ถอดรหัสทุกข์ 3 ปี"สึนามิ"..!!! แผลร่างกาย-จิตใจ ไร้การเยียวยา (สกู๊ปแนวหน้า)


การเยียวยา
"สึนามิ"

ทิ้งไว้แต่ความเจ็บปวดของผู้ต้องสูญเสีย แม้ว่าเวลาความโศกเศร้าจะผ่านมา 3 ปีแล้ว แต่ความทรงจำอันเจ็บปวดยังฝั่งอยู่ในหัวใจชาวบ้าน บางส่วนยังมีปัญหาสุขภาพ สาเหตุการตาย รวมทั้งอุบัติการณ์โรคใหม่ ให้กับผู้ที่ประสบกับเหตุการณ์สึนามิ...!!!

กลุ่มที่ 1 กลุ่มอาการเจ็บป่วยภายนอกที่ได้รับบาดแผลภายนอกในช่วงประสบภัยสึนามิ เช่น อาการกระดูกแตก เอ็นขาดต้องต่อเอ็น บาดแผลที่นิ้วมือนิ้วเท้า แขนหรือขาและลำตัว ปัจจุบันบาดแผลมีอาการอักเสบเป็นบางครั้ง บวม คัน มี หนอง บางครั้งมีอาการปวดเจ็บ และยังต้องทำกายภาพบำบัดอยู่ พบที่บ้านน้ำเค็ม 10 ราย เกาะคอเขา 1 ราย เกาะพีพี 10 ราย ชุมชนหาดประพาส 1 ราย ชุมชนชัยพัฒนา 1 ราย ซึ่งเป็นชาวไทยใหญ่ฐานะยากจนมีอาการเป็นแผลเรื้อรังที่ชาวบ้านเรียกว่า"เป็นรวด"ไม่ได้รับการรักษา และดูแลอย่างถูกต้อง

กลุ่มที่ 2 กลุ่มอาการระบบทางเดินหายใจ และปอด มีอาการ สำลักน้ำทะเลในช่วงคลื่นสึนามิ ภายหลัง 6-12 เดือน จึงแสดงอาการ เช่น ไอบ่อย ไอเรื้อรัง หายใจลำบาก ปอดติดเชื้อ บางคนไปตรวจ ช่วงแรกไม่พบอะไร ภายหลังพบว่าเป็นวัณโรค และปอดพรุน มีจำนวนมากบริเวณบ้านน้ำเค็ม เกาะคอเขา ชุมชนชัยพัฒนา และมีคนตายจากอาการดังกล่าวแล้วประมาณ 15 คน

กลุ่มที่ 3 กลุ่มผู้ป่วยอัมพฤกษ์พบจำนวน 2 รายที่ตำบลเกาะคอเขา อ.ตะกั่วป่า จังหวัดพังงา และอีก 1 รายที่บ้านตันหยงกลิง ต.เกาะสาหร่าย จ.สตูล สาเหตุจากการวิ่งหลบหนีคลื่นสึนามิ

กลุ่มที่ 4 กลุ่มที่มีปัญหาสุขภาพ พบว่าผู้ประสบภัยยังมีภาวะหวาดกลัวคลื่นยักษ์ แผ่นดินไหว และภาวะโศกเศร้า กับการสูญเสียญาติ โดยทั่วไปการศึกษาพบผู้ประสบภัยที่มีอาการกลัวคลื่น และแผ่นดินไหวมาก อยู่ในภาวะเครียดหวาดกลัวไม่กล้าอยู่ใกล้ทะเลเก็บตัวอยู่คนเดียว ร้องไห้ หรือเป็นลมหมดสติ เมื่อทราบข่าวแผ่นดินไหว พบอาการค่อนข้างหนัก 5 รายที่บ้านน้ำเค็ม และเกาะคอเขา จังหวัดพังงา สตูล 2 ราย ตรัง 1 ราย กระบี่ 3 ราย มีอาการกังวลมากส่วนใหญ่จะเป็นผู้ที่โดนคลื่นโดยตรง

กลุ่มที่ 5 กลุ่มอาการความดันโลหิต เบาหวาน และโรคหัวใจ ซึ่งพบกลุ่มอาการดังกล่าวนี้มากที่บ้านน้ำเค็ม และปากบารา บางรายมีอาการอ้วนผิดปกติ ชุมชนพบว่า เป็นมากขึ้นหลังสึนามิ โดยเฉพาะพื้นที่ได้รับผลกระทบหนัก แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง และมีผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง...!!!

"แผลเม็ดทรายในเนื้อเยื่อ"

เป็นอีกหนึ่งโรคใหม่ คือ แผลเม็ดทรายในเนื้อเยื่อของผู้ประสบภัย ผศ.ดร.ภก.พงศ์เทพ สุธีรวุฒิ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยสุขภาพภาคใต้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) ได้ให้ข้อมูลว่ากรณีแผลที่มีเม็ดทรายฝังในเนื้อเยื่อเกิดจากเม็ดทรายมากับคลื่นที่พัดโหมกระหน่ำด้วยความเร็วสูง กว่า 800 กิโลเมตรต่อชั่วโมง อีกทั้งเป็นเม็ดทรายละเอียดมาก จึงสามารถทะลุทะลวงเข้าในบาดแผลของร่างกาย และเข้าลึกสู่เนื้อเยื่อข้างในได้ ผู้ป่วยที่มีบาดแผลจากเหตุการณ์สึนามิหลายคน สงสัยว่าทำไมถึงเป็นแผลเรื้อรัง เพื่อเป็นการหาข้อเท็จจริง

จึงได้มีการเปิดปากแผลใหม่ เพื่อดูว่าในแผลมีอะไร มีการติดเชื้ออะไรบ้าง ปรากฏว่ามีเม็ดทรายเม็ดเล็กๆ ฝังอยู่ในเนื้อเยื่อ จึงทำให้แผลเกิดการอักเสบ การรักษาบาดแผลจะใช้วิธีเปิดปากแผลทำความสะอาด และใช้ยาปฏิชีวนะช่วยในการรักษาร่วมด้วย

มาตรฐานทางการแพทย์โดยทั่วไปของการรักษาแผลฉีกขาด คือ ทำความสะอาดบาดแผลและเย็บแต่ต้องดูในแต่ละกรณีด้วย อย่างกรณีสุนัขกัดทำความสะอาดเปิดปากแผลไว้ก่อน เพราะมีเชื้อโรค ส่วนบาดแผลที่โดนหิน หรือปะการังบาดจากการเล่นน้ำก็ไม่เป็นไร ผู้ที่ได้รับบาดแผลจากสึนามิก็ไม่ได้เป็นกันทุกคน ความเสี่ยงจะมีเฉพาะผู้ที่โดนคลื่นยักษ์ ซึ่งมีความเร็วกระแทกอย่างแรงเท่านั้น

โดยแผลที่มีเม็ดทรายอยู่ในเนื้อเยื่อจะมีลักษณะบวมแดง ปูดอักเสบขึ้นมา ซึ่งปากแผลจะเล็กแต่ข้างในกว้าง การรักษา คือ เปิดปากแผลกว้านเนื้อเยื่อข้างในออกให้หมดแล้วทำการรักษาใหม่ กรณีนี้จะไม่มีการเย็บบาดแผลจะรักษาแบบแผลเปิด ในปัจจุบันได้ทำการรักษาผู้ป่วยที่มีเม็ดทรายในเนื้อเยื่อหมดแล้ว ส่วนในกรณีที่เสียชีวิตนั้นผู้ป่วยอาจจะได้รับโรคอย่างอื่นแทรกซ้อนมากกว่า แต่จะไม่มีการเสียชีวิตจากบาดแผลนี้

ด้าน นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ รองสาธารณสุขจังหวัดภูเก็ต บอกว่า การศึกษาการเก็บวิเคราะห์ข้อมูล จากงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับปัญหาสุขภาพจิต และการให้ความช่วยเหลือ ปัญหาสุขภาพ และการฟื้นฟูสุขภาพของผู้ประสบภัย ซึ่งทำขึ้นหลังเกิดคลื่นยักษ์สึนามิ เกือบ 3 ปี เก็บข้อมูลเดือนกันยายน 2550 โดยที่คนส่วนมากอาจจะคิดว่าผู้ประสบภัยไม่มีปัญหาแล้ว เพราะทุกคนได้ย้ายเข้าบ้านถาวร และกลับไปประกอบอาชีพได้ดังเดิม

จากการสำรวจพบว่าผู้ประสบภัยยังมีปัญหาสุขภาพจิตอยู่ และบางคนมีปัญหาค่อนข้างรุนแรง แต่ปฏิเสธการรักษา การศึกษาในครั้งนี้ได้รับแรงกระตุ้นจากการบอกเล่าของชุมชนใน อำเภอตะกั่วป่า จังหวัดพังงา ว่าชาวบ้านยังมีปัญหาการเจ็บป่วยเรื้อรัง ซึ่งเชื่อว่าเป็นผลจากการกลืน และสำลักน้ำคลื่นสึนามิ

ชาวบ้านบางคนกลับไม่ได้รับความสนใจจากหน่วยงานของรัฐบาล แม้ว่าจะพยายามไปหาแพทย์ที่โรงพยาบาล ก็ไม่ได้รับการตรวจอย่างละเอียดทำให้ผู้ประสบภัย โดยเฉพาะกลุ่มที่เคยกลืนหรือสำลักน้ำคลื่นสึนามิ ทยอยเสียชีวิตผู้ประสบภัยมีความรู้สึกว่ายังไม่สามารถเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างแท้จริง จึงควรให้ความสนใจปัญหานี้ โดยดึงให้ชุมชน องค์การบริหารส่วนท้องถิ่น ซึ่งมีบทบาทด้านการดูแลสวัสดิการของชาวบ้าน รวมทั้งปัญหาสุขภาพของชุมชน เข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาความกังวลเรื่องความเจ็บป่วยเรื้อรัง

"กลุ่มที่สำลักน้ำโคลนในช่วงคลื่นสึนามิมีอาการป่วยเรื้อรัง การไอรุนแรง มีเสมหะสีเขียว มีอาการหายใจแล้วเจ็บภายใน บางรายตรวจพบเป็นเชื้อวัณโรค หลายรายเสียชีวิต ชุมชนตั้งข้อสงสัยว่า น้ำโคลนและน้ำสกปรกที่เกิดจากห้องน้ำพัง หรือที่อยู่ในชุมชนเมืองสะสมเชื้อโรค"นพ.วิวัฒน์ กล่าว

เสียงสะท้อนจากชาวบ้านที่มีความกังวล กับปัญหาสุขภาพจากการกลืนน้ำโคลนในสึนามิและการสูดดมกลิ่นโคลน และการสัมผัสสิ่งสกปรกระหว่างการคุ้ยหาศพญาติท่ามกลางกองศพ ปัญหาสุขภาพทางกายที่เชื่อว่าเป็นผลต่อเนื่องมาจากสึนามิที่ภาครัฐต้องหันมาแลอีกครั้ง!!! [email protected]
คำสำคัญ (Tags): #สุขภาวะชุมชน
หมายเลขบันทึก: 158347เขียนเมื่อ 9 มกราคม 2008 22:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 13:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท