พระมาลัย : วรรณกรรมท้องถิ่นที่เลือนหายจากสังคมพม่า


ชาวพม่ารู้จักพระมาลัยว่าเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง มีนาม ว่า เฉี่ยนมาแล
พระมาลัย : วรรณกรรมท้องถิ่นที่เลือนหายจากสังคมพม่า
ชาวพม่ารู้จักพระมาลัยว่าเป็นพระอรหันต์องค์หนึ่ง มีนาม  ว่า เฉี่ยนมาแล (ia'N,k]c) เรื่องราวของพระมาลัยมีกล่าวไว้ในคัมภีร์พุทธศาสนานอกพระไตรปิฎก  พบว่ามีทั้งที่เขียนเป็นภาษาบาลีและภาษาพม่า อย่างไรก็ตามชาวพม่าทั่วไปแทบไม่รู้จักเฉี่ยนมาแล  ความรู้เกี่ยวกับเฉี่ยนมาแลจึงต้องศึกษาจากเอกสารโบราณ และเค้ามูลจากประเพณีของบางท้องถิ่นเท่านั้น
เรื่องราวของพระมาลัยในประเทศพม่ามีกล่าวถึงในแง่ของความเป็นมาและงานพิธี โดยบันทึกเป็นจารึก คำบอกเล่า และ สิ่งปลูกสร้าง  จากหลักฐานด้านจารึกเผยให้ทราบว่าคัมภีร์มหาวงศ์(,sk;"l) เป็นคัมภีร์ที่กล่าวถึงเรื่องของเฉี่ยนมาแลไว้แรกสุด  โดยพระมหานามะเถระ (,skok,g5iN) จากเมืองอนุรา (vO6ik1,bh) เกาะสิงหล ซึ่งมีการเรียบเรียงในราวปีพุทธศักราช ๖๐๐ หรือ ๘๐๐   ต่อมาในคริสตศักราชที่ ๑๘๗๘ พระจีแตเลทะสะยาดอ (dyutlcg]t5xNCikg9kN) แห่งเมืองชเวต่อง(gU­g9k'N1,bh) ได้แปลคัมภีร์อรรถกถามหาวงศ์นั้นออกมาเป็นภาษาพม่า   และตั้งชื่อว่า มหาวงศ์วัตถุ (,sk;'N;9¶7 )
ในคัมภีร์มหาวงศ์วัตถุนั้นกล่าวถึง เฉี่ยนมาแล ว่า คือ พระมาลิ-ยะมหาเทวะอรหันต์มหาเถระ ซึ่งเป็นใหญ่ในบรรดาพระอรหันต์ ๕ รูป พระองค์ทรงออกบิณฑบาตรับข้าวยาคูและภัตตาหารจากกษัตริย์ทุฏฐคามณิ(m6D8j,Ib) แห่งเกาะสิงหล แล้วนำไปแจกจ่ายแก่สงฆ์ ๙๐๐ รูป ที่จำพรรษาอยู่    นอกจากนี้ยังพบเรื่องราวของพระมาลัยจากในคัมภีร์ รสวาหินี(il;jsbou)ที่พระรัฏฐปาละ(via'NiDxj])แห่งมหาวิหารวาสีแปลไว้เป็นภาษาบาลี
ในคัมภีร์รสวาหินีนี้ประกอบด้วยเรื่องเล่า ๑๐๓ บท ใน ๔๐ บทแรก กล่าวถึงเรื่องที่เกิดในชมพูทวีป ส่วนใน ๖๓ บทท้าย กล่าวถึงเรื่องราวที่เกิดในเกาะลังกาทีปสิงหล คัมภีร์รสวาหินีนี้ในประเทศพม่ารู้จักกันดีในชื่อว่า มธุรรสวาหินีวัตถุ(,T6iil;jsbou;9¶7)   มธุรรสวาหินีวัตถุฉบับนี้เรียบเรียงในสมัยพุกามแต่ไม่ทราบชื่อผู้แต่ง และกล่าวกันว่าเป็นคัมภีร์ที่เขียนเป็นภาษาบาลีพม่า   โดยแปลมาจากภาษาสิงหล   ต่อมามีการแปลเป็นภาษาพม่า แต่มิได้กล่าวไว้ว่าเขียนเสร็จเมื่อไร     อย่างไรก็ตามได้พบหนังสือฉบับคัดลอกหนหลังในปี ค.ศ.๑๗๗๓  
ในคัมภีร์มธุรรสวาหินีได้กล่าวถึงพระมาลัยว่า พระมาลัยได้ไปปฏิบัติกรรมฐานในวัดป่าเวลิยวิหาร เกาะสิงหล วันหนึ่งเกิดอาพาธ เป็นโรคลมแน่นท้องจึงต้องออกบิณฑบาตข้าวยาคูมาเป็นยารักษาโรคจากอุบาสกผู้หนึ่ง และด้วยทิพยญาณว่าอุบาสกผู้นี้จะได้เป็นเทพในสวรรค์ชั้นดุสิต จึงพาอุบาสกผู้นั้นไปกราบไหว้พระธาตุจุฬามณีบนสรวงสวรรค์ เมื่อไปถึงสรวงสวรรค์อุบาสกผู้นั้นก็ได้พบหมู่เทพและได้พบพระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์ และเมื่อกลับมาก็ได้บอกเล่าความสุขสบายในสรวงสวรรค์ให้ชาวบ้านทั้งหลายฟังจนชาวบ้านต่างมีจิตประกอบกุศลกันอยู่เนื่องๆ       และในที่สุดอุบาสกผู้นั้นก็ได้ไปเกิดเป็นเทพนามว่า มเหสักกะ ณ สวรรค์ชั้นดุสิตนั้น
ต่อมาคัมภีร์มธุรรสวาหินีนั้นได้กลายมาเป็น เฉี่ยนมาแลวัตถุ (พระมาลัยวัตถุ) ซึ่งมีเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระมาลัยที่แตกต่างออกไป คือ พระมาลัยได้ไปจำพรรษา ณ หมู่บ้านโรหณชนบท เกาะสิงหล วันหนึ่งได้ไปยังเมืองนรกและสวรรค์ ขณะที่ไปในเมืองนรกได้พบเห็นชาวนรกที่ต้องทนทุกข์ทรมาน และเมื่อไปในสวรรค์ก็ได้พบกับเหล่าเทพผู้มีบริวารสมบูรณ์พร้อม โดยพระอินทร์เป็นผู้เล่าความเป็นมาของเทพเหล่านั้นให้ฟังว่าเคยได้ประกอบกรรมดีอันใด จึงส่งผลให้มาเกิดเสวยสุขในสรวงสวรรค์ นอกจากนี้พระมาลัยยังได้พบและสนทนากับพระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์ และพระศรีอาริยเมตไตรยโพธิสัตว์ได้ฝากให้บอกชาวโลกให้ประกอบกุศลทำบุญและฟังธรรมเป็นนิจสิน เพื่อจะได้พบกับพระองค์ในภพหน้า เมื่อพระมาลัยกลับมายังโลกมนุษย์ก็ได้เล่าเรื่องราวต่างๆให้ชาวบ้านฟัง ชาวบ้านผู้เลื่อมใสจึงปฏิบัติกุศลและทำทานกันถ้วนหน้า
ในประเทศพม่านั้นได้พบเรื่อง เฉี่ยนมาแลวัตถุ หรือ พระมาลัยวัตถุจำนวนมาก ทั้งในรูปคำภีร์ใบลานและหนังสือบุด   ในบรรดาเอกสารเหล่านั้นได้พบหนังสือใบลานพระมาลัยเก่าแก่ฉบับหนึ่งที่คัดลอกในปี ค.ศ.๑๖๖๘  สมัยพระเจ้าญองยาง(gPk'Ni,Nt) ตัวอักษรที่จารเป็นภาษาพม่าสมัยญองยาง โดยแปลมาจากภาษามคธ(บาลี)  และมีอีกฉบับหนึ่งเป็นเรื่องเล่าเกี่ยวกับพระมาลัย เขียนไว้ในปี ค.ศ.๑๗๖๑ กล่าวกันว่าเป็นฉบับที่แปลมาจากภาษาไทย อย่างไรก็ตามเนื้อหาของเรื่องจากใบลานเก่าแก่ ๒ ฉบับนี้ไม่มีความแตกต่างกัน ต่อมาในปี ค.ศ. ๑๘๐๔ ของสมัยคอนบอง  ได้มีการแต่งเรื่องพระมาลัยในรูปแบบกาพย์กลอนที่เรียกว่า ปโยะลีงกา(xyb7h]d§k) ในบรรดาพระมาลัยวัตถุที่เขียนเป็นกาพย์กลอนนี้ เฉี่ยนมาแลปโยะ(ia'N,k]cxy7bh)หรือ กาพย์พระมาลัย โดยกวีอูโน(FtO6bt)แห่งสมัยคอนบองนับเป็นงานที่เด่นมาก  ในต้นยุคอาณานิคม ยังมีการพิมพ์พระมาลัยฉบับปโยะเผยแพร่เป็นจำนวนมาก แต่กลับมิได้ระบุชื่อผู้แต่งไว้ เพียงแต่กล่าวว่าได้เคยมีการจัดพิมพ์เฉี่ยนมาแลวัตถุไว้ฉบับแรกในโบราณทีปนี(gxjikImuxou) ฉบับที่ ๒ ซึ่งเขียนโดยสะยาเตง(CiklboNt) แห่งเมืองหม่อบี่(g,ak4u) จึงกล่าวได้ว่าในสมัยอาณานิคมนั้นเป็นช่วงที่มีการตีพิมพ์เรื่องเฉี่ยนมาแลวัตถุ(พระมาลัยวัตถุ)อย่างแพร่หลาย
นอกเหนือจากการกล่าวถึงประวัติความเป็นมาและคำบอกเล่าเรื่องราวของพระมาลัยผ่านงานที่เป็นลายลักษณ์อักษรแล้ว ในสังคมพม่ายังมีการกล่าวถึงความสำคัญของพระมาลัยต่อวิถีชีวิตชาวบ้านในรูปแบบต่างๆด้วย  เช่น การจัดงานประเพณี  การใส่บาตรพระมาลัย ตลอดจนการตั้งชื่อพระเจดีย์
การจัดงานประเพณีพระมาลัยนั้น มีชื่อเรียกภาษาพม่าว่า เฉี่ยนมาแล-บแว (ia'N,k]cx:c) งานเฉี่ยนมาแล-บแวนี้ เป็นงานประเพณีงานหนึ่งที่ชาวพม่าเคยรู้จักกันดี   มีหลักฐานว่า ธรรมเนียมการจัดงานนี้มีสืบมาตั้งแต่สมัยพุกามจนถึงสมัยรัตนบุระอังวะ (i9okx6") และมีการกล่าวถึงการจัดงานเฉี่ยนมาแล-บแวไว้หลายแห่ง เช่นในจารึกตีงจีญ่องโอะ (l'NWdutgPk'Nv6xNgdykdN0k) ค.ศ.๑๒๐๑     กล่าวถึงการฟังธรรมเรื่องพระมาลัยในสมัยพุกามไว้  และในจารึกสมัยพุกามก็มีการกล่าวถึงเรื่องพระมาลัยควบคู่ไปกับพระเวสสันดร  อีกทั้งในจารึกมิพญาจีชเวจอง(,b46iktWdutgU­gdyk'Nt) สมัยพระเจ้ามีงจีสวา(,'NtWdut0:k) แห่งกรุงอังวะ ค.ศ.๑๓๗๓    ได้จารึกไว้ว่า มีการฟังธรรมเฉี่ยนมาแลมาตั้งแต่สมัยพุกาม และยังกล่าวถึงการจัดงานเฉี่ยนมาแล-บแวว่าจัดกันอย่างยิ่งใหญ่ ส่วนในเมียนมามีงโอะโชะโป่งส่าตาน (e,oN,k,'Ntv6xN-y7xNx6"0k9,Nt-คำบันทึกการปกครองของกษัตริย์พม่า) ฉบับที่๕  ได้กล่าวไว้ว่า  การจัดงาน เฉี่ยนมาแล นี้  เป็นงานประเพณี ๑ ใน ๓ งาน ที่จัดในเดือนตะส่องโมง หรือเดือน ๘ ของพม่า เป็นช่วงเดียวกับงานทอดกฐินและงานตามประทีปในระหว่างเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน 
นอกจากการจัดงานประเพณีแล้ว ในจารึกเกี่ยวกับปราสาทมหามุนี ก็ได้กล่าวถึงเรื่องการใส่บาตรเฉี่ยนมาแลซูน(ข้าวพระมาลัย)แด่พระสงฆ์ด้วย  นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงการตั้งชื่อพระเจดีย์ว่าเฉี่ยนมาแล ดังพบในบทกลอนเจและกาพยา(gdyt]dNdryk) ซึ่งเป็นเพลงกลอนพื้นบ้านสมัยคอนบองได้กล่าวถึงพระเจดีย์ชเวมาแล(gU­,k]c46ikt) ที่เมืองซิ่งกู่(0fNhd^t)ไว้ว่า  สาวชาวนาชักชวนคนรักไปยังพระเจดีย์ชเวมาแล       เพื่อยกหินเสี่ยงทายว่าทั้งสองจะเป็นคู่ครองที่แท้จริงหรือไม่  และที่เมืองยะมีตีง(i,PNtl'Nt)มีพระเจดีย์เล็กๆ ๑ องค์ ชื่อว่า เฉี่ยนมาแล-พยา(ia'N,k]c46ikt) ที่พระเจดีย์มีป้ายติดไว้ว่าเป็นพระเจดีย์สมปรารถนา ในเดือนตะส่องโมง(เดือน ๘ พม่า)จะมีการจัดงานเฉี่ยนมาแล-บแว ชาวบ้านจะนำเครื่องบูชามาบูชาพระเจดีย์ ซึ่งเรียกว่า พันห้าอย่าง (g5k'N'jt]u) อันประกอบด้วย ประทีป ข้าว ดอกไม้ น้ำ และตุง
นอกจากนี้ยังพบพระนามของกษัตริย์ปรากฏในจารึกหลายพระองค์ อาทิ พระเจ้าอะลองสี่ตู(vg]k'Nt0PNl^) พระเจ้าช้างเผือกหงสาวดี(บุเรงนอง) และพระเจ้าโพด่อพญา(46btg9kN46ikt) ว่าได้ถวายที่ไร่ที่นาต่อพระเจดีย์ จึงอาจกล่าวได้ว่าพระเจดีย์ชเวมาแลนี้ได้สร้างมานับแต่สมัยพุกามแล้ว และก็มักจะจัดงานฉลองพระเจดีย์ในเดือนตะส่องโมงดังกล่าว
นอกจากนี้ยังพบพระเจดีย์เฉี่ยนมาแลที่เมืองมัณฑะเล ณ บริเวณด้านเหนือของพระเจดีย์มหามุนี (,sk,6ob46ikt)    และในคันธกุฎีบนพระเจดีย์เฉี่ยนมาแลนั้นมีพระพุทธรูปองค์หนึ่ง นามว่า เฉี่ยนมาไลก์พญา (ia'N,k]6bdN46ikt) และมีการจัดงานฉลองเฉี่ยนมาแลเป็นประจำทุกปี โดยงานจะเริ่มในตอนบ่ายของวันเพ็ญเดือนตะส่องโมง จะมีคนขายดอกบัวที่ลานพระเจดีย์ และผู้คนที่มากราบไหว้เจดีย์ก็จะซื้อดอกบัวถวาย โดยบ้างก็ปักไว้ในแจกัน และบ้างก็โยนบัวขึ้นไปยังองค์พระเจดีย์เป็นที่สนุกสนาน แต่กลับไม่พบการเทศนาพระเวสสันดรชาดกและคำสวดพระมาลัย แม้แต่ทายกวัดก็ยังไม่รู้จักเรื่องราวเฉี่ยนมาแลวัตถุ จึงอาจกล่าวได้ว่าในปัจจุบันนี้ ชาวเมืองมัณฑะเลไม่ค่อยรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเฉี่ยนมาแลวัตถุกันนัก
ส่วนที่รัฐยะไข่(i-6b'NexPNopN)ก็พบว่าเคยมีธรรมเนียมการสวดพระมาลัยวัตถุและพระเวสสันดรชาดก โดยจะสวดทั้ง ๒ คาถาพร้อมกันในวันเดียวของวันเพ็ญเดือนตะดีงจู๊ต (เดือน ๗ ช่วงงานจุดประทีปและออกพรรษา) มีการจัดงานในบริเวณวัด และสร้างมณฑป ๑,๐๐๐ หลัง ในแต่ละมณฑปจะจัดวางของบริจาคอย่างละ ๑,๐๐๐ ชิ้น และในการอ่านพระมาลัยวัตถุและพระเวสสันดรชาดกจะจัดผู้อ่านผลัดเปลี่ยนกัน   ในใบลานเฉี่ยนมาแลวัตถุที่พบที่เมืองยะไข่นั้นบอกปีไว้ว่าเป็นปี ค.ศ. ๑๙๒๔ เรื่องราวพระมาลัยในใบลานของยะไข่นั้นเหมือนกับเรื่องราวของเฉี่ยนมาแลวัตถุของพม่า  ในปัจจุบันงานฉลองเฉี่ยนมาแลของยะไข่ไม่เป็นที่นิยมแล้ว
ส่วนในรัฐฉาน คนไทขึนในรัฐฉานมีธรรมเนียมอยู่ว่า หลังจากแต่งงานได้ระยะหนึ่งแล้ว ชีวิตครอบครัวจึงจะลงตัว เมื่อถึงเวลานั้นก็จะทำบุญด้วยการคัดลอกประวัติของพระมาลัย และเรื่องราวพระเวสสันดรชาดก จากนั้นจะเชิญเพื่อนบ้านให้มาฟังบทสวด หลังจากพิธีนี้แล้วจึงจะถือว่าครอบครัวใหม่นี้เป็นที่ยอมรับของสังคม พิธีการอ่านพระมาลัยวัตถุและพระเวสันดรชาดกนับเป็นที่แพร่หลายในรัฐฉาน
ส่วนทางตอนล่างของประเทศพม่า มีการจัดงานเฉี่ยนมาแลเช่นกัน โดยมีรูปแบบต่างออกไป คือจะจัดทำมณฑปเป็นรูปเรือใหญ่ที่เรียกว่า หล่อกา(g]akNdkt) เพื่อใช้เป็นที่จัดวางผลไม้ ขนม ตุงอย่างละ ๑,๐๐๐ เรือที่จัดทำขึ้นนี้มีความหมายเปรียบเสมือนแพนำสู่พระนิพพาน ชาวบ้านที่นี่เรียกงานฉลองนี้ว่า หล่อกาบแวด่อ(g]akNdktx:cg9kN) ตามชื่อของเรือ แต่บ้างก็เรียกว่า งานถ่องปยิบแวด่อ(g5k'NexPNHx:cg9kN) ตามชื่อเครื่องบูชาที่ถวายอย่างละพัน ในสารานุกรมพม่าได้กล่าวถึงการจัดงาน เฉี่ยนมาแลถ่องปยิบแวด่อ ทีเมืองพย่าโป่ง(zykx6")ในเดือนต่อตะลีง(เดือน ๖ ในช่วงประเพณีแข่งเรือของเดือนสิงหาคม-กันยายน)  ส่วนในหมู่บ้านกะเหรี่ยงบริเวณริมแม่น้ำจะทำเรือหล่อกาฉลองในงานเฉี่ยนมาแลบแว แต่ในปัจจุบันไม่พบการจัดงานนี้แล้ว   ส่วนที่เมืองตะนาวศรีก็มีการจัดงานเฉี่ยนมาแลบะแวเช่นกัน   และที่เมืองมะริดก็มีการจัดงานวันเวสสันดร(g;ÊOµikgoh)    มีการนิมนต์พระมาสวด ๓ วัน ๓ คืน ส่วนที่เมืองทวาย จะจัดงานเฉี่ยนมาแลบะแวด่อ หรือ เวสันดรบะแวด่อ อยู่เป็นประจำในทุกวันเพ็ญเดือนตะดีงจู๊ต(เดือน ๗ พม่า) โดยจะจัดเครื่องบูชาจำนวน ๑,๐๐๐ ชิ้น และมีการอ่านเฉี่ยนมาแลวัตถุ เมื่ออ่านจบจะมีการตีกังสะดาร เป่าหอยสังข์ และรำฟ้อนกันอย่างสนุกสนาน จากนั้นก็จะผลัดกันอ่านพระเวสสันดรชาดก ๑๔ บทจนจบในวันนั้น
จะเห็นได้ว่าการจัดงานพระมาลัยมีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องราวของพระมาลัยวัตถุ และเรื่องราวของพระมาลัยก็ได้แพร่หลายไปทั่วประเทศพม่า เช่นเดียวกับประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และพบว่าเรื่องราวของพระมาลัยวัตถุนี้มีการเสริมแต่งออกไปมาก เนื้อเรื่องจึงมีความแตกต่างไปจากเค้าเรื่องเดิมในตำราสิงหลรสวาหินี(มธุรรสวาหินี) ส่วนเนื้อหาของเรื่องพระมาลัยภูมิภาคนี้กลับไม่มีความแตกต่างกัน
พระมาลัยวัตถุนี้ในบางครั้งเคยมีการจัดทำเป็นภาคผนวกประกอบหนังสือใบลานเรื่องพระเวสสันดรชาดก ใบลานในลักษณะเช่นนี้มีพบในประเทศพม่าเช่นกัน อาทิ หนังสือใบลานที่พบในจังหวัดตะนาวศรี ลงปีที่คัดลอกไว้ว่า วันจันทร์ ที่ ๒ เดือนวาโส่(เดือน ๔ พม่า) ศักราช ๑๒๔๗ จะเห็นได้ว่าพระมาลัยวัตถุเป็นที่นิยมแพร่หลาย และมีการสืบต่อในรูปแบบที่หลากหลาย แต่ก็เป็นเรื่องราวที่มีความเกี่ยวข้องกับพระมาลัยวัตถุฉบับบาลีของศรีลังกา
ในประเทศพม่าช่วงศตวรรษที่ ๑๑ แห่งยุคพุกาม ได้พบตำราภาษาบาลีของนิกายเถรวาทที่สืบจากนิกายสิงหลมหาวิหารเป็นจำนวนมาก และในกลางศตวรรษที่๑๒ เป็นช่วงของความเจริญทางด้านวรรณกรรมภาษาบาลี และมีพระสงฆ์นิกายสิงหลอยู่มาก  ดังในจารึก มีงจีสว่าชเวจองที่จารึกในปี ค.ศ.๑๓๗๔ และจารึกตีงจีญ่องโอะที่จารึกในปี ค.ศ.๑๒๐๑ ได้กล่าวถึงเรื่องการฟังธรรมพระมาลัยวัตถุ สิ่งนี้จึงเป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าพระมาลัยวัตถุได้เป็นที่รู้จักกันดีในประเทศพม่ามาแล้วตั้งแต่ในสมัยต้นศตวรรษที่ ๑๓ และในศตวรรษที่๑๔ อย่างไรก็ตามในปัจจุบันหากพูดถึง เฉี่ยนมาแล ชาวพม่าในเมืองใหญ่ๆมักไม่ทราบว่าเฉี่ยนมาแล คือใคร และเมื่อพูดถึงเรื่องพระเถระที่เดินทางไปยังนรกสวรรค์แล้ว พระโมคคลานะ(via'Ng,k8¤]koN) กลับเป็นที่รู้จักกันมากกว่าเฉี่ยนมาแล จึงเป็นเรื่องที่น่าศึกษาว่าเพราะเหตุใดเรื่องราวของเฉี่ยนมาแลจึงได้เลือนหายไปจากความทรงจำของชาวพม่า
อรนุช  นิยมธรรม
(เรียบเรียงจากบทความ “พระมาลัยในสังคมพม่าและเอเชียตะวัน-ออกเฉียงใต้” โดย U Tein Lwin )

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 15580เขียนเมื่อ 15 กุมภาพันธ์ 2006 19:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 14:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท