การประกันคุณภาพการศึกษา ต้องเริ่มต้นที่การประกันคุณภาพภายใน


การประกันคุณภาพการศึกษา ต้องเริ่มต้นที่การประกันคุณภาพภายใน

Educate/บทความการศึกษา  พิมพ์ครั้งแรก Thecityjournal ฉบับ 17-31july2007  
เรื่อง การประกันคุณภาพการศึกษา ต้องเริ่มที่การประกันคุณภาพภายใน
        ธนสาร  บัลลังก์ปัทมา
        
 หัวใจสำคัญของการปฏิรูปการศึกษาประการหนึ่ง คือ การประกันคุณภาพสถานศึกษา (Quality Assurance) ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพัฒนาคุณภาพการศึกษา ช่วยให้ผู้ปกครองนักเรียนและบุคคลทั่วไปเกิดความมั่นใจ (Assure) ว่าสถานศึกษาที่ผ่านการประเมินมีคุณภาพได้มาตรฐานตามที่ สมศ.กำหนด  ทำให้สถานศึกษาเอกชนหลายแห่งเมื่อผ่านการประเมินแล้ว จะขึ้นป้ายว่า “โรงเรียนผ่านการประเมินจาก สมศ.” เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ที่จะส่งบุตรหลานเข้าศึกษาต่อ
สถานศึกษาหลายแห่งจึงให้ความสำคัญกับการประกันคุณภาพมาก
 ปัญหาเรื่องการประกันคุณภาพการศึกษาที่พบกันมากคือ เกณฑ์การประเมินของแต่ละหน่วยงานไม่ตรงกัน ทำให้สถานศึกษาต้องจัดทำผลงาน เพื่อรองรับการประเมินหลายแบบ หลายแฟ้ม  เพื่ออำนวยความสะดวกให้ผู้ประเมิน  โดยมีความคิดว่าหากไม่อำนวยความสะดวกให้กรรมการประเมิน  จะทำให้ผลการประเมินออกมาไม่ดี  กลายเป็นภาระให้สถานศึกษาต้องจัดทำแฟ้มเพื่อรองรับการประเมินจำนวนมหาศาล  หลายครั้งที่สถานศึกษาต้องระดมครูมาเตรียมแฟ้ม ส่งผลให้ครูต้องทิ้งห้องเรียนซึ่งเป็นหน้าที่หลัก มาจัดทำแฟ้มเพื่อรองรับการประเมิน  ที่สำคัญคือเมื่อผ่านการประเมินแล้ว  สถานศึกษาไม่มีการนำผลการประเมินมาพัฒนาปรับปรุงคุณภาพ จนกว่าจะถึงการประเมินรอบใหม่จึงเตรียมตัวจัดทำแฟ้มเพื่อรองรับการประเมิน การเป็นวงจรการประเมินที่เริ่มจากสถานศึกษาทำแฟ้มช่วงใกล้การประเมิน โดยทิ้งงานสอน  เมื่อประเมินเสร็จถือว่าเสร็จสิ้นการประเมิน รอการประเมินรอบใหม่ จึงเริ่มทำแฟ้มกันใหม่ต่อเนื่องหมุนเวียนกัน

การประกันคุณภาพภายใน : ก้าวแรกการประกันคุณภาพการศึกษา
 การประเมินคุณภาพการศึกษา หากสถานศึกษามีระบบการประกันคุณภาพภายในที่ดีแล้ว จะช่วยให้สถานศึกษาแห่งนั้นมีความพร้อมรับการประเมินได้ตลอดเวลา  เพราะสถานศึกษาหลายแห่งใช้ระบบการประกันคุณภาพภายในโดยการวิเคราะห์มาตรฐาน สมศ. และมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานมาบูรณาการกับมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา ในลักษณะ 14+++  คือมาตรฐานใหญ่ ของสมศ. 14 ข้อเป็นพื้น ตามด้วยมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานข้อที่ไม่ตรงกับมาตรฐาน สมศ. แล้วเพิ่มมาตรฐานที่สถานศึกษากำหนดเพิ่มขึ้นตามวิสัยทัศน์สถานศึกษานั้นแล้วตามด้วยมาตรฐานอื่น ๆ ที่มีมาเป็นครั้งคราว
 แนวคิดวงจรเดมมิ่ง PDCA (Plan-Do-Check-Act) สามารถนำมาใช้ขับเคลื่อนให้การประกันคุณภาพภายในประสบความสำเร็จเกิดผลดี ซึ่งเป็นวงจรที่แนะนำให้สถานศึกษาที่เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อรองรับการกระจายอำนาจของกระทรวงศึกษาธิการทั้ง 600 แห่ง ใช้ตรวจสอบการทำงาน
 วงจร PDCA มีแนวทาง ดังนี้
 1. Plan หรือ การวางแผน  โรงเรียนต้องรู้สภาพปัญหา หาสาเหตุของปัญหา มีแผนการดำเนินงานประกันคุณภาพที่ชัดเจน สามารถปฏิบัติได้จริง อิงมาตรฐานระดับชาติและระดับเขตพื้นที่  ใช้กระบวนการริหารโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน (SBM : School-Based Management) มีกระจายอำนาจ เปิดโอกาสให้บุคลากรทุกฝ่ายและชุมชนมีส่วนร่วม เน้นการร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมรับผิดชอบ (มิใช่รับแต่ผิด ส่วนชอบให้ผู้บริหารหรือหัวหน้าโครงการ)
2. Do หรือ การปฏิบัติ เป็นการนำแผนไปสู่การปฏิบัติ ประชุมผู้เกี่ยวข้อง กำหนดปฏิทินปฏิบัติงาน ดำเนินงานตามแผน
3. Check หรือ การตรวจสอบติดตาม  เป็นการตรวจสอบติดตามผลระหว่างการดำเนินงาน มีการนิเทศ กำกับ เป็นระยะ และมีการสรุปรายงาน
4. Act หรือ การพัฒนา/ปรับปรุง เป็นการนำผลการประเมินมาปรับปรุงเมื่อพบข้อบกพร่อง รวมถึงการพัฒนาให้ดีขึ้นเมื่อผลการประเมินอยู่ในระดับดีแล้ว
เมื่อปฏิบัติครบวงจร PDCA แล้ว สถานศึกษาสามารถที่จะปฏิบัติตามวงจร PDCA ต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ ซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ได้ ตามแนวทางหลักสูตรผู้นำการเปลี่ยนแปลงแนะนำไว้ สถานศึกษาที่มีความพร้อมในเรื่องการประกันคุณภาพภายในแล้ว ถือได้ว่าเป็นสถานศึกาที่มีความพร้อมในการรับการประเมิน
 
ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา
 ระบบการประกันคุณภาพการศึกษา มีกระบวนการดำเนินการที่สัมพันธ์กัน 3 ประการ คือ
 1. การพัฒนาคุณภาพ เป็นการดำเนินงานเพื่อพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาให้บรรลุถึงมาตรฐานการศึกษาที่กำหนดไว้ หัวใจสำคัญ คือ การสร้างจิตสำนึกให้ทุกคนตระหนักถึงความจำเป็นของการทำงานกลุ่ม ทำงานอย่างมีระบบ และทุกคนต้องถือเป็นหน้าที่ มีการปรับปรุงการทำงานอย่างต่อเนื่อง  มีข้อมูลสารสนเทศที่เป็นระบบ
 2. การติดตามตรวจสอบคุณภาพ เป็นการดำเนินงานเพื่อช่วยเหลือ สนับสนุน กำกับติดตาม และยืนยันการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา การติดตาม นิเทศ ตรวจสอบ จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาและหน่วยงานต้นสังกัด
 3. การประเมินและรับรองคุณภาพ โดยเริ่มจากการประกันคุณภาพภายในของสถานศึกษา, การติดตามตรวจสอบคุณภาพโดยสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาหรือหน่วยงานต้นสังกัด และการประเมินภายนอก
 การประกันคุณภาพภายใน นับว่ามีความสำคัญ เป็นก้าวแรกสู่การเป็นสถานศึกษาที่มีคุณภาพ ผ่านการประเมินในระดับดี ดีมาก ทั้งนี้ต้องระลึกไว้เสมอว่า การผ่านมาตรฐานในระดับพอใช้ หมายถึง การผ่านมาตรฐานขั้นต่ำที่ยอมรับได้เท่านั้น สถานศึกษาที่จะเป็นผู้นำทางการศึกษาจึงควรผ่านการประเมิน ในระดับดี หรือ ดีมาก จึงสะท้อนคุณภาพการศึกษาได้ชัดเจน  และการที่รักษามาตรฐานการศึกษาไว้ได้ ต้องอาศัยกระบวนการทำงานและวงจรปฏิบัติงาน PDCA ที่ต่อเนื่อง เพราะจะช่วยให้สถานศึกษามีความพร้อมในการรับการประเมินจากหน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ อยู่ตลอดเวลา มิใช่ทำเพื่อรองรับการประเมิน แล้วปล่อยทิ้งไว้ จนกว่าจะมีการประเมินครั้งใหม่  ///
******************

หมายเลขบันทึก: 159146เขียนเมื่อ 14 มกราคม 2008 13:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท