เมื่อถึงยุคองค์กรการเงินชุมชน (2): ผลัดผ้าขาวม้าผิดตรงไหน ?


การรวมกองทุนก็จะช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้างโดยการควบคุมวงเงินกู้ แต่ถือว่าเป็นการแก้ที่ไม่ตรงนักเพราะเป็นการจัดการด้านอุปทาน ทั้งๆที่ปัญหาจริงๆมาจากด้านอุปสงค์ คือ ความต้องการที่ไม่จำกัด

อย่างไรก็ดี   ความต้องการสินเชื่อในชนบทยังคงมีอยู่  และมีมากขึ้นในยุคบริโภคนิยม  ทั้งสินเชื่อนอกระบบแบบเดิม  สินเชื่อในระบบ และสินเชื่อองค์กรการเงินชุมชน  จึงยังอยู่กันพร้อมหน้า เพื่อทำหน้าที่เป็นแหล่งสินเชื่อให้แก่ชาวบ้าน   แถมกองทุนการเงินชุมชนยังมีอยู่หลายกองทุน  

มีข้อคิดเห็นว่า การมีหลายกองทุนทำให้เกิดการกู้ยืมแบบผลัดผ้าขาวม้า    ตัวเองกลับเห็นว่า   ถ้าเป็นการผลัดผ้าขาวม้าจริงๆ ก็ไม่เห็นเป็นไร  เช่น  ยืมกองทุน ก.มา 1000 บาท   เสร็จแล้วไปยืมกองทุน ข. 1000 บาทมาใช้คืนกองทุน ก.  ผลก็คือ  ชาวบ้านก็ยังเป็นหนี้ 1000 บาท (บวกดอกเบี้ย) เท่าเดิม   ถ้าการใช้เงินเป็นลักษณะนี้  ไม่ได้เพิ่มปริมาณเงินกู้  ก็ถือว่า  การมีหลายกองทุนช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นในการบริหารจัดการเงินของสมาชิก     หากมีการรวมกองทุน ก็จะมีผลด้านลบเสียมากกว่า 

การมีหลายกองทุนจะเกิดปัญหาขึ้น หากมีผลเพิ่มอุปทานเงินแล้วทำให้ดอกเบี้ยที่แท้จริงถูกลง   เกิดผลลดแรงจูงใจในการปลดหนี้เดิม  หรือเกิดแรงจูงใจในการสร้างหนี้ใหม่โดยยืมมากขึ้น  เช่น ยืม  2000 บาทเพื่อใช้คืนกองทุน ก.  ส่วนเกินอีก 1000 บาทเป็นการกู้เพิ่ม    

หากเป็นเช่นนี้  การรวมกองทุนก็จะช่วยบรรเทาปัญหาได้บ้างโดยการควบคุมวงเงินกู้  แต่ถือว่าเป็นการแก้ที่ไม่ตรงนักเพราะเป็นการจัดการด้านอุปทาน  ทั้งๆที่ปัญหาจริงๆมาจากด้านอุปสงค์  คือ  ความต้องการที่ไม่จำกัด 

คราวนี้   ถ้าสมาชิกคนหนึ่ง  มีพฤติกรรมแบบแรกคือกู้เท่าเดิม  แต่สมาชิกอีกคนหนึ่งมีพฤติกรรมแบบที่สอง คือ กู้มากขึ้น   การรวมกองทุน เพื่อแก้พฤติกรรมแบบคนที่สอง (แต่แก้ไม่ตรงจุด)  ก็จะส่งผลเสียต่อสมาชิกคนแรกไปด้วย 

ดังนั้น  หากต้องการรวมกองทุนเพื่อแก้ปัญหาผลัดผ้าขาวม้า  จึงเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยเห็นด้วยเท่าไร  ยกเว้นว่าจะมีประโยชน์ด้านอื่นๆ 

และตราบใดที่แหล่งสินเชื่อนอกระบบแบบเดิมยังอยู่   แหล่งสินเชื่อในระบบที่อุดหนุนดอกเบี้ยต่ำยังอยู่   การรวมกองทุนการเงินชุมชน ก็คงไม่ได้หยุดพฤติกรรมผลัดผ้าขาวม้าอยู่ดี   เพียงแค่ว่ามีผ้าข้าวม้าให้ผลัดน้อยผืนลงไปเท่านั้น

  ....เขียนมาเพื่อแลกเปลี่ยนกับท่านผู้มีประสบการณ์ตรง  และเพื่อตรวจสอบว่าตัวเองเข้าใจถูกต้องหรือไม่....     

 

หมายเลขบันทึก: 158612เขียนเมื่อ 10 มกราคม 2008 23:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 22:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (15)

อาจารย์ครับ

  • การแก้ปัญหาหนี้สินทั้งสองกรณีนั้นก็สามารถทำได้โดยเฉพาะท่านที่มีส่วนในการรับผิดชอบบริหารการเงิน ทั้งสองแบบมีข้อดีข้อเสียดังอาจารย์กล่าว
  • แต่ในมุมมองอีกด้านหนึ่งของคนทำงานพัฒนาชนบทที่ใกล้ชิดเกษตรกร(เฉพาะบางพื้นที่เท่านั้น) เห็นว่าต้องมีการแก้ปัญหาควบคู่ไปกับการแก้ปัญหาทางการบริหารการเงินครับ ไปที่ต้นเหตุของการเป็นหนี้
  • มากมายสารพัดสาเหตุ ทั้งจากการลงทุนทางการเกษตรแล้วล้มเหลว  และล้มเหลวด้วยสารพัดปัจจัย นี่คือความเสี่ยงทางการผลิตนั่นเอง ทั้งล้มเหลวด้วยการใช้เงินกู้ผิดประเภท เช่นขอกู้ไปทำการเพาะปลูกแต่ไปซื้อมอเตอร์ไซด์ให้ลูกชายลูกสาว  และกู้เพื่อเอามาหมุนให้ลูกเป็นค่าเล่าเรียน
  • การแก้ปัญหาหนี้สินที่ต้นเหตุนี้เกษตรกรก็ดิ้นกันเองตามความคิด และการตัดสินใจของเขา ตามความรู้ความสามารถ ซึ่งก็เปะปะพอสมควร รัฐจะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ผมยังมองไม่เห็นทางในระดับครัวเรือนนะครับนอกจากโครงการพิเศษ นอกจากองค์กรพัฒนาเอกชน นอกจากชุมชนนั้นเป็นชุมชนพิเศษที่มีผู้นำเจ๋งๆ ซึ่งก็ไท่ได้มีมากมายในประเทศของเรา
  • ในทัศนะของรัฐก็ทำได้แค่บริหารการเงิน จัดตั้งนั่น ปรับตัวนี้ แต่ไม่สามารถลงลึกระดับบุคคลดังกล่าวได้ เพราะทำไม่ไหว จะระดมเกษตรตำบล พัฒนากรก็ได้ระดับหนึ่ง
  • อาจจะถามว่าจะแก้อย่างไรก่อน แล้วค่อยถามว่าใครทำ ทำอย่างไร
  • ในทัศนะผมคิดว่าต้องแก้โดยปรับวิสัยทัศน์ของเกษตรกร(ซึ่งยาก แต่ต้องทำ) ผมแบ่งเป็นสองกลุ่มใหญ่ๆ ซึ่งสัมพันธ์กัน คือ ความล้มเหลวทางการผลิต ต้องให้เกษตรกรบริหารความเสี่ยง ลดความเสี่ยงลงมา โดยการสร้างความรู้ความเข้าใจ สร้างสำนึก แม้ว่าจะทำในเชิงปริมาณยาก แต่การเริ่มต้นก็จะช่วยให้เกิดการก้าวไปข้างหน้าทีละขั้นตอนได้
  • อีกเรื่องคือลดทัศนคติการบริโภคเกินตัว  คือการตกอยู่ภายใต้อิทธิพลลัทธิการโฆษณากระตุ้นให้บริโภคมากขึ้นของกลุ่มธุรกิจต่างๆ เพราะระบบสื่อสารมันมีอิทธิพลมากเหลือเกิน  นี่คือจุดอ่อนของระบอบประช่าธิปตไยเสรีนิยม ที่ใครต่อใครอ้างสิทธิ์ประชาธิปไตย และเสรีภาพส่วนบุคคล แต่สิทธิและเสรีภาพนี้ไปสร้างลัทธิบริโภคเกินตัวของเกษตรกรอย่างทั่วถึงกันหมด  เหล่านี้คือบ่อเกิดการเป็นหนี้สิน
  • การแก้ไขนั้นในส่วนหลังนี้รัฐต้องก้าวเข้ามาจัดการอย่างใดอย่างหนึ่งมิให้สิทธิประชาธิปไตยและเสรีภาพส่วนบุคคลนั้นไปสร้างลัทธิการบริโภคเกินตัว  ที่ผ่านมาบอกว่า ก็เป็นเรื่องของผู้บริโภคจะใช้วุฒิภาวะมาพิจารณาเอง  "ผมมีสิทธิที่จะเสนอขายสินค้า คุณมีสิทธิที่จะซื้อหรือไม่ซื้อ" เราอยู่กันอย่างนี้ แต่อย่างนี้คือปัญหาที่เราเห็น  ก็ต้องช่วยกันทั้งสองส่วนคือ ส่วนที่เป็น "สำนึกของเกษตรกร" และ"ควบคุมฝ่ายธุรกิจ"
  • ในส่วนแรก คือสร้างสำนึกเกษตรกรและเพิ่มพูนความรู้ความเข้าใจการเสี่ยงทางการผลิตนั้น ผมคิดว่า รับต้องปรับกระบวนการทำงานของข้าราชการในระดับจังหวัด อำเภอใหม่หมด (เรื่องใหญ่) ที่ผ่านมามันไม่มีพลัง ต่างคนต่างทำ และต้นทุนการทำก็สูง เพราะข้าราชการจะออกสนามแต่ละทีนั้นต้นทุนสูง ไหนจะค่าน้ำมันรถ ค่าเบี้ยเลี้ยงพนักงานขับรถ เบี้ยเลี้ยงข้าราชการ ระเบียบราชการ ไม่มีอะไรสักอย่างก็ออกไม่ได้  มันไม่ทันการแล้วการบริหารราชการเพื่อพัฒนาชนบท ระบบราชการส่วนนี้มิได้ออกแบบมาเพื่อกระบวนการทำงานพัฒนาชนบทในแบบปัจจุบันเสียแล้ว   เป็นไปได้ไหมที่จะปรับปรุงระบบราชการใหม่ ให้เป็นแบบจัดทีมที่เหมาะสมออกไปพร้อมๆกันตามเงื่อนไขฤดูกาลและลักษณะปัญหาเฉพาะ เช่นเป็น mobile unit ที่มีเกษตรกรตำบล พัฒนากร อนามัย ฯลฯ ออกไปคล้ายๆอำเภอเคลื่อนที่ แต่ขนาดเล็กลงมา คล่องตัวกว่า และออกสนามบ่อยมากขึ้น เข้าไปถึงจุดปัญหาโดยเร็วและพร้อมที่จะแก้ไข 
  • แนวคิดนี้ก็ไม่ง่าย  แต่ก็มีอีกแนวคิดคือ ย่อลงไปสู่ระดับตำบลโดยพึ่ง อบต. (ในอนาคตอันยาวไกล) ที่จะสร้างทีมแบบนี้ขึ้นมาแล้วออกไปสนามโดยเฉพาะในช่วงการผลิตตามฤดูกาล
  • แม้ว่าปัจจุบันหลายหน่วยงานจะสร้างตัวแทนในระดับหมู่บ้านขึ้นมาบ้าง แต่ระดับการแก้ปัญหามันทำได้แค่พื้นฐานเท่านั้น ซึ่งก็น้อยรายที่จะ  work
  • คิดได้ แต่ทำยากครับอาจารย์ เพราะเมื่อพูดถึง scale แล้วมันมหาศาล ภายใต้เงื่อนไขระบบราชการนั้น ถึงเวลาที่จะปรับรูปแบบการทำงาน ระบบ ระเบียบเพื่อการทำงานพัฒนาชนบทใหม่ได้แล้ว 
  • มิเช่นนั้น ไม่ทันกับการเคลื่อนตัวของสังคมครับ 

ความต้องการที่ไม่จำกัด

ฟังแล้วตกใจ แล้วคำว่า เศรษฐกิจพอเพียง ไปไหนคะ

  • สวัสดีครับ อ.ปัทมาวดี
  • ในทุกๆ ชุมชนเป็นไปในลักษณะผลัดผ้าขาวม้าจริงๆ ครับ
  • ปัญหามันอยู่ที่การกู้เพิ่ม/ใช้เงินผิดวัตถุประสงค์ ก็เลยทำให้เกิดเป็นดินพอกหางหมูที่ยากจะสลัดออกได้หมด
  • แม้จะใส่เงินลงไปแล้วแก้ได้บ้าง  แต่ก็จะกลับมาเป็นอีก
  • และเห็นด้วยกับที่พี่บางทรายเสนอครับ   แต่ว่าบางอย่างก็คงจะปรับได้ยากมากๆๆ..
  • ขอบพระคุณมากครับ

 

  • ท่านบางทรายท่านถนัดเรื่องในชนบท  ผมถนัดเรื่องในชุมชนเมือง  รวมทั้งเคยก่อตั้งและร่วมบริหารสหกรณ์ออมทรัพย์ฯมา
  • การรวมกองทุนก็มีข้อดีข้อเสีย  แต่ยังไงๆก็ไม่สามารถรวมเอากองทุนนอกระบบเข้ามาได้  รวมทั้งคณะกรรมการและวัตถุประสงค์ในการตั้งแต่ละกองทุนแตกต่างกัน  ทำให้การรวมกองทุนมีปัญหามากๆ  และเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
  • ไอ้ผลัดผ้าขาวม้าก็เรื่องนึง  แต่ไอ้นุ่งผ้าขาวม้าหลายผืนก็อีกเรื่องนึง  การรวมกองทุนอาจแก้ปัญหานุ่งผ้าขาวม้าหลายผืนได้  อิอิ
  • แต่ถ้าดำเนินชีวิตด้วยแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงจริงๆน่าจะเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ  จะลดปัญหาลงมากครับ  แต่ปัญหาก็คือ  รู้ แต่ไม่ทำ  ทำอย่างไรที่จะให้คนไทยดำเนินชีวิตตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเป็นโจทย์ที่น่าสนใจมาก
  • ทางเทศบาลนครพิษณุโลกสนใจอยากทดลองทำเรื่องนี้ในชุมชนเมืองดู  อิอิ

 

  • ปัญหาที่ค้างคาใจครับ ทำธุรกิจชุมชน โดยไม่มีเงินเป็นต้นทุนได้หรือไม่
  • แต่ปัญหานี้ เคยทำให้ผมเกือบตกวิชากฎหมายมาแล้ว ปัญหานั้นคือ "การสมัครเข้ารับการเลือกตั้ง ไม่ต้องใช้เงินได้หรือไม่"

ความเห็นของทุกๆท่าน  ทำให้ดิฉันได้รู้ ได้คิด ได้เข้าใจมากขึ้น  และทำให้มีกำลังใจในการเขียนบล็อกมากขึ้น

ขอบคุณจริงๆค่ะ

สวัสดีค่ะคุณบางทราย

เป็นการแบ่งปันข้อมูลที่มีประโยชน์มากๆค่ะ  ดิฉันนับถือประสบการณ์ของคุณบางทรายจริงๆ

เห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะว่า  ถึงที่สุด ปัญหา และเป้าหมายที่แท้จริงของงานพัฒนา ลงไปลึกและซับซ้อนหลายมิติ

คนที่ทำงานด้านองค์กรการเงินชุมชน  ถ้าติดกับดักอยู่กับความสำเร็จของยอดเงินกองทุน  การไม่มีหนี้ค้าง (เพราะที่แท้ผลัดผ้าขาวม้า)  การทำให้ชาวบ้านมีเงินกินมีเงินใช้  .... ก็จบกันพอดี.... (แต่ก็เห็น หลายที่เขาใช้ประเด็นเหล่านี้เป็นตัวชี้วัด)

แก้ปัญหาความเสี่ยง

แก้ปัญหาความคิด (เกษตรกร ข้าราชการ พ่อค้า..)

แก้ป้ญหาความเหลื่อมล้ำ

แก้ปัญหาระบบราชการ (รวมระบบงบประมาณ)

เหล่านี้จึงจะเขยิบเข้าใกล้ความสำเร็จที่แท้จริง  ต้องตีทุกจุด ใช่ไหมคะ

คุณ sasinanda  สวัสดีปีใหม่ค่ะ

การแก้ปัญหาความคิด   ทางหนึ่งคือ ใส่ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเข้าไปในความคิดของผู้คน...อย่างที่คุณ sasinanda เสนอมาใช่เลยค่ะ.... ถ้าจะให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น (และอาจจะเข้าใจง่ายเพราะอยู่บนฐานวัฒนธรรม) ก็คือ หลักศาสนา (ไม่ว่าศาสนาใดๆ)

ลด ละ เลิกอบายมุข คงจะเป็นก้าวแรกค่ะ

 

 

สวัสดีปีใหม่ค่ะ คุณสิงห์ป่าสัก

พวกเราเห็นไปในทิศทางเดียวกัน  แต่จะ "ทำอย่างไร"

เท่าที่เห็น หลายชุมชนพยายามทำกันอยู่  แต่ก็อาจแก้ได้แค่บางจุด

คือ แก้เรื่องของ "ความคิด" ชาวบ้าน (แต่ยังไม่สามารถแตะต้องความคิดข้าราชการ  พ่อค้า)

แต่งานนี้  "คำตอบไม่ได้อยู่ที่หมู่บ้านอย่างเดียว"

ความเสี่ยง  ความเหลื่อมล้ำ ระบบราชการที่ไม่เอื้อ ....ยังต้องหาทางออกอยู่ค่ะ

สวัสดีค่ะคุณหมอ คนชอบวิ่งและชอบหัวเราะ (ต้องสุขภาพดีแน่ๆ ^-^ )

  • "นุ่งผ้าขาวม้าหลายผืน" ศัพท์นี้ดีค่ะ  จะไปเพิ่มในพจนานุกรมว่าด้วยองค์กรการเงินชุมชนนะคะ
  • ตัวเองก็เห็นว่า  "การรวมกองทุนเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ"  แต่เวลาอยู่ในวงสนทนา ก็ไม่กล้าแสดงความเห็นมาก เพราะคนอื่นเขารู้และอยู่ในภาคปฏิบัติมากกว่าเรา    พยายามดูอยู่เหมือนกันว่า  รวมกองทุนจะมีประโยชน์ด้านอื่นหรือไม่  
  • วันที่ 14 นี้จะลองเสนอ สกว.เรื่องการแปลงแผนที่เดินทางเศรษฐกิจพอเพียงสู่การปฏิบัติ   แน่นอนค่ะว่า ถ้าได้รับไฟเขียว ก็จะวิ่งไปที่พิษณุโลกเป็นที่แรกๆ .... ขอบคุณคุณหมอมากค่ะ

สวัสดีค่ะอาจารย์เอก

แนะนำว่า  เวลาตอบข้อสอบ ต้องตั้งกรอบไว้ก่อน

เช่น ในการสอบวิชากฎหมาย ก็ต้องขึ้นว่า  "ถ้ามองในด้านกฎหมาย...."  แล้วจึงวิเคราะห์  เพื่อเรียกคะแนนพื้นฐาน    ต่อจากนั้น  ค่อยเสนอมุมมองอื่นนอกกรอบ เพื่อเรียกคะแนนโบนัส (ถ้าผู้ตรวจยอมรับความคิดนอกกรอบ).....อิอิ....

ต่อคำถามที่ว่า ทำธุรกิจชุมชน โดยไม่ใช้เงินเป็นทุนได้หรือไม่   จะตอบว่า

  • (คำตอบรอบพื้นฐาน)  "ถ้ามองในเชิงเศรษฐศาสตร์   ปัจจัยการผลิตที่แท้จริงคือ  ที่ดิน แรงงาน ทุนทางกายภาพ(และวัตถุดิบ) และการเป็นผู้ประกอบการ   ดังนั้น หากท่านมีปัจจัยเหล่านี้อยู่ในมือ   ไม่ต้องใช้เงินก็ได้
  • ในอดีต  หากไม่มีแรงงาน  ก็ขอยืมแรงงานเพื่อนบ้านก่อน  หากไม่มีที่ดิน  ก็ขอเช่าโดยค่อยจ่ายค่าเช่าเป็นผลผลิต  ปัจจัยการผลิตก็ใช้วัตถุดิบในชุมชน  จึงไม่จำเป็นต้องใช้เงิน
  • ทฤษฎีเศรษฐศาสตร์บอกว่า  การยืมเงินไม่ใช่ปัญหา ถ้ายืมมาใช้ในการผลิตที่ทำให้ได้ผลตอบแทนพอที่จะคืนทุนแล้วมีเหลือสำหรับบริโภคต่อไป"
  • (คำตอบรอบโบนัส)  "แต่ในสังคมเงินตราในปัจจุบัน   คุณอาจไม่สามารถขอยืมแรงงานเพื่อนได้อีกต่อไป  ที่ดินก็..............."
  • ดังนั้น  การจะใช้เงินหรือไม่  ขึ้นอยู่กับว่า คุณเลือกผลิตอะไร  ผลิตแล้วเหลือขาย ค่อยๆสะสมเงินเพื่อให้มีความยืดหยุ่นในการผลิตรอบต่อไป
  • การใช้เงินคงไม่ใช่ปัญหา ถ้าเป็นเงินของคุณเอง  แต่การทำธุรกิจชุมชน เป็นเรื่องของการลงทุนซึ่งจะมีความเสี่ยง  จึงต้องวางแผนอย่างรอบคอบ..."
  • แหม อยากไปเรียน ป.ตรีใหม่จริงๆ เลยครับ แต่ผมก็จะถูกว่าอีกว่า ตอบไม่ตรงคำถาม...ด้วยว่า ยังไม่มีคำว่าทำไมต่อท้าย ดังนั้น คำตอบแรกที่ควรจะเป็นคือ ได้ หรือ ไม่ได้ :-)
  • เท่าที่สังเกต ลักษณะการตอบของผู้ผ่านประสบการณ์ความรู้และชีวิตมามาก จะตอบแบบกลางๆแบบนั้นนะครับ :-)
  • เมื่อวันก่อนมีเภสัชกรมาคุยด้วย  เพราะเขาจะทำการศึกษาวิจัยเพื่อแก้โจทย์การใช้ยาที่ไม่เหมาะสมของสังคมไทย
  • ชอบใจมากเพราะเขามองทะลุถึงการปฏิบัติ  ไม่ใช่ศึกษาแค่ให้รู้เท่านั้น
  • เห็นแบ่งเป็น 3 ระยะ 
  • ระยะแรกตีโจทย์  ว่าปัจจุบันสถานะการณ์เป็นอย่างไร  ( ต้องหาตัวชี้วัดไว้ด้วย )  ชาวบ้านคิดอย่างไร  จะพูดคุยอย่างไรให้ทราบมุมมองของชาวบ้าน  ถ้าชาวบ้านเข้าใจและเห็นว่าการใช้ยาในปัจจุบันไม่เหมาะสม  เป็นปัญหาจริง  ก็ไปต่อระยะที่สอง
  • ระยะที่สอง  เป็นการตีโจทย์ว่า  แล้วจะหาทางพูดคุยกับประชาชนอย่างไร  ให้ชาวบ้านช่วยคิดว่า  เมื่อทราบปัญหาแล้ว  ควรจะทำอย่างไรเพื่อแก้ปัญหานี้  ไม่ใช่คิดแทนชาวบ้านแล้วเอาไปให้เขาทำ  แล้วลองปฏิบัติ   ติดตามผลว่าเป็นอย่างไร  ได้ผลไหม  ควรแก้ไขกระบวนการอย่างไร  จนได้ข้อสรุปถึงกระบวนการหรือวิธีการ  และมั่นใจว่าจะยั่งยืนด้วย 
  • ระยะที่สาม  ถ้าได้ผล  จะขยายผลอย่างไร 
  • ที่ผ่านมา  ไม่ค่อยได้ทำจนครบรอบ  ทำแยกส่วน  หาปัญหาพอทราบปัญหาก็จบ  บางทีก็เสนอวิธีการไว้  แต่ไม่รู้ว่าจะได้ผลรึเปล่า
  • ไปศึกษา Best Practice  ถอดบทเรียน  ถอดออกบ้าง  ไม่ออกบ้าง  แต่ก็ไม่รู้ว่าจะขยายผลอย่างไร  เพราะไม่ได้เข้าไปร่วมคิดร่วมทำตั้งแต่แรก  ฉาบฉวยเกินไป  ไม่รู้จัก  ไม่เข้าใจชาวบ้านจริงๆ
  • คราวนี้เลยชวนให้ไปคลุกกับชาวบ้านโดยมีเทศบาลเป็นตัวกลางเชื่อมลงไปในชุมชน  สนุกดี  นักวิชาการ  องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น  และชาวบ้านช่วยกันคิด  ช่วยกันแก้ปัญหา   แต่ไม่รู้โครงการจะผ่านรึเปล่า ?  อิอิ 

 

ถ้าชาวบ้านตั้งกองทุนเองจะมีกี่กองก็ไม่เป็นไร ปัญหาคือ นักการเมืองและรัฐบาลชอบทำเรื่องใหม่ของตนเองโดยไม่ดูภาพรวม ทำให้เกิดหนี้ล้นพ้นตัวจากความต้องการเทียมในสิทธิที่พึงได้
เข้าใจว่าเป็นความพยายามจัดการกองทุนให้สมดุลที่เรียกว่าบูรณาการ คนที่คิดจะทำก็ทำกันไป นักการเมืองมีหน้าที่สร้างปัญหาใหม่ก็สร้างกันไป ทั้งกองทุนศก.พอเพียงของปชป. กองทุน3ล้านของพรรคต่างๆ

ด้วยระบบงบประมาณที่เป็นอยู่ สามารถยุบหน่วยจัดการภูมิภาคโดยไม่เกิดผลเสียต่อประชาชนเท่าใดนัก ระบบตรงนี้มีไว้เพื่อทำหน้าที่กระตุ้นศก.จากรายจ่ายภาครัฐเท่านั้นเอง(จริงๆ)

เรื่องเหล่านี้เหมือนการว่ายวนอยู่ในบ่อถ้าจะแก้ไข

ผมมองเป็นเรื่องกรรมและวิบาก

ใครทำอะไรได้อย่างนั้น

คนภายนอก หมายถึงรัฐบาลหรือใครที่อยากช่วย

ควรจริงจังเรื่องสวัสดิการ การศึกษา และโอกาศการเข้าถึงทรัพยากร

แต่อย่าทำเหมือนคนเหล่านี้เป็น.....ขอส่วนบุญ 

ถ้าเขาอยากลืมตาอ้าบากเขาต้องทำและพึ่งตัวเอง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท