สำนึกรวมทางประวัติศาสตร์ของไทยมองพม่าเป็นศัตรู ในภาพของผู้ร้ายที่มุ่งทำลายล้างชนชาติไทย เป็นมารพุทธศาสนา และเป็นโจรปล้นอิสรภาพของราชอาณาจักรสยาม สำนึกนี้สืบมาแต่การใช้งานนิพนธ์ทางประวัติศาสตร์ชาติเพื่อสร้างเสถียรภาพและเอกภาพในภาวะที่ไทยต้องเผชิญกับภัยคุกคามจากการล่าอาณานิคม ต่อด้วยภัยจากลัทธิคอมมิวนิสต์ ภาพร้ายของพม่าได้ถูกนำมาตอกย้ำสู่มหาชนอย่างต่อเนื่องในรูปของนวนิยาย ละคร ลิเก ภาพยนตร์ตลอดจนการแสดงแสงเสียง พม่าจึงกลายเป็นภาพสำเร็จของความโหดร้ายที่ไทยสั่งสมไว้ในอารมณ์มาเนิ่นนาน
ขณะที่ไทยใช้ประวัติศาสตร์สงครามจารีตคราวกรุงศรีอยุธยาแตกด้วยน้ำมือพม่าเป็นเครื่องหล่อหลอมสำนึกแห่งชาตินั้น ฝ่ายพม่ากลับอาศัยภูมิหลังทางประวัติศาสตร์สมัยที่พม่าตกเป็นทาสอาณานิคมอังกฤษ และจากการครอบงำของกองทัพฟาสซิสต์ญี่ปุ่นที่เข้ายึดครองพม่าคราวสงครามโลกครั้งที่ ๒ ภาพลบของอังกฤษและญี่ปุ่นถูกตีแผ่ในแบบเรียนเริ่มแต่ระดับประถมขึ้นมา และกล่าวโดยละเอียดในประวัติศาสตร์กองทัพ อีกทั้งถูกนำมาปรุงแต่งในรูปของนวนิยาย ภาพยนตร์ ละคร เพลงชาติ เพลงปลุกใจ มิวสิควิดีโอ งานนิพนธ์ คำปราศรัย และการ์ตูน จนแม้แต่วันรัฐนิยม อันได้แก่ วันเอกราช วันสหภาพ วันชาวไร่ชาวนา วันกองทัพ วันกรรมกร วันวีรบุรุษ และวันประชาชน ต่างเกี่ยวกับการต่อสู้เพื่ออิสรภาพโดยประชาชนและกองทัพทั้งสิ้น สำนึกแห่งชาติของพม่าจึงมีอังกฤษและญี่ปุ่นเป็นตัวเอกในประวัติศาสตร์ชาติ ไทยซึ่งเคยเป็นอริราชศัตรูกับพม่ามายาวนานในอดีตกลับไม่ถือเป็นศัตรูทางประวัติศาสตร์ที่พม่าต้องจดจำไว้เป็นบทเรียน
ที่จริงคงต้องยอมรับว่าในยุคสมัยหนึ่ง สำนึกทางประวัติศาสตร์มีความสำคัญต่อการสร้างเสถียรภาพและเอกภาพของประเทศ ต่อเมื่อสถานการณ์โลกได้แปรเปลี่ยนไปตามเงื่อนไขและกาลเวลา ประวัติศาสตร์ชาติที่เคยมีคุณต่อประเทศจึงอาจแปรภาพไปเป็นเพียงภูมิหลังหรือปูมตำนาน แต่หากปมสำนึกนั้นยังคงฝังลึกสืบทอดล่วงกาลเวลาอันเหมาะควร ปมสำนึกจึงอาจเป็นเพียงอารมณ์สะสมที่ไร้พลังสร้างสรรค์ และดูไม่สมกับสมัยที่แต่ละประเทศจำเป็นต้องพึ่งพากันมากยิ่งขึ้น ภาพของพม่าในฐานะศัตรูทางประวัติศาสตร์ชาติไทยจึงเป็นปมสำนึกที่ควรช่วยกันคลี่คลาย ทั้งนี้เพื่อมิให้เป็นชนวนหมางใจระหว่างไทยกับพม่า จนลืมคำนึงถึงผลประโยชน์อันชอบธรรมของชาติ และการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ
วิรัช นิยมธรรม
ไม่มีความเห็น