มโนธรรมและกติกา


ดูเหมือนมโนธรรมและกติกาน่าจะไปด้วยกันได้ แต่บางเรื่องอาจจะไปกันไม่ได้กระมัง

วันนี้ผมเข้าไปดูแลห้องสอบของนักศึกษาภาคปกติ วิชาที่ผมนำไปให้นักศึกษาสอบคือ ภาษาอังกฤษฯ ผมยอมรับข้อจำกัดของนักศึกษาเราอย่างหนึ่งคือภาษาอังกฤษที่น่าสงสาร ระหว่างที่นักศึกษากำลังทำข้อสอบอยู่นั้น ผมเหลือบไปเห็นนักศึกษาคนหนึ่ง เธอนั่งอยู่ทางซ้ายสุดของแถวหน้าสุด นั้นก็คือมุมห้องทางซ้าย เธอหยิบกระดาษขึ้นมา (ปกติของผมคือไม่ชอบยืนหน้าห้อง) พร้อมกับดูรายละเอียดที่เธอจดลงในกระดาษแผ่นเล็ก ผมยืนดูและยืนคิดอยู่นาน ที่ผ่านมาสิ่งที่ผมพบคือ ผู้ดูแลห้องสอบจะจับโพยนั้นคือหลักฐาน เย็บพร้อมกับกระดาษคำตอบของนักศึกษาที่ทุจริต (ทุจริตคือประพฤติมิชอบ ในห้องเรียนตามกติกาที่คนรุ่นก่อนวางไว้คือ ต้องไม่สอบโดยการลอก ถามเพื่อน หรือสิ่งใดๆที่ส่อว่าไม่สุจริตต่อการสอบ เรื่องนี้ผมมองว่า การทุจริตคือการเอาเปรียบเพื่อนร่วมห้อง) ส่งให้คณะกรรมการกลาง จากนั้นมีการสอบสวน เป็นเรื่องเป็นราว คิดไปคิดมา ผมควรทำดีหรือเปล่า ถ้าผมไม่ทำ ผมคือผู้บกพร่องต่อหน้าที่ ถ้าผมทำลงไป แน่ละผมทำตามกติกา แต่ผลที่ตามมาคือ ๑) นักศึกษานี้ ดูคำตอบของข้อสอบทั้งหมดหรือไม่ เรื่องนี้ผมคิดว่า ไม่ เมื่อเธอถูกจับทุจริต วิชาทั้งหลายในภาคการศึกษานั้น เป็นอันต้องลงทะเบียนเรียนใหม่ ๒) อาจารย์ประจำวิชา จะเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ พอจะคิดได้ ๒ อย่าง เมื่อมองดูสังคมที่ผ่านมา ก. นักศึกษาของฉัน จับก็จับไปสิ วิชาของฉัน ลูกหลานของฉัน ฉันไม่ให้ตกหรอก ข. ขอบคุณครับ - ค่ะที่ทำหน้าที่อย่างดีที่สุด ผม-ดิฉัน จะทำตามกติกาเพื่อสอนเด็กเหล่านี้ แต่แล้วความคิดหนึ่งก็แวบขึ้นมาว่า อย่าไปทำเขาเลย เมื่อคิดอย่างนี้ก็ต้องหาวิธีการที่จะไม่ให้นักศึกษาคนนี้เอาเปรียบเพื่อนร่วมห้อง ผมก็ใช้วิธีเดิมๆ คือ เดินไปยืนหน้าเก้าอี้พร้อมกับดูเธอทำข้อสอบจนกว่าจะแล้วเสร็จ ขณะนั้น ผมเห็นหลักฐานการทุจริต อยู่ใต้กระดาษข้อสอบ แต่ผมก็ต้องทำเฉย แม้จะตัดสินใจแล้ว ใจผมก็ขัดแย้งอยู่ตลอดเวลา หยิบโพยขึ้นมาเลยดีกว่ามั้ง หรือว่า ดูเธอทำต่อไป ขัดแย้งไปขัดแย้งมา เธอก็ใช่ว่าจะอยู่เป็นสุข ผมยืนอยู่กับที่ประมาณ ๑ ชั่วโมง จนเธอทำข้อสอบไม่ไหว เธอจึงลุกขึ้น พร้อมกับเอาตัวมาบังผมเพื่อแอบหยิบกระดาษโพยนั้นใส่ในกระเป๋า จากนั้นจึงวางข้อสอบบนโต๊ะและเดินออกจากห้องไป

   บาปกรรมแท้ชีวิตฉัน กฎกติกา ใครเป็นผู้ตั้ง ก็คนนั่นเองตั้งให้คนได้เดินตามทาง แม้คนเดินจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม แต่ครั้นไม่มีกติกา คนก็จะทำทุกอย่างที่อยากทำโดยไม่ได้คิดถึงคนรอบข้าง ให้หวนคิดถึงคำของ สมภาร พรมทา ในหนังสือ พุทธปรัชญา หน้า ๒๐๓ ท่านกล่าวถึงสัญชาตญาณของสัตว์กรณี ฟองสบู่แตกที่ว่า "การแสดงออกอย่างสัตว์สามารถเกิดมีได้ แม้กับคนที่มีการศึกษาสูงและอยู่ในฐานะที่เกี่ยวข้องกับชะตากรรมของคนจำนวนมาก ยกตัวอย่างเช่น การโจมตีค่าเงินบาท โดยนักค้าเงินต่างชาติในวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี ๒๕๔๐ - ๒๕๔๑ ที่ผ่านมา นักค้าเงินเหล่านี้ล้วนเป็นผู้มีการศึกษาดี และมีสถานะทางสังคมเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป คนเหล่านี้รู้ดีว่า การกระทำของตนจะก่อให้เกิดความวิบัติ เสียหายร้ายแรงแก่ประชาชนตาดำๆ ในประเทศไทย แต่ความโลภและความเห็นแก่ตัวอันเป็นวิสัยของสัตว์ภายในตัวคนเหล่านี้มีอำนาจมากกว่าความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ประเทศของเราจึงประสบชะตากรรมเช่นนั้น นี่คืออาชญากรของโลกในศตวรรษนี้ เป็นอาชญากรที่กฎหมายเอาผิดไม่ได้) จากถ้อยคำชุดนี้ เชื่อมโยงกรณีหลายกรณีในปัจจุบัน แม้แต่ผู้นำประเทศของเราเอง

   อย่างไรก็ตาม ผมเดินคิดในตอนหลังขณะที่ไปส่งข้อสอบว่า เราน่าจะปลูกฝังความยืนหยัดในความบริสุทธิ์ให้เด็กเหล่านี้มากกว่าการมีกติกากระมัง และหวนคิดไปถึงการสอบบาลีสนามหลวงของจังหวัดชุมพร ผมเชื่อมั่นอย่างยิ่งว่า ไม่มีใครเลยที่คิดจะดูเอกสารหรือส่อการละเมิดกติกาเพื่อทำข้อสอบ ผู้ควบคุมดูแลห้องสอบของเราหรือ ไม่ต้องมีก็ได้ (แต่ก็ต้องมีเพราะกติกาบอกให้มี) นี่กระมังที่นักปราชญ์จีนบอกว่า การปกครองโดยไม่ปกครอง

คำสำคัญ (Tags): #ศาสนาและปรัชญา
หมายเลขบันทึก: 16139เขียนเมื่อ 20 กุมภาพันธ์ 2006 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 ตุลาคม 2015 10:38 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เกือบลืมไป สิ่งที่ผมในเวลาต่อมาคือ เขียนหนังสือถึงอาจารย์ประจำวิชา ให้ช่วยชี้ทางที่ควรจะเป็นให้กับนักศึกษาท่านนี้ด้วย ก่อนจะส่งหนังสือ ผมถามเพื่อนก่อนแล้วว่า อาจารย์ท่านนี้เป็นอย่างไร ชอบทำทารุณกรรมทางอารมณ์หรือไม่ ทราบว่าเป็นคนมีเหตุผล ใจกว้าง งั้นก็ โอเค

ร่วมด้วยช่วยกันสรรสร้างบุคคล

1. นักศึกษาคนนี้ออกไปอยู่ในสังคมแล้ว สังคมจะเป็นอย่างไร คนที่กล้าทำอย่างนั้นหากจะใช้กฎหมายในการตัดสินก็เป็นความผิดร้ายแรง เพราะสิ่งที่ทำได้ผ่านการคิดไตร่ตรองมาก่อนจะทำแล้ว

2. จากลักษณะของโปรแกรมวิชาหากนักศึกษาคนนี้จะต้องจบออกไปเป็นครู อาจารย์ แล้วจะไปสอนเด็กให้เป็นอย่างไร

เรื่องบางเรื่องไม่ผิดกฎหมายแต่ไม่ได้หมายถึงไม่ชั่ว

เรื่องบางเรื่องดูเหมือนจะดีแต่ผิดกติกา

ดังนั้น โลกนี้ไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบเลย นี้คือความหลากหลายที่เป็นเพียงปรากฎการณ์ของโลก

เมื่อไปเป็นครูอาจารย์ก็เป็นอาจารย์ครูที่ขี้โกง เมื่อไปเป็นนักการเมืองก็เป็นนักการเมืองที่ขี้โกง

"คนที่โกหกได้อย่างแนบเนียนคือคนที่ยึดมั่นอยู่ในคำสัตย์"

ตถตา มันเป็นเช่นนั้นเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท