ชุมชนแห่งการเรียนรู้โลกภายใน


สังคมไทยมีโครงสร้างทางวัฒนธรรมรองรับการมีชีวิตอยู่เพื่อไปให้ถึงนิพพาน

เมื่อวันจันทร์ที่แล้วตรงกับวันมาฆบูชา

ที่หากย้อนไปเมื่อ ๒๕๙๔ปีที่แล้ว

จะตรงกับสมัยที่พระพุทธองค์ยังทรงมีพระชนม์ชีพ

หรือนับเป็นเวลา ๙ เดือนหลังจากการตรัสรู้

บันทึกนี้เขียนขึ้นจาก "อาการสะดุดความคิด"

หลังจากที่ได้ไปทำบุญที่วัดญาณเวศกวัน จ.นครปฐม

และได้ไปอ่านบอร์ดความรู้เรื่องวันมาฆบูชาที่ทางวัดจัดทำขึ้น

ดังมีใจความว่า


มาฆบูชา ย่อมาจากมาฆปุณณมีบูชา หรือมาฆบูรณมีบูชา แปลว่าการบูชาในวันเพ็ญเดือน ๓ ซึ่งเป็นวันที่พระพุทธองค์ประทานโอวาทปาติโมกข์ เพื่อให้พระสาวก๑๒๕๐องค์ ผู้เป็นเอหิภิกขุ ที่มาประชุมพร้อมกันโดยมิได้นัดหมาย ได้มีหลักร่วมกันในการประกาศพระศาสนา การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุมครั้งสำคัญที่สุด ซึ่งมีเพียงครั้งเดียวในสมัยพุทธกาล


ความในโอวาทปาติโมกข์แบ่งออกเป็น ๓ ตอน เรียงลำดับกันเป็น ๓ คาถาครี่ง


คาถาที่ ๑

ทรงกล่าวถึงจุดหมายของพระพุทธศาสนาว่า คือ นิพพาน อันได้แก่ความดับกิเลส และกองทุกข์ทั้งปวงได้

โดยทรงกล่าวด้วยว่าการจะไปถึงจุดหมายได้ ต้องมีความอดทนที่จะดำเนินตามมรรคาที่ถูกต้องไปจนถึงที่สุด มีความเข้มแข็งทนทานอยู่ในใจ ดำรงอยู่ในหลักปฏิบัติที่ถูกต้องนั้น ไม่ระย่อท้อถอย


และบรรพชิตในพุทธศาสนา คือเครื่องหมายของความไม่มีภัย เป็นสัญลักษณ์แห่งความร่มเย็น ปลอดภัย และการชี้นำมรรคาแห่งสันติสุข


คาถาที่ ๒

พระพุทธองค์ทรงตรัสสรุปข้อปฏิบัติในพระพุทธศาสนาทั้งหมด ลงเป็นหลักการสำคัญ ๓ ประการ คือ

  • การไม่ทำบาปทั้งปวง เช่น ประพฤติตนอยู่ในศีล

  • การยังกุศลให้ถึงพร้อม ด้วยการบำเพ็ญความดีให้บริบูรณ์

  • การทำจิตของตนให้ผ่องใส ฝึกอบรมเจริญปัญญา ให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามที่เป็นจริง


คาถาที่ ๓

ทรงกล่าวถึงหลักความประพฤติและการปฎิบัติตน หรือหลักปฏิบัติในการทำงาน สำหรับผู้ที่จะไปประกาศพระศาสนา หมายความว่าทรงวางมาตรฐานความประพฤติในการไปสอนธรรมแก่ประชาชนว่า

  • ผู้สอนต้องไม่เป็นผู้กล่าวร้าย ต้องไม่เป็นผู้ทำร้าย คือไม่ก่อความเดือดร้อนแก่ผู้อื่น มีวจีกรรมและกายกรรมที่บริสุทธิ์สะอาด พูดและทำด้วยเมตตากรุณา

  • ประพฤติเคร่งครัดในพระวินัย

  • รู้จักประมาณในภัตตาหาร อยู่ในที่นั่งที่นอนอันสงบสงัด อันเหมาะแก่สมณะ

  • มีจิตแน่วแน่ เข้มแข็งไม่ท้อถอย ฝึกอบรมจิตใจของตนอยู่เสมอ


เมื่อพิจารณาเนื้อความข้างต้นความข้างต้นอย่างละเอียดแล้วทำให้ได้ประจักษ์ในความจริงว่า

สิ่งที่ทรงแสดงมาทั้งหมด เป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ ที่ได้ทรงวางหลักไว้ ทำให้สังฆะซึ่งเป็น"ชุมชนของการเรียนรู้โลกภายใน" ยังคงดำรงอยู่ได้ แม้พุทธกาลล่วงเลยมาแล้ว ๒๐๐๐ กว่าปี อีกทั้งยังตั้งมั่นอยู่ในหมู่ชนที่เป็นพุทธบริษัทได้อย่างมั่นคง


เครื่องยืนยันว่าสังคมไทยสมัยก่อนยุคอุตสาหกรรม ยังเป็นสังคมหนึ่งที่มีโครงสร้างทางวัฒนธรรมรองรับการมีชีวิตอยู่เพื่อไปให้ถึงนิพพาน มองได้ตั้งแต่เรื่องของการนำมูลค่าส่วนเกินทั้งหมดของสังคมไปสร้างถาวรวัตถุอันเนื่องด้วยศาสนา พระสงฆ์ยังได้รับความเคารพศรัทธาจากชาวบ้านอย่างสูง เนื่องจากท่านยังคงสละ และ ละให้เห็นเป็นตัวอย่าง พ่อแม่ทุกคนยังหวังให้ลูกชายมีโอกาสได้บวชเรียนเพื่อสืบต่อพระศาสนา


คำว่า"ไม่เป็นไร" ที่ติดปากคนไทยทุกผู้ทุกนาม และใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใสอยู่เป็นนิจหากมองให้ลึกแล้ว ก็คือเสียงและภาพที่สะท้อนให้เห็นถึงจิตใจที่ไม่ผูกพยาบาท และพร้อมที่จะให้อภัยอยู่ทุกเมื่อ สังคมไทยในสมัยก่อนจึงเป็นสังคมที่คนจากหลายวัฒนธรรมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ


หากมองไปที่การประกอบอาชีพก็จะพบว่าคนไทยมีความเชี่ยวชาญ เรื่องการทำงานฝีมือที่ละเอียด ประณีต ข้อเท็จจริงก็คือ คนที่มีจิตประณีต เป็นสมาธิเท่านั้น จึงจะสามารถสร้างผลงานที่มีความวิจิตรบรรจงเช่นนี้ออกมาได้


ไม่เป็นที่สงสัยเลยว่าเพราะเหตุใด วัดจึงเป็นที่รวมของศิลปวิทยาการทุกแขนง และ ช่างฝีมือที่เก่งที่สุดจึงเป็นพระสงฆ์ คนไทยใช้งานฝีมือเป็นอุบายในการฝึกให้จิตนิ่ง และให้จิตมีการประสานกับกายให้เป็นหนึ่งเดียว

ในทุกขณะที่ทำงานฝีมือก็คือการฝึกให้ผู้สร้างผลงานมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันขณะ นั่นเอง


วิถีการดำรงเช่นนี้จึงมีความสอดคล้องกับอุดมคติทางศาสนา ที่ส่งผลให้เกิดความเจริญทั้งทางโลกและทางธรรมอย่างไม่ขัดแย้ง แต่เมื่ออุดมคติของสังคมเปลี่ยนมาเป็นการยึดทุนนิยมเป็นสรณะ รากฐานทางสังคม ตลอดจนปัจจัยต่างๆที่สร้างสมมาทั้งหมด จึงกลายเป็นปัจจัยที่มาถ่วงความเจริญ


ประเทศไทยจึงต้องย้ายตำแหน่งจากประเทศที่มีความเจริญทางจิตใจในอันดับต้นๆ มาเป็นประเทศที่มีความล้าหลังทางวัตถุในอันดับต้นๆ เพราะโลกทุนนิยม กับจิตนิยมเป็นโลกคนละใบ ที่เลือกใช้ไม้บรรทัดคนละอัน







คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 16136เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2006 16:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 14:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท