ก่อนถึงยุคองค์กรการเงินชุมชน (3): ปัญหาพื้นฐานของตลาดสินเชื่อชนบท


แต่การอุดหนุนที่ทำให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยที่แท้จริงนั้น สร้างปัญหาอย่างอื่น โดยเฉพาะพฤติกรรมในการออม และการกู้ยืม

ครั้งก่อนเขียนถึงว่า  ปัจจัยที่กำหนดอัตราดอกเบี้ยชนบท  มี 4  ประการคือ   ต้นทุนการบริหารจัดการสินเชื่อ    ค่าเสียโอกาสของเงิน (ทางเลือกอื่นๆของการนำเงินไปใช้ไปลงทุน)   ความเสี่ยงที่จะได้เงินคืน    และ ความหายากของเงิน

หากพิจารณาสินเชื่อนอกระบบ (ที่ยังเป็นการกู้แบบปัจเจกไม่ใช่กลุ่ม)  พบว่า

ต้นทุนการบริหารจัดการน่าจะต่ำ เพราะคนรู้จักกัน  การจัดการก็ทำแบบง่ายๆ

ทางเลือกของการนำเงินไปใช้ลงทุนทำอย่างอื่นในภาคชนบทก็มีไม่มากนัก   ค่าเสียโอกาสของเงินจึงไม่น่าจะสูง

ความเสี่ยงที่จะได้เงินคืน  ตรงนี้จะมีความเสี่ยงสูง เพราะการลงทุนทำการเกษตร หรือทำอย่างอื่นในชนบท มีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนไม่สูงนักและไม่แน่นอน 

ความหายากของเงินทีทำให้เกิดการขูดรีด  ตรงนี้แหละที่ข้อเท็จจริงบอกว่า ก็ไม่เท่าไหร่   เพราะกลายเป็นว่า มีผู้จะให้กู้ได้หลายรายอยู่เหมือนกัน  ถ้าขูดดอกเบี้ยได้สูง มีกำไรมาก (หากไม่มีความเสี่ยงมากนัก) ก็จะมีคนอยากให้กู้ในตลาดสินเชื่อนอกระบบนี้เพิ่มมากขึ้น  อัตราดอกเบี้ยก็จะลดต่ำลงมาเอง

ตัวกีดกันที่แท้จริงที่ทำให้บางคนที่มีเงินไม่อยากให้กู้ และทำให้สินเชื่อนอกระบบมีดอกเบี้ยสูง จึงเป็นเรื่องของความเสี่ยงนั่นเอง

ญาติพี่น้องรับความเสี่ยงกันเอง  ส่วนพ่อค้า นายทุนนั้น  เขามีทางถ่วงน้ำหนักความเสี่ยงด้วยดอกเบี้ยสูง และประกันความเสี่ยงด้วยพันธะทางธุรกิจ  เช่น  ยึดผลผลิต  ตกเขียว ต้องซื้อปัจจัยการผลิตของเขา ยึดที่นา  อย่างนี้เป็นต้น  สินเชื่อนอกระบบจึงยังอยู่ได้

การเข้ามาทำงานของแหล่งสินเชื่อในระบบ เช่น ธนาคารนั้น  กลับมีต้นทุนการจัดการสูง   เพราะธนาคารไม่รู้จักชาวบ้านว่าใครเป็นใคร   ค่าเสียโอกาสของเงินก็สูง เพราะธนาคารสามารถนำเงินไปปล่อยกู้ในธุรกิจสิบล้านร้อยล้านได้  ความเสี่ยงนั้นสูงอยู่แล้ว

  

ถ้าปล่อยให้เป็นไปตามธรรมชาติ   ดอกเบี้ยของสถาบันการเงินจะต้องสูงกว่าดอกเบี้ยของพ่อค้าเสียอีก  สูงมากๆจนไม่มีสถาบันการเงินไหนอยากเข้ามาตรงนี้  แต่สิ่งที่เราเห็นคือ  ดอกเบี้ยธนาคารต่ำกว่าดอกเบี้ยสินเชื่อนอกระบบ   ทั้งนี้เพราะ รัฐเข้าไปอุดหนุนนั่นเอง

การอุดหนุนทำให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าที่ควรจะเป็น (ดอกเบี้ยนอกระบบนั้น สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงได้ดีกว่า)   และการออก พรบ.กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ต้องสำรองเงินฝากไว้ให้สินเชื่อชนบท ที่เป็นการเพิ่มอุปทาน   จึงแก้ปัญหาไม่ตรงจุด   เพราะปัญหาที่แท้  อยู่ที่ความเสี่ยงด้านการผลิตและราคาในภาคชนบท   ซึ่งมาตรการทั้งสองไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาที่จุดนั้นสักเท่าใด  (มาถึงตรงนี้ ได้คิดต่อเรื่องบทบาทของ ธกส. ที่จะช่วยลดความเสี่ยงของเกษตรกรโดยวิธีอื่นที่มิใช่ปล่อยเงินกู้..อาจจะเขียนถึงเรื่องนี้สักครั้ง)

รัฐสรุปว่า  มาตรการประสบความสำเร็จ  เพราะตรงตามเป้าหมายและตัวชี้วัดที่ใช้คือ  คนหันมากู้ในระบบมากขึ้น  ลดการกู้นอกระบบลงเหลือเพียงประมาณ 10% ของจำนวนเงินกู้ยืมทั้งระบบ

แต่การอุดหนุนที่ทำให้ดอกเบี้ยต่ำกว่าดอกเบี้ยที่แท้จริงนั้น  สร้างปัญหาอย่างอื่น  โดยเฉพาะพฤติกรรมในการออม และการกู้ยืม

ครั้งหน้าจะวิเคราะห์ให้ฟังค่ะ  และจะลองดูว่า กลุ่มองค์กรการเงินชุมชนทำได้ดีกว่าอย่างไร 

(ยังมีต่อ) 

หมายเลขบันทึก: 157346เขียนเมื่อ 4 มกราคม 2008 09:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 16:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)
  • สวัสดีปีใหม่ค่ะอาจารย์....
  • ขอให้อาจารย์และครอบครัวประสบแต่ความสุขสมหวัง นะคะ
  • ปกติมาตามอ่านงานอาจารย์เป็นประจำค่ะ
  • ผมมาติดตามครับ
  • ความเสี่ยงในการผลิตนั้นมาหลายปัจจัย แต่ก็สามารถลดความเสี่ยงลงไปบ้างในกรณีที่ปลูกพืช cash crop แบบ Contract farming โดยนักวิชาการเกษตรของบริษัทนั้นๆลงไปดูแลอย่างใกล้ชิด แต่ที่พบความถี่ในการเยี่ยมแปลงเกษตรกรนั้นไม่สม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติต่างๆของการเติบโตของพืช  ทั้งนี้อาจเป็นเพราะว่าเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้นของบริษัทก็ได้
  • ในกรณีที่เป็นพืช cash crop ที่ไม่เป็น contract farming เราก็หวังนักเกษตรจากกรมส่งเสริมการเกษตรไม่ได้ เพราะท่านมีงานมากมายจึงไม่มีเวลามาเยี่ยมแปลงบ่อยครั้งตามควรจะเป็น
  • มีเกษตรกรจำนวนไม่มากนักที่พึ่งความรู้ตัวเองได้  แต่โดยทั่วไปยังคลำกันทั้งนั้น  โดยเฉพาะพืชที่เป็นพันธุ์ที่เขาผลิตขึ้นมาใหม่ๆ ยังไม่ปรับตัวเข้ากับพื้นที่นั้นๆ
  • สรุปแล้วเกษตรกรก็แบกความเสี่ยงเต็มๆไปตลอด ขนาดผมทำเป็นโครงการพิเศษ มีนักวิชาการเฝ้า ยังพลาด เพราะพืชที่มี return สูงนั้น ต้องเป็นแบบ icc= intensive care crop ในทัศนผมนั้น ต้องเป็นโครงการพิเศษ หรือระบบสหกรณ์ที่มีผู้บริหารเก่งๆ หรือเกษตรกรบางแห่งที่เก่งในเรื่องการเรียนรู้และปรับตัว  สำหรับเกษตรกรทั่วไปนั้น เสี่ยงสูงมากที่จะเล่นพืชประเภท icc ซึ่งส่วนใหญ่เกษตรกรก็ต้องขอกู้เงินเพื่อลงทุนกับพืชชนิดนี้มากกว่า 50% ในประสบการของผมนะครับ
  • นี่เองบริษัทธุรกิจเกษตรจึงหมุนเวียนพื้นที่ปลูกไปเรื่อยๆ
  • ผมเห็นด้วยกับอาจารย์ที่กล่าวมาทั้งหมดครับ เพียงผมเอาประสบการร์มาแบ่งปันเท่านั้นครับ 

อาจารย์ลูกหว้า สวัสดีปีใหม่ค่ะ

ขอบคุณที่แวะมาส่งความสุขด้วยรอยยิ้มสดใส    ขอให้อาจารย์มีความสุขตลอดปีใหม่นี้เช่นกันค่ะ

คุณบางทราย  สวัสดีค่ะ

เรื่อง contract farming เป็นเรื่องที่ตัวเองสนใจ เพราะคิดว่า ภาพในอนาคตของภาคเกษตรไทย ถ้าเกษตรกรรวมกลุ่มกันเองไม่ได้  ก็จะมีระบบนี้เป็นระบบหลักแน่ๆ   เกษตรกรรายย่อยจะเริ่มหายไปเนื่องจากคนรุ่นใหม่ไม่ทำเกษตรแล้ว  ยกเว้นแต่ถ้าพวกเขามีรายได้แน่นอนขึ้น  ความเสี่ยงน้อยลง  การทำงานสะดวกสบายขึ้น ก็อาจจะพอดึงคนรุ่นใหม่อยู่ได้บ้าง  ซึ่งระบบเกษตรพันธะสัญญา ดูจะทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้

สำหรับเกษตรกรแล้ว  ข้อดีของเกษตรพันธะสัญญา ต้องแลกกับข้อเสียคือ "พันธะ" ที่เกิดกับเกษตรกร  หลายคนบอกว่าเกษตรกรจะถูกเอาเปรียบได้  และบริษัทก็มักจะผลักภาระบางอย่าง รวมถึงไม่ดูแลสวัสดิการของเกษตรกร ทั้งที่อาจมองได้ว่า  เกษตรกรเป็นเหมือนลูกจ้างบริษัทไปแล้ว

food safety จะเป็นตัวเร่งให้เกิดเกษตรพันธะสัญญา 

 แต่เกษตรพันธะสัญญาก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้กับทุกพืช ทุกสินค้า    กรณีที่เกษตรกรมีตลาดทางเลือก   เช่น  สับปะรด เกษตรกรทำพันธะสัญญาไว้กับโรงงานสับปะรดกระป๋อง  ก็จริง  แต่พอบางช่วงที่สับปะรดผลสดในตลาดมีราคาดี  เกษตรกรก็จะเบี้ยว  เอาผลไม้ไปขายที่ตลาดแทนเข้าโรงงาน

ขอบคุณสำหรับการแลกเปลี่ยนข้อมูลและประสบการณ์นะคะ   เป็นประโยชน์มากเลยค่ะ

สวัสดีครับอาจารย์ครับ

การที่เกษตรกรเอาผลผลิตไปแอบขายให้กับพ่อค้าอื่นไม่รอขายให้คู่สัญญานั้นเป็นเรื่องจริงและมีทั่วไปครับ ในพื้นที่ที่ผมรับผิดชอบก็มีครับ มั่นยั่วยวนรายได้มากเลย เกษตรกรทนไม่ไหวก็แอบขายไป ซึ่งมีผลต่อคู่สัญญาที่ทำโทษด้วยวิธีต่างๆจนถึงยกเลิกสัญญาใน crop ต่อไป

เราเข้าใจทั้งสองด้านครับทั้งชาวบ้านเอง และโรงงาน กรณีของชาวบ้านนั้นเมื่อเราเข้าไปรับทรายรายละเอียดของชีวิต เขาดิ้นรนเพื่อจะได้เงินไปแก้ปัญหา จำเป็นต้องทำแม้ผิดสัญญา  ทั้งที่รู้ๆ และที่ลองดีก็มี โรงงานก็ต้องยึดหลักการ สัญญา

อย่างไรก็ตามหากทำสัญญากันหลายปีกรณีแบบนี้ก็ไม่มีครับเพราะต่างก็รู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

จริงๆผมเห็นศักยภาพเรื่อง Contract Farming อยู่ แต่ต้องมีคนอย่างนักพัฒนาและนักวิชาการเกษตร หรือนักวิชาการจากสถาบันการศึกษาลงไปช่วยทำความเข้าใจและเป็นพี่เลี้ยงให้สัก 2-3 crop เพื่อให้เกษตรกรมีบทเรียนและเรียนรู้กันและเข้าใจลึกซึ้งว่า การทำการเกษตรแบบนี้นั้นเป็นการแฟร์ทั้งสองฝ่ายโดยเอาสัญญามาเป็นตัวเชื่อม  แต่เกษตรกรต้องเข้าใจอย่างละเอียดต่อสัญญานั้นๆ โดยคนนอกดังกล่าวมาช่วยทำความเข้าใจ ซึ่งอาจจะต่อรองกันได้ในสัญญาเพื่อให้เกิดความพึงพอใจทั้งสองฝ่าย

ปีแรกๆชชาวบ้านไม่เข้าใจสัญญาหรอกครับ จนกว่าเกิดปัญหาแล้วจึงไปศึกษารายละเอียดกันจึงทราบว่าเงื่อนไขเป็นอย่างไร แล้วปีต่อๆไปก็เข้าใจมากขึ้นและปรับตัวเข้าได้กับระบบนี้

เกษตรกรหากมีฝีมือในการผลิตดีดีแล้ว การรวมตัวเป็นกลุ่มผู้ผลิตและทำ Contract กับบริษัทก็เป็นไปได้ เพราะผลผลิตเป็นแรงจูงใจให้บริษัท และชาวบ้านรวมกันเป็นกลุ่มก็เป็นพลังต่อรองกันได้ มีน้ำหนักมากขึ้น

แต่เกษตรกรบ้านเราส่วนใหญ่เป็นผู้ผลิตจริงๆ และเป็นรองเขา เขาจะว่าอย่างไรก็เอาตามนั้น ไม่มีปากเสียงเท่าไหร่  และไม่ได้พัฒนาการผลิตในมีผลผลิตที่มีคุณภาพและปริมาณต่อพื้นที่สูงขึ้น ยังอ่อนมากๆในเรื่องนี้ ยกเว้นเกษตรกรในพื้นที่ก้าวหน้าเช่น นครปฐม หรือใกล้ๆกรุงเทพฯ เก่งแล้ว  คนนอกยังต้องเช้าไปช่วยครับ  เกษตรกรตำบล หรือนักวิชาการเกษตรนั้นไม่มีเวลาที่จะเข้าไปดูอย่างใกล้ชิดหรอกครับ นานๆครั้งเท่านั้น

ผมพัฒนากระบวนการนี้ขึ้นมาเรียกว่า V&C คือ Visiting and Coaching ทำแบบวิชาการแบบใกล้ชิดเกษตรกรจริงๆโดยเฉพาะในช่วงปีแรกๆ เพราะพืชที่เอามาปลูกบางทีเกษตรกรไม่เคยมีประสบการมาก่อน ดังนั้นจึงเป็นความเสี่ยง การลดความเสี่ยงคือเพิ่มประสบการณ์เกษตรกร โดยการทำไปเรียนไป ทุกเช้านักวิชาการต้องเดินเยี่ยมแปลง ตรวจสอบพืชพร้อมกับเกษตรกร (เหมือนคุณหมอออกราวด์คนไข้) ดูการให้น้ำ ดิน โรคพืช การเจริญเติบโตเป็นไปตามเกณฑ์ไหม เพราะอะไร สอน แนะนำชาวบ้านไปตลอด ครั้งแล้วครั้งเล่าจนชาวบ้านชำนาญ ก็ห่างออกมาให้เขาทำเองได้  ปัญหามีมากมายครับ  หากนักวิชาการของเรารักอาชีพก็โอเค แต่บางคนไม่ชอบก็ต้องเปลี่ยนคน แก้กันไปครับปัญหามีให้แก้...

ผมทำเอกสาร V&C ไว้เพื่อให้เป็นคู่มือนักวิชาการด้วยครับ

 เกษตรกรหลายราย ดื้อรั้นไม่เชื่อง่าย เอาความคิดตัวเอง  ไม่ค่อยฟังวิชาการบ้าง ก็สนุกครับ หลากหลายดีครับ....

ปัญหาหนึ่งคือ โรคพืชอันเกิดจากจุดอ่อนของพันธุ์ที่บริษัทเอามาให้เราแต่เขาไม่ได้บอกจุดอ่อน เมื่อเกิดโรค นักวิชาการวินิจฉัยไม่ออกว่าเป็นโรคอะไร  แม้นักวิชาการของบริษัทเองก็ทั่วๆไป  เราต้องเอาไปส่งห้องแลปมหาวิทยาลัยขอนแก่นช่วยวิเคราะห์ และขอรับคำแนะนำ ซึ่งทางอาจารย์ให้ความร่วมมือดีมาก แต่กว่าจะสรุปได้ก็กินเวลาหลายวัน ก็ช้าไปเสียแล้ว  พบว่าโรคชนิดนี้แพร่กระจายทางน้ำ????? พืชชนิดนี้ให้น้ำโดยวิธีปล่อยให้ไหลไปตามร่องทั่วทั้งแปลง...??? อาจารย์ครับเรื่องอย่างนี้หากไม่มีนักวิชาการใกล้ชิด ชาวบ้านเจ้ง....

 ปัญหามามาก แต่ก็บทเรียนจะช่วยให้ขจัดปัญหาได้ครับ

สวัสดีปีใหม่ครับอาจารย์ ผมติดตามบันทึกของอาจารย์อยู่เสมอ ได้รับความรู้ไปมากเลยครับ ขอบคุณและสวัสดีปีใหม่ครับ

ขอบคุณสำหรับความรู้นะคะ เอาไปใช้กับรายงานสัมนาได้ดีเลยค่ะ ^-^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท