ภาษิตพม่าที่น่าสนใจ


พอมีน้ำเต้า ก็นับเป็นแม่ป้า
ภาษิตพม่าที่น่าสนใจ
พอมีน้ำเต้า ก็นับเป็นแม่ป้า (บูตีหมะ อะยีด่อ)
ชาวพม่านิยมกินน้ำเต้า(บูตี) ทั้งส่วนที่เป็นผลน้ำเต้าและยอดน้ำเต้า นำมาต้มหรือผัดเป็นกับข้าว หรือทอดเป็นเครื่องเคียงกินกับขนมจีนน้ำยา ปกติพม่าจะปลูกร้านน้ำเต้าไว้ในบริเวณบ้าน บางคราวก็จุนเจือเพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้เคียง ภาษิตนี้มีนิทานเล่าเป็นปูมไว้ว่า
ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง มีสาวแก่คนหนึ่งเป็นคนปากร้าย ชาวบ้านจึงไม่อยากคบหากับนาง ในวันหนึ่งร้านน้ำเต้าของนางออกผลจนลูกใหญ่น่ากิน ด้วยความอยากจะกินผลน้ำเต้าของนาง ชาวบ้านจึงพากันพูดจาปราศรัยเอาใจนาง และเรียกนางว่า "แม่ป้า" (อะยี) นางพอใจ จึงแบ่งผลน้ำเต้านั้นให้ชาวบ้านกินกัน
จากภาษิตนี้ พม่าตั้งใจสอนให้รู้จักคบคน ไม่ควรมองคนเพียงด้านเดียว บางทีอาจพบเพื่อนบ้านที่ไม่น่าวิสาสะนัก แต่ก็ไม่ควรแหนงหน่ายชิงชัง ถึงคราวต้องพี่งพา จะได้ไม่ต้องตกอยู่ในภาวะเช่นชาวบ้านในนิทาน

เกาะพึ่งพง พงพึ่งเกาะ (กายจูนหมี่ จูนกายหมี่)
บริเวณปากแม่น้ำ มักพบเกาะเล็กๆปกคลุมด้วยหญ้าพง กก และแขม เกาะ(จูน)นั้นก็คือตะกอนดินที่ผลุดเมื่อน้ำลด แรกๆจะเป็นเนินดินอ่อน จึงยากที่จะต้านกระแสน้ำ ต่อเมื่อหญ้าพง(กาย)หรือพืชอื่นงอกคลุมดินนั้นเกาะจึงคงอยู่ได้ แม้พงจะช่วยรักษาดินมิให้พังทะลาย แต่ถ้าเกาะถูกน้ำกัดเซาะ หญ้าพงหรือพืชที่ขึ้นอยู่บนเกาะก็ย่อมต้องไหลไปตามน้ำ
พม่าผูกภาษิตนี้จากการที่ได้สังเกตสิ่งธรรมชาติที่จำเป็นต้องพึ่งพิงกัน มนุษย์ก็ดุจเดียวกัน แม้จะมีบทบาทและฐานะที่แตกต่างกันก็ตาม ต่างต้องพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน และควรคอยให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลอย่างมิตร หากเห็นภัยจะมาถึงฝ่ายหนึ่ง อีกฝ่ายหนึ่งต้องคอยปกป้องให้พ้นอันตราย

ปลูกร้านค้า ไว้หลังบ้าน (เองเน่าก์เพ เซส่ายแต่)
ธรรมเนียมการปลูกเรือนของชาวพม่านั้น นิยมบ้านที่มีรั้วและมีบริเวณ โดยกำหนดให้มีตัวเรือนอยู่อาศัย ล้อมรอบด้วยพื้นที่ปลูกพืชสวนครัว อาทิ น้ำเต้า ฟัก กระเจี๊ยบ พริก มะเขือ ตลอดจน มะละกอ กล้วย มะพร้าว ฝรั่ง และมะม่วง เป็นอาทิ และมักแยกโรงครัวและคอกสัตว์เลี้ยงไว้เป็นที่จำเพาะ บ้านเรือนรูปแบบเช่นว่านี้ ยังพบทั่วไปในเขตชนบทและชานเมือง
ถ้อยคำอุปมาข้างต้นเปรียบสวนครัวเป็นดุจร้านค้า(เซส่าย) ที่ตั้งอยู่หลังบ้าน(เองเน่าก์เพ) พม่ามุ่งสอนให้รู้จักพึ่งตัวเอง ด้วยการปลูกผักและไม้ผลไว้รอบบ้าน จะพึ่งตลาดเฉพาะข้าว น้ำมัน เกลือ เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค อีกทั้งสวนครัวและต้นไม้ใกล้บ้านจะช่วยยังความชุ่มชื้น และกรองไอร้อนจากภายนอก สวนครัวในบ้านจึงช่วยทุ่นค่าใช้จ่ายและสร้างความร่มเย็นให้กับผู้อาศัย ฉะนั้นหากมีสวนครัวเป็นดุจร้านค้าไว้หลังบ้าน ไม่พึ่งตลาด ก็น่าจะอยู่ได้อย่างสุขกายสบายใจ

ร้อยผล หนี่งขั้ว (อะดีตะหย่า อะหญ่าตะคุ)
ผลไม้(อะตี) อาทิ องุ่น ลางสาด และเงาะจะออกผลเป็นช่อ แต่ละช่อมีเพียงขั้วเดียว แต่ให้ผลนับสิบนับร้อย หากเด็ดที่ขั้ว(อะหญ่า) ก็จะได้ผลมาทั้งหมด ในทำนองเดียวกัน ครอบครัวหนึ่งๆมีพ่อแม่เป็นหลัก หมู่บ้านหนึ่งๆมีผู้ใหญ่บ้านปกครอง โรงเรียนหนึ่งๆมีครูใหญ่ดูแล และประเทศหนึ่งๆ ย่อมมีผู้นำประเทศ ขั้วจึงเปรียบได้กับผู้นำหรือผู้ปกครอง และเปรียบผลเป็นดุจผู้ตามหรือผู้ได้รับการคุ้มครอง
สังคมพม่าเป็นสังคมระบบอุปถัมภ์ ให้ความสำคัญต่อผู้นำและอาวุโส ความสัมพันธ์ระหว่างผู้นำและผู้ตามถือเป็นความจำเป็นทางสังคม ดุจเดียวกับความสัมพันธ์ระหว่างขั้วและผลไม้ ดังพบว่าเด็กมักหวังพึ่งผู้ใหญ่ และผู้ใหญ่ก็ต้องการความเคารพนับถือจากเด็ก หรือผู้ปกครองต้องได้รับการยำเกรง หากความสัมพันธ์นี้ขาดลง เชื่อว่าจะนำมาสู่ปัญหาทันที และเชี่ออีกว่าพฤติกรรมของกลุ่มชนหนึ่งย่อมสะท้อนตัวผู้นำกลุ่มนั้น
ภาษิตนี้ดูจะยอมรับผู้นำว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มชน ผู้อยู่ใต้อำนาจเป็นเพียงสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาตามแต่เจตนาจะให้ได้รับการปลูกฝัง โดยหวังมิให้ผู้ตามประพฤติตนออกนอกลู่นอกทางจนเป็นผลร้ายต่อภาพลักษณ์และเสถียรภาพของผู้นำ อันจะนำมาสู่ภาวะไร้สันติในกลุ่มชน ภาษิตนี้ยังคงใช้ได้กับสังคมพม่าในปัจจุบัน

ทีคนมีหน้าตา ให้เนื้อแกง (เมี๊ยะหน่าจีหย่า ฮีงพัดบ่า)
งานบุญในพม่า โดยเฉพาะงานทำบุญเลี้ยงพระในงานวันอุโบสถ งานบวช งานเจาะหู งานวันเกิด งานแต่งงาน ฯลฯ มักมีผู้มาร่วมกันมากหน้าหลายตา หลังจากถวายอาหารแด่พระสงฆ์เสร็จสิ้น ผู้มาในงานมักจะรับประทานอาหารร่วมกัน โดยนั่งพื้นล้อมวงรับประทานอาหารร่วมสำรับ ผู้เป็นเจ้าภาพจะคอยดูแลเติมอาหารให้ไม่ขาด อีกทั้งอาจคอยนั่งพัดวี ถือเป็นธรรมเนียมของชาวพม่าที่ผู้เป็นเจ้าบ้านต้องดูแลเอาใจแขกของตนเป็นพิเศษ
สำหรับคนที่ชอบทำคุณเอาหน้า ใส่ใจเฉพาะคนมั่งมีหรือผู้มีวาสนา และละเลยผู้ด้วยฐานะ มักถูกประชดด้วยถ้อยคำดังกล่าว เปรยดุจว่า พอเป็นคนมีหน้ามีตา(เมี๊ยะหน่าจี) จึงตักเนื้อแกง(ฮีงพัต)ให้ แต่พอเห็นว่าเป็นคนยากจนหรือต่ำต้อยกลับตักให้เพียงน้ำแกง ความเหลื่อมล้ำลำเอียงที่แฝงอยู่ในใจคนจึงอาจเผยให้เห็นได้แม้แต่ในงานบุญ

คนเจียนจมน้ำ ยันลำไผ่ช่วย (เหย่นิจ์ตู่ วากู่โละโท้)
โดยปกติยามที่คนว่ายน้ำไม่เป็นตกน้ำลึก ย่อมต้องดิ้นรนกระเสีอกกระสนให้พ้นน้ำ และอาจขาดสติที่จะประคองตัวช่วยเหลือตน แต่การยัน(โท้) ไม้ไผ่(วา) จ่อคนที่เจียนจะจมน้ำ(เหย่นิจ์ตู่)เพื่อหมายช่วยชีวิตนั้น อาจซ้ำร้ายกลายเป็นกดคนให้จมน้ำ แทนที่จะเป็นผลดี จึงกลับส่งเป็นผลร้าย
ในสังคมมนุษย์ ย่อมมีผู้ตกทุกข์ได้ยาก และอาจแสนสาหัส ดุจหนึ่งผู้กำลังจะจมน้ำ การให้ความช่วยเหลือผู้ทุกข์ยากให้พ้นจากภาวะวิกฤตของชีวิตนับเป็นสิ่งประเสริฐ แต่การซ้ำเติมจะด้วยเจตนาหรือไม่ก็ตามถือเป็นสิ่งมิอันควร ภาษิตนี้สะท้อนความผิดพลาดของมนุษย์ที่ก่อเรื่องร้ายด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์ แม้ภาษิตดังกล่าวจะมีนัยของการทำร้ายผู้อื่นโดยเผอเรอก็ตาม แต่ชาวพม่ามักตีความภาษิตนี้ในนัยว่าเป็นเจตนาซ้ำเติมผู้ที่กำลังตกอยู่ในกองทุกข์

ลักข้าว ไม่โดน  ลักแกลบ โดน   CoN-6bt,,b  z:c-6bt,b Zสั่งโค มะมิ    พแวโค มิ)
พม่ามีคำเกี่ยวกับ “ข้าว” ๓ คำ คือ เรียกข้าวเปลือกว่า ซะบา(0xjt) เรียกข้าวสารว่า สั่ง (CoN) และเรียกข้าวสุกว่า ทะมีง(5,'Nt) ส่วนแกลบเรียกว่า พแว (z:c) และเรียกรำว่า พแวนุ (z:cO6)
ภาษิตนี้มีเรื่องเล่าว่า ณ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง หัวขโมย(l^-6bt)คนหนึ่งชอบเที่ยวขโมย(-6bt)ข้าวเปลือกตามยุ้งฉางของชาวบ้าน และมักทำเช่นนี้อยู่บ่อยๆ แต่กลับไม่(,)เคยถูกจับ(,b)ได้สักครา อยู่มาวันหนึ่งในฤดูหนาว มีชายอีกคนหนึ่งได้เข้าไปลักแกลบของชาวบ้านหลังเดิมนั้นเพียงเพื่อหวังจะเอามาก่อไฟผิง ชายลักแกลบกลับถูกเจ้าของจับได้ เลยถูกเหมาว่าเป็นคนเดียวกับคนที่เคยขโมยข้าวเปลือก จึงถูกฝ่ายเจ้าของรุมทำร้าย ดังนั้นคนขโมยข้าวตัวจริงจึงรอดตัวไปอย่างลอยนวล
ภาษิตนี้มักใช้ตัดพ้อว่าทีทำการใหญ่ได้สำเร็จมามากมาย  กลับไม่มีใครเห็น แต่พอพลาดเพียงเล็กน้อยกลับเห็นเป็นเรื่องใหญ่โต และมักใช้ภาษิตนี้เสียดสีความไม่ยุติธรรมจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ กรณีที่คนมีอำนาจทำผิดกฎหมายในเรื่องใหญ่ๆ
แต่กลับไม่ถูกลงโทษ แต่พอชาวบ้านธรรมดาทำผิดเพียงเรื่องเล็กน้อย กลับถูกเข้มงวดและเอาโทษจริงจัง ชาวพม่ามักจะใช้ภาษิตนี้คอยเตือนตนไม่ให้ทำในสิ่งที่ตนไม่ชำนาญหรือไม่รู้ความตื้นลึก มิเช่นนั้นจะเป็นช่องให้ผู้อื่นจับผิดให้เป็นแพะเอาได้ง่ายๆ โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับบ้านเมือง

ยามยอ อย่าเหลิง   ยามขู่ อย่าขลาด   ยามปลอบ อย่าเปลี้ย  
ge,ËkdN96b'Nt]PNt  ,ge,kdNoch  ge-kdN96b'Nt]PNt  ,gEdkdNoch  g-ykH96b'Nt]PNt ,gxykHoch
ในเวลานี้ โทรทัศน์พม่ากำลังรณรงค์ให้ชาวพม่าตระหนักถึงภัยต่างชาติ ด้วยคำสอนปลุกใจข้างต้นเพื่อรั้งสติชาวพม่าอยู่ทุกค่ำคืนในเวลาช่วงหลังรายการข่าวภายในประเทศ เหตุเพราะพม่าถูกกดดันทางเศรษฐกิจและการเมืองจากนานาประเทศอยู่เสมอ โดยเฉพาะจากประเทศตะวันตก คำคมนี้มีที่มาจากคำประพันธ์ในยุคอดีต ต่อมาได้นำมาเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อร้องเพลงปลุกใจ และใช้เป็นคำขวัญสำหรับประชาชน
หากคิดในมุมมองพม่าก็คงเป็นการให้กำลังใจประชาชนและรัฐบาลพม่าเอง ที่จะไม่ยอมให้ประเทศอื่นมาคอยยกยอหรือกล่อมเอาใจ หรือมาข่มขู่ให้ต้องกลัวเกรง แต่ถ้าหากคิดในมุมมองของคนภายนอก ก็อาจมองว่าพม่าคบยาก ปิดกั้นตัวเอง และไม่ยอมเข้าใจโลก หรืออาจจะเห็นใจพม่าที่เสมือนถูกกระทำไม่ให้มีโอกาสที่จะกำหนดทางเลือกที่เหมาะสมได้เอง
อย่างไรก็ตาม การโต้ตอบผ่านสื่อโทรทัศน์ด้วยการปลุกคนในชาติให้ซึมซับเป็นอารมณ์ร่วมเช่นนี้ แม้อาจเป็นเพราะรัฐบาลพม่าไม่ปรารถนาให้ต่างชาติมามีอิทธิพลทางการเมืองในประเทศของตนก็ตาม แต่การยื่นอาวุธโทสะให้กับประชาชนอยู่เสมอทางสื่อของรัฐนั้น อาจกลับสร้างความหวาดระแวงต่อคนต่างชาติจนเกินไป และยังอาจเพิ่มความแปลกแยกระหว่างประชาชนฝ่ายรัฐกับประชาชนฝ่ายต่อต้านให้แหลมคมยิ่งขึ้น

เจดีย์เสร็จ รื้อนั่งร้าน 46iktwxut e',NtzydN  Zพยา-บี ญาง-ผแยะ)
คำ พยา (46ikt) นั้น หมายถึง “พุทธเจดีย์” ส่วน ญาง (e',Nt) หมายถึง “นั่งร้าน” บี หรือ ปยี (wxut) แปลว่า “เสร็จ” และ ผแยะ (zydN) แปลว่า “รื้อ”
ภาษิตนี้มีที่มาจากประวัติศาสตร์พม่าในปลายสมัยพุกาม  เรื่องมีว่า ตอนที่พระเจ้านรสีหปเต๊ะ(oilusxg9H,'Nt)ได้ขึ้นครองบัลลังก์นั้น พระองค์ได้รับการสนับสนุนจากมหาอำมาตย์นามว่า ราชตีงจังหรือราชสังกราน(ik=lWd§oN) แต่จากนั้นพระองค์กลับไม่ใส่ใจอำมาตย์นั้นอีกเลย ด้วยความน้อยใจ ราช-ตีงจังจึงมีอุบายทำเป็นถือพานหมากบิ่นเข้าเฝ้า พอพระองค์ทรงถามก็ทูลว่าเป็นเพราะไม่มีช่างกลึงเสียแล้ว ก็จึงต้องใช้ไปเช่นนั้น พระเจ้านรสีหปเต๊ะทรงเข้าใจความนัย เพราะพระบิดามารดาของพระองค์เคยเป็นช่างกลึงมาก่อน พระองค์จึงทรงถามย้อนไปว่า หากท่านอำมาตย์ตั้งยอดสถูปแล้ว ท่านก็ต้องรื้อนั่งร้านออกเช่นกัน แล้วพระองค์ก็ถอดยศยึดทรัพย์ และเนรเทศราชตีงจังไปอยู่ ณ เมืองทะละ(m])
ภาษิตนี้เป็นถ้อยคำตัดพ้อเพราะถูกตัดรอน จากการที่พม่าเป็นสังคมอุปถัมภ์ การผูกมิตรโดยแลกเปลี่ยนความช่วยเหลือเกื้อกูลกันถือเป็นธรรมเนียมที่พบได้เสมอ หากฝ่ายหนึ่งได้รับความช่วยเหลือจากฝ่ายหนึ่ง ผู้รับต้องตระหนักเสมอว่ามิมีสิ่งใดที่ได้มาโดยมิต้องตอบแทน เมื่อมีรับก็ต้องมีให้ แต่ถ้าผู้ให้เร่งร้อนที่จะได้รับการสนองคุณ ก็อาจส่งผลร้ายจนถึงขั้นตัดไมตรี ผู้ให้จึงควรอดกลั้นที่จะไม่คาดหวังจนเกินไป
ภาษิตพม่าบทนี้ยังเตือนว่า ในการให้นั้น ทีแรกผู้ให้ย่อมมีความหมายต่อผู้ที่จะรับ แต่เมื่อให้ไปแล้ว ผู้รับอาจมองฐานะของผู้ให้เป็นผู้ขอ ในการเกื้อกูลจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ 
อย่างไรก็ตาม ภาษิตนี้ก็เคยสร้างความรู้สึกกังขาให้กับชาวพุทธพม่าเพราะมองว่าการสร้างเจดีย์นั้นเป็นเรื่องของการประกอบมหากุศลและนั่งร้านนั้นก็มีคุณ จึงไม่ควรนำมาเปรียบเทียบกับพฤติกรรมมนุษย์ ซึ่งมักปนเปื้อนด้วยกิเลสตัณหา

วิรัช นิยมธรรม
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15582เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 19:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 18:37 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท