จัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน Community Environmental Management : CEM กรณีศึกษา เทศบาลตำบลปริก อ.สะเดา จ.สงขลา


เทศบาลตำบลปริกไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่ตามภารกิจตามบทบาทหน้าที่ทั่ว ๆ ไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่พึงมีตามกฎหมายกำหนดเท่านั้น แต่เทศบาลตำบลปริก ซึ่งเป็นองค์กรขนาดเล็กแห่งนี้ กลับทำหน้าที่ด้วยการทำงานเชิงรุก หรือเชิงยุทธศาสตร์
จัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน Community Environmental Management   : CEM กรณีศึกษา เทศบาลตำบลปริก อ.สะเดา  จ.สงขลา

โดย นายสุริยา   ยีขุน นายกเทศมนตรีตำบลปริก
เกริ่นนำ
              
เทศบาลตำบลปริก  เป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดเล็ก องค์กรหนึ่งที่ได้ปรับเปลี่ยนและยกฐานะจากสุขาภิบาลปริกเป็นเทศบาลตำบลปริก ตามพระราชบัญญัติเปลี่ยนแปลงฐานะของสุขาภิบาลเป็นเทศบาล พ.ศ.2542   เมื่อวันที่ 13 เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.  2542   สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 3 ตำบลปริก อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา  มีรูปแบบการบริหารจัดการพื้นที่ในรูปของคณะกรรมการชุมชน  ประกอบด้วยชุมชน ต่าง ๆ  จำนวน 7 ชุมชน  คือ  ชุมชนตลาดปริก  ชุมชนตลาดใต้  ชุมชนทุ่งออก ชุมชนร้านใน ชุมชนสวนหม่อม ชุมชนปริกใต้ และชุมชนปริกตก  ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ  3,000 ไร่ หรือคิดเป็น 4.8 ตารางกิโลเมตร  มีจำนวนประชากร(เดือนกันยายน 2550) รวมทั้งสิ้น  6,139 คน  จำนวนครัวเรือน 1,391 ครัวเรือน  ประชากรส่วนใหญ่ร้อยละ 90 นับถือศาสนาอิสลาม และร้อยละ 10 นับถือศาสนาพุทธและอื่น ๆ  ชุมชนเทศบาลตำบลปริกเป็นชุมชนที่มีพื้นฐานมาจากหมู่บ้านเดิมในรูปแบบของการปกครองในระบบหมู่บ้านที่มีความเป็นหมู่บ้านและชุมชนเก่าแก่และมีประวัติศาสตร์เป็นของตนเองเฉกเช่นพื้นที่อื่น ๆ ในจังหวัดสงขลามาอย่างยาวนาน  จากคำบอกกล่าวเล่าขานของท่านผู้เฒ่าหลายต่อหลายรุ่นที่ส่งผ่านกันมา เป็นที่เชื่อกันได้ว่า ปริกซึ่งเป็นชื่อของชุมชน หมู่บ้าน นั้น มาจากชื่อของต้นไม้ชนิดหนึ่งที่ชอบขึ้นตามที่ราบลุ่มริมลำห้วย หนอง คลอง บึง  หรือที่ชุ่มน้ำพอประมาณ      
            ปริก  ที่เป็นชื่อของชุมชนนี้ เป็นต้นไม้ที่มีลักษณะแตกต่างไปจาก ปริก ที่เรารู้จักกันโดยทั่วไปในไม้จำพวก ล้มลุก ประเภทเฟิร์น ที่มีใบบาง ๆ เล็ก ๆ โดยสิ้นเชิง  เพราะ  ต้นปริก ซึ่งเป็นที่มาของชื่อชุมชนหมู่บ้านแห่งนี้ เป็นต้นปริก ที่เป็นไม้เนื้ออ่อนค่อนข้างแข็งนิด ๆ เป็นสายพันธุ์ที่อยู่กึ่งกลางระหว่าง ปอ กับ พลา มีลำต้นสูงเต็มที่ประมาณ 15 เมตร  ในอดีตที่ผ่านมา จะมีต้นปริกดังกล่าวขึ้นอยู่เรียงรายตามสายคลอง และเป็นหย่อม ๆ ในพื้นที่ราบลุ่มของชุมชน  จนกระทั่งชาวบ้านในอดีตได้ตั้งชื่อ ชุมชน หมู่บ้าน แห่งนี้ว่า บ้านปริก    และมีสายคลองปริกไหลตัดผ่านกลาง หมู่บ้าน และชุมชน  ทำให้คนรุ่นหลังจึงได้เรียกชื่อตาม ๆ กันมา ว่า บ้านปริกบ้าง ตำบลปริกบ้าง  ปริก จึงมีความหมายและมีคุณค่าที่ถูกตั้งชื่อขึ้นตามลักษณะภูมินิเวศอันสะท้อนให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพืชพรรณ แมกไม้ที่ขึ้นอยู่ตามสายคลอง และที่ราบลุ่มของชุมชน  คนปริกมีความรักความผูกพันในชุมชนสูง มีความสัมพันธ์ในระดับเครือญาติ มีการร่วมมือกันและช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ร่วมแรงร่วมใจทำกิจกรรมต่าง ๆ ทางสังคมด้วยกันอยู่อย่างเนือง ๆ และต่อเนื่องเป็นรุ่น ๆ สืบทอดกันมา สิ่งเหล่านี้จึงกลายเป็นจุดเด่นของเราชาวปริก  
             
เทศบาลตำบลปริกได้จัดทำนโยบายด้านต่าง ๆ ขึ้นเป็นนโยบายสาธารณะที่ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการคิดร่วม และได้แปลงจากนโยบายไปสู่การปฎิบัติด้วยการที่ประชาชนก็เข้ามามีส่วนร่วมในการทำ และติดตาม ตรวจสอบด้วยเช่นกัน การบริหารจัดการและพัฒนาท้องถิ่นของเทศบาลตำบลปริกนับตั้งแต่ปลายปี พ.ศ. 2542 เป็นต้นมานั้น ไม่เพียงแต่จะทำหน้าที่ตามภารกิจตามบทบาทหน้าที่ทั่ว ๆ ไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่พึงมีตามกฎหมายกำหนดเท่านั้น แต่เทศบาลตำบลปริก ซึ่งเป็นองค์กรขนาดเล็กแห่งนี้ กลับทำหน้าที่ด้วยการทำงานเชิงรุก หรือเชิงยุทธศาสตร์หลายประการ โดยมีสาระสำคัญที่แตกต่างกันออกไปตามประเด็นเนื้อหา อาทิ เช่น การบริการสาธารณะ  การจัดการศึกษาที่เน้นรูปแบบการจัดการศึกษาเพื่อปวงชน ( Education for all & All for education)   การจัดการรัฐ- ชุมชนสวัสดิการ  เรื่องของงานทางด้านการสาธารณสุขและคุณภาพชีวิตที่มุ่งเน้นกระบวนการสร้างนำซ่อม โครงการสุขภาพอนามัยแม่และเด็ก การจัดการสุขภาวะแบบองค์รวม การพัฒนาสังคมแบบมีส่วนร่วม การพัฒนาแผนปฎิบัติการชุมชนด้านพลังงาน  รวมทั้งเรื่องของการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน ที่มีทั้งเรื่องของการดูแลเฝ้าระวังคุณภาพลำคลอง     เรื่องการจัดการขยะ  และการรณรงค์แก้ไขปัญหามลพิษ    เป็นต้น   การจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน
             
ในราว ๆ ประมาณกลางปี พ.ศ. 2543 เทศบาลตำบลปริกได้จัดทำโครงการด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมชุมชน ขึ้น โดยเริ่มจากศึกษาข้อมูลพื้นฐานทั่วไปในระดับชุมชน แล้วพบว่า ชุมชนส่วนใหญ่ที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบนั้นจะมีปริมาณขยะค่อนข้างมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากร กล่าวคือ เทศบาลจัดเก็บขยะในขณะนั้น ประมาณ 8,000 กิโลกรัม หรือ 8 ตันต่อวัน  เมื่อคิดเฉลี่ยจากจำนวนครัวเรือนที่มีอยู่ 1,100 ครัวเรือนเศษในขณะนั้น ก็จะพบว่ามีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ครัวเรือนละประมาณ 7.27 กิโลกรัมต่อวัน  เมื่อคิดเฉลี่ยจากจำนวนประชากรที่มีอยู่ ประมาณ 5,800 ในขณะนั้น ก็จะมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่คนละประมาณ 1.38 กิโลกรัมต่อวัน  เมื่อมีการเจาะลึกลงไปเป็นรายชุมชน กลับพบว่าชุมชนปริกตกจะมีปริมาณขยะในแต่ละวันมากที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับชุมชนอื่น ๆ  ดังนั้น เทศบาลตำบลปริก  ได้ประสานงานกับคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่  เพื่อให้คณะอาจารย์ นักวิจัยและนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษา สาขาการจัดการสิ่งแวดล้อม และสิ่งแวดล้อมศึกษา  ลงพื้นที่เพื่อที่จะนำเอาองค์ความรู้ศาสตร์ต่าง ๆ  ที่มีอยู่ในสถาบันอุดมศึกษาออกมาสู่สาธารณะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกสู่ชุมชน(community outreach)   เช่น การเข้าไปทำงานทางด้านการวิจัย และทำวิทยานิพนธ์  โดยมุ่งเน้นในเรื่องการทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติ (Action Research)  เป็นสำคัญ                         และต่อมาในปี พ.ศ. 2544 ได้มีนักศึกษาปริญญาโท  คณะการจัดการสิ่งแวดล้อม  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่  เข้ามาทำวิทยานิพนธ์ โดยได้ทำการวิจัยเชิงปฎิบัติ( Action Research)ด้านการจัดการขยะในชุมชน    โดยได้จัดกิจกรรมผสมผสานกันกับกิจกรรมของทางเทศบาล ที่มีอยู่เดิม เช่น การประชุมเชิงปฎิบัติการ จัดกลุ่มย่อยวิเคราะห์ปัญหา การเดินรณรงค์  เคาะประตูบ้าน การศึกษาดูงานด้านการจัดการขยะของหน่วยงานต่าง ๆ  ได้แก่ เทศบาลเมืองทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช และ เทศบาลเมืองท่าข้าม จ.สุราษฎร์ธานี  และกลับมาต่อยอดกิจกรรมด้วยการสุ่มตัวอย่างขยะภายในชุมชน ซึ่งจากการสุ่มตัวอย่างขยะที่เริ่มต้นขึ้นที่ชุมชนปริกตกอันเป็นผลจากการศึกษา วิจัยเรื่อง การส่งเสริมการมีส่วนร่วมและกระบวนการเรียนรู้ของประชาชนในการจัดการมูลฝอยชุมชน กรณีศึกษาชุมชนปริกตก เทศบาลตำบลปริก ของนางสาวปานกมล  พิสิฐอรรถกุล นั้น พบว่า ปริมาณขยะ และประเภทขยะที่มีมากที่สุด ได้แก่ขยะอินทรีย์  สูงถึงร้อยละ 64.17 ของปริมาณขยะประเภทอื่น ๆ  ทั้งหมด   รองลงมาเป็น ขยะประเภท กระดาษ  พลาสติก โลหะ แก้ว อะลูมิเนียม  ร้อยละ 32.62  ส่วนที่เหลือ เป็นขยะทั่วไปอื่น ๆ ที่ปะปนกัน มีอยู่เพียงส่วนน้อยคือร้อยละ 3.21 เท่านั้น  ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่มีความสอดคล้องและมีความใกล้เคียงกันกับผลจากการศึกษาวิจัยของ ผศ.ดร.โรจนัจฉริย์  ด่านสวัสสดิ์ คณบดีคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม(ปัจจุบัน)และคณะนักวิจัยจากคณะการจัดการสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เมื่อปี พ.ศ. 2546   ที่ได้เข้ามาทำการศึกษาวิจัยเรื่อง โครงการวิจัยและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน กรณีศึกษาของชุมชนสวนหม่อม  เทศบาลตำบลปริก  พบว่า องค์ประกอบของมูลฝอยในชุมชนสวนหม่อม เทศบาลตำบลปริก  มีขยะอินทรีย์สูงที่สุดถึงร้อยละ 61.6    ซึ่งมูลฝอยหรือเศษวัสดุเหลือใช้ดังกล่าวก็สามารถที่จะนำไปใช้ประโยชน์โดยการทำเป็นปุ๋ยหมัก หรือนำไปใช้เพื่อการเลี้ยงสัตว์ได้    และเศษวัสดุเหลือใช้หรือขยะประเภท กระดาษ พลาสติก ขวดแก้ว และโลหะ ที่สามารถขายให้กับรถรับซื้อของเก่า(ซาเล้ง) หรือร้านรับซื้อของเก่าโดยตรงได้ทันที มีจำนวนคิดเป็นร้อยละ 26.6   ซึ่งหากเราสามารถที่จะทำการแยกขยะส่วนนี้ออกทั้งหมดได้ จะทำให้ขยะมูลฝอยเศษวัสดุเหลือใช้ประเภทอื่น ๆ ที่ต้องส่งไปยังหลุมฝังกลบของเทศบาล เหลือเพียงร้อยละ  11.8  เท่านั้น    
               
จากข้อมูลดังกล่าวเหล่านี้ทำให้เป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญสำหรับเทศบาล ชาวบ้าน และชุมชน    ที่เห็นว่า การจัดการขยะนั้นจะต้องเป็นเรื่องของทุกคน  ไม่ใช่เป็นภาระหน้าที่ของเทศบาลแต่เพียงฝ่ายเดียวอีกต่อไป   ชาวบ้าน ชุมชน  สามารถเข้าใจถึงปัญหา  รู้จักมูลค่าของเศษวัสดุเหลือใช้ หรือ ขยะ   ได้เกิดการกระตุ้นความคิดของชุมชนในด้านการจัดการขยะขยายผลส่งผ่านไปในแต่ละพื้นที่ของเทศบาลตำบลปริก    

                    ต่อมาในปี พ.ศ.  2545  ก็ได้มีการจัดตั้งกลุ่มอาสาสมัครตรวจวัดคุณภาพน้ำคลองปริกและคลองอู่ตะเภา  มีสมาชิกที่มาจากชุมชนต่าง ๆ ในเขตเทศบาล  ได้แก่  ประชาชนจากชุมชนปริกตก  ตลาดใต้  ร้านใน  ปริกใต้   สวนหม่อม และเยาวชนโรงเรียนพัฒนาศาสตร์มูลนิธิ ซึ่งตั้งอยู่ในเขตชุมชนตลาดใต้     และในปี  2547  มีการแต่งตั้งคณะกรรมการเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  เป็นโครงการที่ทำร่วมกันระหว่างเทศบาลตำบลปริกกับสำนักงานสิ่งแวดล้อมภาค16 ประกอบด้วยสมาชิกที่มาจากชุมชนสวนหม่อม ชุมชนปริกใต้ ชุมชนตลาดปริก  ชุมชนทุ่งออก  ชุมชนตลาดใต้ และชุมชนร้านใน     จำนวน  17 คน ตลอดจนในที่สุดได้มีการจัดตั้งธนาคารขยะขึ้นที่ชุมชนตลาดใต้     โดยเริ่มต้นจากกลุ่มแกนนำในชุมชนที่เป็นผู้ใหญ่ ประกอบด้วยกรรมการชุมชน และต่อมาได้ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์และกระบวนการทำงาน     ที่มีครู เยาวชน และนักเรียนเป็นแกนนำ    ในปี  2548  จากกิจกรรมธนาคารขยะได้เกิดการขยายผลเกิดการกระตุ้นให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการขยะไปสู่การทำน้ำหมักชีวภาพ  การทำปุ๋ยหมัก และเทศบาลตำบลปริกได้มีโรงแยกขยะรองรับเพื่อการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากขยะอีกชั้นหนึ่ง         ทั้งนี้เพื่อที่จะขับเคลื่อนไปสู่ การจัดการขยะที่เริ่มต้นจากครัวเรือนซึ่งเป็นระดับปัจเจกในเบื้องต้นหรือต้นทาง  เชื่อมต่อกับระบบธนาคารขยะที่มีในชุมชนซึ่งเป็นระดับสาธารณะขั้นที่สองที่เรียกว่ากลางทาง ในที่สุดก็จะไปยังที่ปลายทางคือหลุมฝังกลบมูลฝอยของเทศบาลก็จะมีการโรงคัดแยกขยะอินทรีย์หรือขยะที่ย่อยสลายได้เพื่อไปทำเป็นปุ๋ยหมักอินทรีย์ การดำเนินงานในลักษณะเช่นนี้ เท่ากับเป็นการทำงานเชิงยุทธศาสตร์ อันนำไปสู่การจัดการขยะแบบฐานศูนย์(Zero Waste Management)ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต

                  เพราะผลจากการจัดกิจกรรมด้านการจัดการขยะ  ชุมชนในเขตเทศบาลปริกสามารถจัดการขยะได้ตั้งแต่ต้นทางไปถึงปลายทาง  กล่าวคือ                   1. กิจกรรมต้นทาง  คือ การรณรงค์ช่วยกันแยกขยะและนำขยะไปทำเป็นปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ สมาชิกบางรายจำหน่ายเศษวัสดุให้กับผู้รับซื้อของเก่าโดยตรง  และต่อยอดด้วยกิจกรรมหน้าบ้านน่ามอง   และการแปลงขยะไปเป็นพลังงาน ด้วยการทำแก๊ซชีวภาพจากขยะใช้ในครัวเรือน (กำลังอยู่ในช่วงของการทดลอง)                     2. กิจกรรมกลางทาง ได้แก่ กิจกรรมธนาคารขยะ ที่มี ครู เด็ก และเยาวชน รวมทั้งกรรมการชุมชน และแกนนำในชุมชนร่วมกันพัฒนารูปแบบกิจกรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อที่จะรองรับการจัดการขยะที่เชื่อมโยงกับเทศบาลและชุมชน ในระยะหลังก็ได้ต่อยอดกิจกรรมเป็น โครงการเยาวชนอาสาประชาเป็นสุข กำลังขยายผลเพื่อเคลื่อนงานด้านการจัดการขยะฐานศูนย์ต่อไป                 3. กิจกรรมปลายทาง เป็นหน้าที่ของเทศบาลซึ่งทำหน้าที่ในการเก็บขนไปยังหลุมฝังกลบ และให้คนงานช่วยกันคุ้ยเขี่ยและนำขยะเปียกหรือขยะอินทรีย์ที่ติดมากับขยะทั่วไปก่อนจะทิ้งลงหลุม โดยให้แยกออกมาและนำไปทำปุ๋ยหมักอีกขั้นตอนหนึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้าย  ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ เพื่อบริการให้กับชุมชนได้อีกทางหนึ่ง                            จากกิจกรรมต่าง ๆ มี่เกิดขึ้นทำให้ปริมาณขยะของแต่ละชุมชนในปัจจุบันลดน้อยลงจากในปี พ.ศ. 2542 - 2544  อย่างเห็นได้ชัด ตามที่ทางเทศบาลตำบลปริกเคยมีปริมาณขยะที่จะต้องขนถ่ายและนำไปทิ้งประมาณ   8  ตัน/วัน   แต่มาในปัจจุบันปี พ.ศ.  2550  เมื่อมีการจัดทำโครงการรณรงค์การคัดแยกขยะในบางส่วนรวมทั้งเรื่อง  การจัดการขยะจากต้นทาง  การเข้าสู่ระบบธนาคารขยะ การทำปุ๋ยหมัก และน้ำหมักชีวภาพ   ทำให้ปริมาณขยะลดลงเหลือเพียงประมาณไม่เกิน  3  ตัน/วัน  และประชาชนมีจิตสำนึกในการจัดการสิ่งแวดล้อมมากขึ้น พฤติกรมการทิ้งขยะของประชาชนก็เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น  ซึ่งเป็นความแตกต่างไปจากในอดีตซึ่งชาวบ้านมีแนวคิดว่าการจัดการสิ่งแวดล้อมนั้นเป็นภาระหน้าที่ของเทศบาล
                         
หลังจากที่ทุกชุมชนในเขตเทศบาลตำบลปริกได้ร่วมกันทำกิจกรรมการรณรงค์ด้านการจัดการขยะที่เทศบาลตำบลปริกเป็นเฟืองหลักในการขับเคลื่อนไปแล้วนั้น  ผลลัพธ์จากกิจกรรมที่ผ่านมาก็สามารถผลักดันให้เกิดกิจกรรมที่ต่อยอดขึ้นเป็นโครงการหน้าบ้านหน้ามอง ลักษณะของโครงการนี้จะเป็นโครงการที่ชาวบ้านเป็นผู้ที่มีส่วนร่วมในการช่วยกันดูแลความสะอาด ความเป็นระเบียบเรียบร้อยตามบ้านเรือนของตนเอง ได้ก่อให้เกิดความเป็นชุมชนที่สะอาด ปราศจากแหล่งเพาะพันธุ์หรือแพร่เชื้อโรค และบ้านเรือนไม่รุกล้ำที่สาธารณะ  ทำให้เกิดการพัฒนาชุมชนในเขตเทศบาลตำบลปริกให้น่าอยู่มากขึ้น  มีการเฝ้าระวังลำคลองด้วยการสุ่มตรวจวัดคุณภาพน้ำตามจุดต่าง ๆ ในสายคลองอู่ตะเภาและคลองปริกจำนวน  3  จุด ไ
หมายเลขบันทึก: 160066เขียนเมื่อ 18 มกราคม 2008 23:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 14:06 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ติดตามมาศึกษาเรื่องราวการจัดการสิ่งแวดล้อมกับท่านนายกฯ  ครับ  อิอิ

ถาทุกชุมชนสามารถทำได้แบบนี้ สิ่งแวดล้อมต้องดีขึ้นแน่นอนครับ

ขอเป็นกำลังใจ ในการพัฒนาต่อไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท