เป็น ม.ในกำกับ แล้วจะดีกับนิสิต จริงหรือ?


จริงหรือ?

เมื่อเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ

จะทำให้ชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยดี

 บัณฑิตมีคุณภาพสูง?

 

          จริงอยู่  การเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับ ไม่ได้รับประกันโดยสิ้นเชิงว่า จะทำให้มหาวิทยาลัยนั้นๆ มีคุณภาพดี หรือบัณฑิตที่ผลิตจะมีคุณภาพสูง

         เหมือนเครื่องบินที่ได้รับการตรวจสอบอย่างดีทุกระบบ ก็ไม่ได้รับประกันว่า เครื่องบินจะไม่ตกหรือไม่มีอุบัติเหตุ 

          เหมือนโรงเรียนที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก ISO ก็ไม่ได้รับประกันว่า ลูกของคุณจะได้เป็น นายก

          เหมือนโรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองจาก HA ก็ไม่ได้รับประกันว่า ทุกคนที่เข้าโรงพยาบาลนี้แล้ว จะไม่ตาย

          แต่เราก็ยังต้องการระบบควบคุมคุณภาพพวกนี้ไม่ใช่หรือ?

 

          ใน พ.ร.บ. มหาวิทยาลัยในกำกับ มีระบบควบคุมคุณภาพอุดมศึกษา ดังนี้ 

  • สภามหาวิทยาลัย ถูกกำหนดให้มีบทบาทที่ชัดเจน

  • ภาคประชาชน ภาคสังคม อาจารย์ เจ้าหน้าที่  นิสิต มีส่วนเข้ามากำกับ ตรวจสอบ การบริหารมหาวิทยาลัย

  • มีการประกันว่า ผู้ด้อยโอกาส ต้องได้รับโอกาสทางการศึกษา มหาวิทยาลัยต้องกระจายโอกาสทางการศึกษา

  • ไม่จำเป็นต้องระบุว่าไม่ขึ้นค่าเล่าเรียน เพราะผู้มีความสามารถในการจ่าย ต้องจ่าย สำหรับอนาคตที่ดีกว่า จึงจะนับว่ายุติธรรมต่อภาษีของประชาชน 

  • ยังงัย... ยังงัย.... รัฐก็ต้องอุดหนุน  

  • ผู้บริหารทุกคน ต้องถูกตรวจสอบและถูกประเมินโดยสภามหาวิทยาลัย

  • อาจารย์ เจ้าหน้าที่ จะมีกฎหมายรับรองสถานภาพ มีศักดิ์ศรี เทียบเท่าข้าราชการ และต้องถูกประเมิน

                   

          ทั้งหมดนี้ ทำเพื่อใคร?

          จะเป็นใครอื่นไปได้อย่างไร นอกจาก ผู้เรียนทุกคน นิสิตนักศึกษาทุกคน

          และเหนือไปกว่านั้น คือเพื่อชาติ!

          ในขณะที่ พ.ร.บ.มหาวิทยาลัยแบบเดิม แบบที่เป็นอยู่  แบบที่เป็นส่วนราชการ  ไม่ได้ระบุให้รับประกันสิ่งเหล่านี้เลย

          แล้ว คุณยังไม่ต้องการให้ มหาวิทยาลัย เป็นมหาวิทยาลัยในกำกับกันหรือ??

หมายเลขบันทึก: 157467เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2008 18:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 มิถุนายน 2012 10:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • ถ้าเป็นการทำเพื่อนิสิต และเพื่อชาติลุยเลยครับ
  • เดินเครื่องเต็มที่เป็นม.ในกำกับรัฐได้เลยครับ
  • ถ้ามีข้อมูลหรือผลที่นิสิตจะได้รับประชาสัมพันธ์ให้ทราบบ่อยๆ ก็จะขอบคุณอาจารย์มากครับ
  • สภามหาวิทยาลัย ถูกกำหนดให้มีบทบาทที่ชัดเจน----ตรงนี้ในพ.ร.บ.มันเขียนไว้จริงครับแต่ถ้าจะให้เห็นบทบาทชัดเจนมันอยู่ที่กฎหมายลูกที่จะออกตามมาซึ่งเรายังไม่เห็นกฎหมายลูกเลย ความจริงถ้าพ.ร.บ.นี้จะผ่านสภายังไงก็คงไม่แตกต่างจากมออื่นมากนักมันโดนกำกับอยู่กับส่วนกลางของรัฐอีกทีในความเป็นอิสระของมหาลัย ของพ.ร.บ.นี้

  • ภาคประชาชน ภาคสังคม อาจารย์ เจ้าหน้าที่  นิสิต มีส่วนเข้ามากำกับ ตรวจสอบ การบริหารมหาวิทยาลัย.....ที่ผมมองเห็นจากตัวพ.ร.บ.นิสิตอย่างพวกผมเข้ามากำกับตรวจสอบการบริหารเป็นไปได้ยากมาก เพราะอย่างแรก พวกนอสอตเข้ามาแค่ 4 ปี 5 ปี 6 ปี ไม่ได้อยู่นานเหมือนระยะเวลาผู้บริหารกว่าองค์ความรู้จะลงถึงจนเข้าใจปัญหาหรือรักษาสิทธิของตัวเองได้ กว่าจะกล้าออกมาแสดงความเห็นกันมันเป็นไปได้ยากเพราะมหาลัยไม่เคยให้องค์ความรู้เรื่องนี้อย่างเป็นระบบและขาดหายไปทีละรุ่นๆนี่คือความผิดพลาดที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นกับคำว่ามหาลัยที่มีอาจารย์ผู้ทรงคุณวุติเป็นคนสอนแต่ไม่สามรถสร้างองค์ความรู้ตรงนี้ให้มันอยู่ตลอดไปเมื่อเวลามีปัญหานิสิตจะโต้แย้งก็ไม่ได้  ผู้บริหารก็เดินจูงนิสิตไปเรื่อยๆเท่านั้นเอง 

  • มีการประกันว่า ผู้ด้อยโอกาส ต้องได้รับโอกาสทางการศึกษา มหาวิทยาลัยต้องกระจายโอกาสทางการศึกษา......การที่รับรองว่าเด็กยากจนมีสิทธิจะได้รับการดูแลไม่ให้ต้องออกจากการเรียนไปเพราะปัญหาความยากจน ตรงนี้ไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์กับเด็กยากจนเลยซึ่งนิสิตส่วนใหญ่ของมอนี้ก็ยากจน การที่ บางคนปัญหาหนักกว่านั้นเพราะความยากจนพาลกระทบไปถึงเรื่องเกรดและต้องถูกโดนไทน์ ตรงนี้คือปัญหาเด็กโนไทน์เยอะมาก ที่ไม่ไทน์ต้องไปทำงานสถานบันเทิงรอบๆมหาลัย ที่จะให้มีงานทำในมหาลัยก็ได้เงินช้า เด็กจะเข้าถึงตรงส่วนนี้ได้ต้องเข้าไปหามหาลัยซึ่งคนจนจริงๆบางทีก็ไม่อยากไปหาเท่าไหร่ และอาจารย์ก็กังวลกับลูกศิษย์ที่มาหลอกเอาเงินจนลืมคนที่เขาขัดสนจริงๆ ไม่ถูกไล่ออกเพราะไม่มีเงินเรียนไม่มีแน่นอนถ้าพ.ร.บ.นี้ออกมา  แต่ถูกไล่ออกเพราะโดนไทน์ส่วนคนที่ทำงานเพื่อให้มีเงินเรียนเขาจะเสียโอกาสการเรียนรู้เพราะปัจจุบันบางทีก็มีการสอนที่ไม่ตรงเวลา บางครั้งเสาอาทิตย์กำหนดตารางการทำงานไม่ได้ เป็นเพราะมอเรารับนิสิตขึ้นมาเยอะมาก รวมทั้งภาคพิเศษที่แต่ละคณะต้องการเงินมาช่วยการศึกษา

  • ไม่จำเป็นต้องระบุว่าไม่ขึ้นค่าเล่าเรียน เพราะผู้มีความสามารถในการจ่าย ต้องจ่าย สำหรับอนาคตที่ดีกว่า จึงจะนับว่ายุติธรรมต่อภาษีของประชาชน 

  • ขึ้นค่าเล่าเรียนหรือไม่ก็อย่างที่เห็นว่าไม่ขึ้นค่าเล่าเรียนก็ต้องเก็บจากภาคพิเศษหรือป.โท  เขาเหล่านั้นมีความสามารถในการจ่าย อาจารย์ต้องสอนเพิ่มขึ้น แล้วคุณภาพของภาคปกติจะลดลงหรือไม่ แล้วภาคพิเศษจะได้รับการดูแลขนาดใหน  สิ่งต่างๆทีมีอยู่นำมาดูแลนิสิตเพียงพอแล้วหรือยัง วิทยาลัยพลังงาน รถไฟฟ้า การให้การรักษาพยาบาล 

  • ยังงัย... ยังงัย.... รัฐก็ต้องอุดหนุน  

  • เราหาเงินเองมากขึ้นถ้าได้จากงานวิจัยที่มีขึ้น ต่อไปจะมาศึกษาเรื่องนั้นเรื่องนั้นก็จะมีราคาสูงเข้าถึงการศึกษาได้ยาก ความอิสระทางวิชาการกับภาระที่รัฐลักดันให้มีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาและดูแลตัวเองได้  ถ้าออกได้นั่นจะดูมีภาษีในทางสังคมมากกว่าที่อื่นนิดๆในเรื่องการบริหารจัดการที่ที่อื่นมองว่านี่ต้องมีองค์ความรู้อะไรสักอย่างถึงจะมาถึงจุดที่ดูแลบริหารจัดการกันเองได้  ผลงานวิจัยจะถูกยอมรับ  แต่เราเป็นจริงอย่างนั้นหรือ ต่อไปหลายมหาลัยออกหมด เราก็จะดูแย่ๆอาจารย์ดีๆก็เลือกที่จะไม่ลงมหาลัยเราอยู่ดี 

  • ผู้บริหารทุกคน ต้องถูกตรวจสอบและถูกประเมินโดยสภามหาวิทยาลัย

  • สภามหาลัยไม่มีนิสิตเข้าไปมีส่วนร่วมและไม่มีตัวแทนชุมชนเข้าไปมีส่วนร่วมเลย ทั้งที่ ทุกส่วนอื่นๆน่าจะเข้าไปมีส่วนร่วมในตรงนี้เพราะนิสิตเป็นผู้เรียน ชุมชนเป็นเจ้าของพื้นที่ศิษย์เก่าก็ควรจะได้รับมาเป็นอยู่ในสภาเพราะพวกเขากระทบกับอาชีพในอนาคต  ถ้ามหาลัยออกนอกระบบแล้วไม่ดีเขาก็สมัครงานไม่ได้

  • อาจารย์ เจ้าหน้าที่ จะมีกฎหมายรับรองสถานภาพ มีศักดิ์ศรี เทียบเท่าข้าราชการ และต้องถูกประเมิน

         ถูกประเมินเพื่อขั้นอันนี้ส่วนได้ประโยชน์มีเยอะอยู่มากกับประเทศเร่งให้มีผลงานออกมา แต่ผลงานเหล่านั้นก็ยังขึ้นหิ้งซะเป็นส่วนมากมากกว่าที่คนบางกลุ่มลงพื้นที่ให้ความรู้ชาวบ้านเสียอีก  ชาติได้แต่ชาติก็เสียตรงที่ค่าการศึกษาจะสูงขึ้นจากการที่ค่าความรู้มันมีราคาจากการทำงานวิจัยนี่เอง เสรีภาพทางวิชาการจะอยู่แต่ช่วงแรกๆต่อมาจะหยิบงานวิจัยสักชิ้นมาอ้างอิงก็อาจจะต้องควักเงินซื้อนี่คือเป้าประสงค์ของมหาลัยที่แท้จริงงั้นหรือ

         ทางที่ดีคือเราต้องสร้างองค์ความรู้ให้มีในมหาวิทยาลัยได้มาก

การจะออกนอกระบบไม่เป็นไปในลักษณะฉาบฉวย มองดูตัวเราพัฒนาตรงส่วนที่เราควรจะมีให้พร้อมสอดรับกับการที่จะต้องกระทบกระเทือนที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลง จริงอยู่ที่แม้  โรงพยาบาลที่ได้รับการรับรองจาก HA ก็ไม่ได้รับประกันว่า ทุกคนที่เข้าโรงพยาบาลนี้แล้ว จะไม่ตาย  แต่โรงพยาบาลแห่งนี้ก็ได้รับความไว้วางใจจากคนไข้ในระดับหนึ่งถึงความปลอดภัยในมาตรฐานระดับหนึ่ง

เมื่อไหร่ที่มองเห็นตัวมหาลัยเราชัดเจนมีแนวทางที่ถูกต้องยังไงก็อยากจะเดินไปในสิ่งที่ดีกว่าแน่นอน

  • ขอบคุณ คุณนิสิต มากค่ะที่ให้ความสนใจ
  • ดิฉันก็ไม่ทราบจะพึ่งใครดี ที่จะให้ข้อมูลหรือผลที่นิสิตจะได้รับ  และประชาสัมพันธ์ให้ทราบบ่อยๆ
  • ก็เลยต้องใช้ความพยายามของตนเอง เท่าที่พอจะกระทำได้ เขียนให้อ่าน หามาให้อ่านกันใน Blog นี้
  • หากคุณนิสิตสนใจจริงๆ กรุณาอ่านตั้งแต่บันทึกแรกๆ ใน Blog นี้นะคะ  มีความรู้เรื่องมหาวิทยาลัยในกำกับมากพอสมควรทีเดียวค่ะ
  • ก่อนอื่นต้องขอขอบคุณ คุณ 143lw ที่ให้ความสนใจ และให้ความเห็นมาหลายประเด็น  ทำให้ดิฉันทราบว่าจะต้องขยายความในเรื่องใดเพิ่มเติม 
  • ขอให้ถือว่าเป็นเพียงอีกหนึ่งทัศนะนะคะ เราต่างมาช่วยกันมอง มาช่วยกันคิด มาช่วยกันทำความเข้าใจเรื่องนี้ เพื่อร่วมเดินทางไปในทางที่ถูกต้อง
  1. บทบาทหรือหน้าที่ของสภามหาวิทยาลัย  ที่ดิฉันบอกว่า ชัดเจน นั้น  หมายถึง เมื่อเปรียบเทียบระหว่าง พ.ร.บ.ฉบับ ม.ที่เป็นส่วนราชการ กับ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับ ม.ในกำกับของทุกมหาวิทยาลัย  พ.ร.บ. ม.ในกำกับเขียนไว้ชัดเจนกว่าเดิม  (รายละเอียดของหน้าที่ดังกล่าว ดิฉันเคยบันทึกไว้แล้ว ที่นี่ )การกำหนดหน้าที่ของสภาฯ เป็นเรื่องสำคัญมาก  ต้องกำหนดไว้ใน พ.ร.บ. หรือกฎหมายแม่เลยทีเดียว  จะทำเป็นข้อบังคับ (กฎหมายลูก) คงไม่เข้าท่าแน่  เพราะข้อบังคับออกโดยสภามหาวิทยาลัย  จะให้สภามหาวิทยาลัยออกกฎหมายกำหนดหน้าที่ของตนเองได้อย่างไร ? 
  2. พ.ร.บ.ม.ในกำกับ ของมหาวิทยาลัยอื่นดิฉันไม่ทราบ  แต่ของ มน. ในมาตรา ๒๑ ของร่าง พ.ร.บ. ฉบับปรับปรุงล่าสุดซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับ คณะผู้บริหารมหาวิทยาลัย  ระบุไว้ว่า ให้ จำนวนสองคนในคณะผู้บริหารดังกล่าว  เป็นตัวแทนจากนิสิตโดยตำแหน่ง ได้แก่ประธานสภานิสิตและนายกองค์การนิสิต  ดูรายละเอียดที่นี่  ดังนั้น นิสิตไม่เพียงแต่กำกับ ตรวจสอบการบริหารมหาวิทยาลัยได้  ตามนัยะของหมวด ๓ เรื่องการประกันคุณภาพและการประเมิน ใน ร่าง พ.ร.บ.   แต่ยังมีส่วนร่วมในการบริหารด้วย ซึ่งอย่างนี้ไม่มีระบุไว้แน่ๆ ใน พ.ร.บ.ฉบับ ม.ที่เป็นส่วนราชการ (ทั้งที่ในความเห็นส่วนตัวของดิฉัน เห็นว่า ไม่จำเป็น เพราะนิสิตยังไม่มีความรู้และประสบการณ์เพียงพอในการบริหารงานวิชาการระดับอุดมศึกษา)   
  3. มน. เป็นมหาวิทยาลัยภูธร จึงเปิดโอกาสให้นักเรียนในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียงได้เข้าเรียน มากกว่า นักเรียนที่ผ่านการสอบตามกระบวนการสอบคัดเลือกปกติ  ในสัดส่วน 70 : 30  ซึ่งทำอย่างนี้และมีนโยบายอย่างนี้ มาแต่ไหนแต่ไรแล้ว และยังเปิดโอกาสแก่นักเรียนด้วยวิธีรับตรงประเภทต่างๆ อีกด้วย  นี่คือการเปิดโอกาสทางการศึกษาแก่ผู้ด้อยโอกาส 
               และเมื่อผู้มีความสามารถสอบเข้ามาเรียนได้แล้ว ก็มีทุนการศึกษาประเภทต่างๆ ให้ทั้งในระดับมหาวิทยาลัย และระดับคณะวิชา  นิสิตที่ยากจนแต่ตั้งใจเล่าเรียนจำนวนไม่น้อยที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยนี้ ด้วยทุนการศึกษาดังกล่าว คุณ 143lw ต้องมองภาพรวมของระบบ ต้องแยกแยะให้ออกว่า ผู้ที่ไม่สำเร็จการศึกษา เป็นเพราะตัวเขาเองไม่ตั้งใจเรียน  แล้วเอาความยากจนมาอ้าง หรือเป็นเพราะมหาวิทยาลัยไม่มีระบบช่วยเหลือดูแลนิสิตยากจนจริงๆ 
              อย่างไรก็ตามเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับการบริหารโดยตรง  แม้ไม่มี พ.ร.บ. ม.ในกำกับ มหาวิทยาลัยส่วนใหญ่ ต่างคำนึงถึงเรื่องนี้กันมากอยู่แล้ว  นี่ถ้ายิ่งระบุไว้ใน พ.ร.บ. อย่างชัดเจน ก็น่าจะยิ่งดีมากขึ้น
  4. เรื่องค่าเล่าเรียน  เรื่องรายได้ของมหาวิทยาลัย และเรื่องการอุดหนุนของรัฐ  คุณ 143lw ลองอ่านจากบันทึก นี้  และ นี้  โดยละเอียดนะคะ  อาจทำให้เข้าใจความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงได้มากขึ้น
              เพราะคุณ 143lw พยายามที่จะโยงใยเรื่องที่ไม่เกี่ยวข้องกันเข้าหากัน เพียงเพื่อจะแสดงความไม่เห็นด้วย
              ดิฉันชอบความเห็นต่าง  แต่ต้องอธิบายให้เข้าใจว่าสิ่งที่คิดเห็นนั้นมันเกี่ยวข้องกันอย่างไร  มีเหตุอย่างไรจึงทำให้เป็นผลอย่างนั้น ฯลฯ
  5. ความเข้าใจเรื่องการบริหารงานบุคคล  การประเมินผลการปฎิบัติงาน  และการบริหารงานวิจัยของมหาวิทยาลัยหรือของอาจารย์ก็เช่นเดียวกัน ที่คุณ 143lw  จะต้องทำความเข้าใจระบบและหลักการต่างๆ ของเรื่องเหล่านี้เสียก่อน  ก่อนที่จะวิพากษ์  เพื่อผู้สนใจจะได้นำข้อเสนอแนะไปใช้เป็นประโยชน์ได้      
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท