังหา, และสาหร่ายทะเลรวมทั้งซากหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของสัตว์น้ำเหล่านั้น และหมายรวมถึงพันธุ์ไม้น้ำตามที่ได้มีพระราชกฤษฎีการะบุชื่อ
     มาตรา 4 (2) คำว่า "ทำการประมง" หมายความว่า จับ ดัก ล่อ ทำอันตราย ฆ่า หรือเก็บสัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำด้วยเครื่องมือทำการประมงหรือด้วยวิธีใด ๆ
     การห้ามทำการประมงในที่รักษาพืชพันธุ์ ก็เพื่อสงวนพันธุ์สัตว์น้ำต่าง ๆ ไว้ให้แพร่พันธุ์ออกลูกหลานต่อไป สำหรับเต่าทะเลก็เป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่งตามมาตรา 4 (1)

 

     ที่รักษาพืชพันธุ์ที่ได้ประกาศแล้ว

 

 1. ตามประกาศจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 17 มีนาคม 2512 กำหนดที่รักษาพืชพันธุ์บริเวณทะเลแหลมพันวา, เกาะโล้น, เกาะเฮ และเกาะแอว พื้นที่ 38 ตารางกิโลเมตร ห้ามทำการประมงทุกชนิด
2. ตามประกาศจังหวัดภูเก็ต ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2532 กำหนดที่รักษาพืชพันธุ์แนวปะการังอ่าวป่าตอง ตอนเหนือบริเวณแหลมแดงจนจรดแหลมดิ่งตอนใต้ บริเวณปากคลอง ปากบางจนจรดแหลมคอใสรอดตอนใต้ พื้นที่ประมาณ 3,176 ตารางกิโลเมตร
บทกำหนดโทษ โทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนมาตรา 9 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 62)
      มาตรา 19 ห้ามมิให้บุคคลใด เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้วัตถุมีพิษตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจานุเบกษาลงไปในที่จับสัตว์น้ำ หรือกระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำมึนเมา หรือเท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้สิ่งใดลงไปในที่จับสัตว์น้ำในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ หรือทำให้ที่จับสัตว์น้ำเกิดมลพิษเว้นแต่เป็นการทดลองเพื่อประโยชน์ทางวิทยาศาสตร์ และได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
องค์ประกอบความผิดตามมาตรา 19 มีดังนี้

 

 1. เท ทิ้ง ระบายหรือทำให้วัตถุมีพิษตามที่รัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงไปในที่จับสัตว์น้ำ
2. กระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำมึนเมา ในที่จับสัตว์น้ำ
3. เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้สิ่งใดลงไป ในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ
4. หรือทำให้เกิดมลพิษ
5. เว้นแต่เป็นการทดลองเพื่อประโยชน์ทางวิชาการ และได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
คำที่ควรทราบในมาตรานี้ ได้แก่ "เท" "ทิ้ง" "ระบาย" "วัตถุมีพิษ"
คำว่า เท หมายถึง เทวัตถุมีพิษลงไปในที่จับสัตว์น้ำ
ทิ้ง การทิ้งจะทิ้งในลักษณะใด ๆ ก็ได้ เป็นต้นว่า วางไว้ในที่จับสัตว์น้ำใช้เครื่องยนต์สูบน้ำที่เป็นอันตรายลงในแม่น้ำ หรือให้ลูกจ้างกระทำการดังกล่าวเป็นต้น
ระบาย หมายถึง ระบายวัตถุมีพิษลงในที่จับสัตว์น้ำ เช่น เปิดน้ำที่มีวัตถุมีพิษเจือปน ให้ไหลลงในแม่น้ำลำคลอง เป็นต้น
วัตถุมีพิษ หมายถึง "สารออกฤทธิ์หรือวัตถุที่มีสารออกฤทธิ์ผสมอยู่ด้วย และให้หมายความรวมถึงวัตถุมีพิษธรรมดาและวัตถุมีพิษร้ายแรง" แต่ในมาตรานี้เป็นวัตถุมีพิษตามรัฐมนตรีประกาศกำหนดในราชกิจานุเบกษา
     วัตถุมีพิษตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดท้ายประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 20 มกราคม 2532 มี 12 ชนิด ซึ่งรวมทั้งสารที่มีชื่อเรียกอย่างอื่นแต่มีสูตรโครงสร้างเดียวกัน โดยกำหนดความเข้มข้น 6 ชนิดและอีก 6 ชนิดกำหนดให้มีไม่ได้เลย ดังนี้1. DDT อัตราความเข้มข้นที่มีได้ในน้ำไม่เกิน 0.05 ppm.
2. Dieldrim อัตราความเข้มข้นที่มีได้ในน้ำไม่เกิน 0.001 ppm.
3. Aldrin อัตราความเข้มข้นที่มีได้ในน้ำไม่เกิน 0.001 ppm.
4. Heptachor ความเข้มข้นที่มีได้ในน้ำไม่เกิน 0.002 ppm.
5. Heptachor epoxide ความเข้มข้นที่มีได้ในน้ำไม่เกิน 0.002 ppm.
6. Carbofuran ความเข้มข้นที่มีได้ในน้ำไม่เกิน 0.05 ppm.
7. Endrin กำหนดให้มีไม่ได้เลย
8. Chlorpyrifos กำหนดให้มีไม่ได้เลย
9. Endosulfan กำหนดให้มีไม่ได้เลย
10. Deltamethrin กำหนดให้มีไม่ได้เลย
11. Sodiumcyanide กำหนดให้มีไม่ได้เลย
12. Potassiumcyanide กำหนดให้มีไม่ได้เลย
     ความผิดตามมาตรานี้ ความผิดสำเร็จเกิดขึ้นเมื่อมีการ เท ทิ้ง ระบายวัตถุมีพิษ หรือทำให้สิ่งใดลงไปในที่จับสัตว์น้ำ ได้แก่ คลอง หนองบึง แม่น้ำ ในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำในที่จับสัตว์น้ำ โดยไม่ได้คำนึงถึงเหตุแห่งวัตถุที่ทิ้งนั้นว่าจะเป็นอันตรายหรือไม่ก็ตาม ก็มีความผิดตามมาตรานี้แล้ว
     เต่าทะเล เป็นสัตว์น้ำชนิดหนึ่ง ถ้ามีการเท ทิ้ง ระบายวัตถุมีพิษ หรือสิ่งใด ในที่จับสัตว์น้ำที่มีเต่าทะเล เต่าทะเลก็ย่อมได้รับอันตรายได้ ซึ่งมีความผิดตามมาตรานี้
บทกำหนดโทษ โทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนมาตรา 19 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท (มาตรา 62 ทวิ)
     มาตรา 20 ห้ามมิให้บุคคลใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำวัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำ ไม่ว่าในกรณีใด เว้นแต่เพื่อประโยชน์ของทางราชการหรือได้รับอนุญาตจากอธิบดี
     ความผิดมาตรานี้ เป็นการห้ามใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงและวัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำ (เต่าทะเล) และเป็นความผิดสำเร็จเพียงแต่ใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงเต่าทะเลหรือเพียงแต่ใช้วัตถุระเบิดในบริเวณที่มีเต่าทะเลก็มีความผิดตามมาตรานี้แล้ว ส่วนเต่าทะเลจะมีการเสียหายมากน้อยเพียงใด ไม่ใช่เป็นองค์ประกอบของความผิด
     การใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงเต่าทะเล หรือการใช้วัตถุระเบิดในบริเวณที่มีเต่าทะเล เป็นที่เห็นชัดแจ้งว่ายังผลให้เต่าทะเลที่อยู่ในรัศมีของกระแสไฟฟ้า หรือระเบิด ต้องมีความเสียหาย (ตายลง)
บทกำหนดโทษ โทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนมาตรา 20 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท (มาตรา 62 ทวิ)
     มาตรา 32 รัฐมนตรีหรือข้าหลวงประจำจังหวัด โดยอนุมัติรัฐมนตรีเฉพาะภายในท้องที่ของตน มีอำนาจประกาศกำหนดได้ดังต่อไปนี้
(1) กำหนดขนาดตา และระยะช่องเครื่องมือทำการประมงทุกชนิด กำหนดขนาดชนิด จำพวกและส่วนประกอบของเครื่องมือทำการประมงที่อนุญาตให้ใช้ในที่จับสัตว์น้ำ
(2) กำหนดมิให้ใช้เครื่องมือทำการประมงอย่างหนึ่งอย่างใดในที่จับสัตว์น้ำ โดยเด็ดขาด
(3) กำหนดระยะที่ตั้งเครื่องมือประจำที่ให้ห่างกันเพียงใด
(4) กำหนดวิธีใช้เครื่องมือทำการประมงต่าง ๆ
(5) กำหนดฤดูปลาที่มีไข่และวางไข่เลี้ยงลูก กำหนดเครื่องมือที่ให้ใช้และกำหนดวิธีทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำใด ๆ ในฤดูดังกล่าว
(6) กำหนดชนิด ขนาด และจำนวนอย่างสูงของสัตว์น้ำที่อนุญาตให้ทำการประมง
(7) กำหนดมิให้ทำการประมง สัตว์น้ำชนิดหนึ่งชนิดใดโดยเด็ดขาด
ปัจจุบัน ได้มีมาตรการอนุรักษ์เต่าทะเล ไว้ดังนี้
1. อาศัยอำนาจ มาตรา 32 (7) พ.ร.บ. การประมง 2490 ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 14 เมษายน 2490 ห้ามมิให้บุคคลใดจับ ดัก ล่อ ทำอันตราย หรือฆ่าเต่าทะเล และกระทะเลทุกชนิดโดยเด็ดขาด แม้เต่าหรือกระนั้นจะติดหรือจะขึ้นมาด้วยเครื่องมือใด ๆ ก็ตามให้ปล่อยลงทะเลไปทันทีรวมทั้งห้ามมิให้บุคคลใดเก็บหรือทำอันตรายไข่เต่าทะเล ไข่กระทะเลทุกชนิดในหาดทุกแห่ง เว้นแต่ผู้ใดได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
2. อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 (2), (4) แห่ง พ.ร.บ. การประมง 2490 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ออกประกาศกระทรวง ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2515 ห้ามอวนลาก อวนรุน ทำการประมงในระยะ 3,000 เมตรจากชายฝั่ง เพื่อป้องกันเต่าทะเลและแหล่งอาหารเต่าทะเล
      สำหรับประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2490 เรื่องห้ามมิให้บุคคลใดจับ ดัก ล่อ ทำอันตรายหรือฆ่าเต่าทะเล รวมทั้งห้ามเก็บหรือทำอันตรายไข่เต่าทะเล จากกฎหมายฉบับนี้ จะเห็นได้ว่าประเทศไทยได้ให้ความสำคัญของการอนุรักษ์เต่าทะเลมาเป็นเวลา 53 ปีแล้ว แต่การอนุรักษ์เต่าทะเลไม่ค่อยได้ผลเท่าที่ควร เพราะประชาชนส่วนใหญ่ไม่ได้เห็นความสำคัญของการอนุรักษ์เต่าทะเลและพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้เข้มงวดให้เป็นไปตามกฎหมายเท่าที่ควร

 

      ประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ฉบับนี้จะมีลักษณะของความผิดเหมือนกับมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 บัญญัติว่า ห้ามมิให้บุคคลใดล่า สัตว์ป่าคุ้มครอง (เต่าทะเล) หรือพยายามล่า…..… ส่วนคำว่าล่า หมายความว่า เก็บ ดัก จับ ยิง ฆ่าหรือทำอันตราย………. และคำว่า สัตว์ป่า ให้มีความหมายรวมถึงไข่ของสัตว์ป่าเหล่านั้นด้วย

 

      ดังนั้น การฆ่า จับ ดัก ยิง หรือทำอันตรายเต่าทะเลด้วยวิธีใด ๆ ก็ตาม มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490 มาตรา 32 และพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 มาตรา 16

 

      ตัวอย่าง นาย ก. ได้ไปพบเต่าทะเลที่ชายหาดไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต กำลังวางไข่ เมื่อเต่าทะเลวางไข่เสร็จ นาย ก. ได้จับเต่าทะเลไปขายและเก็บไข่เต่าไปรับประทาน นาย ก. มีความผิดกฎหมายฉบับใดบ้าง
ข้อพิจารณา
1. การจับเต่าทะเล เป็นข้อห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 14 เมษายน 2490 ที่ห้ามมิให้บุคคลใดจับเต่าทะเล นาย ก. จึงต้องมีความผิดมาตรา 32 (7), 65 แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490
2. การจับเต่าทะเล เป็นการล่า ตามมาตรา 16 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 หรือไม่ เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่าล่า หมายถึง การจับด้วย ดังนั้น การจับเต่าทะเลจึงมีความผิดฐานล่าสัตว์ป่าคุ้มครองตามมาตรา 16, 47
3. การเก็บไข่เต่าทะเล เป็นข้อห้ามตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงวันที่ 14 เมษายน 2490 ที่ห้ามมิให้ผู้ใดเก็บไข่เต่าทะเล นาย ก. จึงมีความผิดตามมาตรา 32 (7), 65 แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490
4. ไข่เต่าทะเล เป็นสัตว์ป่าหรือไม่ เมื่อพิจารณาความหมายของคำว่าสัตว์ป่า ให้หมายรวมถึง ไข่ของสัตว์ป่าด้วย และการเก็บไข่เต่าทะเลเป็นการล่าหรือไม่ เมื่อมาดูความหมายของคำว่า ล่า หมายถึง การเก็บด้วย ดังนั้น การเก็บไข่เต่าทะเลจึงมีความผิดฐานล่าสัตว์ป่าคุ้มครองตามมาตรา 16, 47 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
5. การนำเต่าทะเลไปขาย เป็นการกระทำที่มีลักษณะเป็นการค้าหรือไม่เมื่อพิจารณา นาย ก. ไม่ได้กระทำการค้าเต่าทะเลเป็นประจำ ในลักษณะของอาชีพ แต่ทำการค้าเป็นครั้งเป็นคราวตามแต่โอกาสอำนวย นาย ก. จึงมีความผิดฐานค้าสัตว์คุ้มครอง ตามมาตรา 20, 47 แต่มีความผิดสัตว์ป่าคุ้มครอง (เต่าทะเล) ไว้ในความครอบครอง มาตรา 19, 47 อีกมาตราหนึ่ง
6. หาดไม้ขาว จังหวัดภูเก็ต อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติสิรินาถ จึงต้องนำพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 นำมาใช้บังคับด้วย ดังนั้นการที่ นาย ก. จับเต่าทะเล และนำไข่เต่าทะเลออกไปนอกเขตอุทยานแห่งชาติ จึงมีความผิดตามมาตรา 16 (3), 24 แห่งพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 ด้วย

 

 บทกำหนดโทษ โทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนมาตรา 32 ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือทั้งปรับทั้งจำ
     มาตรา 53 ห้ามมิให้บุคคลใดมีไว้ครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชนิดใดชนิดหนึ่งตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำชนิดใดชนิดหนึ่งเกินจำนวนหรือปริมาณหรือเล็กกว่าขนาดที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
      ตามพระราชกฤษฎีการะบุสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามมีไว้ครอบครองเพื่อการค้า พ.ศ. 2535 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2535 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติการประมง 2490 กำหนดให้ปะการัง กัลปังหา เต่าทะเล และกระ เป็นสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำที่ห้ามมิให้ผู้ใดมีไว้ครอบครองเพื่อการค้า
บทกำหนดโทษ โทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนมาตรา 53 ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 67 ทวิ)
     พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ กำหนดให้เต่าทะเล เต่ากระ ห้ามมีไว้ครอบครองเพื่อการค้า และรวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ทำจากเต่าทะเลและเต่ากระด้วย จะเห็นว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นการกำหนดห้ามการครอบครองเต่าทะเล เต่ากระ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ดังกล่าว เพื่อการค้าเท่านั้น ถ้าบุคคลใดครอบครองโดยไม่ได้กระทำเพื่อการค้า ก็ไม่มีความผิดตามมาตรานี้แต่อย่างใด
สำหรับคำว่า ผลิตภัณฑ์ ก็คงมีความหมายเช่นเดียวกับผลิตภัณฑ์ของมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 หมายถึงเป็นสิ่งที่ทำขึ้น จะต้องผ่านขบวนการผลิตมาก่อน จนกระทั่ง เปลี่ยนสภาพหรือแปรรูปไปจากเดิม ตัวอย่าง ผลิตภัณฑ์จากเต่าทะเล, เต่ากระ ได้แก่ กำไลข้อมือเต่ากระ ตุ้มหูเต่ากระ ตลอดจนเครื่องประดับต่าง ๆ ที่ทำจากเต่าทะเล เต่ากระเป็นต้น สำหรับผู้ครอบครองให้แจ้งการมีไว้ในครอบครองเพื่อการค้า ซึ่งเต่าทะเลและผลิตภัณฑ์ดังกล่าวต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ แล้วรายงานการจำหน่ายให้ประมงจังหวัดทราบทุก ๆ เดือนจนกว่าสัตว์น้ำเหล่านั้นจะถูกจำหน่ายจ่ายโอนหมดสิ้น
ข้อสังเกต พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้ เนื้อหาของตัวบทมีลักษณะเหมือนกับมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 เป็นการกระทำเพื่อการค้าเช่นเดียวกับในเรื่องของเต่าทะเล, เต่ากระ
ตัวอย่าง ร้านค้าขายของที่ระลึกแห่งหนึ่งในจังหวัดภูเก็ต นำเอากระดองเต่าทะเลสตัฟฟ์, กำไลข้อมือเต่ากระ, ตุ้มหูเต่ากระ มาขายให้นักท่องเที่ยว ร้านค้ามีความผิดกฎหมายฉบับใดบ้าง
ข้อพิจารณา
1. การเปิดร้านค้าขายของที่ระลึก เพื่อขายกระดองเต่าสตัฟฟ์ กำไลข้อมือเต่ากระ ตุ้มหูกระ มีลักษณะเป็นการค้าหรือไม่ เมื่อพิจารณาร้านค้าขายของที่ระลึก ได้ขายเป็นประจำทุกวัน ในลักษณะของอาชีพ จึงมีลักษณะเป็นการค้า
2. กระดองเต่าสตัฟฟ์เป็นผลิตภัณฑ์หรือไม่ เมื่อพิจารณากระดองเต่าสตัฟฟ์มิได้เปลี่ยนแปลงสภาพไปจากเดิม จึงไม่เป็นผลิตภัณฑ์ เป็นเพียงซากของเต่าทะเล
3. มีความผิดตามพระราชบัญญัติการประมง 2490 มาตรา 53 โดยพระราชกฤษฏีการะบุสัตว์น้ำและผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำบางชนิดที่ห้ามมีไว้ครอบครองเพื่อการค้า พ.ศ. 2535 ลงวันที่ 31 มีนาคม 2535 ฐานมีซากเต่าทะเลและผลิตภัณฑ์เต่าทะเลไว้ในความครอบครองเพื่อการค้า ผู้ฝ่าฝืนมาตรานี้ต้องระวางโทษปรับไม่เกินสองหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 67 ทวิ)
4. มีความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า 2535 มาตรา 20 โดยกฎกระทรวงฉบับที่ 4 (2537) กำหนดให้เต่าทะเลเป็นสัตว์คุ้มครอง ลงวันที่ 10 พฤศจิกายน 2537 ฐานมีซากเต่าทะเลและผลิตภัณฑ์เต่าทะเลไว้ในความครอบครองเพื่อการค้า ผู้ฝ่าฝืนมาตรานี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสี่ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 20, 47)
     ความผิดอาญาในครั้งนี้ เป็นความผิดที่มีการกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบท ในกรณีนี้เป็นความผิดกฎหมายหลายฉบับให้ใช้กฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ในที่นี้ต้องลงโทษตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด
มาตรา 54 ห้ามมิให้นำสัตว์น้ำชนิดใดชนิดหนึ่ง ตามที่ระบุในพระราชกฤษฎีกาเข้ามาในราชอาณาจักร โดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
ปัจจุบันมีพระราชกฤษฎีกาที่ควบคุมการนำเข้าสัตว์น้ำจำพวกเต่าทะเล ดังนี้
1. พระราชกฤษฎีกา ห้ามมิให้สัตว์น้ำบางชนิดเข้ามาในราชอาณาจักร ฉบับที่ 2 พ.ศ. 2536 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 175 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2524 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490
     ได้กำหนดให้สัตว์น้ำบางชนิดตามที่ระบุในบัญชีท้ายพระราชกฤษฎีกานี้ เป็นสัตว์น้ำที่ห้ามมิให้นำเข้ามาในราชอาณาจักรตามมาตรา 54 ซึ่งเป็นสัตว์น้ำเต่าทะเล ดังนี้
ชื่อไทย(Thai Name) ชื่อสามัญ(Common Name) ชื่อวิทยาศาสตร์(Scientific Name)
วงศ์ (Family) : Cheloniidae
1. เต่าทะเลลอคเกอร์เฮด (เต่าหัวโต), เต่าหัวฆ้อน Loggerhead Caretta caretta
2. เต่าหลังเบน Flatback turtle Chelonia depressa
3. เต่าตนุแสงอาทิตย์ Green turtle Chelonia mydas
4. เต่ากระเกล็ดซ้อน (กระแอตแลนติก) Hawksbill turtle Eretmochelysimbricata bissa
5. เต่ากระขอบหยัก (กระอินโด-แปซิฟิก) Hawksbill turtle Eretmochelysimbricata imbricata
6. เต่าหญ้าแอตแลนติก (เต่าตาแดงแอตแลนติก) Kemp's ridley turtle Lepidochelys kempii
7. เต่าหญ้าแปซิฟิก (เต่าตาแดงแปซิฟิก) Oliver ridley turtle Lepidochelys olivacea
วงศ์ (Family) : Dermochelyidae
8. เต่ามะเฟือง Leatherback turtle(Pacific Leather turtle) Dermochelyscoriacea

 

 บทกำหนดโทษ โทษสำหรับผู้ฝ่าฝืนมาตรา 54 ต้องระวางโทษไม่เกินหนึ่งหมื่นบาทหรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 62)
สรุปความผิดเกี่ยวกับเต่าทะเลตามพระราชบัญญัติการประมง พ.ศ. 2490
1 ทำการประมงเต่าทะเลในที่จับสัตว์น้ำประเภทที่รักษาพืชพันธุ์โดยมิได้รับอนุญาต 962
1. ห้ามมิให้บุคคลทำการประมงเต่าทะเล
2. ในที่รักษาพืชพันธุ์
3. ไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดี
4. มีเจตนา
5. ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 9 มีความผิดต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน หรือทั้งจำทั้งปรับ
2 เท ทิ้ง ระบายหรือทำให้วัตถุมีพิษตามรัฐมนตรีประกาศ, กระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำมึนเมาหรือทำให้เกิดมลพิษหรือเท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้สิ่งใดลงไปในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ 1962 ทวิ
1. ห้ามมิให้บุคคล เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้วัตถุมีพิษตามรัฐมนตรีประกาศในราชกิจจานุเบกษาลงไปที่จับสัตว์น้ำ
2. กระทำการใด ๆ อันทำให้สัตว์น้ำมึนเมาในที่จับสัตว์น้ำ
3. ทำให้เกิดมลพิษ
4. เท ทิ้ง ระบาย หรือทำให้สิ่งใดลงไปในลักษณะที่เป็นอันตรายแก่สัตว์น้ำ
5. มีเจตนา
6. ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 20 มีความผิดต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงแสนบาท
3 ใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ วัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต 2062 ทวิ
1. ห้ามมิให้บุคคลใช้กระแสไฟฟ้าทำการประมงในที่จับสัตว์น้ำ
2. ใช้วัตถุระเบิดในที่จับสัตว์น้ำ
3. เว้นแต่เพื่อประโยชน์ทางราชการหรือได้รับอนุญาตจากอธิบดี
4. เจตนา
5. ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 20 มีความผิดต้องระวางโทษ จำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงห้าปีและปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นถึงหนึ่งแสนบาท
4 ใช้เครื่องมืออวนลาก อวนรุน ทำการประมงในเขต 3,000  เมตรนับจากแนวชายฝั่งทำการประมงเต่าทะเลไม่ว่าด้วยวิธีใด ๆ ในทะเลจังหวัดชายทะเลทุกจังหวัด 3265
1. ห้ามบุคคลใดใช้เครื่องมืออวนลาก อวนรุน ทำการประมงในเขต 3,000 นับจากแนวชายฝั่ง
2. ห้ามบุคคลใดทำการประมงเต่าทะเลทุกชนิดไม่ว่าวิธีใด ๆ ในทะเลจังหวัดชายทะเลทุกจังหวัด
3. มีเจตนา
4. ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 32 มีความผิดต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินห้าพันบาทถึงหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหนึ่งปีหรือทั้งจำทั้งปรับ
มีไว้ครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (เต่าทะเล) ตามที่ระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกาโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 5367 ทวิ
1. ห้ามมิให้บุคคลมีไว้ครอบครองซึ่งสัตว์น้ำหรือผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ (เต่าทะเล)
2. ตามที่ระบุไว้ในราชกฤษฎีกา
3. ไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
4. มีเจตนา
5. ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 53 มีความผิดต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินสองหมื่นบาทหรือจำคุกไม่เกินสี่ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ
6 นำสัตว์น้ำ (เต่าทะเล) ตามระบุในพระราชกฤษฎีกาเข้ามาในราชอาณาจักรโดยมิได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ 5462
1. ห้ามมิให้บุคคลนำสัตว์น้ำ (เต่าทะเล) เข้ามาในราชอาณาจักร
2. ตามระบุไว้ในพระราชกฤษฎีกา
3. ไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
4. มีเจตนา
5. ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 54 มีความผิดต้องระวางโทษ ปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือจำคุกไม่เกินหกเดือน

 

 ที่มา  http://www.nicaonline.com/articles9/site/view_article.asp?idarticle=165

 ที่มา 


 

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16209เขียนเมื่อ 21 กุมภาพันธ์ 2006 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:44 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท